ปรากฏการณ์บริษัทเกมในปากีสถานเปิดรับผู้หญิงมากขึ้น ความหลากหลายจะส่งผลดีอย่างไร

อุตสาหกรรมไอทีของปากีสถานกำลังเฟื่องฟูรวมถึงการตั้งบริษัทวิดีโอเกม ซึ่งถึงแม้ว่าในปากีสถานยังมีการจ้างงานผู้หญิงอยู่ไม่มาก แต่บริษัทเกมกลับใช้นโยบายสนับสนุนความหลากหลายโดยพยายามจ้างงานทั้งหญิงและชาย โดยนักวิจารณ์เกมมองว่าพนักงานที่หลากหลายจะผลดีต่ออุตสาหกรรมเกมเอง

25 ม.ค. 2559 เมื่อไม่นานมานี้สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานเรื่องที่บริษัทวิดีโอเกมในปากีสถานเปิดโอกาสให้มีความหลากหลายมากขึ้นโดยการส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้หญิงมากขึ้น

ถึงแม้วิดีโอเกมจะถูกมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการตอบสนองต่อผู้ชายเป็นหลัก แต่บริษัท We R Play สตูดิโอในปากีสถานก็พยายามทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นโดยเน้นการจ้างงานผู้หญิงซึ่งในปัจจุบันมีพนักงานที่เป็นผู้หญิงอยู่ในสตูดิโอร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับตลาดแรงงานวิดีโอเกมในสหรัฐฯ ที่มีเกมดีไซน์เนอร์เป็นผู้หญิงอยู่ร้อยละ 11 และมีเพียงร้อยละ 3 ที่เป็นโปรแกรมเมอร์


บรรยากาศการทำงานใน We RPlay
ภาพหน้าจอจาก
เฟซบุ๊กบริษัท

บริษัท We R Play มีสำนักงานอยู่ในกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีแรงงานหญิงทำงานอยู่ในภาคส่วนอื่นนอกจากเกษตรกรรมอยู่เพียงร้อยละ 13 เท่านั้น และจากการสำรวจในปี 2555 พบว่ามีผู้หญิงทำงานอยู่ในแรงงานสายไอทีอยู่เพียงร้อยละ 14

อย่างไรก็ตาม โมห์วิน อัฟซัล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทนี้มีนโยบายรับผู้หญิงเข้าทำงานนับตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการเปิดบริษัทในปี 2553 เพื่อทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่เอื้อต่อผู้หญิง บริษัทของพวกเขาสร้างเกมส่งออกไปทั่วโลกจนสามารถทำรายได้เข้าประเทศ โดยที่อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในปากีสถานมีมูลค่าถึง 2,800 ล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงานคนในประเทศราว 24,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการสำรวจของรัฐบาล

ถึงแม้จะยังมีคนทำงานเป็นผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้อยู่น้อย แต่ตัวเลขของผู้บริโภควิดีโอเกมทั่วโลกในยุคปัจจุบันมีสัดส่วนประชากรเป็นผู้หญิงมากขึ้น โดยจากการสำรวจของบริษัทสปิลเกมเผยให้เห็นว่ามีผู้เล่นเกมเป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 46

หนึ่งในสิ่งที่ We R Play พยายามโฆษณาตัวเองอยู่เสมอคือการเน้นเรื่องความหลากหลายในทีมงาน ซึ่งแนวคิดนี้มีข้อมูลสนับสนุนจากการสำรวจวิจัยของสถาบันการเงินเครดิตสวิสที่เคยสำรวจพบว่า บริษัทที่มีคณะทำงานฝ่ายบริหารเป็นผู้หญิงรวมอยู่ด้วยจะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีคณะกรรมการบริหารหญิงรวมอยู่เลย

ทางด้านวารสารสังคมศาสตร์อเมริกันเคยตีพิมพ์ผลงานวิจัยในปี 2552 ระบุว่าบริษัทที่มีคนทำงานที่มีเพศชายและหญิงใกล้เคียงกันจะสามารถสร้างรายได้จากการขายมากกว่าบริษัทอื่นๆ ร้อยละ 14

ทั้งนี้ We R Play ยังใส่ใจเรื่องสวัสดิการของพนักงานหญิงโดยให้สิทธิลาคลอดเป็นเวลา 3 เดือนโดยที่ยังมีการจ่ายเงินเดือนรวมถึงอนุญาตให้พนักงานหญิงขอทำงานจากที่บ้านได้หลังจากใช้สิทธิลาคลอดแล้ว อัฟซัลให้เหตุผลที่ต้องการความหลากหลายทั้งชายหญิงในที่ทำงานว่าเป็นเพราะในโลกเรามีประชากรหญิงอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง

ไม่เพียงแค่ We R Play เท่านั้น บริษัทอื่นบางบริษัทในปากีสถานก็มีความพยายามเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีซึ่งมักจะมีแต่เพศชายอยู่ด้วยเช่นกัน อย่างบริษัททินแทชสตูดิโอที่มีผลงานเกมในโทรศัพท์มือถือที่มียอดดาวน์โหลดนับล้านก็เห็นความสำคัญของการจ้างงานผู้หญิงเช่นกัน โดยมีผู้หญิงเป็นพนักงานร้อยละ 25 อีกบริษัทหนึ่งคือคาราเมลเทคสตูดิโอในเมืองลาฮอร์ที่มีพนักงานหญิงร้อยละ 23

อย่างไรก็ตาม ฟาติมา ริซวัน ผู้ก่อตั้งเว็บล็อก TechJuice ซึ่งเขียนเกี่ยวกับภาคส่วนเทคโนโลยีในปากีสถานก็บอกว่าอัตราการจ้างงานผู้หญิงในภาคส่วนอุตสาหกรรมเกมของปากีสถานโดยรวมแล้วยังคงมีน้อยอยู่ แต่เธอก็กล่าวชื่นชมบริษัทต่างๆ ที่เปิดพื้นที่การทำงานให้ผู้หญิงและมีสภาพการทำงานที่เหมาะสมกับผู้หญิงมากขึ้น

ซาเดีย ซีอะ ผู้จัดการอาวุโสโครงการภายในของ We R Play ซึ่งได้รับการจ้างงานตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัทไม่นานเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมกับผู้หญิง โดยเธอบอกว่าการทำงานจัดการทั้งกับพนักงานผู้ชายและผู้หญิงในที่ทำงานเป็นเรื่องที่มีปัญหาท้าทายเธออยู่เหมือนกัน เช่นปัญหาเรื่องพนักงานชายมีปมในเรื่อง 'อีโก้' เวลาต้องทำงานร่วมกับผู้จัดการที่เป็นหญิงส่วนหนึ่งเพราะมีทัศนะว่าการถูกสั่งการโดยผู้หญิงเป็นเรื่องไม่ดีสำหรับพวกเขา ซึ่งปัญหานี้ตรงกับที่วารสารวิชาการด้านบุคลิกภาพศึกษาและจิตวิทยาสังคมฉบับ ก.ค. 2558 เคยนำเสนอไว้ว่าลูกจ้างชายมักจะรู้สึกไม่มั่นคงในตัวเองเมื่อมีผู้จัดการที่เป็นผู้หญิง

ทางด้านพนักงานหญิงที่ We R Play จะรู้สึกยินดีที่มีผู้จัดการเป็นผู้หญิง เช่น ซาเดีย บาชีห์ กราฟิกดีไซน์เนอร์สามมิติของบริษัทบอกว่าการมีผู้จัดการเป็นผู้หญิงทำให้เธอมีความมั่นใจว่าผู้จัดการจะช่วยแก้ปัญหาในที่ทำงานให้เธอได้ บาชีห์ยังได้เล่าถึงชีวิตของเธอว่าเธอเป็นผู้ชื่นชอบเกมมาตั้งแต่เด็ก แต่วัฒนธรรมคนเล่นเกมส่วนใหญ่ที่มีแต่ผู้ชายทำให้เธอรู้สึกเหมือนเป็นคนนอกและเคยถูกกลุ่มผู้ชายแสดงทัศนคติว่าการเล่นเกมเป็นกิจกรรมของผู้ชายเท่านั้น

อีกอุปสรรคหนึ่งสำหรับคนทำงานที่เป็นผู้หญิงในปากีสถานคือทัศนคติจากศาสนา เช่น กรณีของมาดินา ซุลฟิการ์ ผู้นำอาวุโสฝ่ายตรวจสอบคุณภาพของ We R Play รู้สึกถูกกดดันจากครอบครัวเมื่อเธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต่อมาในที่ทำงานเธอก็ถูกกีดกันทำให้เธอออกจากงานเดิมและสมัครเข้าบริษัทเกมที่แม้ว่าในตอนแรกเธอจะกลัวถูกวิจารณ์หรือกีดกันจากการที่เธอสวมนิกอบ (ผ้าคลุมหน้าแบบหนึ่งของชาวมุสลิม) แต่สุดท้ายเธอก็ไม่ประสบปัญหาเหล่านี้เพราะเพื่อนร่วมงานเธอปฏิบัติกับเธอเหมือนคนทั่วไป

อัลจาซีรารายงานว่าในสถานการณ์ที่ผู้หญิงที่เรียนจบในปากีสถานยังหางานได้ยาก สตูดิโอเกมก็กลายเป็นแหล่งเล็กๆ ในการสร้างงานให้กับผู้หญิงในปากีสถาน จากการที่สมาคมซอฟต์แวร์ปากีสถานเพื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ (P@SHA) เปิดเผยว่าบริษัทส่วนใหญ่ในภาคส่วนไอทีของปากีสถานกำลังเติมโตเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30 ต่อปี

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์รายงานเกี่ยวกับกระแสการทำสตูดิโอเกมในปากีสถานว่า กลุ่มชาวปากีสถานที่ได้รับการศึกษาจากชาติตะวันตกมักจะกลับมาเปิดบริษัทในประเทศของตนเอง โดยเน้นกลุ่มตลาดเกมแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ มากกว่าจะเป็นเกมในเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเกมเครื่องคอนโซลเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า อีกทั้งไม่มีขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่ยุ่งยากกับบริษัทผลิตเครื่องเล่นเกมคอนโซล ทั้งนี้ พวกเขายังนำวัฒนธรรมจากตะวันตกบางส่วนเข้ามาปรับใช้ในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ปากีสถานก็ยังคงประสบปัญหาเรื่อง 'สมองไหล' หรือการที่คนมีความรู้หรือทักษะฝีมือระดับสูงพากันไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลจากรัฐบาลปากีสถานระบุว่าในช่วงปี 2548-2558 มีชาวปากีสถานที่มีทักษะความสามารถสูงออกนอกประเทศจำนวนมาก รวมถึงคนในภาคส่วนงานคอมพิวเตอร์ซึ่งพากันไปทำงานให้กับบริษัทไอทีชั้นนำของโลก ทำให้บริษัทไอทีในประเทศบางบริษัทเช่นสตูดิโอเกมมายด์สตอร์มเปิดเผยว่าพวกเขาเฟ้นหาแรงงานที่มีทักษะฝีมือระดับสูงในประเทศได้ยากขึ้น

ใช้ประโยชน์จาก 'ความหลากหลาย'

ประเด็นเรื่องวิดีโอเกมและการกีดกันทางเพศกลายเป็นข้อถกเถียงกันทั้งอย่างกว้างขวางในอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งบทความในเดอะการ์เดียนเมื่อปี 2558 ระบุถึงเรื่องการที่ผู้หญิงยังคงรู้สึกถูกกีดกันจากการแข่งขันเกม หรือการพูดคุยถกเถียงในเรื่องเกมจากกลุ่มผู้ชาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการที่ตัวละครเอกในเกมมีความหลากหลายทางเพศสภาพหรือทางเชื้อชาติน้อยเกินไป ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเขามี 'ตัวแทน' (representation) ในเกมไม่มากนักส่งผลให้แรงจูงใจในการเล่นเกมน้อยลง ในบทความเดียวกันที่เขียนโดยผู้ไม่ประสงค์ออกนามยังแนะนำอีกว่าการสร้างความหลากหลายให้กับเนื้อหาของวิดีโอเกมจะยิ่งดึงดูดลูกค้าผู้เล่นกลุ่มต่างๆ ได้มากขึ้น

"พวกเราทุกคนล้วนชอบอะไรที่แตกต่างกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องของเพศสภาพ มันเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์ เนื้อหาและตัวละครที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญทั้งคู่ เพราะการมีตัวแทน (อัตลักษณ์ของผู้เล่น) อยู่ในเกมเป็นหนทางหลักๆ ในการสื่อกับผู้เล่นว่า 'เรายินดีต้อนรับพวกคุณ เกมนี้เป็นเกมสำหรับพวกคุณ' " ผู้เขียนบทความที่ไม่ประสงค์ออกนามระบุในบทความเดอะการ์เดียน

 

"ความหลากหลายคือสินทรัพย์" นักวิจารณ์วิดีโอเกมในยูทูบนามแฝงว่า MrBtongue หรือ 'บ็อบบี เดอะ ทังค์' กล่าวไว้ในวิดีโอของตัวเอง บริบทที่เขากล่าวถึงคือการที่วีดิโอเกมชื่อ The Witcher 3 มาจากบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติโปแลนด์ชื่อ CD Projekt นำเสนอเนื้อหาและบรรยากาศที่ต่างออกไปจากวิดีโอเกมจากค่ายใหญ่อื่นๆ ที่มักจะมาจากสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น ทั้งนี้ MrBtongue ยังตั้งข้อสังเกตว่าคุณลักษณะในเกมเหล่านี้น่าจะมาจากประสบการณ์และบรรยากาศทางประวัติศาสตร์การเมืองที่เคยเกิดขึ้นภายในประเทศของพวกเขาเองด้วย

MrBtougue กล่าวในวีดิโอของเขาอีกว่า "ความหลากหลายต้องมีการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์" ถ้าหากคนทำงานต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา หรือต่างเพศสภาพถูกกีดกันในที่ทำงานก็จะทำให้วิดีโอเกมออกมาไม่มีความหลากหลายไปด้วย นั่นหมายความว่ามันจะมีเนื้อหาหรือวิธีการเล่นซ้ำๆ สร้างความน่าเบื่อซึ่งไม่เป็นผลดีกับตัวอุตสาหกรรมเกมเอง

เรียบเรียงจาก

Women are winning in Pakistan's gaming industry, Aljazeera, 12-01-2016
http://www.aljazeera.com/indepth/features/2016/01/women-winning-pakistan-gaming-industry-160112061437053.html

Made in Pakistan: Your next favorite mobile game,Globalpost, 20-01-2016
http://www.globalpost.com/article/6722072/2016/01/19/pakistan-mobile-gaming

Video games have a diversity problem that runs deeper than race or gender, Anonymous, 10-09-2016
http://www.theguardian.com/technology/2015/sep/10/video-games-diversity-problem-runs-deeper-than-race-gender

TUN: COTY 2015 , MrBtongue, Youtube, 14-01-2016
https://www.youtube.com/watch?v=HFNRmtJRkCc

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท