Skip to main content
sharethis

8 ธ.ค.2558 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) นำโดยมานิตย์ อินทร์พิมพ์ หรือ ซาบะ ร่วมกับตัวแทนคนพิการจากหน่วยงานต่างๆ ประมาณ 15 คน ลงสำรวจความคืบหน้าการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบริเวณรอบสถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์ หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสภายในระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. 2558 ซึ่งมานิตย์ระบุว่า จนบัดนี้ล่วงเลยมาจะครบกำหนด 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

มานิตย์เปิดเผยผลการสำรวจสิ่งอำนวยความสะดวกว่า มี13 สถานีบริการ ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี ตลาดพลู บางจาก บางนา แบริ่ง ปุณณวิถี โพธิ์นิมิต วงเวียนใหญ่ วุฒากาศ สยาม หมอชิต อโศกและอุดมสุข ที่ผู้พิการสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ และยังมีอีก 13 สถานีที่กำลังดำเนินการก่อสร้างลิฟท์ ได้แก่ สถานีทองหล่อ นานา พญาไท พร้อมพงษ์ พระโขนง ราชเทวี สนามกีฬา สนามเป้า สะพานควายสุรศักด์ อนุเสาวรีชัยฯ อารีย์และเอกมัย รวมทั้งยังมีอีก 8 สถานีที่ยังไม่เอื้อต่อคนพิการ ได้แก่ สถานีช่องนนทรี ชิดลม บางหว้า เพลินจิต ราชดำริ ศาลาแดง สะพานตากสิน และอ่อนนุช

มานิตย์เล่าว่า ตนและคณะทำงานเดินหน้าเรื่องการขนส่งระบบรางมากว่า 6 เดือนแล้ว โดยใช้การลงสำรวจพื้นที่จริงและนำกลับไปสรุปผลเพื่อสะท้อนการทำงานกลับมายังบีทีเอส โดยหวังให้เกิดความคืบหน้าของการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สาระสำคัญที่ต้องการให้สังคมตระหนักคือระบบรางที่มีปัญหา ทั้งส่วนเก่าและส่วนต่อขยาย รวมทั้งนโยบายที่ไม่ครอบคลุม เช่น การสร้างลิฟท์โดยไม่คำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่

“สิ่งที่ทำก็คือการทำให้เห็นว่าสังคมเรามีคนพิการอยู่ ถ้าไม่มีใครมาปลุกก็ไม่มีใครทำ มันก็ต้องปลุกให้เขาเห็น ถึงแม้เขาจะชี้แจง มันก็เป็นเหตุผล ท่อน้ำ สายไฟมันก็เป็นปัญหาของคุณ มันก็ต้องแก้ เป็นความรับผิดชอบของ กทม. เป็นบทเรียนว่าต้องทำตั้งแต่เริ่มต้น และที่สำคัญคือ จนป่านนี้ก็ยังไม่ทำ” มานิตย์กล่าว

“บีทีเอสเป็นแค่ตัวละครหนึ่ง เป็นเหมือนตัวละครร่วม เป็นเพียงผู้รับสัมปทาน แต่ว่าตัวละครหลักจริงๆ คือ กทม.ที่ต้องทำและก็มี สจส. (สำนักการจราจรและขนส่ง) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับคำสั่งจากบีทีเอสให้จัดสร้าง ก็กดดันได้เท่านี้ ผมกล้าพูดว่าเขาไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจริงๆ หนึ่งปีปัญหามันแก้ได้ ไม่ใช่ล้อมสังกะสี”มานิตย์แลกเปลี่ยน

พื้นที่ก่อสร้างลิฟท์ สถานีบีทีเอสพร้อมพงษ์

ด้านสาธิต อินจำปา วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กองการขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวถึงสาเหตุความล่าช้าในการสร้างลิฟท์ว่า ขณะนี้มีการเร่งดำเนินการในการก่อสร้างให้ครบตามกำหนด แต่ด้วยปัญหาอุปสรรคที่มี เช่น ระบบสาธารณูปโภคใต้ดินที่มองไม่เห็น ระบบสื่อสารต่างๆ จึงทำให้ไม่เป็นไปตามสัญญา ตอนนี้ทางผู้รับเหมากำลังดำเนินการทำเรื่องเพื่อพิจารณาขยายสัญญา ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา

สาธิตได้พูดถึงเงื่อนไขที่อาจจะมีผลต่อการยืดระยะเวลาคือ (1) เรื่องระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เช่น สายเคเบิ้ลของหน่วยงานต่างๆ จึงมีระยะเวลาในการดำเนินการประสานงานแต่ละหน่วยค่อนข้างนาน (2) เรื่องโครงสร้างของสถานีซึ่งต้องใช้เวลาในการคำนวณ

“กทม.เต็มใจจะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องคนพิการทุกคนได้ใช้เหมือนกับคนปกติทั่วไป แต่ด้วยปัญหาในการดำเนินการจึงอาจล่าช้าซึ่งต้องขออภัยพี่น้องคนพิการ แต่เราจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ขอให้อดใจรอนิดหนึ่ง” สาธิตกล่าว

ทองปน สริ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจากบริษัท G4S ผู้มีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้โดยสารที่นั่งวีลแชร์ เล่าว่า เมื่อมีผู้โดยสารที่นั่งวีลแชร์มาใช้บริการ ในกรณีที่สถานีนั้นๆ ไม่มีลิฟท์ จะมีการประสานกับนายสถานีเพื่อมอบหมายให้ รปภ.ที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งมาช่วยยกพาขึ้นบันไดเลื่อน โดยการขึ้นบันไดเลื่อนในแต่ละครั้งต้องอาศัยแรง รปภ.2คน ดังนั้นการมีลิฟท์จะช่วยให้สะดวกขึ้น โดยอาศัย รปภ.เพียงคนเดียวเท่านั้นในการนำส่งผู้โดยสาร

ทองปนเล่าต่อว่า ส่วนมากผู้โดยสารจะหลีกเลี่ยงการใช้บริการสถานีที่ไม่มีลิฟท์และเลือกใช้สถานีที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หนำซ้ำคนพิการบางคนยังยอมนั่งเลยสถานีเป้าหมายและนั่งรถย้อนกลับมาเพื่อไปใช้บริการสถานีที่มีลิฟท์อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net