รายงานพิเศษ: ภาษามลายู-รัฐไทยนิยม การกลืนชาติทางภาษา แกะปมขัดแย้งชายแดนใต้

แกะปมขัดแย้ง ‘ภาษามลายู’ สามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อรัฐไทยพยายามกลืนความเป็นปาตานีผ่านภาษา หนึ่งในชนวนความรุนแรง หวั่นอัตลักษณ์ปาตานีสิ้นสูญ มารา ปาตานี เตรียมเสนอวงคุยสันติภาพนำข้อเสนอฮัจญีสุหลงกลับมา ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการ
 
 
ป้ายมัสยิดกรือเซะ สองบรรทัดแรกเป็นภาษาอาหรับ เขียนว่า "มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ ชาห์"  บรรทัดที่สองเป็นภาษามลายูยาวี เขียนว่า "ประตูชัยกรือเซะ" ส่วนบรรทัดที่สามเป็นภาษาอาหรับ เขียนว่า "ฟาตอนี ดารุสลาม ปี ฮ.ศ. 877"
 
เมื่อห้าปีก่อน มูฮำหมัด ดือราแม ริเริ่มการทำหนังสือพิมพ์ “ซีนารัน” ซึ่งเป็นนสพ.รายสองเดือน ภาษามลายู  อักษรยาวี เป็นครั้งแรก นสพ.ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในวงการภาคประชาสังคมมลายู ข่าวสังคม และเรื่องบุคคลที่น่าสนใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า ปาตานี 
 
เพื่อป้องกันการถูกระแวงและสงสัยจากฝ่ายความมั่นคง เขาได้ออกแบบให้บนหน้าปกของซีนารันมีการแนะนำเรื่องในฉบับเป็นภาษาไทยด้วย “เราจะใช้ยาวีร้อยเปอร์เซนต์ไม่ได้ เพราะเราจะถูกฝ่ายความมั่นคงสงสัยทันทีว่า เรื่องอะไร เราเจอนิสัยคนไทยว่า ไม่ค่อยแฮปปี้กับความแตกต่างเท่าไหร่ ภาษาไทยบนหน้าปกจะช่วยลดความหวาดระแวง” 
 
ด้านล่างของหน้าแรกของซีนารัน มีพาดหัวข่าวภาษาไทย เพื่อลดความระแวงสงสัยของผู้ที่อ่านอักษรยาวีไม่ได้
 
กลุ่มเป้าหมายหนึ่งของซีนารันนี้คือ ขบวนการเพื่อเอกราชปาตานี โดยเฉพาะคนที่อยู่อยู่ต่างแดนที่อาจอ่านภาษาไทยไม่ได้ “ถ้าจะสื่อสารกับขบวนการ บางคนในขบวนการเขาอ่านไทยไม่ได้ แต่เขาอ่านมลายูได้ เราจึงพยายามเสนอเรื่องที่สื่อกระแสหลักไม่เล่น เราพยายามเสนอเรื่องของภาคประชาชนให้เขารู้เรื่องของคนใน เราเชื่อว่าอย่างน้อย ข้อมูลข่าวสารอาจช่วยเปลี่ยน การใช้อาวุธ เป็นทางสันติก็ได้” มูฮำหมัดกล่าวกับประชาไท นอกจากนี้ ที่ผ่านมา คนปาตานีขาดการสื่อสารปัญหาความขัดแย้งกับประชาคมชาวมลายูด้วยกัน ที่อยู่ในมาเลเซียและอินโดนีเซีย เพราะไม่มีสื่อในภาษามลายูให้พวกเขาอ่าน ทำให้แม้จะเป็นคนชาติพันธ์ุเดียวกันก็ตาม พวกเขาก็ไม่ได้มีความเข้าใจปัญหาเท่าไหร่ เพราะก็รับรู้เรื่องปาตานีจากสื่อภาษาอังกฤษที่ผลิตจากกรุงเทพ 
 
มูฮำหมัด ดือราแม บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ และซีนารัน 
 
