นปช. ขอประชาชนร่วมจับผิดโกงประชามติ

นปช.แถลงจุดยืน รธน. จี้ กกต.แจงให้ชัดเจน ข้อห้ามไหนทำได้-ไม่ได้ พร้อมแนะดึง 'ยูเอ็น-อียู' เข้าร่วมสังเกตการณ์ เตรียมเปิดตู้ ปณ. ชวนคนร่วมจับผิดโกงประชามติ
 
 
24 เม.ย. 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่าที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว  นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษา นปช. นพ.เหวง โตจินาการ นายนิสิต สินธุไพร นายสมหวัง อัสราษี แกนนำ นปช. ร่วมกันแถลงข่าวโดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งมาคอยสังเกตการณ์ด้วย
 
นายจตุพร กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้เราตั้งใจกันว่าทันทีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน จัดแถลงข่าวเรื่องรัฐธรรมนูญ พวกเรา นปช. ก็จะใช้สิทธิแถลงเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเราได้ร้องขอมาตลอด แต่ไม่เคยได้รับสิทธิ โดยประเด็นที่เราจะแถลงคือในเรื่องของการทำประชามติหลังการร่างรัฐธรรมนูญของนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. และคณะเสร็จสิ้น และมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ประชามติฯ สังคมไทยขณะนี้กำลังอยู่ท่ามกลางความกลัวในการแสดงความคิดเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้พวกตนได้เดินทางไปที่กกต. เพื่อเรียกร้องให้กกต.มีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมายในการทำประชามติ โดยเฉพาะมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติ ที่ทางผู้นำ กรธ. และสนช. อธิบายแตกต่างกัน จนประชาชนสับสนว่าเรายังสามารถพูดเรื่องรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ทั้งนี้มาตรา 61 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี ซึ่งที่เราร้องขอนั้น เพราะการใช้คำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ข่มขู่ ในกฎหมาย เป็นการเขียนกฎหมายที่ครอบจักรวาล สร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับประชาชน และไม่มีมาตรวัดเลยว่าวาจาที่ก้าวร้าว รุนแรง นั้นคืออย่างใด ซึ่งถ้าวัดกันแบบนี้ก็เข้าได้ทุกคน
 
“ตัวอย่างเช่น คำว่า หยาบคาย เราจะเอามาตรวัดอะไรมาวัดกริยา เอากริยาของท่านผู้นำเป็นหลักใช่หรือไม่ ไม่มีใครเขียนกฎหมายกันแบบนี้มาก่อน การที่ สนช.เขียนกฎหมายที่มีลักษณะข้อห้ามเป็นนามธรรมเช่นนี้นั้น ทางกกต.จะต้องทำให้เกิดความชัดเจน อย่างไรก็ตามสัปดาห์หน้า ถ้ายังไม่มีความชัดเจน พวกผมก็จะเดินทางไป กกต.อีกครั้งหนึ่ง ส่วนเรื่องการแสดงความเห็นเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พวกผมได้แสดงความเห็นส่วนตัวไป แต่ไม่ได้ไปชักจูงใคร”นายจตุพร กล่าว
 
นายจตุพร กล่าวอีกว่า บรรยากาศการทำประชามติต้องไม่อยู่ในบรรยากาศของความกลัว ที่กลัวแม้กระทั่งการแสดงความคิดเห็น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ คสช.ควรยกเลิกการทำประชามติเสีย รวมถึงการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจที่จะให้การทำประชามติเป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรมตามความฝันของ กกต.นั้น ในทางปฏิบัติแล้วสามารถเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้นเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย กกต. และผู้มีอำนาจควรเปิดกว้างให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) สหภาพยุโรป (อียู) หรือองค์กรใดๆ ก็ตามในระดับนานาชาติมาสังเกตการณ์ในการลงประชามติอย่างเปิดเผย ซึ่งนี่เป็นเรื่องของความสุจริต โปร่งใส และความไว้เนื้อเชื่อใจ ที่ไม่ว่ารัฐ หรือประชาชนต้องมีสิทธิที่จะตรวจสอบ ตนขอฝากไปยังประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบการทุจริตให้แจ้งมายัง นปช. เพื่อจะได้ดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป  วันที่ 7 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เราต้องออกไปทำประชามติกันโดยพร้อมเพรียง ให้เสียงท่วมท้น และช่วยกันเป็นหูเป็นตาในทุกหน่วยที่มีการลงประชามติ ขอให้อยู่กันตั้งแต่เริ่มจนนับคะแนนเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 50 นั้น คือเกิดการทุจริตขึ้นมากมาย แต่ขณะนั้นเราต้องการการเลือกตั้ง จนลืมตรวจสอบการทุจริตตรงนั้น แต่ครั้งนี้เราจะไม่ยอมแม้แต่หน่วยเดียว
 
"วันนี้นายสุเทพ แถลงข่าวโดยมีการถ่ายทอดสด แต่พวกผมไม่ถ่ายทอด เพราะเราต้องการให้ประชาชนคนไทยฟังนายสุเทพให้จบก่อน พวกเราต้องการรักษาบรรยากาศ ไม่ต้องการซ้ำเติมประเทศที่มีทุกข์ยากจากภัยเศรษฐกิจอยู่แล้ว ไปจนถึงวันเวลาที่ต้องไปทำประชามติ ผมไม่อยากให้เกิดบรรยากาศว่าใครไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นคนอื่น เพราะรับ หรือไม่รับถือเป็นสิทธิ นอกจากนี้ อีกไม่กี่วันผมจะประกาศทั้งเบอร์โทรศัพท์ และตู้ ปณ. ซึ่งหากประชาชนพบการทุจริตในการลงประชามติให้ส่งหลักฐานมายังพวกเรา แล้วเราจะส่งไปยัง กกต.อีกครั้งหนึ่ง" นายจตุพร กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท