คุยกับ ‘ศรีไพร’ คนงานย่านรังสิตฯ ทำไมต้องค่าแรง 421บ. สวน ‘หม่อมอุ๋ย’ เลิกโยนขี้ให้รบ.ที่แล้ว

หากพูดถึงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชื่อของกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง(กสรก.) น่าจะเป็นชื่อหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งข้อเรียกร้องที่ประกาศชัดว่าต้องการค่าแรงขั้นต่ำที่ 421 บาทต่อคนต่อวัน ตั้งแต่ ต.ค.57 และการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปลายปีที่แล้วที่ถูกทหารบล็อกไว้(อ่านรายละเอียด) ต่อด้วยการรณรงค์ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เมื่อต้นปีที่ผ่านมา(อ่านรายละเอียด) และเมื่อต้นเดือนเม.ย.กลุ่มนี้ได้ร่วมกับสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (สพท.) จัดเสวนาในประเด็นนี้เช่นกัน(อ่านรายละเอียด)  

เจ้าหน้าที่ทหารบริเวณศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน จังหวัดปทุมธานีบล็อกคนงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ ที่จะรณรงค์ค่าแรงกับ รมว.แรงงาน เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.57

คนงานกลุ่มสหภาพแรงงานกลุ่มย่านรังสิตฯ รณรงค์กับคนงานด้วยกันที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมนวนคร เมื่อวันที่ 17 ม.ค.58

โดยในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะถึงในฐานะวันกรรมกรสากล กลุ่มนี้ก็จะชูข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องจัดรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน เพื่อลดการเลื่อมล้ำ และปัญหาของผู้คนในสังคม รวมทั้งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาท ในการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ในโอกาสที่นี้ประชาไทจึงชวนคุยกับ ศรีไพร นนทรีย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ เพื่อทำความเข้าใจที่มาของข้อเรียกร้อง การเคลื่อนไหว โอกาสความเป็นไปได้และที่สำคัญคืออุปสรรคโดยเฉพาะในยุครัฐบาลทหาร

0000

ศรีไพร นนทรีย์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตฯ

ประชาไท : ทำไมถึงเสนอขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ?

ศรีไพร :  ปัจจุบันค่าจ้างต่ำกว่าค่าครองชีพ ทำให้คนใช้เงินในอนาคตด้วยการเป็นหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ หากค่าจ้างเพียงพอต่อค่าครองชีพ ส่งผลให้คนทำงานมีประสิทธิภาพ งานออกมาก็มีคุณภาพ เพราะไม่ต้องกังวลกับหนี้สินที่เป็นภาระ สิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งคือ มีคนมีกินมีใช้ แลยังจะส่งผลให้อาชกรรมลดน้อยลงด้วย

ค่าแรงขั้นต่ำในความหมายของคุณศรีไพร คืออะไร?

ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพ และการเพิ่มศักยภาพของตนเอง เช่น การศึกษาต่อ และการเรียนรู้ในทักษะต่างๆ และมีมุมบันเทิงบ้าง รวมทั้งการศึกษาอื่นๆ เปิดโลกทัศน์ของตัวคนงานเองได้ด้วย  และต้องเป็นค่าจ้างที่สามารถเลี้ยงชีพได้ 3 คน ตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศด้วย

ทำไมต้องเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 421 บาท ตัวเลขนี้มาได้อย่างไร?

ตัวเลขนี้มาจากดัชนีค่าครองชีพในแต่ละปี ที่กรรมการค่าจ้างกลางที่ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐฯ หรือกรรมการไตรภาคี ยอมรับและจะนำตัวเลขนี้มาคำนวณว่าตัวเลขค่าจ้างในแต่ละปี ถ้าจะให้สมดุลนั้น ค่าจ้างต้องเป็นตัวเลขเท่าใด ดังนั้นตัวเลข 421 บาท คือตัวเลขที่กรรมการค่าจ้างกลางคำนวณมาจากค่าครองชีพในปี 2553 ว่าค่าจ้าง ณ ขนะนั้นต้องเป็น 421 บาทต่อวัน

อีกทั้งตัวเลขค่าจ้างของปี 2557 กรรมการค่าจ้างกลาง ยังยอมรับด้วยว่าค่าจ้างถ้าจะให้สมดุลกับค่าครองชีพนั้นตัวเลขต้องเป็น 460 บาทต่อวัน และในมกราคม 2558 ผู้ตรวจราชการกระทรวงพานิชย์ แจ้งว่า ดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.34% นั่นหมายถึงว่าค่าจ้างในปี 2558 ก็ต้องมากกว่า 460 บาทด้วยซ้ำ

จากกรณีขึ้นค่าแรง 300 บาทที่ผ่านมา ด้านหนึ่งมันทำให้บางธุรกิจฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า จะเท่ากับว่าไม่ได้ขึ้นค่าแรงจริงหรือไม่?

การขึ้นค่าจ้าง มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้านั้นเรื่องจริง แต่เหมือนว่าค่าจ้างไม่ปรับขึ้นนั้น คิดว่าคงไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะค่าครองชีพ ณ ขณะนั้นมันสูงกว่า 400 บาท การปรับค่าจ้าง 300 บาท จึงเป็นการปรับตัวเลขค่าจ้างขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับค่าครองชีพมากขึ้น แม้ว่าหลังการปรับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท อาจมีการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเลขค่าจ้างที่ปรับมาจะเป็นศูนย์ เพียงแต่ว่าค่าของเงินในมือของลูกจ้างมันลดน้อยลงไปบ้าง

และคิดว่าควรมีมาตรการอะไรในการป้องกันบ้าง?

รัฐต้องควบคุมราคาสินค้าให้ได้ อย่างชัดเจนไม่ใช่รู้กันกับนายทุนเหมือนที่ผ่านๆ มา อาจต้องมีหน่วยงานโดยตรงที่ออกสำรวจตามห้างร้าน พื้นที่ ดูเรื่องราคาและปริมาณสินค้า ผู้ค้าใดทำผิด ควรโดนจับปรับและจำคุก และถอนใบอนุญาตการค้า อย่างจริงจัง ซึ่งผู้บริโภคสามารถเป็นผู้แจ้งเบาะแสได้ด้วย

ในหลายบริษัทหลังจากขึ้นค่าแรง 300 บาท นั้น คนงานที่กินค่าแรงเกินค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้รับการปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำได้ มีข้อเสนออะไรหรือไม่?

ควรมีการปรับเพิ่มค่าจ้างให้คนงานได้รับการปรับค่าจ้าง 100% เท่ากัน ทุกๆ คน ไม่ว่าค่าจ้างคนงานนั้นๆ จะได้รับวันละเท่าไหร่ก็ตาม เพื่อให้คนงานที่กินค่าแรงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำสามารถได้รับผลพวงจากนโยบาย ปรับขึ้นค่าแรงเหล่านี้ด้วย

ล่าสุดหม่อมราชวงศ์ปรียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้สินค้าไทยกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ คุณศรีไพรคิดอย่างไรกับประเด็นนี้? เพราะถ้าจริงหากธุรกิจส่งออกไม่ได้ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของคนงานเช่นกันหรือไม่?

ถ้าการขึ้นค่าแรง 300 บาท มันเป็นปัญหาจริงอย่างหม่อมราชวงศ์ปรียาธรว่า เราคงเห็นการทรุดตัวของเศรษฐกิจไทยมาหลังค่าจ้างขึ้นแล้ว แต่เศรษฐกิจในช่วงนั้นไม่ได้ทรุดอย่างหม่อมฯพูด ไม่มีการเลิกจ้าง แถมต่างชาติก็ให้ความเชื่อถือ เศรษฐกิจทรุดลงเพราะคนอย่างหม่อมฯ ที่ร่วมมือกับทหารมายึดอำนาจต่างหาก เศรษฐกิจจึงแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด นักลงทุนหนี คนงานถูกเลิกจ้างมากขึ้นทุกทีๆ ใครๆ ก็เห็น หม่อมฯ ควรยอมรับว่าหม่อมฯ และคณะ คสช.ไร้ซึ่งศักยภาพในการบริหารประเทศ ควรเลิกโยนขี้ให้รัฐบาลที่แล้วได้แล้ว

แนวทางการเคลื่อนไหวต่อจากนี้ในการผลักดันข้อเรียกร้อง?

ก็คงต้องเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ เราคงต้องมาวางแผนกันใหม่ ในคณะทำงาน อาจต้องปรับรูปแบบบ้าง เพื่อสอดคล้องกับสถานการณ์ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ถูกกำหนดโดยเผด็จการทหาร

ปัญหาข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวในขณะนี้?

แกนนำที่ใช้คนงานฐานเป็นเครื่องทางการเมือง ไม่คำนึงถึงผลประโยชนบนชนชั้นตัวเองเป็นหลัก ส่งผลให้คนงานเกิดความสับสน หลงทิศทาง แทนที่จะสู้เพื่อตัวเอง ก็สู้เพื่อชนชั้นปกครองแทน

รวมทั้ง อำนาจจาก รัฐธรรมนูญ ม.44 ที่มีข้อจำกัดเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ประเด็นปัญหาของคนงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง แต่การแก้ไขปัญหามันก็เกี่ยวข้องกับการเมืองหมด ฉะนั้นกฏหมายมาตรานี้จึงกลายเป็นการจำกัดสิทธิของคนงานไปด้วย อีกอย่างทำให้คนงานกลัว จึงไม่ต่างจากกฎอัยการศึก ที่ให้การชุมนุมต้องได้รับอนุญาตก่อน ซึ่งในทางปฏิบัติ คนงานจะต้องไปชุมนุมประท้วง กดดันรัฐบาลเพื่อให้แก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง แต่ความเป็นจริงจะมีรัฐบาลไหนที่จะอนุญาตให้คนงานมาประท้วงตนเอง

รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะกองทัพ กลายเป็นปัญหาและอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ที่คนงานต้องเผชิญ เพราะเป็นเครื่องมือในการจับกุม คุกคาม เพื่อไม่ให้คนงาน และแกนนำออกเรียกร้อง

มีผู้กังวลว่าความไม่เป็นเอกภาพของข้อเรียกร้อง เช่น ตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่ตรงกันของคนงาน บางกลุ่มเสนอ 360 บาท บางกลุ่มเสนอ 421 บาท อาจทำให้พลังในการต่อรองของคนงานไม่เพียงพอจะไปกดดันผู้มีอำนาจในการยอมออกนโยบาย มองอย่างไรในประเด็นนี้?

ความจริงหัวขบวนการแรงงานแตกแยกกันมานานมากแล้ว อ่อนแอ ก็ต้องยอมรับความจริง แต่มันก็เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด ผลกระทบอื่นที่ส่งผลให้คนงานอาจไม่บรรลุในข้อเรียกร้อง ไม่ใช่เพียงเรื่องความอ่อนแอของตนเองเพียงอย่างเดียว อำนาจจากรัฐธรรมนูญมาตรา 44 บ้านเมืองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่นี่ ก็เป็นอุปสรรคไม่แพ้ความอ่อนแอที่มีอยู่ในตัว ฉะนั้นอำนาจการต่อรองคงไม่ได้อยู่ในส่วนหัว หรือเพียงผู้นำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คนงานฐานเองมีส่วนในการร่วมตัวกำหนด ถ้าคนงานฐานแสดงออกว่าตนต้องการค่าจ้างตัวเลขใด ก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะรอด จากอำนาจของ ม.44 หรือไม่นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท