นายกฯ มาเลเซียหลบประชุมต้านคอร์รัปชั่น-ปธ.เปิดงานทวงคำตอบเรื่องยักยอกกองทุน 1MDB

นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย 'นาจิบ ราซัก' ซึ่งถูกกล่าวหาพัวพันทุจริต 1MDB - ไม่ร่วมประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น ด้าน รมต.สำนักนายกฯ ซึ่งมาแทน บอกว่าได้แนะนำว่าไม่ต้องมาเพราะบรรยากาศไม่ดี ส่วนเรื่องทุจริตกำลังสอบ มีหลักฐานจึงจะดำเนินคดี ด้านประธานเปิดงานชาวเปรู วิจารณ์ว่ามาเลเซียจะไม่สามารถต่อสู้กับคอร์รัปชั่นได้ หากไม่มีคำอธิบายต่อกรณีทุจริตดังกล่าว

นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 26 ที่มาเลเซีย เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2558 ล่าสุดมีรายงานว่าเขาไม่มาร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น ครั้งที่ 16 ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ และเดิมมีกำหนดการว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะมาร่วมอภิปราย (ที่มา: แฟ้มภาพ/เว็บไซต์รัฐบาลไทย)

บรรยากาศการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น ครั้งที่ 16 (IACC 2015) ซึ่งมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติปุตราจายา วันที่ 2 ก.ย. 2558 (ที่มา: ประชาไท) 

2 ก.ย. 2558 – หลังการประท้วงเบอเซะ 4.0 (Bersih 4.0) เสร็จสิ้นลง วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติปุตราจายา (Putrajaya International Convention Centre – PICC) เมืองปุตราจายา ศูนย์กลางบริหารของประเทศมาเลเซีย มีการจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชั่น ครั้งที่ 16 (16th Internation Anti-Corruption Conference 2015 – IACC 2015) ซึ่งการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุกสองปี โดยเวียนไปตามประเทศต่างๆ

อย่างไรก็ตามในเวทีใหญ่ช่วงเช้าในหัวข้อ “ประสบการณ์ของประเทศในการจัดการด้านบริหารและคอร์รัปชั่น” ชื่อของ นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งถูกวางตัวเป็นผู้พูด ถูกเปลี่ยนเป็นชื่อของ พอล โล้ว เซ็งกวน (Paul Low Seng Kuan) หรือ พอล โล้ว รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบหนึ่งในวาระแห่งชาติเรื่องการคอรัปชั่นโดยเฉพาะ

 

ปธ.องค์กรเพื่อความโปร่งใสฯ วิจารณ์ นรม.มาเลเซียถึงถิ่น-กรณีเงิน 700 ล้านเหรียญไหลเข้าบัญชี

ส่วนบรรยากาศช่วงพิธีเปิดงาน โฆเซ่ อูกาซ (Jose Ugaz) ประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ชาวเปรู ระบุว่ามาเลเซียต้องมีคำตอบกรณีที่เงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) ถูกโอนไปยังบัญชีเงินฝากของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิป ราซัก

ในรายงานของเดอะมาเลเซียนอินไซเดอร์ (TMI) เขากล่าวว่า ความตั้งใจในการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นของมาเลเซียยังไม่สามารถทำได้อย่างจริงจัง หากไม่มีคำอธิบายว่า ใครเป็นผู้จ่าย จ่ายทำไม และเกิดอะไรขึ้นกันแน่ "เราต้องการเห็นความคืบหน้าที่มากกว่านี้ (จากมาเลเซีย) แต่มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าคำถามเกี่ยวกับเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่ได้รับคำตอบว่ามันไปเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร" อูกาซ กล่าวในตอนหนึ่งของพิธีเปิดการประชุม โดยผู้ร่วมงานซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งมาเลเซีย ปรบมือให้กับคำกล่าวเปิดงานของเขาด้วย

อูกาซ ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน อัยการสูงสุดซึ่งวิจารณ์รัฐบาลก็ถูกโยกย้าย ขณะที่คณะทำงานเฉพาะกิจสอบสวนกรณีกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซีย 1MDB ก็ถูกระงับ ผู้สอบสวนก็ถูกจับกุม และมีหนังสือพิมพ์ถูกระงับการเผยแพร่ "นี่ไม่ใช่พฤติกรรมของรัฐบาลที่บอกว่ากำลังต่อสู้กับคอร์รัปชั่น" อูกาซกล่าว

"เราอาจได้ยินถึงคำสัญญาว่าจะมีการปฏิรูป แต่นี่ยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นในเวลานี้ และคำสัญญาเพียงอย่างเดียวไม่อาจฟื้นความมั่นใจและความเชื่อมั่น"

 

เชื่อว่าคนให้คำตอบเรื่องนี้มีแค่ “คนเดียวเท่านั้น” พร้อมเรียกร้องกระบวนการสอบสวนต้องอิสระ

อูกาซ ซึ่งมีประวัติต่อสู้เรื่องคอร์รัปชั่นมาอย่างนาวนานกล่าวว่ามีเพียง "คนเดียวเท่านั้น" ที่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้ โดยเขาไม่ได้กล่าวถึงชื่อใคร แต่เชื่อว่าเป็นการอ้างถึง นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

โดยอูกาซกล่าวด้วยว่า แต่ถ้าคนผู้นั้นปฏิเสธที่จะก้าวออกมา ดังนั้นก็มีแต่เพียงการสืบสวนที่เป็นอิสระ ปราศจากการครอบงำทางการเมืองเท่านั้น ที่จะสามารถสืบหาความจริง "และจนกว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้น คำกล่าวอ้างจากรัฐบาลว่าต่อต้านคอร์รัปชั่น จึงจะรับฟังได้"

 

รมต.สำนักนายกฯ มาเลเซียเป็นคนแนะนำ 'นาจิบ ราซัก' ไม่ต้องมาเพราะบรรยากาศไม่ดี

พอล โล้ว รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาบรรยายแทนนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในหัวข้อ "ประสบการณ์ของประเทศในการจัดการด้านบริหารและคอร์รัปชั่น" ในการประชุม IACC 2015 ที่ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย โดยเขายืนยันว่ากรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสอบสวนโดยหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระ และเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้นและมีหลักฐานจึงจะดำเนินคดีได้ (ที่มา: ประชาไท)

 

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานจากเวทีสัมมนาในช่วงเช้าหัวข้อ “ประสบการณ์ของประเทศในการจัดการด้านบริหารและคอร์รัปชั่น” นั้น เดิมในกำหนดการ นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถูกวางตัวเป็นผู้บรรยยาย อย่างไรก็ตามมีการเปลี่ยนเป็น พอล โล้ว เซ็งกวน (Paul Low Seng Kuan) หรือ พอล โล้ว รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบหนึ่งในวาระแห่งชาติเรื่องการคอรัปชั่นโดยเฉพาะ

โดยหลังเสร็จสิ้นการบรรยายผู้สื่อข่าวหลายสำนักพากันซักถามถึงประเด็นร้อน ผู้สื่อข่าวรายหนึ่งสอบถามว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงยกเลิกการมาพูดตามกำหนดการเดิม พอล โล้ว กล่าวว่า พูดอย่างตรงไปตรงมา เขาเป็นคนให้คำแนะนำแก่นายกรัฐมนตรี เองว่าไม่ควรปรากฏตัวในสถานการณ์นี้ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของประเทศ เหตุผลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง และบรรยากาศแบบนี้ท่ามกลางเอ็นจีโอที่ขันแข็ง อาจเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และตัวเขาเองทำงานด้านนี้โดยตรง

 

เรื่องสอบทุจริตอยู่ที่ขั้นตอนสอบสวน มีหลักฐานจึงจะดำเนินคดีได้

มุไฮยิดดิน ยัสซิน รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ในรัฐบาลมาเลเซีย (ซ้าย) ซึ่งถูกปลดในการปรับคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ขณะที่อะหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ขวา) จะมารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ทั้งนี้พอล โล้ว ตอบผู้สื่อข่าวกรณีปลดมุไฮยิดดินว่า เขาไม่ได้เป็นายกรัฐมนตรี และเรื่องปลดมุไฮยิดดินไม่เกี่ยวกับเรื่องวิจารณ์กองทุน 1MDB แต่เป็นเรื่องในทางการเมือง (ที่มา: วิกิพีเดีย[1][2])

 

ทั้งนี้มีผู้ร่วมการประชุม สอบถาม พอล โล้ว ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 1MDB ของรัฐบาลมาเลเซีย ซึ่งนาจิบ ราซักเป็นประธานบอร์ดบริหาร กรณีที่ปลดรองนายกรัฐมนตรี มุไฮยิดดิน ยัสซิน ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่เขาวิจารณ์ว่า 1MDB ขาดทุน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดย พอล โล้ว กล่าวว่า กรณีปลดมุไฮยิดดิน เป็นเรื่องการเมือง “ผมไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และเรื่องการปลดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นนี้ แต่เป็นเรื่องในทางการเมือง”

ต่อคำถามว่า การตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียเกี่ยวพันกับการทุจริตไปถึงไหน และกระบวนการจะวางใจได้หรือไม่ พอล โล้วตอบว่า กระบวนการตรวจสอบเป็นเรื่องขององค์กรอิสระทั้ง ธนาคารแห่งชาติมาเลเซีย คณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชั่น (MACC) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และตำรวจมาเลเซีย ซึ่งในทางโครงสร้างแล้วมีอำนาจสอบสวนได้เองโดยไม่ต้องให้คณะรัฐมนตรีมาอนุมัติ

โดยขณะนี้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมาเลเซีย กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงิน และไม่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล เพราะสุดท้ายคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องรายงานต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภามาเลเซีย ขณะเดียวกันมีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาสอบสวนเช่นกัน และธนาคารแห่งชาติมาเลเซียก็มีการตั้งคณะทำงานสอบสวนเช่นกัน และหากมีหลักฐานก็จะส่งฟ้องมายังอัยการสูงสุด โดยพอล โล้ว กล่าวว่า กระบวนการตรวจสอบทั้งหมดนี้กำลังดำเนินอยู่

พอล โล้ว กล่าวว่า ปัญหาของกระบวนการตรวจสอบที่เผชิญอยู่ก็คือ เอกสารที่รั่วไหลออกไป “เรายึดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด เมื่อเราเริ่มต้นสอบสวน ข้อมูลไม่สามารถรั่วไหลออกมาได้ ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความผิดอย่างไร เพราะว่าถ้าคุณทำรั่วไหล มันจะทำให้กระบวนการสอบสวนถูกบั่นทอน” ทั้งนี้พอล โล้ว เปรียบเทียบว่าเหมือนกับกำลังสอบสวนเรื่องผู้ค้ายาเสพย์ติด ถ้าเกิดเอกสารรั่วไหลไปว่าใครค้ายาบ้าง แล้วจะไปตามจับ คนเหล่านี้ก็คงหนีหายไปแล้ว

“ด้วยเหตุนั้น เมื่อมีเอกสารหลุดรั่วออกมา ก็จะกระทบความซื่อตรงของกระบวนการสอบสวน” เขากล่าวด้วยว่า สาธารณชนจะต้องรอจนกว่ากระบวนการสอบสวนจะมีข้อสรุป และด้วยขั้นตอนนี้เท่านั้นที่ผู้ซึ่งประกอบอาชญากรรมจะถูกดำเนินคดี

“ความซื่อตรงไม่ใช่แค่เรื่องต่อสู้กับการรับสินบนเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้มั่นใจได้ว่า เราไม่ได้กล่าวหาใครผิดๆ ดังนั้นในขั้นตอนสืบสวนและตรวจสอบก็จะต้องได้รับการปกป้องด้วย” พอล โล้ว กล่าว

อนึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักมีหมายกำหนดการสำคัญและจะไม่เข้าร่วมประชุม IACC 2015 ทำให้ หลิม กิตเสียง ผู้นำของพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า มาเลเซียเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกแต่จะต้องเสื่อมเสียถ้านายกรัฐมนตรีไม่มาร่วมการประชุม โดยหลิม กิตเสียง แนะนำให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียใช้การประชุม IACC 2015 อธิบายข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชั่น

 

ชื่นชมตำรวจ-ผู้ชุมนุมเบอเซะ สร้างหมุดหมายใหม่แก่มาเลเซีย แต่เตือนระวัง 'มินิอาหรับสปริง'

พอล โล้ว ยังแสดงความเห็นต่อการชุมนุมเบอเซะ 4.0 ที่เพิ่งสิ้นสุดลงว่า หากเป็นการชุมนุมเพราะโกรธในปัญหาคอรัปชั่น เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาย่อมเป็นสิ่งกระทำได้ แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าเจตนาของการชุมนุมจริงๆ คืออะไร ข้อเรียกร้องแรกของพวกเขาคือให้นายกรัฐมนตรีลาออก นั่นเป็นการแทรกแซงระบบรัฐสภา บนหนทางประชาธิปไตยหากไม่พอใจพวกเขาสามารถแสดงเจตจำนงได้ผ่านการเลือกตั้ง ก็ไม่ต้องเลือกรัฐบาลนี้อีก

“ถ้าวัตถุประสงค์การชุมนุมต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออก และคนจัดชุมนุมต้องการนายกรัฐมนตรีรักษาการ รัฐบาลเฉพาะกาล และภายใน 1 ปี ต้องมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ นี่ก็ไม่ใช่เกี่ยวกับการชุมนุมเพราะเรื่องคอร์รัปช่นแล้ว แต่กลายเป็น 'มินิอาหรับสปริง' และเมื่อมันกลายเป็นเรื่องแบบนี้ แน่นอนรัฐบาลยอมไม่อนุญาตให้การประท้วงดำเนินต่อไป” พอล โล้ว กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชื่นชมคือการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ได้ดีมากๆ ในการปกป้องพลเมือง เขาไม่ได้ใช้กำลัง และผู้ชุมนุมเองก็มีพฤติกรรมที่ดี “นี่เป็นสิ่งที่เป็นเหมือนหมุดหมายสำหรับมาเลเซีย แต่อีกครั้งหนึ่ง คุณต้องถามตัวเองว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องชุมนุม” พอล โล้วกล่าว

อย่างไรก็ตาม พอล โล้ว ยอมรับเช่นกันว่า ปัจจุบันประชาชนมาเลเซียมีความต้องการมากขึ้นกว่า “ความต้องการพื้นฐาน” อย่างเช่น คนเฝ้าถามว่า “ฉันมีสิทธิในการรวมตัวชุมนุมไหม มีความยุติธรรมทางสังคมหรือไม่ เป็นต้น เขาไม่ได้มาถามว่า มีอาหารเต็มโต๊ะหรือเปล่า” ซึ่งความตระหนักเหล่านี้ได้กลายมาเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในลำดับต้นๆ ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ปรับตัวตามความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากนี้สื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลมีเดียเองก็มีหน้าที่สำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งก็มีทั้งข้อเท็จจริงและข้อมูลที่คาดเคลื่อน

 

กรณีข้อกล่าวหาถ่ายโอนเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุน 1MDB เข้าบัญชีส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกล่าวหาต่อนาจิบ ราซัก เริ่มต้นมาจากกรณีที่ หนังสือพิมพ์วอลสตรีทเจอนัล (WSJ) ซึ่งมีสำนักงานในสหรัฐอเมริกา และหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนของมาเลเซียซึ่งมีสำนักงานอยู่ในอังกฤษ “ซาราวักรีพอร์ท” ได้นำเสนอรายงานสืบสวนสอบสวนเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยระบุว่า มีข้อกล่าวหาว่าเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB ถูกยักยอกออกไปกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าสู่บัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นาจิบ ราซัก

ในรายงานทั้ง WSJ และซาราวักรีพอร์ท ได้อ้างหลักฐานจากเอกสารของกองทุน 1MDB ซึ่งถูกตรวจสอบโดยรัฐบาลมาเลเซีย โดยซาราวักรีพอร์ท ยืนยันว่าอัยการสูงสุดมาเลเซียทราบถึงข้อมูลนี้เช่นกัน

เอกสารซึ่งใช้กล่าวหานาจิปนี้ ระบุว่า เงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.67 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 2.37 หมื่นล้านบาท ถูกถ่ายถอนจากหน่วยงานรัฐบาล, ธนาคาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB และปลายทางของการโอนอยู่ที่บัญชีส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีที่ธนาคาร AmBank ในกัวลาลัมเปอร์ แบ่งออกเป็น 5 บัญชี

จากรายงานของสเตรทไทม์ สื่อสิงคโปร์ ธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย (BNM) ได้รับความน่าเชื่อถือในวงการธนาคาร และปกติแล้วธนาคารแห่งประเทศมาเลเซีย ควรจะได้รับการแจ้งเตือนหากมีการโอนเงินในบัญชีธนาคารภายในประเทศในวงเงินมูลค่าสูง อย่างเช่น กรณีที่มีการโอนเงิน 620 ล้านเหรียญสหรัฐจากบัญชีธนาคารสวิส ซึ่งมีสาขาในสิงคโปร์ เมื่อเดือนมีนาคมปี 2556 ที่ผ่านมา

ผู้นำของพรรคอัมโนคนอื่นๆ ก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีนี้เช่นกัน โดยเรียกร้องให้นาจิปตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเช่นนี้ การพูดแต่เพียงว่าไม่มีการใช้จ่ายเงินไปในทางผลประโยชน์ส่วนบุคคล ไม่ได้ตอบคำถามหลักที่ว่ามีเงินถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของเขาหรือไม่

ธนาคารแห่งประเทศมาเลเซียกล่าวเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า ได้เริ่มสอบถามอย่างเป็นทางการต่อกองทุน 1MDB แต่เป็นการสอบถามตามขั้นตอนการทำงานภายใน โดยที่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของผลการสอบสวนต่อสาธารณชนแต่อย่างใด (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

นอกจากนี้ เว็บไซต์ซาราวักรีพอร์ท ซึ่งเพิ่งรายงานข่าวทุจริตของกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซีย 1MDB ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ยังถูกหน่วยงานไอซีทีของมาเลเซียบล็อกเว็บชั่วคราว โดยอ้างว่าข้อมูลในเว็บยังไม่ได้รับการตรวจสอบ จึงปิดกั้นการเข้าถึงเว็บจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการสอบสวน (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท