IDAHOT 2016 คาดกม.เท่าเทียมฯ ยุติเลือกปฏิบัติต่อคนหลากหลายทางเพศ

คนทำงานด้านคนหลากหลายทางเพศร่วมจัดงาน ‘ลุกขึ้นเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียม’ งานวิจัยพบเมืองไทยไม่ใช่สวรรค์ของคนหลากหลายทางเพศ ยังถูกเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิมนุษยชน หวังกฎหมายเท่าเทียมระหว่างเพศยุติการเลือกปฏิบัติไม่ว่าเพศใด
 
 
17 พ.ค. 2559 เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย, สถานเอกอัคราราชทูตแห่งราชอาณาจักรเนเธอแลนด์, กรุงเทพมหานคร, The Foundation for AIDS Research (amfAR), มูลนิธิธีรนาถกาญจนอักษร, Asia Pacific Transgender Network (APTN) และภาคี ร่วมจัดงาน ‘ลุกขึ้นเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียม: พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ เนื่องในวันสากลเพื่อการยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ (International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia: IDAHOT) ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่ายที่ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศเขียนแสดงความคิดเห็น ความต้องการ หรือสะท้อนความรู้สึกเกี่ยวกับการถูกเลือกปฏิบัติที่มีต่อคนหลากหลายทางเพศ
 
นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัล IDAHOT ประจำปี 2016 ให้แก่บุคคลที่เห็นถึงความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านประสบการณ์ของตนเอง และกล้าที่จะลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตน มีวงเสวนาพูดคุยจากผู้มีประสบการณ์ตรงและคนทำงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมถึงเปิดตัวคลิปวิดีโอ ‘ลุกขึ้นเปลี่ยนสังคมไทยให้เท่าเทียม’ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสังคมในเรื่องสิทธิของคนข้ามเพศ
 
“สิ่งที่ดิฉันเป็นเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ดิฉันเกิดเป็นผู้ชาย แต่อาจเติบโตเป็นผู้หญิง ดิฉันเลือกไม่ได้ ดิฉันไม่อยากเห็นการเลือกปฏิบัติเพราะสิ่งที่ดิฉันเป็น ไม่ใช่อาชญากรรม” ชินรัตน์ บุตรโท เอ็นจีโอเจ้าของรางวัล IDAHOT 2016 กล่าว
 
ชินรัตน์เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในสังคม และกล้าที่จะลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตน จากกรณีที่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้ทำบัตรประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ยื่นข้อเสนอให้เธอเดินทางกลับภูมิลำเนาซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางถึง 10 ชั่วโมงเพื่อทำบัตรประชาชน หรือพาญาติสายเลือดเดียวกันมาที่สำนักงานเขตเพื่อยืนยันตัวบุคคลของเธอเพียงเพราะเธอแต่งกายไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด นั่นสะท้อนถึงความไม่เข้าใจของหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เธอจึงร้องเรียนกับหัวหน้าทำงานของสำนักงานเขตนั้น และหลังจากการร้องเรียน เธอกลับได้รับการปฏิบัติตัวแบบ ‘พิเศษ’ ที่เธอไม่ต้องการ ทั้งการปฏิบัติแบบเอาอกเอาใจ การลัดคิวให้ ฯลฯ เธอกล่าวว่า เธอเพียงแค่ต้องการการถูกปฏิบัติเยี่ยงคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น และไม่ได้ต้องการสิทธิที่เหนือกว่าคนอื่น พร้อมกล่าวว่าหากวันนั้นเธอเลือกยอมแพ้ และเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อทำบัตรประชาชนตามเจ้าหน้าที่บอก เธอก็จะได้บัตรประชาชนเช่นเดียวกัน แต่จะไม่ได้ทำให้สังคมรับรู้ว่ายังมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนข้ามเพศอยู่
 
เช่นเดียวกับผู้ได้รับรางวัลอีกคน นิชนัจทน์ สุดลาภา หรือ ซารีน่า ไทย นางแบบสาวข้ามเพศ ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติโดยการปฏิเสธไม่ให้เข้าสถานบันเทิง ด้วยเหตุเพราะเธอเป็นกะเทย เธอจึงตัดสินใจเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผลจากการร้องเรียนของเธอทำให้อีกคนที่โดนละเมิดสิทธิเช่นนี้อีกหลายคนรับรู้ช่องทางในการพิทักษ์สิทธิของตนเองและทำให้สถานบันเทิงต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนข้ามเพศ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงความไม่เข้าใจและความเกลียดกลัวคนข้ามเพศบนฐานของอคติ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 และถึงแม้จะมี พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว แต่ก็ยังพบการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ในอีกหลายๆ ที่
 
เธอกล่าวว่า “อย่ายอม อย่ายอมให้คนปฏิบัติกับเราแบบนั้น อย่ายอมหยุดต่อสู้เพื่อสิทธิที่เราพึงมีมาแต่กำเนิด” เพื่อปลุกความคิดของคนและหวังให้บุคคลหลากหลายทางเพศกล้าที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเอง
 
จากงานวิจัยในปี 2557 ที่เครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยทำร่วมกับ Transgender Europe (TGEU) ในเรื่องการเคารพต่อคนข้ามเพศโดยเปรียบเทียบกับการเกลียดกลัวคนข้ามเพศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยไม่ใช้สวรรค์ของกลุ่มคนข้ามเพศดังที่หลายคนเข้าใจ เพราะยังมีการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนหลากหลายทางเพศในทุกระดับของสถาบันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การแพทย์ การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม บ้างก็เห็นได้จากการถูกปิดกั้นทางการศึกษา เนื้อหาการเรียนที่มีอคติกับบุคคลหลากหลายทางเพศ รวมทั้งนโยบายของถานศึกษา เช่น การแต่งกาย นอกจากนั้น แบบเรียนที่เกี่ยวข้องกับเพศศึกษาก็ยังคงปรากฏเนื้อหาที่เขียนว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศเกิดจาก ‘ความเบี่ยงเบน’ หรือ ‘ความผิดปกติ’ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดอคติต่อกลุ่มคนเหล่านี้
 
นอกจากนี้ มิติทางศาสนาก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่ต้องถกเถียง เนื่องจากศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาหลักของชาตินั้นระบุในพระไตรปิฎกว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่สามารถบวชเป็นพระได้
 
ด้านรณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ซึ่งรวมถึงทุกเพศวิถี เขามองว่าไม่ใช่กฎหมายเท่านั้นที่ช่วยให้สังคมปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น การสร้างความตระหนักและปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมก็เป็นส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน พ.ร.บ.นี้จึงน่าจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องให้กับคนในสังคม
 
วรรณเพ็ญ สุวรรณวิศิษฐ รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเสริมสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ซึ่งจะเป็นผู้วางกฎเกณฑ์เพื่อนำสังคมไปสู่ความเข้าใจ โดยปฏิบัติงานในสี่ส่วนคือส่งเสริม สนับสนุน ควบคุม และดูแล และคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) ซึ่งมีความสำคัญมากเพราะคำวินิจฉัยที่ออกมาจะมีผลบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการแก้ไข ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการทั้งสองชุด
 
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจสุขภาพผู้หญิง ให้สัมภาษณ์ประชาไทว่า การสรรหากรรมการต้องดูที่กระบวนการสรรหาว่าทำอย่างไร หากคณะกรรมการวินิจฉัยเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ. นี้ กรณีของซารีน่าอาจต้องใช้มาตรการ 2 ระดับคือ 1.การจัดการกับสถานบันเทิงแห่งนั้นโดยตรง 2.มาตรการทางสังคม เช่น ทำให้เกิดการร้องเรียน มีกระบวนการเผยแพร่ให้กับสังคม และใช้มาตรการด้านผู้บริโภคเข้ามาควบคุมด้วย รวมทั้งถึงเวลาที่เราต้องสร้างช่องทางที่จะสะท้อนพลังทางสังคมออกมาและเชื่อมั่นพลังทางสังคมให้มากขึ้น ให้สังคมเข้าใจว่านี่คือการละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติ อีกทั้งต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำให้สังคมเข้าใจจริงๆ ว่า การไม่ให้กะเทยหรือคนข้ามเพศเข้าสถานบันเทิงนั้นเป็นการละเมิดสิทธิอย่างไร เพื่อนำไปสู่การเข้าใจและการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคม
 
“ในเรื่องการขัดกันกับ พ.ร.บ.อื่น ก็ยังเป็นแบบฝึกหัดที่น่าติดตาม” เธอกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ กล่าวถึงการไม่เลือกปฏิบัติในองค์รวม แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในเรื่องของวิชาการ ศาสนา และความมั่นคงของชาติ ในส่วนนี้ก็อาจจะต้องหยิบยกหลักการที่ไปไกลกว่าเนื้อหาใน พ.ร.บ. อย่างเช่นหลักสิทธิมนุษยชนที่ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นสากลมาใช้ พร้อมเสริมว่าอยากเห็นภาพของการถกแถลงในเรื่องนี้ เพราะบางเรื่องอย่างศาสนาหรือระเบียบข้อปฏิบัติในหลายๆ องค์กรยังคงมีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอยู่จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท