Skip to main content
sharethis

ประชาชนยื่นหนังสือถึง ‘พม.’ เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า เดือนละ 1 พันบาททันที หลังก่อนหน้านี้อนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐมีมติให้เพิ่มแล้ว แต่ ครม. ยังไม่อนุมัติ นักกิจกรรมมองจะเป็นการช่วยเหลือผู้สูงวัย ยกระดับคุณภาพชีวิต

 

17 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 พ.ค.) ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประชาชนรวมตัวยื่นหนังสือถึง วราวุธ ศิลปอาชา สส.พรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอให้มีการบังคับใช้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า เดือนละ 1,000 บาททันที เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น 

ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมแรงงาน กล่าวว่า นี่เป็นหน้าที่ของ พม. และเรารับรู้มาตลอดว่า ที่นี่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐขึ้นมา และมีมติปรับขึ้นเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทแล้ว มีมติแล้วต้องทำ ใช่ไหม อย่าตระบัดสัตย์ รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลประชาชน พวกเราเลือกเข้ามาแล้ว มีอำนาจในการบริหารประเทศแล้ว ต้องกลับมาให้พวกเราบ้าง

ธนพร กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลจะมีการอนุมัติงบประมาณกว่า 1 แสนล้าน เข้าไปซื้อเรือดำน้ำ เอาไหมเอา เรือดำน้ำ เราจะเอาเงินผู้สูงอายุ 1 พันบาท 1 พันบาท ใช้งบประมาณ 4 หมื่นกว่าล้าน แต่พูดถึงคุณชีวิตประชาชน ที่ประชาชนอยู่ตรงนี้เราเสียภาษีให้กับรัฐมาชั่วชีวิต และตอนนี้เราก็ยังเสียภาษี VAT แม้ว่าเราจะไม่มีรายได้ และภาษี VAT ถือเป็นสัดส่วนภาษีที่รัฐได้มากที่สุด มันจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม 1,000 บาท ไม่ได้ยากเลยที่จะจ่ายให้กับพวกเรา เพิ่มอีก 45,000 กว่าล้านบาท มันดีกว่าที่จะซื้อเรือดำน้ำแสนล้านบาท

ธนพร วิจันทร์ (กลาง)

“เรือดำน้ำซื้อมาเป็นโครงเหล็ก จอดไว้เฉยๆ ต้องไปเสียค่าซ่อมแซม ต้องไปดูแล ต้องมีงบประมาณอีก แต่พวกเรามีชีวิตจิตใจสร้างรายได้ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เสียภาษีให้กับประเทศ ดูแลประเทศมาโดยตลอด ทำไมพวกเราไม่มีสิทธิตรงนี้” ธนพร กล่าว และระบุว่า เธอขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มารับหนังสือด้วยตัวเอง

นักกิจกรรมแรงงาน กล่าวต่อว่า เธออยากให้ รัฐมนตรีให้คำตอบเมื่อไรจะมีการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมามีการโยกโย้ พอเป็นมติของ ครม. ต้องมาอยู่ที่นายกฯ แต่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ เนื่องจาก พม.มีมติชัดเจน มีอนุกรรมการฯ แล้วว่าจะเพิ่ม 1,000 บาทมันจึงไม่มีเหตุผลอื่นๆ ที่ต้องมาเปลี่ยนแปลงมตินี้

ธนพร กล่าวว่า วันนี้พวกเธอมาแสดงจุดยืนว่า ถ้าไม่ได้ 1,000 บาท เราไม่ยอม ขอให้พวกเราได้ 1,000 บาท เราจะมาติดตามจนกว่าจะได้เบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท นี่ไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนต้องมาตาม

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Policy watch เผยว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ โดยมีวราวุธ เป็นประธาน เมื่อ 21 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบปรับขึ้นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยจ่ายแบบถ้วนหน้าทุกคน 1,000 บาทต่อเดือน และจะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ หรือคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ให้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

ต่อมา ศรีไพร นนทรีย์ กล่าวปราศรัยทวงถามว่า งบประมาณทหารเวลาเอาไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ใช้ไม่ได้ ทำไมไม่ดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจัง อาจจะต้องตั้งคำถามทุกวันๆ ว่า เมื่อไรจะได้เงิน 1,000 บาท เมื่อไรจะได้เงิน 3,000 บาท โพสต์ให้เป็นประจำ อย่าให้ประชาชนติดคุกฟรี ตายฟรี และชีวิตของประชาชนคนไทยไม่ได้ดีขึ้นสักทีหนึ่ง เงินถูกผลาญไปในสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น

ศรีไพร นนทรีย์

ศรีไพร กล่าวต่อว่า มันมีความจำเป็นที่ต้องเรียกร้อง และถ้า ครม.ไม่ยอมประกาศสักทีหนึ่ง เราจะต้องทำอย่างไร ไปทำเนียบรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย และเราจะมีแผนเคลื่อนไหวอย่างจริงจัง ถ้าไม่มีการประกาศเบี้ยผู้สูงอายุ 1,000 บาท

"เกษียณอายุมาได้เงินไม่มาก แต่ถ้าได้เบี้ยผู้สูงอายุอาจจะอยู่ได้ แต่หลายคนที่ไม่มีเงินประกันสังคมเลย ถ้าเราดูเบี้ยผู้สูงอายุเริ่มที่ 600 บาท ซื้อมาม่า ได้ไม่ถึงห่อ หรือถ้าซื้อมาม่า 1 มื้อ ประมาณ 6 บาทแล้ว เราจะกินได้แค่ประมาณ 7 บาทต่อมื้อ ถ้าเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท คนในเมืองกินน้ำก๊อกไม่ได้แล้ว กินน้ำฝนไม่ได้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ว่า เราต้องทานน้ำไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร ต้องดูว่าน้ำ 2 ลิตรเป็นเงินเท่าไร มาม่า ห่อหนึ่ง 6 บาทแล้ว สิ่งเหล่านี้มันอยู่ไม่ได้แล้ว มันจะไม่พอกินถ้าเราไม่เคลื่อนไหว เราจะไม่สามารถชีวิตต่อไปได้เลย" ศรีไพร ทิ้งท้าย

ธิติมา ทองศรี สมาชิกสหภาพคนทำงาน อายุ 24 กล่าวปราศรัยว่า เธอมาร่วมเรียกร้องเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 1,000 บาทต่อเดือน เพราะว่ามีคนหลายคนในประเทศอีกหลายล้านคนที่อาจจะมีฐานะปานกลาง ไม่ได้มีลูกหลานเลี้ยงดู หรืออย่างพ่อของเธอป่วย และเธอต้องส่งเงินให้เขาทุกเดือนๆ ซึ่งการมีเบี้ยผู้สูงอายุเพียง 600 บาทสนับสนุน แค่เขานั่งรถไปหาหมอไม่กี่วัน เขาก็สตางค์ก็หมดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องซื้ออาหารข้าวปลาทานกิน

"ถ้าเราเชื่อในประชาธิปไตย และความเท่าเทียม เราก็ต้องเชื่อในการโอบรับคนทุกกลุ่ม คนที่เขาจน และอาจจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจ และแก่ไปโดยอาจจะไม่มีเงินเก็บ และต้องเป็นคนไร้บ้าน การที่มีเบี้ยผู้สูงอายุช่วยสนับสนุนเขาในอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำ ไม่ใช่ความสงสาร" ธิติมา กล่าว

ธิติมา ทองศรี

’บุญมี’ ผู้เข้าร่วมชุมนุม มาจากสุพรรณบุรี กล่าวบางช่วงบางตอนว่า เขาเคยมาเรียกร้องก่อนสงกรานต์ (เม.ย. 2567) ได้เจอรองอธิบดีฯ แต่มาวันนี้บอกว่ารัฐมนตรีไม่อยู่ เพราะฉะนั้น ในฐานะคนแก่มาจากสุพรรณบุรี คนบ้านเดียวกับ ‘วราวุธ’ ถ้าพูดแล้วไม่ทำ เราจะจำไว้

"เราเคยมาเรียกร้อง 3 พันบาท ตอนนี้ลดมา 1 พันบาท เพื่อนๆ บอกว่า 1 พันบาทเอาแค่นี้ก่อน แต่ 1 พันบาท เรามาวันนี้ท่านมีความมั่นคงในอาชีพการงาน ตามภาษาคนเขาพูดว่า ลองท่านเป็นเรา ไม่ต้องถามใคร ถามตัวท่านเอง ถ้าท่านได้เงินเดือนละ 600 บาท ท่านเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอ เราก็ไม่เพียงพอเหมือนกัน ขอให้เอาใจเขามาใส่เรา"

"เมื่อวันนี้มีคนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เขาจะขออาสาขึ้นไปปลดป้ายกระทรวง “ความมั่นคงของมนุษย์” ออกไป เพราะมนุษย์กลุ่มใหญ่ในประเทศนี้ไม่มีความมั่นคง ยอมติดคุกในฐานทำลายทรัพย์สิน” บุญมี กล่าว และระบุว่า เขาอยากฝากถึง รมต.พม. แต่ฝากมาเรื่อยๆ ก็ไม่เคยมีความคืบหน้าเลย 

ขณะที่พิธีกรชุมนุมสัมภาษณ์ผู้ร่วมบางคน เผยว่า ค่าเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทต่อเดือน ไม่เพียงพอ ได้ทานอาหารได้เพียงวันละมื้อเท่านั้น และส่วนตัวก็มองว่า เบี้ยเลี้ยง 1,000 บาทยังไม่พอเช่นกัน เป็นไปได้อยากได้เพิ่มมากกว่านี้

บรรยากาศการชุมนุมมีประชาชนผลักกันขึ้นปราศรัยสะท้อนปัญหาคุณภาพชีวิต ก่อนที่ธนพร วิจันทร์ อ่านรายละเอียดหนังสือ และยื่นหนังสือต่อ จตุพร โรจนพาณิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. เป็นตัวแทนรับหนังสือจากประชาชน

อนึ่ง ระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2535 และมีการปรับปรุงมาตลอด จนในปี 2554 ยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้วิธีจ่ายแบบขั้นบันไดตามอายุ คือ ผู้ที่มีอายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี ได้ 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปี ขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน ซึ่งระบบนี้ก็ยังคงใช้จนถึงปัจจุบันและไม่ได้ปรับเพิ่มมานานกว่า 10 ปี

เมื่อดูงบประมาณกระทรวงกลาโหม เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3,752,700 ล้านบาท โดยกระทรวงกลาโหม ได้งบประมาณในวงเงิน 200,923,780,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ได้รับการจัดสรร 195,743,956,500 บาท คิดเป็นกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นประมาณ 5,179,824,000 บาท

อย่างไรก็ตาม กรอบงบประมาณดังกล่าวเป็นกรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้สภาฯ พิจารณาเท่านั้น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะได้งบประมาณตามนี้หรือจะถูกตัดออกไปมากน้อยเท่าไหร่

รายละเอียดหนังสือ

ประเทศไทยมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวน 13,043,792 คน หรือคิดเป็น 19.74% จากประชากรทั้งหมด 66,061,517 คน ผู้สูงอายุเหล่านี้คือผู้ที่ทำงานสร้างความเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้เสียภาษีมาทั้งชีวิต เป็นผู้สร้างรายได้ประชาชาติ และความมั่งคั่งให้กับประเทศไทย แต่ทว่าผู้สูงอายุจำนวน ⅔ ไม่มีเงินออม กว่า 5 ล้านคน เป็นคนแก่ในครอบครัวยากจนข้นแค้น จำนวนมากที่ถูกทอดทิ้ง ลูกหลานไม่สามารถดูแลหรือจุนเจือได้ เป็นการเข้าสู่สภาวะ “แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย” เป็นวิกฤติการณ์ผู้สูงวัย ขณะที่รัฐบาลจัดสวัสดิการเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทตั้งแต่ปี 2554 เป็นระยะเวลากว่า 13 ปีมาแล้วที่ไม่มีการเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุไทยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาและความยากลำบากมากมาย ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ หรือสังคมอย่างรุนแรง

ขณะที่รัฐบาลเพิ่มงบประมาณการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ราวปีละ 100,000 ล้านบาท มาจอดทิ้งไว้อย่างเปล่าประโยชน์ และงบประมาณสิ้นเปลืองอีกหลายหน่วยงานที่นำมาสู่การทุจริตปีละหลายแสนล้านบาท แต่กลับไม่มีการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท หรือวันละ 20 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำอย่างมาก การเพิ่มเงินเบี้ยผู้สูงอายุอีกเดือนละ 400 บาท จะใช้งบประมาณปีละ 46,383,211,200 บาท ซึ่งไม่ถึงครึ่งของงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทหารซื้อมาจอดทิ้งไว้เปล่าประโยชน์ รัฐบาลสามารถจัดสรรเงินซ้ำซ้อนของกระทรวงพัฒนาสังคม และงบด้านอื่นๆ ที่สิ้นเปลืองมาเพิ่มเป็นเงินเบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้าเดือนละ 1,000 บาทได้ทันที

การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ วราวุธ ศิลปอาชา ประธานอนุกรรมการยากจน มีมติให้เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น แต่ทว่า กลับไม่มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติดังกล่าว จึงเป็นการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ไม่มีความรับผิดชอบต่อพันธกิจในการสร้างสังคมผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็ง และมีความสุขอย่างยั่งยืน

กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จึงขอให้รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายวราวุธ ศิลปอาชา ผลักดันเป็นวาระเร่งด่วนให้มีมติ ครม. เพิ่มเงินเบี้ยสูงอายุและ 1,000 บาท โดยทันที

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net