Skip to main content
sharethis

ก้าวไกลทำหนังสือถึง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคให้เชิญ บีทีเอส ก.คมนาคม และ กทม. เขาชี้แจงกรณี บีทีเอสยกเลิกตั๋วรายเดือนเป็นภาระค่าเดินทางของประชาชนเสนอรัฐทบทวนสัญญารถไฟฟ้าทุกสายให้มีค่าโดยสารที่เป็นธรรม

14 ก.ย.2564 เพจ พรรคก้าวไกล เผยแพร่ความเห็นของ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลต่อกรณีที่รถไฟฟ้าบีทีเอสยกเลิกตั๋วเที่ยวเดินทางแบบ 30 วัน ซึ่งทำให้ประชาชนที่ต้องใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้รับผลกระทบอย่างมาก และทางก้าวไกลได้ให้ทางคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เชิญ บีทีเอส กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครมาเพื่อหาแนวทางบรรเทาความเดือดร้อน

สุรเชษฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า การยกเลิกตั๋วเที่ยวเดินทางแบบ 30 วันของบีทีเอส เป็นการยกเลิกโปรโมชั่นเท่านั้น ไม่ได้มีการละเมิดสัญญา แต่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหานี้ เกิดจากการที่รัฐบาลไทยเจรจากับบริษัทเอกชนผู้เดินรถไฟฟ้าแต่ละสายแบบไร้มาตรฐาน บางสายรัฐก็อุดหนุนมาก บางสายรัฐก็อุดหนุนน้อย อีกทั้งสัญญาที่ทำก็มีระยะเวลาผูกพันที่ยาวนาน โดยทั่วไปคือ 30 ปี ทำให้เกิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน หากเปลี่ยนสายก็ต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่ ทำให้การเดินทางข้ามสายมีค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้น ทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป

สุรเชษฐ์ยกตัวอย่างว่า ถ้าต้องเดินทางไป-กลับ จากสถานีอ่อนนุช-สถานีศาลาแดง จากเดิมคนทำงาน ที่ทำงานจันทร์ถึงศุกร์ เดือนหนึ่งมีวันทำงาน 20 วัน ก็จะซื้อตัวแบบ 40 เที่ยว ราคา 1,080 บาท (ตกเที่ยวละ 27 บาท) พอยกเลิกตั๋วเที่ยว ก็ต้องซื้อตั๋วแบบปกติ ซึ่งมีราคาเที่ยวละ 44 บาท แพงขึ้นทันที 63% ซึ่งทำให้แต่ละวันมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น 34 บาท หรือตกเดือนละ 680 บาท เลยทีเดียว

TDRI ชี้ BTS คงตั๋วเดือนมีประโยชน์กับตัวเองมากกว่าและรัฐบาลควรให้เงินเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งมวลชน

สุรเชษฐ์ระบุว่า การจะขอแก้ไขสัญญากับบริษัทให้บริการรถไฟฟ้าทำได้ยากมาก และการที่เอกชนจะยอมให้มีการแก้ไขสัญญา โดยทั่วไปแล้วก็ต้องแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานออกไป พ่วงด้วยเงื่อนไขปลีกย่อยต่างๆ เช่น การป้องกันไม่ให้เอกชนรายอื่นเข้ามาแข่งขัน ซึ่งอาจทำให้รัฐได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรืออาจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าโดยสารที่แพงเกินควร

สุรเชษฐ์เสนอแนะว่า การจะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป รัฐบาลจะต้องจริงจังกับการ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ด้วยการทบทวนสัญญาที่ได้ทำไปทั้งหมดกับรถไฟฟ้าทุกสาย ทุกราย เพื่อกำหนด “ค่าโดยสารร่วมที่เป็นธรรม” เพื่อให้ค่าโดยสารของการเดินทาง 5 สถานี ในสายเดียวกัน มีราคาเท่ากับการเดินทาง 3 สถานีในสายหนึ่ง แล้วต่ออีก 2 สถานีในอีกสายหนึ่ง และจะดีขึ้นไปอีก หากคิดถึงการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะประเภทอื่น เช่น รถประจำทาง เรือประจำทาง ฯลฯ

สำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับประชาชน สุรเชษฐ์จะนำเอาปัญหาดังกล่าวไปหารือในคณะกรรมาธิการการคมนามคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เร่งหามาตรการเฉพาะหน้า ในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้ “ไม่ใช่ว่าสายสีเขียว และสายสีส้ม มีปัญหากัน แล้วก็เลยลอยแพประชาชน คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”

ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกลกล่าวว่า พรรคก้าวไกลระบุว่าเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ ส.ส.เขตบางนาและเขตพระโขนง ก็ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้ทั้งหมด ได้แก่ บีทีเอส, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงมหาดไทย, และกรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทางในการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค โดยพรรคก้าวไกลจะติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหานี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net