ความรักภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ช่วงนี้ของเดือนกุมภาพันธ์เป็นโอกาสที่คู่รักจะแสดงความรักต่อกัน แต่ยังมีคู่รักจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถอยู่กับคนที่พวกเขารักได้ และอาจจะไม่ได้อยู่กับคนที่รักเป็นเวลาอีกหลายปี เพราะคดีความทางการเมืองได้พรากอิสรภาพของคนรักของเขาหรือเธอไป

รอมือละห์ แซยะ ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตแต่งงานห้าปี เทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านและเรือนจำ จ.ปัตตานี เพื่อเยี่ยมสามีของเธอ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม "อันวาร์" คนทำงานภาคประชาสังคมที่สำคัญคนหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ปาตานี 

 
 
ศาลฎีกาตัดสินว่าอันวาร์มีความผิดฐานตระเตรียมการกบฎ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 56 ด้วยเหตุที่มีผู้กล่าวหาเขาว่า เป็นสมาชิกขบวนการปลดปล่อยเอกราชปาตานี บีอาร์เอ็นโดยหลักฐานที่ศาลฎีกายึดถือส่วนใหญ่มาจากการซัดทอดของผู้ต้องหาคดีความไม่สงบคดีอื่น ซึ่งเป็นการให้การระหว่างการควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษ แม้ไม่มีหลักฐานว่าอันวาร์เคยก่อเหตุความไม่สงบใดๆ ศาลฎีกาก็ได้ลงโทษตัดสินจำคุกเป็นเวลา 12 ปี ทั้งนี้ อันวาร์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา คำตัดสินจากพยานบุคคลอันดูไม่มีน้ำหนักนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์ Free Anwar (อ่านรายละเอียดคำพิพากษา ที่นี่)  
 
“เดือนสองเดือนแรกที่อันวาร์เข้าเรือนจำ เราสับสนมาก และคิดว่าต่อไปนี้เราจะอยู่อย่างไร จะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง เราก็เอาคำพิพากษาทั้งหมดมาอ่านและวิเคราะห์กับเพื่อนนักกฎหมาย แม้เราจะรู้ว่า คดีมันสิ้นสุดแล้ว แต่เราก็มองโลกในแง่ดีว่า มันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากศึกษาคำพิพากษากับเพื่อน เราก็รู้สึกว่า หลักฐานมันอ่อนมาก ความผิดเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้เลย จึงเกิดการรณรงค์ Free Anwar เพื่อให้ทบทวนและเป็นกรณีศึกษากับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับอันวาร์ ต่อมาทำเรื่องไปที่ยูเอ็น และมีคนมาร่วมรณรงค์ช่วยเหลือเรามากมาย ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป” รอมือละห์กล่าว “การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจริงๆ แล้วก็เป็นการเยียวยาตัวเองอย่างหนักอย่างหนึ่ง”  
 
ชีวิตของรอมือละห์เปลี่ยนไปมากตั้งแต่อันวาร์เขาเรือนจำ หลังแต่งงานช่วงปลายปี 2553 ด้วยความที่เธอเป็น working woman เธอไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับอันวาร์ที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เพราะห่วงงานที่ทำอยู่ที่ จ.นราธิวาส ทั้งคู่ให้อิสระต่อกันและดูแลกันตามประสาเพื่อนคู่คิดที่ทำงานร่วมอุดมการณ์ หากแต่ไม่นานหลังอันวาร์ต้องเข้าเรือนจำในปี 2556 รอมือละห์ก็ตัดสินใจย้ายมาอยู่ในบ้านอันวาร์ที่ปัตตานี เพื่อดูแลพ่อและแม่สามี โดยเฉพาะแม่สามีที่ป่วยหลายโรค และต่อมาเธอสมัครทำงานประจำที่ปัตตานีได้ประมาณเกือบปี ก็ตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นฟรีแลนซ์เพื่อที่จะมีอิสระทางเวลาและได้ไปเยี่ยมสามีอย่างสม่ำเสมอ
 
ย้อนไปเมื่อห้าปีก่อน รอมือละห์พบกับอันวาร์ครั้งแรกตอนทำกิจกรรมในพื้นที่ปาตานี และต่อมามีโอกาสไปเรียนหลักสูตรระยะสั้นในโครงการ โรงเรียนสันติภาพ ที่ประเทศอินเดีย หลังรู้จักกันหนึ่งปี ทั้งคู่ก็แต่งงาน “อันวาร์อายุน้อยกว่าละห์ถึงสองปี ตอนนั้นก็ถามว่า อันวาร์จีบรุ่นพี่หรอ อันวาร์ตอบว่า "ก็แล้วไง?" รอมือละห์เล่าว่า ด้วยความที่อันวาร์ถูกตั้งข้อหาในคดีความมั่นคง เขาจึงพยายามพัฒนาตัวเองให้มีทักษะการสื่อสาร สื่อสารทั้งเรื่องของตัวเองและเรื่องในพื้นที่ เพื่อให้สังคมเห็นว่า เขาเป็นบุคคลในที่แจ้ง ด้วยอันวาร์มีคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาก จึงได้ร่วมก่อตั้งกลุ่มบุหงารายา และวาร์ตานี ซึ่งสื่อทั้งสองสำนักมุ่งที่จะให้คนในพื้นที่สื่อสารปัญหาของตัวเองสู่คนนอก ในขณะนั้นเอง รอมือละห์ก็ทำงานเยี่ยมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและทำงานกับเยาวชนในพื้นที่ ความมุ่งมั่นพัฒนาเพื่อยกระดับการสื่อสารของชาวมลายูปาตานีนี่เองที่ทำให้รอมือละห์ประทับใจในตัวอันวาร์ 
 
อุดมการณ์ที่ร่วมกันไม่ใช่อย่างเดียวที่ทำให้ทั้งสองได้ลงเอยกัน แต่ยังเป็นความเข้าใจและยอมรับในตัวตนของกันและกัน “เขายอมรับว่า เลือกละห์เป็นคู่ชีวิต เพราะเชื่อว่าละห์จะรับสิ่งนี้ได้”
 
โลโก้การรณรงค์ปล่อยตัวอันวาร์
 
รอมือละห์เล่าว่า แม้ว่าสามีของเธอเข้าไปอยู่ในเรือนจำแล้ว เขายังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกับการก่อเหตุความไม่สงบระหว่างที่อยู่ในเรือนจำนั้นได้อีก โดยเมื่อ 23 มี.ค. 57 มีเจ้าหน้าที่บุกบ้านอันวาร์เพื่อขอตรวจหาดีเอ็นเอว่าตรงกับตัวอย่างดีเอ็นเอที่พบในที่เกิดเหตุความไม่สงบเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 57 หรือไม่ ซึ่งเป็นช่วงที่อันวาร์อยู่ในเรือนจำเกือบหนึ่งปีแล้ว
 
“เราพยายามมองแง่บวกว่า เขาอยู่ในคุก เขาปลอดภัยกว่าอยู่ข้างนอก ถ้าเขาโดนคดีความมั่นคง แล้วอยู่ข้างนอก ทางการจะมองเป็นศัตรู บางคนถูกเก็บ หรือถูกจับซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมีชื่ออยู่ในแบล็กลิสต์ หรือมีเจ้าหน้าที่มาเยี่ยมบ่อยๆ แม้แต่ตอนที่อันวาร์อยู่ในเรือนจำมา 10 เดือนแล้ว อยู่ๆ มีเจ้าหน้าที่มาขอตรวจดีเอนเอ กลายเป็นผู้ต้องสงสัยเรื่องใหม่ เราเลยเห็นภาพชัดเจนเลยว่า ถ้าวันนั้นอันวาร์อยู่บ้าน ชีวิตอันวาร์นับหนึ่งใหม่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกรอบแน่ๆ”
 
เกือบสามปีที่ผ่านมา รอมือละห์ต้องพบเจอกับการ “เยี่ยมเยียน” จากเจ้าหน้าที่เรื่อยๆ ถูกจัดเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ (Party B) และถูกกล่าวหา ชักศึกเข้าบ้านจากการร้องเรียน UN ถูกข่มขู่คุกคามทางโลกออนไลน์ด้วย เธอกล่าวว่า ครอบครัวของเธอยังโชคดีที่ไม่แทบไม่เจอการถูกตราหน้าจากสังคม เพราะเพื่อนๆ และสังคมรอบข้างส่วนใหญ่เข้าใจ ต่างจากครอบครัวของผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในปาตานีชายแดนภาคใต้อื่นๆ ที่ถูกคนรอบข้างประณาม ทำให้เลือกที่จะเก็บตัว และโดดเดี่ยวตัวเองจากสังคม  
 

บทพิสูจน์รักแท้

 
15 นาที ต่อวัน คือเวลาที่ทั้งคู่จะสามารถได้เห็นหน้าและคุยกันผ่านกระจกกั้น มันเป็นเวลาที่สั้นมาก อันวาร์และรอมือละห์จึงต้องใช้เวลานี้ให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งในการสื่อสารเรื่องราวจากข้างนอกสู่ข้างใน และความรู้สึกจากหัวใจทั้องสองดวง 
 
“อันวาร์เป็นคนขี้สงสัย เขาก็จะตั้งคำถามมากมาย เราก็ต้องเล่าเรื่องต่างๆ อย่างรวดเร็ว เช่น เราไปประชุมอะไรกับใครมาบ้าง เรื่องการพูดคุยสันติภาพไปถึงไหน มารา (MARA Patani) คือใคร เราก็จะพูดๆๆๆ จนเราแซวเขาว่า เธอทำให้ฉันชินกับการเป็นคนพูดมาก เมื่อวันหนึ่งเธอกลับมาอยู่บ้าน เธอจะฟังฉันแบบนี้ไหม เขาก็ว่า ฟังสิ ถ้าเธอพูดน่าฟัง ก็ต้องฟังอยู่แล้ว อ้าว!” รอมือละห์กล่าว พร้อมหัวเราะ “บางวันเราก็เบื่อคุยเรื่องบ้านเมือง ก็จะบอกว่า ขอคุยเรื่องส่วนตัวบ้างได้ไหม อยากคุยแบบ ง้องแง้งบ้างได้ไหม”
 
รอมือละห์ และอันวาร์ ปีแรกของการแต่งงาน
 
ใครจะไปคิดว่า การพูดคุยกันแค่ 15 นาที ก็ยังงอนกันได้เหมือนกัน 
 
“กว่าจะได้เจอ เราต้องขับรถเดินทาง แล้วต้องรอเยี่ยมอีกสองชั่วโมง! แม้เจอกันแค่สิบห้านาที ก็มีงอนบ้าง แต่ก็พยายามข่มตัวเอง ไม่ว่า ใครคนนึงจะงอน ก็ต้องระงับก่อน หรือร้องไห้ เราก็ต้องพยายามคุยกัน เราก็ตกลงกันว่า ทุกครั้งที่เจอกันสิบห้านาที ต้องมีแต่เรื่องดีๆ เท่านั้น เราต้องสร้างความโรแมนติคระหว่างกันให้มากที่สุด ตอนนี้เราเลยรู้สึกเหมือนอันวาร์มาจีบเราใหม่เลย เป็นการจีบหลังแต่งงาน เป็นการจีบที่ฮาลาล (ถูกต้องตามหลักการอิสลาม)”
 
“ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เราให้กำลังใจกันและกัน เติมพลังกันและกันให้มากที่สุด มีครั้งหนึ่งที่ละห์ท้อ เขาก็มองหน้านิ่งๆ แล้วเขาก็บอกว่า 'อยากกอดเธอนะ'”
 
“อันวาร์ อยู่ข้างใน คุยกับหนุ่มๆ ข้างใน ก็จะได้ยินเรื่องราวประมาณว่าภรรยาผู้ต้องขังขอหย่าเพราะผู้ชายดูแลไม่ได้ เขาก็กังวลหนักมาก เพราะเราไม่มีลูกด้วยกัน เราก็ว่า เดี๋ยวนะ ทำไมถึงยกเอาประเด็นนี้มาคุย เขาก็บอกว่า ละห์แทบเหมือนคนโสดเลย เพราะละห์ดูแลตัวเองได้ เราก็ตอบว่า 'นี่ไม่ไว้ใจเราเลย ให้รู้ไว้เลย เราจะเปลี่ยนเพราะตัวเธอ ไม่ใช่คนอื่น ถ้าเธอหมดรัก เมื่อถึงเวลานั้น เราก็จะเปลี่ยน มันไม่สำคัญเลยว่าเธอจะอยู่ข้างในหรือข้างนอก ขอเพียงแค่เธอยังดูแลหัวใจฉันได้ มันก็เพียงพอแล้ว'”
 
รอมือละห์กล่าวว่า แม้อันวาร์ยังขาดอิสรภาพ แต่ความรักของทั้งสองเบ่งบานมาก และเธอมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบททดสอบที่พิสูจน์รักแท้ของเธอและอันวาร์ 
 
“ถ้าเขาไม่ได้อยู่ในเรือนจำ ตอนนี้เราอาจหย่ากันไปแล้วหรือเปล่า เพราะเราก็รักอิสระและห่วงงานด้วยกันทั้งคู่ พอเจอบททดสอบแบบนี้ก็ทำให้เราชะงัก และมาทบทวนว่าเรายังรักกันอยู่ไหม ตอนนี้เราเลยรู้สึกเหมือนกำลังรอวิวาห์อีกรอบ เราก็คุยกันเล่นๆ ว่า พออันวาร์ออกมา อันวาร์มาขอละห์ใหม่นะ แล้วก็จัดงานแต่งอีกรอบ เป็นงานเลี้ยงต้อนรับอันวาร์ และเป็นการขอบคุณเพื่อนๆ ของพวกเราที่อยู่เป็นเพื่อน เพื่อนที่ไม่ทิ้งให้เราเผชิญปัญหาโดยลำพัง” 
 
งานแต่งงานแบบมลายูของทั้งคู่ วันที่ 21 พ.ย. 2553
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท