Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สภาวะวิกฤติอาจทำให้ผู้นำกลายเป็น ‘ฮีโร่’ หรือ ‘ซีโร่’ ขึ้นอยู่ว่าผู้นำจะทำวิกฤติให้เป็นโอกาส หรือทำโอกาสให้เป็นวิกฤติ เมื่อประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt เจอมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ไม่เพียง Roosevelt จะทำให้สหรัฐฯ ออกจากวิกฤติไปได้ แต่เขายังขยายอำนาจและบทบาทรัฐบาลกลาง และสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้คนอเมริกันเป็นครั้งแรก ผลงานครั้งนี้ทำให้ Roosevelt กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ของคนอเมริกันและเป็นประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งยาวที่สุดถึง 12 ปี

เมื่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสบกับสภาวะวิกฤติไวรัส COVID 19 พลเอก ประยุทธ์ มีโอกาสมากมายที่ทำตัวเองให้กลายเป็นฮีโร่ แต่ที่ผ่านมาเรากลับไม่เห็นบทบบาทเช่นนั้น แม้แต่แก้ไขปัญหาการกักตุนหน้ากากและส่งออกหน้ากากอนามัยก็ยังล้มเหลว จนทำให้ประชาชนออกมาก่นด่า แสดงความไม่พอใจเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ มีการออกมาชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาประชาชนจำนวนมากให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งหรือยุบสภา จากนายกฯ ที่เป็นขวัญใจคนกรุงชนชั้นกลางเมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนนี้พลเอก ประยุทธ์กลายเป็นซีโร่ในสายตาคนส่วนใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้ กองเชียร์พลเอก ประยุทธ์ที่เคยพยายามปกป้องด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาต่างก็เริ่มส่ายหน้า เราก็เริ่มเห็นการสร้าง ‘วาทกรรมตอบโต้’ (counter-narrative) หรือ ‘วาทกรรมทางเลือก’ (alternative narrative) จากแกนนำกองเชียร์ลุงที่เบี่ยงเบนเป้าโจมตีไปที่อื่นแทน ในทางการเมืองการสร้างวาทกรรมตอบโต้นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการเบี่ยงเบนประเด็นในทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงที่นักการเมืองเพลี่ยงพล้ำ เจอมรสุมทางการเมือง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจะหาวาทกรรม คำอธิบาย หรือประเด็นอื่นมากลบประเด็นที่กำลังอื้อฉาวนี้ หรือบางครั้งอาจจะมีการหาแพะมาโยนความผิดให้เพื่อรับบาปแทนผู้ที่กำลังถูกโจมตีอยู่ก็ได้

วาทกรรมตอบโต้ที่ใช้ในการช่วยพลเอก ประยุทธ์ นี้น่าจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันนั่นคือ ต้องการจะเบี่ยงเบน (deflect) ความรับผิดชอบ จากที่ควรจะเป็นนายกฯ ที่ต้องรับผิดชอบปัญหาจากการบริหารที่ล้มเหลวกลับกลายเป็นการไปโทษคนอื่นแทน

วาทกรรมตอบโต้ในกลุ่มแรกคือ พยายามโทษไปที่ตัวรัฐมนตรีที่เป็น ‘นักการเมือง’ ที่ร่วมรัฐบาลว่าเป็นตัวปัญหา ตัวอย่างแรก คือ เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการกลุ่มสถาบันทิศทางไทย ที่เรียกร้องให้พลเอก ประยุทธ์เอาคนโง่และคนชั่วออกไป เสรีเขียนใน Facebook ว่า “บอกตรง ๆ ว่าตอนนี้หมดแรงสนับสนุนรัฐบาล ดูแล้วเห็นว่ารัฐมนตรีบางคนมีวาระซ่อนเร้นมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าทรัพย์หรือคะแนนเสียง และบางคนก็โง่ ทำงานไม่เป็น ทำหน้าที่ไม่ตรงความสามารถ ก็จะเอาตำแหน่ง วัฒนธรรมการเมืองแบบนี้ ประเทศไทยคงไปไม่ถึงไหนแน่นอน”[1] จะเห็นว่าเสรี ไม่ได้ตั้งคำถามกับระบบโครงสร้างหรือตัวนายกฯ แต่ชี้ว่าปัญหาอยู่ที่ตัวรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาล โดยเสรีไม่อธิบายว่าถึงที่สุดแล้วนายกฯ เองที่เป็นคนแต่งตั้งรัฐมนตรี นอกจากนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดกระแสแรงกดดันให้พลเอก ประยุทธ์ปรับคณะรัฐมนตรี แต่สุดท้ายพลเอก ประยุทธ์เองก็เลือกที่จะไม่ทำอะไรในเรื่องนี้

อีกวาทกรรมตอบโต้หนึ่งที่มุ่งเป้าไปที่นักการเมืองที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมาจากหฤทัย ม่วงบุญศรี (อุ๊ หฤทัย) นักร้องที่หันมาเคลื่อนไหวทางการเมือง และเป็นแฟนพันธุ์แท้ของพลเอก ประยุทธ์มาโดยตลอด หฤทัยได้เขียนใน Facebook ว่า “กู​จะเหนื่อย​ได้อย่างไร กูไม่ใช่นายกรัฐมนตรี​ ต้องโทษ​คนไทยที่เลือกเอง เลือกตั้ง​แต่ละครั้งมึงเอาเหี้ยมาทั้งนั้น อีห่า”[2] และต่อมาได้เขียนใน Facebook เพิ่มเติมว่า “ประเทศไทย​ไม่ควรมีการเลือกตั้ง​ ครั้งหน้า​พวกมึงไม่ต้องดัดจริต​ อยากเลือกตั้ง​กันเลยนะ กู​ขอ”[3] และ “นายกฯที่มาจากการแต่งตั้ง​ คณะรัฐมนตรี​ที่มาจากการแต่งตั้งมักจะดีกว่าพวกที่มาจากการเลือกตั้ง​ ลองสังเกต​ดู​ดิ”[4] แม้หฤทัยจะไม่ได้ปกป้องพลเอก ประยุทธ์โดยตรงใน 3 ข้อความนี้ แต่เนื่องจาก หฤทัย สนับสนุนนายกฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง ดังนั้น จึงน่าจะอนุมานได้ว่า หฤทัย ก็น่าจะยังสนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ เพราะพลเอก ประยุทธ์เคยเป็นนายกที่มาจากการแต่งตั้ง (รัฐประหาร) มาก่อน และทั้ง 3 ข้อความนี้พยามจะบอกว่ามีปัญหาอยู่จริง และรัฐบาลก็มีปัญหาจริง แต่ต้นตอปัญหาที่แท้จริงกลับไม่ใช่ตัวคณะรัฐมนตรี แต่เป็นตัวประชาชนต่างหากที่ไม่มีปัญญาเลือกคนดีมีความสามารถมาเป็นผู้นำเอง ดังนั้น ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ให้ผู้นำมาจากการเลือกตั้งจึงไม่เหมาะสมกับสังคมไทยที่ประชาชนด้อยคุณภาพ หฤทัยจึงเสนอว่านายกฯ ควรมาจากการแต่งตั้งเท่านั้น

วาทกรรมตอบโต้กลุ่มที่สองไม่โทษที่ตัวผู้นำหรือคณะรัฐมนตรี แต่โทษที่ตัวประชาชนโดยตรง ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ศาสตรา ศรีปาน สส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ที่เขียนใน Facebook ว่า "ประชาชนโง่เราจะตายกันหมด" ซึ่งเป็นการเล่นคำกับวลีที่ก่อนนี้ถูกเอามาโจมตีพลเอก ประยุทธ์ว่า “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” ที่ถูกใช้เป็น hashtag ในสื่อสังคมใหม่อย่างแพร่หลายในช่วงหลัง แม้ศาสตราจะอ้างว่าเขาไม่ได้เขียนโพสต์นี้เองแต่ไปคัดลอกของคนอื่นมาอีกที แต่มันก็น่าจะสะท้อนความคิดของเขาพอสมควรเพราะ ใครอ่านดูก็น่าจะรู้ว่าโพสต์นี้มีเนื้อหาที่ ‘ล่อเป้า’ อย่างชัดเจน ถ้าเขาไม่คิดหรือไม่เชื่อตามนี้คงไม่กล้าคัดลอกมาโพสต์ใน Facebook ของตัวเองเช่นนี้ เนื้อหาในโพสต์นี้ระบุว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID 19 ในเมืองไทยจริง ๆ แล้วเกิด “ความโง่ของประชาชนล้วน ๆ” เพราะ ประชาชนมีข้อมูลที่ไม่มากพอแต่กลับทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม คิดเอาเองว่ารัฐบาลมีความบกพร่องโดยไม่มองที่ตัวเอง เอาแต่โทษรัฐบาลฝ่ายเดียว[5] สรุปแล้ว ประชาชนคนไทยนั้นโง่ ไม่มีคุณภาพ มิหนำซ้ำยังมาโทษแต่ผู้นำ

แม้ว่าสุดท้าย สส. ผู้นี้จะออกมาขอโทษแล้วว่าเสียใจกับการโพสต์กระทู้นี้ แต่คำขอโทษอาจจะไม่สะท้อนว่าเขาเห็นแย้งกับเนื้อหาโพสต์นี้ แต่เหตุผลที่แท้จริงน่าจะเป็นเพราะมี ‘ทัวร์ลง’ หรือคนจำนวนมากเข้ามาต่อว่าที่ตัว ศาสตรา พรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาล ในโพสต์นี้มากถึง 76,000 กว่าข้อความ (comments) และแชร์ไปประจานว่าอีกกว่า 64,000 ครั้ง[6] ซึ่งถือว่ามากทีเดียว

มุมมองของหฤทัยและศาสตราแม้จะมีความแตกต่างในบางมิติ แต่ก็สะท้อนภาพลบที่มีต่อประชาชน ศาสตราไม่ได้แสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลหรือกลุ่มรัฐมนตรีอาจเป็นเพราะ ตัวเองก็เป็น สส. ฝ่ายรัฐบาลด้วย นอกจากนั้น ศาสตราก็ไม่ได้โจมตีระบอบประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้ง เพราะตัวเองก็มาจากการเลือกตั้ง แต่มันก็ย้อนแย้ง (irony) ตรงที่ตัวเองเป็น สส. ที่มาจากประชาชนแต่กลับชี้หน้าว่าประชาชนว่าโง่ อย่างไรก็ตาม วาทกรรมตอบโต้ทั้ง 2 กลุ่มมีมุมมองที่ตรงกันว่าประชาชนคนไทยนั้นโง่ ไม่มีคุณภาพ ไม่มีข้อมูล และไม่มีเหตุผลเพียงพอ

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ทัศนคติของทั้งหฤทัยและศาสตรานั้นสอดคล้องกับมุมมองของแกนนำและนักวิชาการ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่เคยแสดงในพื้นที่สาธารณะก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารปี 2557 ตัวอย่างเช่น เสรี วงศ์มณฑา นักวิชาการฝ่าย กปปส. เคยปราศรัยว่าคนสามแสนคนที่มีคุณภาพดีกว่าคน 15 ล้านคนที่ไม่มีคุณภาพ (คนที่เลือกพรรคเพื่อไทย)[7] หรือพูดอีกอย่างคือ ความคิดของคนส่วนน้อยที่มีคุณภาพย่อมมีน้ำหนักมากกว่าความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ไร้คุณภาพ จรัสพงษ์ สุรัสวดี หรือ ซูโม่ตู้ ที่มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เคยเสนอว่าคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีไม่ควรมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อดีตอธิการบดี NIDA และที่ปรึกษากลุ่ม กปปส. ก็เคยกล่าวว่าหลักการ 1 คน 1 เสียงไม่เหมาะที่จะใช้กับสังคมไทย[8] นอกจากนี้ จิตภัสร์ กฤดากร (ภิรมย์ภักดี) แกนนำและโฆษกกลุ่ม กปปส. ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า “คนไทยขาดความเข้าใจประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเฉพาะในชนบท”[9] ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น แต่เราจะเห็นว่าการแสดงทัศนคติที่เป็นลบกับประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศของแกนนำและกลุ่มผู้สนับสนุน กปปส. ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด

ถ้าจะยืมคำของนักการเมืองอนุรักษ์นิยมอย่าง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกคนที่เห็นแย้งกับตัวเองว่า ‘พวกชังชาติ’ หรือเรียกแนวคิดของคนกลุ่มนี้ว่า ‘ลัทธิชังชาติ’ (anti-patriotism) เราอาจจะเรียกคนกลุ่มที่เชียร์รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ว่าเป็นกลุ่ม ‘ชังประชาชน’ หรือ แนวคิดคนกลุ่มนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘ลัทธิชังประชาชน’ (anti-people doctrine) ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เป็นคนที่โง่ ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความรู้ หรือไม่มีเหตุผลมากพอที่จะตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงไม่สนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นผู้เลือกผู้นำ เราอาจจะเรียกแนวคิดนี้อีกอย่างว่าเป็น ‘ลัทธิชังคนส่วนใหญ่’ (anti-majority doctrine) แน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ชังประชาชนทุกคน แต่คนที่เห็นด้วยกับพวกเขาซึ่งเป็นคนส่วนน้อยก็จะเป็นข้อยกเว้น

นอกจากนี้ อีกสาเหตุที่คนกลุ่มนี้ต้องชังประชาชนคนส่วนใหญ่ เพราะที่ผ่านมาหลายปีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าผลประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่มักจะสวนทางกับผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ ในช่วง 15 ปีนี้เราจึงเห็นความพยายามที่ลดทอนอำนาจของเสียงคนส่วนใหญ่หลายต่อหลายครั้ง ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงได้เข้าใจว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์ที่คนกลุ่มนี้สนับสนุนไม่เคยชนะการเลือกตั้งมาเกือบ 30 ปี (ครั้งสุดท้ายที่ชนะคือ การเลือกตั้งปี 2535) ทำไมจึงต้องมีการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในรอบ 10 ปี ทำไมมีการยุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งหรือได้รับความนิยม อย่างพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคอนาคตใหม่ ทำไมจึงมีความพยายามขัดขวางการเลือกตั้งโดยวิธีต่าง ๆ และทำไมจึงมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ที่ร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงเขียนให้พรรคพลังประชารัฐอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ เขียนให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง และเพิ่มอำนาจให้กับองค์กรอิสระและสถาบันตุลาการ ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะทำให้ประชาชนคนส่วนใหญ่ในประเทศมีสิทธิและอำนาจทางการเมืองให้น้อยที่สุด

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ‘ลัทธิชังประชาชน’ เป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่กับการเมืองไทยมานาน แม้ตัวละครทางหรือบทบาททางการเมืองอาจเปลี่ยน แต่ความคิดนี้หาได้เปลี่ยนตามไม่ ผู้เขียนคิดว่ามันน่าสนใจตรงที่ แม้ประเทศไทยในปัจจุบันจะเข้าสู่โหมด ‘การเมืองปกติ’ แล้ว พลเอก ประยุทธ์เป็นนายกฯ ที่มาจากการ ‘เลือกตั้ง’ แล้ว แต่แนวคิดนี้ก็ยังคงอยู่ ลัทธิชังประชาชนถูกใช้เป็นวาทกรรมตอบโต้เพื่อผลทางการเมืองโดยนักการเมืองและกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่มันจะยังคงถูกใช้ต่อไปในอนาคต เพราะที่สุดแนวคิดนี้ก็จะชี้ว่าแล้วเราเองก็ยังไม่ควรไว้ใจประชาชนหรือรัฐบาลที่มาจากประชาชนอยู่ดี ตราบใดที่ความคิดเช่นนี้ยังดำรงคงอยู่ในสังคมและถูกผลิตซ้ำโดยคนที่มีอิทธิพลในสังคม ประเทศไทยคงไม่สามารถหลุดออกจากวังวนของวงจรอุบาทว์ที่เสียงของประชาชนจะถูกกลบด้วยเสียงปืนและอำนาจของประชาชนจะไม่ใช่อำนาจที่สูงสุดอย่างที่ประเทศประชาธิปไตยควรจะเป็น

 

 

อ้างอิง

[1] “'ดร.เสรี'เพลีย! ลั่นหมดแรงหนุนรัฐบาล เห็นรมต.บางคนมีวาระซ่อนเร้น-เน้นประโยชน์ส่วนตน” แนวหน้า, 7 มีนาคม 2563, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563. https://www.naewna.com/politic/477800.

[2] “หฤทัย ม่วงบุญศรี,” Facebook, 9 มีนาคม 2563, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563. https://www.facebook.com/auharuthai/posts/3017512528301653.

[3] “หฤทัย ม่วงบุญศรี,” Facebook, 9 มีนาคม 2563, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563. https://www.facebook.com/auharuthai/posts/3017792811606958.

[4] “หฤทัย ม่วงบุญศรี,” Facebook, 9 มีนาคม 2563, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563. https://www.facebook.com/auharuthai/posts/3017796674939905.

[5] “พลังประชารัฐ นายศาสตรา ศรีปาน,” Facebook, 15 มีนาคม 2563, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563. https://www.facebook.com/194806671454828/photos/a.195170541418441/518180569117435/?type=3&theater

[6] ในขณะที่เขียนเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มีนาคม 2563

[7] “ดร.เสรีกับเสียงคุณภาพ,” Youtube, 14 ธันวาคม 2556, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563, https://www.youtube.com/watch?v=qd-jGtKz4Ig.

[8] “เปิดชุดความคิด 'คนไม่เท่ากัน,'” Voice TV, 13 ธันวาคม 2556, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563, https://www.voicetv.co.th/read/91059.

[9] “ตั๊น จิตภัสร์ ย้ำ ต้องสอนประชาธิปไตยคนชนบท,” 16 ธันวาคม 2556, เข้าถึงเมื่อ 16 มีนาคม 2563, https://www.voicetv.co.th/read/91266.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net