สมเกียรติ พ้นภัย: รายงานเปิดเสวนา "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน"

รายงานเปิดการประชุมในโอกาสครบ 19 ปี ก่อตั้งสมัชชาคนจน โดย “สมเกียรติ พ้นภัย” แกนนำสมัชชาคนจน ทบทวนการเข้าสู่ปีที่ 20 ของสมัชชาคนจน จะเคลื่อนไหวไปข้างหน้า อย่างกระฉับกระเฉง เปี่ยมพลัง มีความรู้ความคิดที่เฉียบคม และเป็นดั่งหิ่งห้อยนำทางแก่คนทุกข์ยากต่อไปได้อย่างไร

4 ธ.ค. 2557 - เช้าวันนี้ (4 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

คลิปรายงานเปิดการประชุม "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" โดยสมเกียรติ พ้นภัย ประธานสภาพ่อครัวใหญ่ สมัชชาคนจน

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไทได้ที่

 

 

สมเกียรติ พ้นภัย ปาฐกถาเปิดการประชุม "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน"

ในการกล่าวรายงานเปิดการประชุม สมเกียรติ พ้นภัย แกนนำพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน กล่าวว่า “เดือนธันวาคมมีความหมายต่อสมัชชาคนจน ในปี พ.ศ. 2538 วันที่ 10 ธันวาคม อันเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แห่งนี้ สมัชชาคนจนได้ถือกำเนิดขึ้น และมีพี่น้องคนจน10 ประเทศในเอเชียร่วมเป็นพยาน แต่ที่จริงพวกเราได้มีตัวตนอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว พวกเราคือคนจนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐต่างๆ จนต้องกลายเป็นคนจน แต่เมื่อก่อนหน้าปี พ.ศ. 2538 พวกเราต่างคนต่างสู้ ต่างพยายามแก้ไขปัญหา เหมือนไม้ซีกที่จะไปงัดไม้ซุง ดังนั้น เราก็ต้องรวมตัวกันให้มากพอ ดังนั้น จึงมีความพยายามพูดคุยหลายหน หาทางให้พี่น้องคนจนรวมตัวกัน จนในปีดังกล่าวเป็นโอกาสที่เราสามารถจัดตั้งสมัชชาคนจนได้ และในวันถัดมา ระหว่างวันที่ 11 ถึง 14 ธันวาคม พ.ศ. 2538 พวกเราวมกันร่างคำประกาศลำนำมูล หรือปฏิญญาปากมูน ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เพื่อแสดงหลักการของสมัชชาคนจน”

“ในขณะเดียวกันเดือนธันวาคม ก็เป็นวันรำลึกถึงพี่น้องของเราคนหนึ่งคือ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือที่เรารู้จักว่า “หัวหน้ามด” หรือ “อาจารย์มด” ผู้เป็นหลักในการถือกำเนิดและก่อสร้างสมัชชาคนจน ได้อุทิศตนสร้างความเข้มแข็งให้พวกเรา ได้ใช้พลังชีวิตของเธอมาต่อพลังชีวิตให้สมัชชาคนจน เธอมีความรักในสมัชชาคนจนอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2548 ที่มีการรณรงค์ในระดับโลก รวบรวมรายชื่อผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสันติภาพ เพื่อนำไปขอรางวัลโนเบลสันติภาพนั้น มีคนเสนอชื่อ "หัวหน้ามด" ด้วย แต่เธอเห็นว่าคนที่ควรได้รับการเสนอชื่อไม่ใช่เธอเพียงลำพัง แต่ควรเป็นผู้หญิงทุกคนที่ได้ต่อสู้กันมา จะเห็นว่าเธอคิดถึงสมัชชาคนจนมากกว่าเธอเอง”

“เธอบอกว่าขอเป็นหิ่งห้อย เพื่อเรืองแสงในคืนมืดมิด แน่นอนว่า ในวันที่มีแสงอาทิตย์แจ่มจ้า เราจะมองไม่เห็นหิ่งห้อย ก็เหมือนพวกเราในสังคมที่มีความเป็นธรรมแก่ทุกคน เหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องแก่ทุกคนเท่าเทียม พวกเราก็จะเป็นคนเล็กคนน้อยกระจายตัวที่ต่างๆ แต่เมื่อใดก็ตามที่แสงอาทิตย์มืดมิด ก็จะเป็นหน้าที่ของหิ่งห้อยตัวเล็กๆ ตัวน้อยๆ อย่างพวกเราที่พยายามจะส่องแสงนำทาง ยิ่งพวกเรารวมตัวกันได้มาก แสงสว่างก็จะยิ่งแกร่งกล้ามากขึ้น เป็นความหวังให้กับทุกคน ไม่เพียงแค่พี่น้องคนจนในสมัชชาคนจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพี่น้องที่ตกยากอีกจำนวนมากในประเทศนี้ด้วย พวกเราจึงกล่าวได้ว่าถ้าไม่มีผู้หญิงธรรมดาๆ ที่ชื่อ “วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” คนนี้แล้ว ก็ไม่อาจมีสมัชชาคนจนที่เข้มแข็งจนถึงทุกวันนี้ได้ แต่เธอก็ได้จากพวกเราไปเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2550 หลังจากเธอจากไปก็มีครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านทยอยจากตามไปด้วย”

“ในปีนี้สมัชชาคนจนอายุครบ 19 ปี ถ้าเป็นผู้ชาย ปีหน้าก็อายุครบบวชแล้วคือ 20 ปี จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวตอของวัยหนุ่มสาว มีกำลังวังชา แต่ในความเป็นจริงพวกเราดูเหมือนแก่เกินอายุ พวกเราผ่านความทุกข์ยากต่อสู้มากมายในอดีต พลังชีวิตก็ลดลงไปบ้าง สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงไป”

“เราจะเคลื่อนไหวไปข้างหน้า ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 อย่างกระฉับกระเฉง เปี่ยมพลัง มีความรู้ความคิดที่เฉียบคมได้อย่างไร เป็นดั่งหิ่งห้อยนำทางแก่คนทุกข์ยากต่อไปได้อย่างไร ด้วยความคิดเช่นนี้ จึงนำมาสู่การจัดเวทีสาธารณะ “เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน” ซึ่งนอกจากจะรำลึกถึงวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และผู้ล่วงลับอื่นๆ แล้ว และวันก่อตั้งสมัชชาคนจนแล้ว”

“เราจะใช้โอกาสนี้ทบทวนการต่อสู้ของสมัชชาคนจน ในอดีต และปัจจุบัน แสวงหาแนวคิดและบทบาท แนวทางการเคลื่อนไหวในอนาคต สร้างความร่วมมือกับนักวิชาการที่สนใจปัญหาอยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและความยากจนในสังคม”

“เราได้รับเกียรติจากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน เช่น คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำให้สามารถจัดเวทีในวันนี้ได้ ขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมาก สำหรับสมาชิกสมัชชาคนจนขอให้ใช้โอกาสที่หาได้ยากยิ่งเรียนรู้ให้มาก และแลกเปลี่ยนความเห็นเต็มที่ เพือที่พวกเราจะได้ดำเนินภารกิจของคนจน ในการสถาปนาประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจนให้เกิดในสังคมไทย เพื่อพวกเราเองในวันนี้และลูกหลานในวันข้างหน้า ผมขอขอบพระคุณทุกท่านไว้ ณ ทีนี้ด้วย”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท