Skip to main content
sharethis

ASEAN Weekly: จับตาเลือกตั้งพม่า-ทางแพร่งสู่ประชาธิปไตยพหุนิยมหรืออำนาจนิยม

4 พ.ย. 2558: ASEAN Weekly ตอนพิเศษก่อนถึงวันเลือกตั้งทั่วไปของพม่า 8 พ.ย. พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยดุลยภาค พูดถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของพม่า ที่เกิดจากการออกแบบโดยชนชั้นนำทหาร เป็นการปั้นให้ประชาธิปไตยมีรูปร่างแบบอำนาจนิยม และพยายามกำหนดให้พม่าเป็นประเทศประชาธิปไตยแบบพหุพรรค แต่อยู่ภายใต้ระเบียบวินัย โดยดุลยภาคเสนอว่าการเมืองพม่ายังเป็นระบอบการเมืองลูกผสม (hybrid political regime) มีการชักกะเย่อระหว่างของเก่ากับของใหม่ กล่าวคือ ของเก่าที่เป็นมรดกมาจากยุคทหาร และของใหม่ที่เป็นการปฏิรูปประเทศตามวิถีกระแสโลกาภิวัฒน์

ประชาธิปไตยพม่าปัจจุบันอาจจะไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยแท้จริง แต่ก็ได้ก้าวผ่านพ้นช่วงเวลาการปกครองแบบ 'อประชาธิปไตย' (non-democratic regime) ไปเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ช่วงระหว่างกลาง และมีการปรับเปลี่ยนบทบาทชนชั้นนำแห่งอำนาจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ที่เรียกว่าเผด็จการจำแลงในคาบประชาธิปไตย กับอำนาจนิยมที่พรรคเด่นเดียวครองอำนาจ คือพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา หรือ พรรค USDP

แต่การเลือกตั้งที่จะมาถึง ก็ต้องจับตาว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ที่นำโดยออง ซาน ซูจี จะขึ้นมาท้าทายได้เพียงใด และจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบพรรคการเมืองของพม่าจากอำนาจเอกนิยมของพรรค UDSP ให้เป็นการเมืองพหุนิยมได้มากขึ้นหรือไม่ รวมทั้งบทบาทของพรรคการเมืองของชนกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้การเข้ามาของพรรค NLD จะทำให้พม่าเป็นระบบทวิพรรคได้มากขึ้นเพียงไหน ก็เป็นเรื่องน่าขบคิด

นอกจากนี้ระบบการเมืองตั้งแบบพม่ายังคงใช้ระบบผู้ได้คะแนนสูงสุดชนะเลือกตั้ง (First-Past-the-Post System) ที่ผู้ได้คะแนนอันดับ 1 ในเขตเลือกตั้งจะได้ที่นั่ง ส.ส. ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันในประเทศอดีตอาณานิคมอังกฤษ รวมทั้ง มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยที่ไม่มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ

โดยที่การเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1990 พรรค NLD ที่นำโดยออง ซาน ซูจี ก็ได้ประโยชน์จากระบบการเลือกตั้งลักษณะนี้ โดยเอาชนะพรรคของรัฐบาลทหาร NUP ได้ ส.ส. เป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามหลายเขตเลือกตั้งก็ชนะคะแนนพรรค NUP แบบฉิวเฉียด ขณะที่การเลือกตั้ง ค.ศ. 2010 ที่พรรค NLD คว่ำบาตรการเลือกตั้ง จึงเปิดช่องให้พรรครัฐบาล USDP กวาดที่นั่งจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ก็น่าติดตามว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองพม่าจะเป็นไปเช่นไร

ทั้งนี้ ถีงแม้ว่าพรรค USDP ไม่สามารถรักษาความนิยมไว้ได้ และพรรค NLD สามารถครองที่นั่ง ส.ส. ได้มากกว่า แต่อุปสรรคต่อมาจะเป็นเรื่องคุณสมบัติประธานาธิบดีตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญพม่า ที่ทำให้ออง ซาน ซูจี ซึ่งมีสามีและบุตรเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้ โดยที่หากพรรค NLD ไม่ได้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นประธานาธิบดี พรรค NLD ก็อาจจะต้องหาทางออกกับพรรค USDP รวมถึงโครงข่ายอำนาจชนชั้นนำทหารพม่าว่าจะมีนายทหารสายปฏิรูปคนไหนจะมาเป็นประธานาธิบดี โดยดุลยภาคเสนอว่า หลังการเลือกตั้งพม่าจะต้องจับตาการเจรจาของขั้วการเมือง ซึ่งอาจกินเวลาไปถึงต้นปีหน้า ก่อนสมัยเปิดประชุมสภารอบใหม่

ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า รัฐบาลพม่าเองก็พยายามเจรจาพหุพาคีกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้มีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) โดยล่าสุดมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มร่วมลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลซึ่งในจำนวนนี้มีกองกำลังกะเหรี่ยง (KNU) และกองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ร่วมลงนามแล้ว แต่ก็ยังมีกองกำลังจำนวนมาก และกองกำลังหลักอย่างกองทัพคะฉิ่น (KIA) กองทัพรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) และกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ที่ยังไม่ร่วมลงนาม

โดยที่ผ่านมานอกจากความพยายามของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีข้อเสนอผลักดันให้พม่าเป็นสหพันธรัฐนิยมที่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว อีกข้อหนึ่งที่มีการเจรจากันคือ อำนาจทางการทหารของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่จะออกแบบการแปลงสภาพกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เข้าไปอยู่ในกองทัพของสหพันธัฐอย่างไร โดยที่ผ่านมาพม่าเสนอให้แปลงสภาพของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ใน "กองกำลังป้องกันชายแดน" หรือ Border Guard Forces (BGF) แต่กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากก็ปฏิเสธเพราะไม่ต้องการอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกองทัพพม่า

ทั้งนี้สิ่งสำคัญก็คือ กระบวนการทำให้เป็นสหพันธรัฐ กับกระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตย สำหรับพม่านั้นเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน เรื่องต่อมาก็คือหลังการเลือกตั้งรัฐบาลพม่าจะกระจายอำนาจหรือไม่ เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มชาติพันธุ์ โดยจะเลือกใช้แนวคิดสหพันธรัฐนิยมที่ใช้เขตภูมิศาสตร์เป็นตัวตั้ง หรือ การสร้างเขตปกครองย่อยบนพื้นฐานของภูมิประวัติศาสตร์ทางชาติพันธุ์ เช่น ที่ผ่านมาใช้วิธีสร้างเขตปกครองตนเองในระดับย่อยลงไปทับกับเขตปกครองของรัฐชาติพันธุ์ อย่างเช่น การกำหนดเขตปกครองตนเองของชนชาติว้า ปะโอ ปะหล่อง ดะนุ โกก้าง ซ้อนอยู่ในพื้นที่รัฐฉาน เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net