นักข่าวพลเมือง: ลูกจ้างไทรอัมพ์แพ้คดี เดินหน้าดาวกระจายขาย Try Arm ร้องนายจ้างตัวจริงเจรจา

 

ดาวกระจาย กดดันนายจ้างตัวจริงเจรจาหาข้อยุติ

วานนี้ (18 ธ.ค.2552) เวลา 9.00 น. ที่อาคารวานิช ถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้มีกลุ่มคนงานประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นอดีตลูกจ้างของบริษัท บอดี้แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัทไทรอัมพ์ฯ ที่ได้มีประกาศและเลิกจ้างพนักงาน 1,959 คนตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยการเลิกจ้างในครั้งนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯและกลุ่มอดีตพนักงานที่ถูก เลิกจ้างไม่ยอมรับการเลิกจ้าง จึงมีการชุมนุมและเคลื่อนไหวมาโดยตลอดเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา

โดยใน ครั้งนี้ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางมาจากกระทรวงแรงงานเพื่อรณรงค์ พร้อมขายสินค้ากางเกงในสตรี Try Arm (ดู รายงานพิเศษ : กางเกงในแบรนด์ 'Try Arm' ตัวแรก จากสองแขนแรงงานผู้ไม่ยอมแพ้) บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ ที่อาคารวานิช ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ดาวกระจาย ขายไทรอาร์ม” เรียกร้องให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง หลักจรรยาบรรณทางการค้าของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ (Code of Conduct) หลักปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติของกลุ่มองค์กรความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและ การพัฒนา (OECD) ในเรื่องของการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างนายจ้างกัลลูกจ้างกรณีการกำหนด นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก การเปิดเผยข้อมูล รวมถึงเรียกร้องให้มีการเจรจากับ 2 ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯและตัวแทนของกลุ่มพนังงานที่ถูกเลิกจ้าง ประกอบด้วย ธัญยธร คีรีถาวรพัฒน์ รองประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และ จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาและเจ้าหน้าที่ประจำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ซึ่งได้เดินทางไปรณรงค์เพื่อขอเข้าพบผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างแท้จริงใน การปรับโครงสร้างครั้งนี้ที่ยุโรปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา (ดู 2 ตัวแทน สร.ไทรอัมพ์ฯ ออกบอกเล่าการถูกละเมิดต่อแรงงานและผู้บริโภคในยุโรป) เนื่องจากตลอดเวลาที่ได้มีประกาศเลิกจ้างนั้นผู้บริหารประจำประเทศไทยอ้างมา โดยตลอดว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

ผลปรากฏว่า ขณะนั้น ไม่ไดัพบผู้บริหารสูงสุดประจำประเทศไทย คือ นายเคนเนต หลุย มาร์แชล เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานแจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่า นายเคนเนตไม่อยู่ หลังจากทราบเรื่องกลุ่มอดีตพนักงานไทรอัมพ์ฯ ได้ชุมนุมบริเวณหน้าอาคารวานิชต่อ พร้อมทั้งแจกแถลงการณ์ และขายสินค้า Try Arm ให้กับผู้คนที่สัญจรในย่านดังกล่าว โดยพวกเธอระบุว่า ขายในราคาที่เป็นธรรม เพื่อรณรงค์ให้สังคมรับทราบถึงการขูดรีดที่พวกเธอประสบและส่วนต่างระหว่าง กำไรกับค่าแรงและค่าชดเชยที่พวกเธอได้รับจากการจ้างงานนั้นเป็นอย่างไร จนกระทั้งเวลา 13.30 น.จึงเดินทางกลับที่ชุมนุมบริเวณใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงาน ดินแดง กรุงเทพฯ


สื่อนอกสนใจ 2 ตัวแทนรณรงค์ในยุโรป
ทั้งนี้ในวันดังกล่าว (18 ธ.ค. 2552) เทเลกราฟ (Telegraaf) สื่อยักษ์ใหญ่ในเนเธอร์แลนด์ ได้รายงานข่าวการชุมนุมและรณรงค์ของ 2 ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯประเทศไทยและกลุ่มคนงานที่ถูกเลิกจ้างในครั้งนี้ ที่ได้รณรงค์บริเวณหน้าร้านขายสินค้าของไทรอัมพ์ ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ร่วมกับตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ฟิลิปปินส์ที่ถูกเลิกจ้างเช่นกัน (ดู Naaisters voelen zich in hemd gezet)

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 แนวหน้าออนไลน์ (http://www.naewna.com/news.asp?ID=191832) ได้รายงานข่าวการตัดสินของศาลแรงงาน จ.สมุทรปราการ กรณีที่กลุ่มอดีตลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น ประเทศไทย จำกัดส่วนหนึ่งประมาณ 200 กว่าคน ที่ได้ไปยื่นฟ้องศาลกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้น ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยอ้างเหตุนายจ้างของบริษัทดังกล่าวประสบกับภาวะขาดทุนจริง ส่วนคนงานเผยเตรียมปรับเปลี่ยนการต่อสู้รูปแบบใหม่ ตามรายงานข่าวของแนวหน้าดังนี้

ศาลแรงงาน จ.สมุทรปราการ อ่านคำพิพากษาคดีที่อดีตลูกจ้าง บริษัท บอดี้ แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด ที่ผลิตชุดชั้นในยี่ห้อ ไทรอัมพ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณากรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากนายจ้างของบริษัทดังกล่าวประสบกับภาวะขาดทุนจริง พวกตนจะต้องปรับเปลี่ยนการต่อสู้ในรูปแบบใหม่ โดยจะใช้รูปแบบดาวกระจายขายสินค้าไทร์อาม (Try arm) ซึ่งเป็นสินค้าชุดชั้นในที่คนงานผลิตขึ้นเองหลังจากถูกเลิกจ้าง โดยจะแยกกันไปขายตามหน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังที่มีสินค้าของไทรอัมพ์วางขาย เพื่อตอบโต้ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น

“พวกเราก็อยู่ในภาวะท้อแท้ และไม่รู้จะสู้อย่างไร เราคงตระเวนขายสินค้าที่เราทำก็นเพื่อจะบอกให้ประชาชนได้รู้ว่าต้นทุนสินค้า ที่ขาย กับกำไรที่บริษัทตั้งราคาขายแตกต่างกันมาก โดยจะขายในราคา 49 กับ 59 บาท เท่านั้น” นางบุญรอด กล่าว

นางบุญรอด กล่าวต่อว่า ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือแถลงการณ์ ที่บริษัทไทรอัมพ์ สาขาใหญ่ ถ.เพชรบุรี เพื่อขอให้บริษัทไทรอัมพ์สำนักงานใหญ่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดการเจรจากับ 2 ตัวแทนสหภาพ ที่เดินทางไปเจรจากับผู้บริหารในเรื่องจริยธรรมทางการค้า และการเคารพกฎเกณฑ์จริยธรรมของบรรษัทข้ามชาติ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อดีตลูกจ้างไทรอัมพ์จำนวน 1,954 คน ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.52 ทำให้พนักงานรวมตัวกันประท้วงทั้งที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล หน้าโรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ก่อนที่จะมาปักหลักชุมนุมประท้วงที่ใต้อาคารกระทรวงแรงงานเป็นเวลากว่า 60 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท