ค้านเกาหลีปลดงานศิลป์-สุธียันไม่หนุนรัฐประหาร-ที่เงียบไปเพราะบ้านเมืองขัดแย้ง

กรณี 118 รายชื่อยื่น จม. หอศิลป์เกาหลีใต้นำผลงานศิลปินยุค กปปส. ปิดกรุงเทพฯ จัดแสดงรำลึก 36 ปีเหตุสลายการชุมนุมที่กวางจู ล่าสุดเจ้าของผลงาน สุธี คุณาวิชยานนท์ ชี้แจง 'มติชน' ทราบเรื่องจดหมายแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่านเพราะติดสอนทั้งวัน และชี้แจงหอศิลป์เกาหลีใต้แล้วว่าไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร แต่ต้านนิรโทษกรรม-คอรัปชั่น

รับระดมทุนให้ กปปส. จริง แต่ไม่ใช่ กปปส. แค่มีแนวคิดบางอย่างร่วมกัน ที่ผ่านมาเงียบไป เพราะไม่สนับสนุนรัฐประหาร ยอมรับว่าไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจ ขอยืนยันว่าอยากให้ปฏิรูป บ้านเมืองขัดแย้งมาเยอะ เลยไม่อยากไปเพิ่มความขัดแย้ง อยากให้ประเทศสงบ มีทางออก แต่ถ้าคณะรัฐประหารทรยศประชาชนก็อีกเรื่องหนึ่ง ควรต้องเคลื่อนไหวต่อไป

สุธี คุณาวิชยานนท์ ถ่ายภาพคู่กับศิลปินชาวเวียดนาม เลอดุกไฮ (ซ้าย) และ เลองอกทัน (ขวา) ข้างหลังคือผลงานแสดงของสุธี ชุด  'Thai Uprising' ผลงานศิลปะของเขาในการชุมนุม กปปส. ระหว่างปี 2556 - 2557 (ที่มา: facebookpage/Hai Duc Le)

งานแสดงของสุธีช่วงชัตดาวน์กรุงเทพฯ 13 ม.ค. 2557 (ที่มา: Rama9Art)

โดยในคำชี้แจงวันนี้ (17 พ.ค.) ของสุธี คุณาวิชยานนท์ รองศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวกับ มติชนออนไลน์ว่า ทราบข่าวเรื่องจดหมายเปิดผนึกแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสอ่าน เพราะติดงานสอนตลอดทั้งวัน อย่างไรก็ตาม เขาได้รับอีเมลล์จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจูในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งได้ชี้แจงกลับไปเรียบร้อยแล้ว โดยขอยืนยันว่า ไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เป็นการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอย และการคอรัปชั่นของนักการเมือง ซึ่งผลงานที่นำไปจัดแสดง เป็นบันทึกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น โดยเป็นงานเก่าตั้งแต่ปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ที่นำมาทำใหม่ ซึ่งหากทางพิพิธภัณฑ์จะปลดผลงานส่วนหนึ่ง เขาจะขอคัดค้าน เพราะไม่มีเหตุผลจะถูกปลด

“ผมและเพื่อนๆกลุ่ม Art Lane ซึ่งมีทั้งศิลปิน นักร้อง นักแสดง เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประหาร ทำไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ไม่มีใครหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือพรรคการเมือง เราทำของเราเอง กรณีที่มีการทำเสื้อยืดและของที่ระลึกขาย ก็มอบรายได้ให้กลุ่มไปแล้วเขาไปจัดการกันเอง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีการใช้สนับสนุนกิจกรรมการเคลื่อนไหว และมอบให้กปปส. จริง แต่ผมไม่ใช่สมาชิกกลุ่มกปปส.แค่มีแนวคิดบางอย่างร่วมกัน เช่น ต้านรัฐบาลที่ทุจริต ค้านนิรโทษกรรมสุดซอย

งานในนิทรรศการก็เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ในบริบทนั้นๆว่าเป็นอย่างไร เป็นงานที่ทำตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร ไม่ถามหรือว่าหลังรัฐประหารทำไมผมเงียบ ก็เพราะไม่สนับสนุน ยอมรับว่าผิดหวัง ไม่ได้เป็นอย่างที่ตั้งใจ ยังยืนยันว่าอยากให้ปฏิรูป แต่พอเกิดรัฐประหาร ก็รอดูไปก่อนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป บ้านเมืองขัดแย้งมาเยอะ เลยไม่อยากไปเพิ่มความขัดแย้ง อยากให้ประเทศสงบ มีทางออก แต่ถ้าคณะรัฐประหารทรยศประชาชนก็อีกเรื่องหนึ่ง ควรต้องเคลื่อนไหวต่อไป”  สุธีกล่าว และว่าหลังทราบข่าวการส่งจดหมายเปิดผนึก ยอมรับว่าไม่สบายใจ เพราะตนไม่ใช่นักการเมือง หรือนักเคลื่อนไหวมืออาชีพ แต่มีศิลปินและเพื่อนอาจารย์คอยให้กำลังใจ

 

ผลงานแสดงที่กวางจู ของสุธี คุณาวิชยานนท์ และการทักท้วง

สำหรับผลงานแสดงของสุธี ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู ส่วนแรก คือ "กระดานดำกวางจู" โดยนำมาจากผลงานชุด "ห้องเรียนประวัติศาสตร์ภาค 2" ที่สุธีเคยจัดแสดงผลงานดังกล่าวมาก่อน เมื่อ พ.ศ. 2556 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นภาพแกะสลักบนโต๊ะนักเรียนที่ทำจากไม้ 23 ตัว แสดงเหตุการณ์ 23 แห่ง โดยในการแสดงที่กวางจู สุธีได้เลือกโต๊ะไปทำการแสดง 6 ตัว นอกจากนี้เขายังร่วมกับศิลปินเกาหลีใต้ วาดภาพบนกระดานดำร่วมกันโดยด้านหนึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอีกด้านการเหตุการณ์กวางจูเดือนพฤษภาคม 2523

"ผลงาน "กระดานดำกวางจู" ผมต้อง "เลือกจำ" คัดตัดตอนมาเฉพาะประวัติศาสตร์ 1 หน้าในความทรงจำทางการเมืองไทย 14 ตุลา 16 เบลอปะปนไปกับ 18 พฤษภาคม 1980 โศกนาฏกรรมทางการเมืองของเกาหลีใต้ที่เมืองกวางจู ที่มีทั้งความคล้ายและความต่างสองเรื่องสองเหตุการณ์ถูกเขียนแล้วลบแล้วเขียนอีก จนมันเบลอ เข้าหากันในกระดานแห่งความทรงจำเดียวกัน อีกชิ้นโต๊ะนักเรียนในห้องเรียนประวัติศาสตร์ ก็จำเป็นต้องถูก "เลือกจำ" เช่นกัน จากโต๊ะ 23 ตัว เกือบ 20 เหตุการณ์ คัดเหลือแค่ 6 ตัว ประมาณ 6 เหตุการณ์" สุธีระบุตอนหนึ่งในสเตตัสเฟซบุ๊คที่เขาพูดถึงผลงานแสดงศิลปะ

สำหรับผลงานศิลปะส่วนที่ถูกทักท้วง คือ "Thai Uprising/มวลมหาประชาชน" (อ่านรายละเอียด) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะของสุธีระหว่างการชุมนุมต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการชุมนุม กปปส. ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ถึง ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยมีข้อความที่ปรากฏในโปสเตอร์เช่น "ปฏิรูปก่อน" "ไทยอย่าเฉย" "ยึดคืนประเทศไทย" "อย่ากลับด้านประเทศไทย" โดยผลงานส่วนหนึ่งของสุธีถูกนำมาประมูลเพื่อระดมทุนสำหรับการต่อสู้ในช่วงนั้นด้วย

ทั้งนี้ หลังวันเปิดแสดงผลงานศิลปะเมื่อ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา บุคคลในวงการต่างๆ ในประเทศไทย ได้ส่งจดหมายทักท้วงไปยัง ลิม จงยอง ผู้ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ 'The Truth_to Turn It Over' อาทิ ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากรเขียนจดหมายเปิดผนึกไปยัง ลิม จงยอง เพื่อสอบถามเหตุผลในการคัดเลือกผลงานแสดงศิลปะของเขา

"เนื่องจากการที่เขาสนับสนุนรัฐบาลทหารเป็นสิ่งที่โจ่งแจ้ง ข้าพเจ้าจึงรู้สึกสงสัยที่ท่านในฐานะภัณฑารักษ์ของนิทรศการ 2016 Asian Democracy-Human Rights-Peace จึงเลือกให้เขามีส่วนร่วมกับงานนิทรรศการ ท่านได้ทำการบ้านค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะไทย ศิลปินไทย และความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้มักจะมีกระบวนการจัดทำนิทรรศการชนิดขี้เกียจที่คู่กันไปกับภัณฑารักษ์ผู้เดินทางไปทั่วโลก แล้วมักจะเลือกศิลปินคนดังจากแต่ละประเทศด้วยความมักง่าย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าหวังว่ากรณีนี้จะไม่เป็นหนึ่งในนั้น" จดหมายของธนาวิตอนหนึ่งระบุ

ขณะเดียวกันในวันนี้ (16 พ.ค.) มีการเผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกจาก "นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย" (กวป.) ถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู กรณีนำผลงานของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ไปจัดแสดงในนิทรรศการ ‘The Truth_ to Turn It Over’" โดยมีการลงชื่อท้ายจดหมายโดยบุคคล 118 ราย ประกอบด้วยศิลปิน ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน สื่อมวลชน นักวิชาการ ฯลฯ ในไทย สอบถามไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู

"พวกเราใคร่ขอถาม Jong Young Lim ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ และคณะกรรมการของถึงกระบวนการคัดเลือกและเหตุผลที่เชิญสุธีเข้าร่วมในนิทรรศการครั้งนี้ พวกเราเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออกว่ามีความสำคัญต่อศิลปิน แต่พวกเราต้องการแสดงความกังวลที่นิทรรศการของสุธีมีข้อเท็จจริงที่ตรงกันข้ามกับจิตวิญญาณการต่อสู้ของกวางจู ด้วยความเคารพต่อหลักการดังกล่าวพวกเราใคร่ขอคำอธิบายหลักและเหตุผลในการคัดสรรศิลปินและผลงาน เพื่อความกระจ่างชัดต่อชาวไทยและชาวกวางจู" ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

อนึ่ง เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ในเว็บ penseur21.com (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) Lee Yu Kyung ผู้สื่อข่าวชาวเกาหลีใต้ ได้โทรศัพท์สัมภาษณ์ ลิม จงยอง ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการดังกล่าว โดยเขาย้ำว่าเขารู้สึกชื่นชมผลงานแนวสตรีทอาร์ทของสุธี ซึ่งมีเนื้อหาใกล้กับศิลปะแนวประชาชนของเกาหลีใต้ในยุคทศวรรษที่ 1980 โดยเขาพิจารณาเรื่องนี้โดยไม่ได้คำนึงในเรื่องนัยยะทางการเมือง

"ผมไม่ได้คาดหมายว่าจะมีปฏิกิริยาตอบกลับมาจากประเทศไทยขนาดนี้ เราได้รับคำท้วงติงมาจากบุคคลหลากหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งถูกส่งมาจากมูลนิธิ 518 (มูลนิธิในเกาหลีใต้ซึ่งตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ต่อสู้ที่กวางจู) พวกเราจะมีการหารือกันถึงเรื่องนี้ พวกเราอาจพิจารณาที่จะถอนงาน 1 ใน 4 เรื่องของสุธี ซึ่งเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการประท้วงของ กปปส. แต่เราต้องได้รับความยินยอมจากศิลปิน เราจะไม่ทำโดยฝ่ายเดียว เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของพวกเราร่วมกัน"  ลิม จงยอง กล่าวเพิ่มเติม

 

36 ปีเหตุการณ์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกวางจู ก่อนนำตัวผู้บงการขึ้นศาลในปี 2539

สำหรับขบวนการประชาธิปไตยกวางจู หรือเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมต่อต้าน นายพลชุน ดูฮวาน ที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลชอย คูฮาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2522 โดยท้ายที่สุดทหารเกาหลีใต้สามารถยึดเมืองกวางจูคืนจากผู้ประท้วงได้ในวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 มีผู้เสียชีวิต 165 ราย สูญหาย 76 ราย บาดเจ็บสามพันห้าร้อยราย ขณะที่ทหารและตำรวจเสียชีวิต 13 ราย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ศาลอาญาประจำโซล มีคำตัดสินประหารชีวิตนายพลชุน ดูฮวาน จำเลยที่หนึ่ง และจำคุกนายพลโน แทอู จำเลยที่สอง 22 ปี 6 เดือน และจำคุกนายพลอื่นๆ อีก 13 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท