Skip to main content
sharethis

ญาติวีรชน-คปช.53 ยื่น จม.เปิดผนึกถึง 'ภูมิธรรม' หนุนนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ติง รบ.เพิกเฉยต่อการเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนเสื้อแดงเมื่อปี'53 เสนอตั้ง คกก.เร่งรัดคดีความ แก้ กม.ให้ทหารและนักการเมืองที่ทำผิดอาญาต่อประชาชนขึ้นศาลพลเรือน

 

13 มิ.ย. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) คณะประชาชนทวงความยุติธรรมปี 2553 (คปช.53) และญาติวีรชนคนเสื้อแดง เดินทางมายื่นหนังสือถึง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง "การดำเนินการที่เป็นจริงเพื่อทวงความยุติธรรมในกรณีเมษา-พฤษภา 2553 ให้ทันการณ์ในสมัยรัฐบาลนี้" โดย มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับหนังสือ

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า เนื่องด้วย คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช. 53) และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และรักความยุติธรรม มีความประสงค์ให้รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งในปี 2566 มาแล้ว รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันคืนความยุติธรรมจากการปราบปรามประชาชนในปี 2553 และยุติการทำรัฐประหาร และการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชน เรามีความเห็นว่า

1. เราเห็นด้วยที่มีการดำเนินการเพื่อนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ต้องถูกจำชังโดยไม่ได้ประกันตัว และรับโทษเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในคดีที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองซึ่งไปถือเป็นคดีความมั่นคง เราขอสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมในคดีความการเมือง รวมทั้งกรณีมาตรา 112 ซึ่งเป็นผลพวงการรัฐประหารปี 2519

2. เราไม่เห็นการขยับตัวของรัฐบาลและพรรคการเมืองในการทวงความยุติธรรมให้คนตาย เพื่อเป็นการยุติการลอยนวลพันผิดของอาชญากรรมต่อประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถือเป็นการปรับโครงสร้างกระบนการยุติธรรม ไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งก่อรัฐประหารรอบที่ผ่านมา เพื่อยุติคดีความที่จะลุกลามถึงคณะผู้ปราบปรามประชาชน ตรงข้ามกลับดำเนินคดีความทั้งกับฝ่ายรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ และฝ่ายประชาชนที่ถูกคณะตนปราบปรามเข่นฆ่าหลั่งเลือดนองแผ่นดิน

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาที่กองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามประชาชนแล้วพันผิดลอยนวล และแก้ปัญหาการทำรัฐประหาร จึงเห็นควรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐบาลได้ดำเนินงานตามกฎหมายในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเรา ประกอบด้วย 

1. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเร่งรัดคดีความตามกฎหมาย

2. การแก้กฎหมายให้ทหารและนักการเมืองเมื่อทำความผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน โดยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3. การลงนามให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ มีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีเฉพาะกรณี เมษา-พฤษภา 2553 เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนคนไทยได้

นี่เป็นการเรียนมาอีกครั้งหลังจากที่พรรคทั้งหลายได้รับรู้ข้อเสนอของเราตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้น หนังสือที่เรามอบให้คือข้อมูลที่เราได้ปรับปรุงเพื่อให้ท่านได้ทำงานได้โดยเร็ว หวังว่าท่านจะดำเนินการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปสำหรับรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย

ทั้งนี้ การชุมนุมคนเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เริ่มขึ้นที่สะพานผ่านผ้าลีลาศ เมื่อ มี.ค. 2553 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ ยุบสภาฯ เนื่องจากพวกเขามองว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรม ต่อมา รัฐบาลได้มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และตั้ง ศอฉ.เข้ามาควบคุมการชุมนุม 

เว็บไซต์ The Matter ระบุว่า ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 10 เม.ย. 2553 เมื่อทหารเริ่มใช้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ โดยรัฐบาลอ้างว่ามีชายชุดดำในฝั่งผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการครั้งนั้นทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อย จน นปช.ต้องย้ายสถานที่ชุมนุมมาที่แยกราชประสงค์

จนกระทั่งเมื่อ 14-19 พ.ค. 2553 ทหารได้เริ่มปฏิบัติการกระชับวงล้อม และใช้อาวุธสงครามในการสลายการชุมนุม ก่อนที่ภายหลังแกนนำ นปช. จะประกาศยุติการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. 2553 เหตุการณ์ดังกล่าวมีพลเรือนเสียชีวิตอย่างน้อย 95 ราย ในจำนวนนี้เป็นการเสียชีวิตเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทหาร จำนวนอย่างน้อย 17 ราย และบาดเจ็บอีกนับพัน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสมัยรัฐบาล นำโดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีการออกประกาศคณะรัฐมนตรี เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีนักการเมืองและทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมถูกลงโทษสักคนเดียว

ภาพบรรยากาศ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net