คนงาน TRY ARM ระดมทุนบริจาคกกน.เข้าคุกหญิงกว่า 2 พันตัว

‘จิตรา TRY ARM’ เผยสูตรระดม กกน.เพื่อบริจาคคนงานลงแรงผู้รักปชต.ลงทุน ขอรัฐควรจัดหาชุดชั้นในให้เพียงพอ คุกต้องมีสุขอนามัย อัดการละเมิดสิทธิในคุกเท่ากับลงโทษเกินกฎหมาย ผู้ต้องหาต้องมีสิทธิประกันตัว โทษเล็กน้อยไม่ควรเข้าคุกหรือขังแทนค่าปรับ

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ได้นำกางเกงในที่ได้จากการระดมทุนกว่า 2,000 ตัว มามอบให้ผู้ต้องขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีตัวแทนของทัณฑสถานฯ รับมอบ ซึ่งนอกจากกลุ่มคนงาน TRY ARM แล้ว ยังมีผู้สนใจในเฟซบุ๊ก อาสาสมัคร กรกนก คำตา หรือน้องปั๊บ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องหาคดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. และถูกนำตัวเข้าทัณฑสถานฯ ก่อนออกมาบอกเล่าเรื่องราวการละเมิดสิทธิในนั้น มาร่วมนำของบริจาคให้ทัณฑสถาน รวมทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มาร่วมเป็นสักขีพยาน

คนงานลงแรงผู้รักประชาธิปไตยลงทุน

ผู้สื่อข่าวประชาไท ได้สอบถามถึงโครงการนี้เพิ่มเติม กับ จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มสหกรณ์คนงาน TRY ARM ซึ่งเธอ กล่าวว่า แรกเริ่มโครงการวางไว้ว่าจะมีการระดมทุนไว้ 2,000 ตัว โดยประชาสัมพันธ์เชิญร่วมบริจาคทางเฟซบุ๊ก แต่หลังจากเริ่มเปิดระดมไปเพียง 3 วัน ก็เกินเป้าที่ตั้งไว้ จึงต้องรีบนำมามอบให้ที่ทัณฑสถาน สำหรับรูปแบบการระดมทุนนั้นกลุ่มสหกรณ์คนงาน Try Arm รวมด้วยโดยการลงแรงตัดเย็บผลิตให้ฟรี พร้อมอาสาเป็นผู้ประสานงาน ส่วนค่าวัตถุดิบใช้เงินจากผู้บริจาคดังกล่าว การระดมทุนใช้เวลาเพียง 3 วันก็ครบ เนื่องจากตั้งเป้าแต่แรกไว้เพียง 2,000 ตัวเท่านั้น ทำให้ยังมีเงินที่ได้รับบริจาคเกิน ซึ่งทางกลุ่มเตรียมหาช่องทางในการนำไปบริจาคที่ทัฑณสถานหญิงที่อื่นต่อไป

โดยเหตุผลที่เริ่มโครงการนี้ขึ้นมา จิตรา เล่าว่า เนื่องจากปี 2557 ตนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำและได้เห็นสภาพในเรือนจำที่แออัดและสกปก รวมทั้งไม่มีเสื้อชั้นในและกางเกงในให้ใส่ ประกอบกับมีนักศึกษาคือ กรกนก ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองและถูกนำตัวไปเข้าทัณฑสถานหญิงระหว่างรอประกันตัวเช่นกัน ได้ออกมาเล่าถึงสภาพเรือนจำที่ไม่ดีและละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายอย่าง ภายหลังได้มีการจัดสัมมนากันทาง ผอ.ทัณฑสถานฯ ได้ออกมาพูดว่าเสื้อชั้นในกางเกงในขาดแคลนมาก พวกตนจึงคิดว่าในเมื่อกลุ่มของตนทำการผลิตกางเกงในอยู่แล้วจึงร่วมระดมทุกกับผู้รักประชาธิปไตยทำโครงการนี้ขึ้นมา

กรณีปัญหาการขาดแคลนชุดชั้นในและกางเกงในนั้น จิตรา กล่าว่าได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ระบุว่าทางเรือนจำมีการจัดหาให้ 2 ชุดต่อคน และส่วนหนึ่งญาติจะซื้อให้ ซึ่งหากไม่มีญาติก็จะไม่ได้รับเพิ่ม แต่ด้วยความที่จัดหาให้เพียง 2 ชุด บวกกับคนที่อยู่ในนั้นจำนวนมากทำให้บางครั้งเกิดการสูญหาย จึงทำโครงการเพื่อเข้าไปบริจาคตรงนี้ แต่จริงแล้ว รัฐควรจัดหาให้อย่างเพียงพอคืออย่างน้อยคนละ 6 ชุด พร้อมทั้งมีกระบวนการตรวจเช็คของที่จัดหาให้ว่ายังอยู่หรือไม่หรือเสียหายหรือเปล่า เพื่อสามารถเบิกทดแทนได้

การละเมิดสิทธิในคุกเท่ากับลงโทษเกินกฎหมาย

“สิ่งที่เราเน้นคือเรื่องสุขอนามัย ความสะอาด และการไม่ละเมิดสิทธิ และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ต้องขังเพื่อให้เขาสามารถกลับมาสู่สังคมที่ดีได้อย่างไร ไม่ใช่เอาเขาเข้าไปในเรือนจำเพื่อแก้แค้นเขา” จิตรา กล่าว

จิตรา กล่าวว่า เมื่อเราเอาคนไปขังแล้ว มันไม่มีความสบายหรอก แต่จะทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในนั้น ไม่ถูกละเมิดสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หรือทำให้เหมือนสัตว์ รวมทั้งการสวมใส่เสื้อผ้าก็ต้องมีสิทธิที่จะได้สวมอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะได้สวมใส่ ไม่ใช่ว่าถูกขังแล้วจะไม่มีสิทธิที่สวมใส่เสื้อผ้าอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีสิทธิ

“โทษเขาคือการขังหรือจำกัดสิทธิการเดินทางเท่านั้น แต่ไม่ได้ต้องโทษว่าต้องถูกละเมิด ต้องโทษว่าต้องถูกการทารุณกรรม การอยู่ในนั้นไม่ได้มายความว่าเขาต้องถูกทารุณกรรมด้วย เพราะหากถูกละเมิดอื่นๆ ในคุก ย่อมเท่ากับว่าเขถูกลงโทษมากกว่าที่กฎหมายกำหนดด้วย” จิตรา กล่าว

ต้องมีสิทธิประกันตัว โทษเล็กน้อยไม่ควรเข้าคุกหรือขังแทนค่าปรับ

จิตรา กล่าวต่อว่า การที่ผู้ต้องหาได้ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทำให้ถูกขังรวมกันอยู่ คนที่ถูกฝากขังก็ต้องถูกนำตัวไปขัง แทนที่เขาจะได้ออกมาเตรียมข้อมูลในการต่อสู้คดี ลดความแออัดในเรือนจำ รัฐภาระของรัฐ แถมคนได้รับการประกันตัวออกมาทำงานยังสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถทำงานและเสียภาษีได้ ดังนั้นผู้เกี่ยวข้อกับกระบวนการยุติธรรมควรให้สิทธิการประกันตัว หรือใช้วิธีการควบคุมตัวแบบอื่น เช่น ใส่สัญญาณติดตัวแทน หรือคดีเล็กน้อยก็ไม่ต้องควบคุมตัวก็ได้ ทั้งนักโทษทางความคิดนักโทษการเมือง รวมทั้งการขังแทนค่าปรับ

จิตรา กล่าวอีกว่า บางคนไม่สามารถเข้าถึงการประกันตัวได้ ก็ควรหาทางช่วยเหลือ บางคนอาจได้สิทธิในการประกันตัว แต่ไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัว เรื่องสิทธิการประกันตัวก็เป็นปัญหา เรื่องหลักทรัพย์ในการประกันตัวที่ใช้อัตราเท่าเทียมกันไม่ว่ารวยจนก็เป็นปัญหา คนจนถูกกล่าวหากระทำความผิดเดียวกับคนรวย แต่วงเงินประกัน 1 แสน คนจนก็อาจไม่สามารถหาเงินมาได้ ก็ต้องไปติดคุก หรือการเสียค่าปรับ เมื่อไม่มีเงินเสียก็ต้องไปติดคุกแทนค่าปรับอีก

“หลายครั้งเราจะได้ยินว่าคนรวยไม่ติดคุก แต่ไม่ได้หมายความว่าคนรวยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่คนรวยสามารถเข้าถึงหลักทรัพย์การประกันตัว มีเงินในการเสียค่าปรับ แถมสามารถจ้างทนายฝีมือดีได้อีก เขาก็สามารถออกมาใช้ชีวิตข้างนอกได้” จิตรา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท