อดีต 248 ส.ส. แถลงโต้ ป.ป.ช. ไม่ได้กระทำผิดจากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ป.ป.ช.แถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ไม่ชอบ ชี้จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ด้านพรรคเพื่อไทย โต้คำร้องถอดถอน ย้ำรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ถูกใช้เป็นฐานชี้ความผิดไม่มีผลบังคับใช้แล้ว

16 ก.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า วิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. แถลงเปิดสำนวนคดีจากกรณีชี้มูลความผิดเพื่อให้ สนช. พิจารณานำไปสู่การถอดถอนอดีต ส.ส. 248 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ไม่ชอบ โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าอดีต 248 ส.ส. ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาร่วมกันลงลายมือชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็น ที่มา ส.ว.นำโดย อุดมเดช รัตนเสถียร ถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 58 และขัดต่อ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 นอกจากนี้ ยังลงมติเห็นชอบในวาระต่าง ๆ ด้วย ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญที่ลงมตินั้นเป็นคนละฉบับกับที่ได้เสนอให้แก้ไข โดยเฉพาะหลักการสำคัญของมาตรา 116 วรรคสอง ที่มีผลให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. เมื่อสิ้นสุดวาระสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอเวลา 2 ปี ดังนั้น การลงมติจึงถือเป็นการลงมติร่างรัฐธรรมนูญคนละฉบับกับที่ได้เสนอไว้ และร่างดังกล่าวไม่มีสมาชิกลงรายมือชื่อรับรอง ส่งผลให้ญัตติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐ ธรรมนูญ ทั้งนี้ ป.ป.ช. ได้พิจารณาฐานความผิดออกเป็น 7กลุ่ม แต่ที่ยื่นมายังสนช. มีทั้งหมด 5กลุ่ม แบ่งเป็นผู้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญและผู้ที่ลงมติในวาระต่าง ๆ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เสียชีวิตแล้ว ป.ป.ช. ให้จำหน่ายคดีออก ไม่นำมาพิจารณา

ขณะฝ่ายอดีต ส.ส. 248 คน ผู้ถูกกล่าว ได้ส่งตัวแทนแถลงคัดค้านแยกตามกลุ่มความผิด จำนวน 11 คน นำโดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กระทำการจงใจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรง และเป็นการประหารชีวิตทางการเมือง จึงจำเป็นต้องแถลงตอบโต้ข้อกล่าวหา และเห็นว่ากระบวนการของ ป.ป.ช.  มีความไม่โปร่งใส และเคยได้เห็นคำร้องมาก่อนกระทั่งเข้ามาขอตรวจสำนวนที่รัฐสภา นับเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอน และยังเป็นคำร้องที่ขัดต่อกฎหมาย

เช่นเดียวกับ สามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเจตนาที่ดีต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย และในสมัยรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ในประเด็น ที่มา ส.ส. กับมาตรา 190 ซึ่งไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่มีผู้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้มีคำแนะนำกลับมาให้แก้ไขเป็นรายมาตราได้ ดังนั้น จึงได้ดำเนินการตามคำแนะนำของศาล และเสนอแก้ใน 3 ประเด็น คือ ที่มา ส.ว. มาตรา 68 และมาตรา 190 แต่เมื่อพิจารณาเสร็จในประเด็นที่มา ส.ว. กลับมีผู้ไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ผ่านอัยการสูงสุด ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ให้อำนาจ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากลุ่มตนไม่มีตำแหน่งใดให้ถอดถอนแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ ป.ป.ช.ใช้เป็นฐานชี้มูลความผิดก็ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว ย่อมเท่ากับฐานความผิดที่จะนำไปสู่การถอดถอนได้ถูกยกเลิกแล้วเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หลังตัวแทนฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 11คน แถลงคัดค้านโต้แย้งสำนวนและรายงานความเห็นของ ป.ป.ช. แล้ว ที่ประชุม สนช.ได้ พิจารณาต่อถึงประเด็นซักถามตามญัตติที่สมาชิก สนช. เสนอไว้  พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการซักถามขึ้นมา 1 คณะ   โดยสมาชิก สนช. ยื่นญัตติประเด็นซักถามทั้งสองฝ่าย ได้ จนถึง 20 ก.ค. 2558  เวลา 12.00 น. และได้กำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาซักถามคู่กรณีในวันที่ 6 ส.ค. 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท