Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่สามารถ ‘ต่ออายุ’ อำนาจของทหารได้อีกครั้งหลังจากประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง ดังเช่น บทบาทของนายมีชัยที่เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 ที่เปิดทางให้ ‘คนนอก’ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งมีผลทำให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) สามารถสืบต่ออำนาจได้ จนเป็นชนวนนำไปสู่การประท้วงและเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น เมื่อมีการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 นายมีชัยได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และมีบทบาทสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ให้กับคณะรัฐประหารในขณะนั้น


หลังการยึดอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 นายมีชัยก็ได้กลับไปมีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ให้กับคณะรัฐประหารอีกครั้ง และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ที่ยกร่างโดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างโดยลงมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ถึง 135 เสียง จาก 250 เสียง ทำให้นายมีชัยได้กลับมา ‘รับใช้’ ทหารอีกครั้งในหน้าที่ที่ ‘คุ้นเคย’ คือ ยกร่างรัฐธรรมนูญให้กับคณะรัฐประหาร เพื่อขยายเวลาการอยู่ในอำนาจของทหารในการปกครองประเทศ

อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 นี้ อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ที่นายมีชัยเคยร่างมา แม้คนจากฟากคณะผู้ร่างจะออกมาประกาศว่าเป้าหมายหลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ‘การปฏิรูป’ บ้าง หรือ ‘ปราบคนโกง’ บ้าง แต่เมื่อไปดูในรายละเอียดแล้วจะเห็นว่าคำอธิบายเหล่านี้ล้วนดูเหมือนจะเป็นเพียงวาทกรรมมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น การหายไปของสิทธิชุมชนในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนสามารถใช้เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้[1] การหายไปของประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่จริงใจของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการ ‘ปฏิรูป’ อย่างชัดเจน บทวิเคราะห์บางส่วนชี้ว่าเป้าหมายที่สำคัญของร่างรัฐธรรมนูญนี้ คือ ‘การต่ออายุ’ อำนาจการปกครองประเทศของทหารจนกว่าจะผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หากนายมีชัยและ กรธ. ชุดนี้มีเป้าหมายในการ ‘ต่ออายุ’ ตามที่มีการวิเคราะห์ไว้จริง ผู้เขียนคงต้องบอกว่านายมีชัยและ กรธ. ประสบความสำเร็จในการต่ออายุรัฐบาลทหารได้โดยไม่ต้องสงสัย เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการลงคะแนนใน สปช. หรือการลงคะแนนเสียงประชามติหรือไม่ กองทัพก็จะยังคงสามารถสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไปได้อีกนานทีเดียว เรียกว่า “ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง”

เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดเรื่องนี้ ผู้เขียนจะลองอธิบาย 2 เส้นทางที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเผชิญ ซึ่งจะเห็นว่าที่สุดแล้วไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาล้วนขยายเวลาในการครองอำนาจของทหารทั้งสิ้น

ในกรณีแรก สมมติว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้สามารถผ่านการเห็นชอบของ สปช. และได้รับความไว้วางใจของประชาชนในการออกเสียงประชามติ จะส่งผลให้รัฐบาล และ คสช. คงมีอำนาจในการปกครองประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 15 เดือน เนื่องจากบทเฉพาะกาล ระบุว่าเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกอื่นให้แล้วเสร็จภายใน 8 เดือนเป็นอย่างน้อย (ถ้าทำไม่สำเร็จ คสช. ก็สามารถตั้งคณะฯ ใหม่มาทำให้สำเร็จ) เมื่อยกร่างแล้ว คสช. จะใช้เวลาพิจารณารับร่างภายใน 60 วัน จากนั้นให้จัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน ซึ่งช่วงเวลาอย่างน้อย 15 เดือนนี้ รัฐบาล และ คสช. สามารถปกครองประเทศโดยใช้อำนาจรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ต่อไปได้ พร้อมๆ กับบทบัญญัติที่ลดทอนสิทธิและอำนาจประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับผลงานนายมีชัยและ กรธ. 

อย่างไรก็ตาม การจะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย แค่เพียงไม่กี่วันหลังจากที่ร่างนี้ได้ถูกเปิดเผยออกมาสู่สาธารณะ กระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เริ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากกลุ่มการเมืองต่างๆ แน่นอนว่าฝ่ายที่อยู่ขั้วตรงกันข้ามกับรัฐบาลก็ย่อมไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พวกเขาเห็นว่ารัฐธรรมนูญร่างนี้จะไปลดอำนาจพรรคการเมืองในขณะที่เพิ่มอำนาจข้าราชการ ตุลาการ และองค์กรอิสระ จนทำให้ความสมดุลของอำนาจในระบบการเมืองถูกทำลายลง แต่ที่ทำให้หลายคนประหลาดใจ คือ กลุ่มคนที่เคยนิยมชมชอบฝ่าย คสช. เอง รอบนี้กลับเปลี่ยนจุดยืนมาประณามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างออกหน้าออกตา

ตัวอย่างเช่น รสนา โตสิตระกูล อดีตกลุ่ม 40 ส.ว. กรุงเทพฯ ที่รักษาจุดยืนการต้านทักษิณและสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามทักษิณมาอย่างเหนี่ยวแน่นยังไม่อาจทนกับรัฐธรรมนูญร่างนี้ได้และเขียนข้อความต่อต้านลงเฟซบุ๊ก อย่างตรงไปตรงมาว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ “รัฐธรรมนูญฉบับทุนขุนนาง” ที่จะทำให้การตรวจสอบอำนาจรัฐของภาคประชาชนเป็นเรื่องยาก และจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาคประชาสังคมกับกลุ่มทุนการเมืองและข้าราชการ และจะส่งผลให้เกิด “กลุ่มทุนผูกขาดที่เลวร้ายไม่น้อยกว่ากลุ่มทุนทักษิโณมิกส์”[2] การตัดเรื่องสิทธิชุมชนก็ทำให้กลุ่ม ‘ภาคประชาชน’ หลายคนที่เคยให้การสนับสนุนกับรัฐบาลทหารได้เปลี่ยนท่าทีอย่างชัดเจน  

กระแสต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็วนี้อาจทำให้ชะตากรรมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปลี่ยนไป โดยอาจถูกโหวตตกไปตั้งแต่ใน สปช. หรือหากผ่าน สปช. ก็ใช่ว่าเส้นทางการลงคะแนนประชามติจะถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะกระแสต้านมาจากหลากหลายทิศทางมาก ซึ่งถ้าโหวตไม่ผ่านจริงๆ รัฐบาล และ คสช. ก็จะประกาศ Roadmap ใหม่ ซึ่งหากใช้เงื่อนเวลาเดิมก็จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 เดือน ในการเริ่มกระบวนการทั้งหมดใหม่ ตั้งแต่การสรรหาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่าง กระบวนการเห็นชอบและประชามติ และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ จนถึงการจัดการเลือกตั้งใหม่

ดังนั้น หากนับเวลาตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองของ คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 แล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน คสช. ก็จะสามารถปกครองประเทศรวมทั้งสิ้นอย่างน้อย 3 ปี แต่หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน คสช. จะสามารถปกครองประเทศรวมอย่างน้อย 3 ปี 6 เดือน

หรือถ้าแย่กว่านั้น กรณีที่ กรธ. ของ คสช. ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสุดโต่งแบบนี้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อโหวตไม่ผ่านรัฐบาลทหารก็อยู่ปกครองประเทศต่อไป เป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีสิ้นสุด และนั่นก็เท่ากับว่า คสช. ก็จะสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองได้อีกนาน หรือหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังเอิญผ่านการลงคะแนนเสียงประชามติ นั่นย่อมหมายความว่าระบบและโครงสร้างการเมืองที่ถูกออกแบบไว้เพื่อการรักษาฐานอำนาจของข้าราชการและทหารก็จะถูกสถาปนาขึ้นและดำรงอยู่ในระบบการเมืองไทยไปได้อีกนานแสนนาน ดังนั้น ในเกมการเมืองนี้ กองทัพไทยด้วยความช่วยเหลือของนายมีชัยและ กรธ. จะได้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม หากสังคมต้องการออกจากวงจรอุบาทว์นี้ มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของประชาชนจะทำให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นและเกิดฉันทามติร่วมกันในการกำหนดระบบและกติกาทางการเมือง เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งที่เหนี่ยวรั้งสังคมไทยกว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา 

 




[1] ในประเด็นนี้ เดชรัต สุขกำเนิด ได้อธิบายไว้ใน เฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2559 ได้ตัดข้อกำหนดที่ระบุว่าการดำเนินโครงการของรัฐต้องมีการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และความเห็นประกอบขององค์กรอิสระ นอกจากนั้น ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ยังกำหนดแค่เพียงรัฐ “ต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าว” (มาตรา 53) มิได้ให้สิทธิประชาชนในการปฏิเสธ หรือยับยั้งโครงการก่อนที่จะเริ่มโครงการเหมือนในอดีต (ดู

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=955910507834234&set=a.108620185896608.17252.100002458825960&type=3&theater.)

[2] อ่านฉบับเต็มได้ในแฟนเพจเฟซบุ๊กรสนา โตสิตระกูล https://www.facebook.com/rosana.tsk/posts/1104413346269836.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net