Skip to main content
sharethis

จากกรณีเหตุระเบิดที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์เมื่อสัปดาห์ก่อน จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งเหตุระเบิดที่ท่าน้ำสาทรนั้น ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์คือความคมชัดของภาพผู้ต้องสงสัยที่ได้จากกล้องวงจรปิดหรือกล้องซีซีทีวี บริเวณโดยรอบที่เกิดเหตุ รวมทั้งการทำงานของกล้อง

มท.1จี้กทม.ซ่อม'วงจรปิด' หลังตร.ติงทำคดีบึ้มไม่คืบ

แม้หลังเกิดเหตุในช่วงแรก เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯกทม. จะออกมายืนยันว่า บริเวณแยกราชประสงค์มีกล้องซีซีทีวี ประมาณ 500 ตัว แบ่งเป็นซีซีทีวีของ กทม. 100 ตัว ซีซีทีวี ของเอกชน 400 ตัว จากการตรวจสอบซีซีทีวีพบว่าสามารถใช้งานได้ทุกตัว ซึ่งได้ส่งภาพให้ฝ่ายความมั่นคงแล้ว

แต่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ วันนี้ (25 ส.ค.58) เดลินิวส์ รายงานคำสัมภาษณ์ ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ ถึงกรณีที่พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ระบุกล้องวงจรปิดในพื้นที่ กทม.จำนวนมาก ใช้การไม่ได้เกินครึ่ง ทำให้เป็นอุปสรรคหนึ่งในการสืบสวนหาหลักฐานและตัวผู้ก่อเหตุในคดีลอบวางระเบิดแยกราชประสงค์ ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า โดยหลักการทาง กทม.ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุง และซ่อมแซมดูแลให้อยู่ในสภาพใช้การได้ทั้งหมด ทั้งนี้ตนจะได้กำชับไปยัง กทม.ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามควรต้องเป็นไปตามระบบอยู่แล้ว ที่ กทม.ต้องดำเนินการโดยไม่ต้องให้ตนไปสั่งการ

กทม. โต้กล้องวงจรปิดบริเวณราชประสงค์ เสียเพียง 4 ตัว จาก 107ตัว

ขณะที่ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานการแถลงข่าวของ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง และ เบญทราย กียปัจจ์ รองโฆษก กทม. ถึงกรณีกล้องซีซีทีวี กทม. บริเวณแยกราชประสงค์

โดย พล.ต.ต.วิชัย ยืนยันว่ากทม.ได้ให้ความร่วมมือในการทำงานของหน่วยงานทุกฝ่ายมาอย่างเต็มที่ โดยกล้องซีซีทีวีของ กทม.ที่ติดตั้งในบริเวณดังกล่าวมีจำนวนทั้งสิ้น 107ตัว โดยมีกล้องที่เสียใช้การไม่ได้จำนวน 4 ตัว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้น และพบว่ากล้องใช้การไม่ได้ กทม.ก็เข้าแก้ไขโดยทันที ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดเหตุเจ้าหน้าตำรวจได้ประสานมายังกทม.เพิ่มขอข้อมูลจากภาพกล้องซีซีทีวีแล้วทั้งสิ้น 48 ครั้ง โดยภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ล้วนเป็นภาพจากกล้องซีซีทีวีของ กทม.ทั้งสิ้น อีกทั้งที่ผ่านมากล้องซีซีทีวีของกทม.ก็สามารถเป็นหลักฐานหนึ่งในการสืบสวนดำเนินคดีจนสำเร็จมาหลายคดี แต่อย่างไรก็ตามทุกคดีก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกล้องซีซีทีวีเพียงอย่างเดียว ต้องมีหลักฐานประกอบต่าง ๆ จึงจะทำให้สามารถสวบสวนสำเร็จได้ ดังนั้นต้องถือว่า กล้องซีซีทีวีเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือเท่านั้น

นอกนี้ในส่วนประเด็นความชัดของภาพ วานนี้ (24 ส.ค.58) ไตรภพ ขันตยาภรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กำกับดูแลงานกล้องซีซีทีวี กล่าวถึง สาเหตุที่กล้องซีซีทีวีของกรุงเทพมหานครจับภาพไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกล้องซีซีทีวีของตำรวจที่จับภาพเลขทะเบียนรถที่กระทำผิดอย่างชัดเจน ว่า เนื่องจากลักษณะการทำงานของกล้องซีซีทีวีต่างกัน โดยกล้องของตำรวจเป็นระบบบันทึกภาพเจาะจงเป็นช็อตๆ (อ่านรายละเอียด)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net