เนื่องจากการเขียนตัวยาวีในปัจจุบันไม่แพร่หลายนัก คนรุ่นใหม่อ่านเขียนตัวยาวีได้น้อยลงทุกที มูฮำหมัดจึงต้องจัดการอบรมการเขียนข่าวด้วยภาษามลายูตัวยาวี โดยมุ่งเป้าไปที่นักเรียนโรงเรียนปอเนาะ ซึ่งเป็นโรงเรียนจารีตดั้งเดิมของชาวมลายูมุสลิมในชายแดนใต้ ซึ่งเน้นสอนวิชาศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และภาษาอาหรับ ปรากฎว่า ในรุ่นแรกๆ ของนักเรียนปอเนาะที่เข้าอบรม มีนักเรียนคนหนึ่งถูกสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ “มันอาจแปลได้ว่า คนที่ภูมิใจกับอัตลักษณ์ มีความซ้อนทับกับคนต้องการเมอร์เดกา (เอกราช)” มูฮำหมัดบอกกับประชาไท และหัวเราะ เขาเล่าด้วยว่า มีโครงการจะทำเว็บไซต์สำนักข่าวออนไลน์ภาษามลายู ชื่อ Sinaran News Online ซึ่งจะผลิตข่าวเกี่ยวกับสามจังหวัดเป็นภาษามลายู อักษรยาวี อักษรรูมี ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยเน้นที่ภาษามลายูเป็นหลัก
 

ยื้อชีวิตภาษามลายู

 

คีย์บอร์ดยาวี พัฒนาโดย ซอลาหุดดีน กริยา
 
ซอลาหุดดีน กริยา หรือที่รู้จักในนาม Solar Garia เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามอนุรักษ์และพัฒนาภาษามลายูตัวอักษรยาวี ในฐานะหัวหน้ากลุ่มอาวัณบุ๊ก เขาได้พัฒนาชุดคีย์บอร์ดยาวีแบบปาตานี และฟอนต์ยาวี เพื่อให้ภาษามลายู อักษรยาวีแพร่หลายยิ่งขึ้นในการสื่อสารอิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารหลักของผู้คนยุคนี้ และสะดวกในการใช้ในงานพิมพ์ต่างๆ หลังการพัฒนาเสร็จ เขาบอกว่าจะยกงานนี้ให้เป็นสมบัติสาธารณะ ซอลาหุดดีนมองว่า การทำให้ยาวีตามทันเทคโนโลยีเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้สื่อสาร คือการแก้ปัญหาที่ตรงจุด “ถ้าไม่มีการพัฒนาอักษรยาวีให้ตามทันเทคโนโลยียุคใหม่ คนก็จะไม่ค่อยใช้ แล้วภาษาจะตายไป เราต้องทำเพื่อต่ออายุอักษรยาวี และเป็นทางเลือกที่เท่าเทียมกับภาษาอื่นๆ ให้คนปาตานีเลือกใช้” 
 
 “ถ้าไม่มีการพัฒนาอักษรยาวีให้ตามทันเทคโนโลยียุคใหม่ คนก็จะไม่ค่อยใช้ แล้วภาษาจะตายไป เราต้องทำเพื่อต่ออายุอักษรยาวี และเป็นทางเลือกที่เท่าเทียมกับภาษาอื่นๆ ให้คนปาตานีเลือกใช้” ซอลาหุดดีน กริยา 
 
หัวหน้ากลุ่มอาวัณบุ๊กบอกกับประชาไทว่า ปัจจุบัน เมื่อคนปาตานีจะพิมพ์อักษรยาวี จะใช้คีย์บอร์ดอาหรับ แต่เนื่องจากชุดอักขระอาหรับขาดอักษรที่ถูกคิดค้นเพิ่มขึ้นห้าตัวเพื่อแทนเสียงภาษามลายูที่ไม่มีในภาษาอาหรับ จึงทำให้พิมพ์ได้ไม่ถูกต้องนัก กลุ่มอาวัณบุ๊กจึงพัฒนาคีย์บอร์ดยาวีขึ้นใหม่ และแม้มาเลเซียจะพัฒนาคีย์บอร์ดยาวีขึ้นในปี 2555 ก็เรียงตัวอักษรโดยเทียบกับคีย์บอร์ด QWERTY ของภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนปาตานีที่คุ้นเคยกับการเรียงตัวอักษรแบบอาหรับ ส่วนฟอนต์ยาวีนั้น ฟอนต์ที่มีอยู่ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว และไม่ใช่ระบบยูนิโคด (ระบบฟอนต์ที่ทำให้ฟอนต์ชุดหนึ่งใช้ได้กับทุกระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์) ทำให้เป็นอุปสรรคกับการใช้งานบนคอมพิวเตอร์และการพิมพ์สิ่งพิมพ์ ความล้าหลังทางเทคโนโลยีและไม่ตอบสนองต่อการใช้งานเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนหันไปสื่อสารด้วยภาษาที่ตอบสนองมากกว่าแทน อย่างภาษาไทย
 
ซอลาหุดดีนออกแบบสไตล์ของอักษรยาวีในรูปแบบที่ไม่คุ้นตา
 
เขาเล่าอีกว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาภาษาอย่างจริงจังและถูกจุด กลุ่มอาวัณบุ๊กวางแผนจะตั้งสถาบันเรียนรู้และพัฒนาภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนราชบัณฑิตยสถานของภาคประชาชนปาตานี สถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานทางภาษา และคอยกำกับดูแลการพัฒนาภาษาในพื้นที่ จัดตั้งคลินิกภาษามายู และผลักดันหรือต่อรองกับรัฐในการให้การส่งเสริมภาษามลายูให้ตรงจุด เพื่อให้ภาษามลายูมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียมกับภาษาไทย และทำให้แน่ใจว่า นโยบายภาครัฐที่ออกมาตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นอกจากนี้ เขายังได้ผลิตเว็บ jawipatani.com ซึ่งผลิตข่าวสารทั้งการเมือง สังคม ในภาษามลายูอักษรยาวี เพื่อส่งเสริมการใช้อักษรยาวีในวงกว้างอีกด้วย 
 

มลายู ภาษาที่กำลังจะตาย

 
ในปัจจุบัน ชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ภาษาไทยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในเมืองสามารถใช้ภาษาไทยได้ดีพอๆ กับคนที่อื่นของประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาใช้ภาษามลายูและตัวยาวีน้อยลง ด้วยคุณภาพที่ต่ำลง ฮารา ชินทาโร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู เปรียบเปรยสถานการณ์ของภาษามลายูในปาตานีว่าอยู่ในขั้น “ไอซียู” คืออยู่ในขั้นวิกฤติ ร่อแร่ ใกล้ตายเลยทีเดียว 
 
“มันเป็นความจริงที่น่าขมขื่นว่า ภาษามลายูในปาตานีนั้นอ่อนแอมากๆ” ฮารากล่าวและว่า ภาษามลายูในปาตานีนั้นน่าเป็นห่วงมาก ทั้งในแง่ของจำนวนคนใช้มลายูที่มีจำนวนน้อยลงโดยเฉพาะในเมือง คำศัพท์ก็มีให้ใช้น้อยลง และคำศัพท์ต่างๆ ถูกแทนที่ด้วยคำยืมจากภาษาไทย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกที จนทำให้คนมลายูจากมาเลเซียและอินโดนีเซียฟังไม่เข้าใจ การเขียนภาษามลายูด้วยอักษรไทยในเครือข่ายสังคมออนไลน์ก็มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ “เมื่อพูดถึงคุณภาพ แทบจะไม่มีเจ้าของภาษามลายูชาวปาตานีคนไหน จะสามารถสนทนาเป็นเวลานานได้โดยไม่ได้นำภาษาไทยมาปน ในรูปของคำหรือวลีที่ยืมมา การปนภาษา และการสลับภาษา” ฮารากล่าว
 
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 1 แสดงให้เห็นว่า ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถนัดใช้ภาษามลายูถิ่นในความเรือนมากที่สุด (ดูสไลด์ทั้งหมด)
 
ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ (Peace Survey) ครั้งที่ 1 เผยแพร่เมื่อ 17 พ.ค. 59 จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างประชาชนในสามจังวัดเกือบ 1,600 คน พบว่า ภาษาที่กลุ่มตัวอย่างใช้พูดในครัวเรือนมากที่สุดคือ มลายูถิ่น ร้อยละ 55.9, ภาษาใต้ 16.5, มลายูปนไทย 16.2, ภาษาไทยกลาง 2.6 อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงทักษะการพูด ฟัง อ่าน เขียน พบว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่กลุ่มตัวอย่างมีทักษะทั้งสี่อย่างมากที่สุด รองลงมาคือ มลายูยาวี และ มลายูรูมี หากดูทักษะการเขียน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75.9 ตอบว่าสามารถเขียนภาษาไทยกลางได้, ร้อยละ 39.5 ตอบว่าสามารถเขียนมลายูยาวีได้, ร้อยละ 25.8 ตอบว่าเขียนมลายูรูมีได้ และร้อยละ 8.2 ตอบว่า เขียนอาหรับได้ 
 
ยาวี (หรือ “ภาษายาวี” ที่คนมักเรียกกันผิด) คือชุดอักขระที่ใช้ในการเขียนภาษามลายู ซึ่งใช้ตัวอักษรอาหรับ และเพิ่มอักษรอีกห้าตัว (ที่มาเลเซียใช้หกตัว) เพื่อแทนเสียงที่ภาษาอาหรับไม่มี นอกจากนี้ภาษามลายูยังมีวิธีเขียนอีกอย่างหนึ่ง “รูมี” ซึ่งเป็นอักษรโรมัน ซึ่งใช้อย่างแพร่หลายในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน
 
อักษรยาวี ภาพจาก Wikipedia 
 
ยาวี ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อไรนั้นยังเป็นคำถามที่นักภาษาศาสตร์ยังหาคำตอบกันอยู่ แต่อาจพูดคร่าวๆ ได้ว่า ถูกพัฒนาขึ้นประมาณศตวรรษที่ 16 หลังจากที่ผู้คนบนคาบสมุทรมาลายูรับศาสนาอิสลามจากอาหรับ อักษรยาวีถูกใช้อย่างแพร่หลายในคาบสมุทรมลายูจนกระทั่งอังกฤษและดัชต์เข้ามายึดพื้นที่บริเวณมาเลเซียและอินโดนีในปัจจุบันเป็นอาณานิคม เจ้าอาณานิคมได้นำระบบการเขียนด้วยอักษรโรมัน ซึ่งเรียกว่า รูมี มาใช้แทนยาวีและใช้จนเป็นที่แพร่หลาย การเขียนภาษามลายูจึงยังหลงเหลืออยู่ที่ปาตานีนั่นเอง 
 
“ในขณะที่อังกฤษและดัชต์มาพัฒนาภาษามลายูให้เป็นประโยชน์ต่ออาณานิคมตัวเอง รัฐไทยไม่ได้เข้ามาพัฒนา แต่เข้ามาลบ ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จที่สตูล แต่คนปาตานีนั้นพยายามรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง แต่ในภาวะที่ถูกกด ภาษาก็ไม่มีการพัฒนาทางภาษาเท่าไร คนปาตานีได้แค่ต้านทาน แต่นานๆ ไปก็เสื่อมถอย ตอนนี้ก็ไอซียู แต่ยังไม่ถึงกับหายไป ถ้าเราแก้ไขตรงจุด ก็อาจพัฒนาทันภาษาที่มาเลเซีย อินโดนีเซียได้” ซอลาหุดดีนกล่าว
 
ป้ายถนนเปตาลิง ของ Chinatown กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย เขียนเป็นภาษามลายู อักษรรูมี ภาษาจีน และ อังกฤษ 
 
ปัจจุบัน การเรียนสอนภาษามลายูอักษรยาวีมีอยู่เฉพาะในโรงเรียนปอเนาะ (โรงเรียนประจำสอนศาสนาอิสลามแบบดั้งเดิม) ซึ่งเป็นที่นิยมน้อยลงและมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ เพราะรัฐไทยไม่สนับสนุน ทั้งยังพยายามเปลี่ยนปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม, โรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนานอกเวลาสำหรับเด็ก) และในวิชาศาสนาอิสลามในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม อย่างไรก็ตาม เพราะนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งกลมกลืนชาวมลายูให้เป็น “ไทย” โดยเฉพาะในด้านการศึกษา ทำให้การใช้ภาษามลายูของชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ลดลง และมีคุณภาพต่ำลง โดยเฉพาะการอ่านการเขียนอักษรยาวี 
 
“จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 เด็กมลายูถูกห้ามพูดมลายูในโรงเรียน การพูดภาษาแม่ของพวกเขามักนำไปสู่การถูกทำโทษ ไม่ว่าจะถูกตี หรือถูกปรับ เช่น ปรับหนึ่งบาท ต่อคำมลายูหนึ่งคำ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อช่วงที่ความรุนแรงประทุขึ้นใหม่ๆ มีโรงเรียนจำนวนมากถูกวางเพลิงและเผา” ฮารา เขียนในบทความ “เหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับคนธรรมดา”
 
“จนถึงช่วงทศวรรษที่ 1990 เด็กมลายูถูกห้ามพูดมลายูในโรงเรียน การพูดภาษาแม่ของพวกเขามักนำไปสู่การถูกทำโทษ ไม่ว่าจะถูกตี หรือถูกปรับ เช่น ปรับหนึ่งบาทต่อคำมลายูหนึ่งคำ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมเมื่อช่วงที่ความรุนแรงปะทุขึ้นใหม่ๆ มีโรงเรียนจำนวนมากถูกวางเพลิงและเผา” ฮารา ชินทาโร 
 

‘รูมี’ หรือ ‘ยาวี’ ข้อถกเถียงที่ยังไม่จบ

 
ซะการีย์ยา อมาตยา กวีชาวมลายู จากจ.นราธิวาส ซึ่งได้รางวัลซีไรต์สาขากวีนิพนธ์ในปี 2553 เปรียบภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า “เหมือนภาษาที่ถูกแช่แข็งไว้” เพราะเป็นภาษาที่ไม่มีการขยับหรือพัฒนา การเขียนภาษามลายูอักษรยาวีเกิดการเขียนขึ้นน้อย และอยู่ในวงจำกัดในหมู่นักวิชาการด้านศาสนาเท่านั้น อาจมีสื่อยาวีที่ถูกผลิตจากกลุ่มทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์ภาษาแต่ก็ไม่แพร่หลาย 
 
“อักษรยาวีที่นี่น่าเป็นห่วง เพราะคนอ่านก็อ่านไม่ค่อยได้แล้วด้วย ภาษาไทยมีอิทธืพลสูงมากในสามจังหวัด คนสามารถอ่านเขียนไทยได้ดีกว่ายาวี โดยเฉพาะคนที่มีการศึกษา” ซะการีย์ยากล่าวและว่า “ในสามจังหวัด ผมจะพูดจะเขียนว่า วิศวกรรมศาสตร์เป็นยาวียังไง เหมือนเราตกหลุม และหยุดชะงัก แต่ที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ภาษาเขาก็อัพเลเวลอย่างรวดเร็ว แต่ภาษาในสามจังหวัด มันไม่ไปไหน” 
 
"มีคนถามว่า ให้เด็กสามจังหวัด เขียนภาษาอะไรดี ผมว่า ภาษาไทย เพราะคุณจะมีพื้นที่ในประเทศไทย แต่ถ้าคุณเขียนยาวี พื้นที่แทบไม่มี" ซะการีย์ยา อมาตยา
 
ซะการีย์ยากล่าวว่า หนังสือที่ใช้อักษรยาวีมีแต่ตำราศาสนาเป็นหลัก ที่ใช้เรียนตามปอนาะ ซึ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว จึงไม่มีศัพท์ที่ร่วมสมัยเพื่อใช้พูดถึงเรื่องในชีวิตประจำวัน แม้ว่าจะมีความพยายามจัดทำหนังสือด้วยอักษรยาวีมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่เพียงพอ “โดยหลักแล้ว ภาษามันต้องเดินไปหมดเป็นองคาพยพ ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ วรรณกรรม หนังสือทั่วไป แต่ยาวีก็ไม่ได้ถึงไหน ผมไม่ได้โทษใครแต่นี่คือสิ่งที่เป็น ส่วนหนึ่งเพราะเราอยู่ภายใต้รัฐไทย ภาษามลายูจึงไม่ได้รับการสนับสนุน”
 
ซะการีย์ยาเห็นว่า ควรมีการส่งเสริมการใช้ภาษามลายู แต่น่าจะเลือกส่งเสริมใช้อักษรรูมีแทนยาวีเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน “ถ้าเลือกรูมี เราจะทันมาเลเซีย อินโดนีเซีย เราสามารถร่วมใช้ภาษาและหนังสือที่เขาพัฒนาไปไกลแล้ว เขามีตำราความรู้ที่เขียนด้วยรูมีเยอะแยะมากมาย เราไปต่อยอดตรงนั้นได้เลย มันจะสร้างความก้าวหน้าทางภาษาได้เร็ว แต่ถ้าเลือกตัวยาวี เราแทบต้องเริ่มจากศูนย์ ต้องยอมรับว่า ยาวีมันใช้ในวงแคบ เป็นส่วนน้อยของโลกมลายู แล้วเมื่อเราจะสื่อสารกับที่อื่น เราก็ต้องเปลี่ยนเป็นรูมีอีกที เราควรเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเรียนและใช้ควบคู่กันไปทั้งสองอย่าง มันก็จะอ่อนแอ ไม่ดีสักอย่าง” กวีซีไรต์กล่าวและเสริมว่า “เพื่อความก้าวหน้าของภาษาและโลกความรู้ เราควรเลือกรูมี ถ้าเรียนรูมีตั้งแต่เด็ก เรียนมัธยมจบก็ไปต่อมหาวิทยาลัยที่มาเลเซียได้เลย ไม่ต้องไปเรียนปรับพื้นฐานภาษา เรียนตัวรูมีอีกที นี่ผมพยายามมองโลกอย่างตามความเป็นจริงที่สุด” 
 
ซะการีย์ยา อมาตยา 
 
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนักเขียน ซะการีย์ยาบอกว่า ถ้าให้เขาแนะนำเยาวชนมลายูว่าจะฝึกเขียนงานวรรณกรรมและกวีเป็นภาษาอะไร เขาจะแนะนำให้เขียนเป็นภาษาไทย เพราะจะทำให้มีที่ทางในวงการหนังสือและวรรณกรรมไทย “ถ้าคุณเขียนยาวี พื้นที่คุณแทบไม่มี คุณเขียนเป็นรูมีก็ได้ ถ้าคุณเขียนได้ดี เขียนได้ถึง คุณก็จะมีพื้นที่ที่มาเลเซีย” 
 
แต่ภาคประชาสังคมในปาตานีส่วนใหญ่ดูจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และส่งเสริมการใช้อักษรยาวีมากกว่า
 
ณายิบ อาแวบือซา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมมลายู กล่าวว่า เขารู้สึกเป็นห่วงอักษรยาวี เพราะมีความสำคัญในการใช้อ่านและทำความเข้าใจหนังสือเก่าๆ ซึ่งได้บันทึกภูมิปัญญาของชาวมลายูในสมัยก่อนเอาไว้ และยังแสดงถึงความรุ่มรวยทางภาษา หากภาษาหายไป ภูมิปัญญาส่วนหนึ่งก็อาจหายไปด้วย นอกจากนี้ อักษรยาวียังเข้ากับเสียงในภาษามลายูได้ดีกว่าอักษรรูมี 
 
ฮาราห็นต่างจากซะการีย์ยา โดยให้เหตุผลว่า การส่งเสริมให้ใช้อักษรยาวีมีความเป็นไปได้มากกว่ารูมี เพราะว่าชาวมลายูปาตานีผ่านการเรียนอักษรยาวีในระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมในโรงเรียนตาดีกา และโรงเรียนปอเนาะ ชาวปาตานีจำนวนหนึ่งจึงสามารถอ่านตัวยาวีได้อยู่แล้ว แต่ที่ปาตานีมิได้มีการเรียนการสอนตัวรูมี การใช้ตัวรูมีจึงไม่น่าจะสามารถใช้ได้จริง “เมื่อเรามีระบบการเขียนที่ใช้กันจริงอยู่แล้ว เราจะไปนำอย่างอื่นมาทำไม?” 
 
เห็นเช่นเดียวกับฮารา ซอลาหุดดีนกล่าวว่า “ยาวีมันเป็นอัตลักษณ์ มันมีความสำคัญทางจิตใจของคนที่นี่”
 

ภาษาของเมืองขึ้น 

 
ฮาราชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่ภาษามลายูถูกคุกคามจากการเป็นเมืองขึ้น และการฟื้นฟูหลังการเป็นเมืองขึ้น โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซียว่า “ในระหว่างการเป็นเมืองขึ้น ภาษามลายูสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาอย่างที่ควรเป็นไปตามกาลเวลา นักวิชาการด้านภาษามลายูที่สำคัญคนหนึ่ง อธิบายถึงภาษามลายูก่อนมาเลเซียได้รับเอกราชว่าเป็น ‘ภาษาของร้านกาแฟและตลาด ไม่มีที่ทางในที่ทางแบบทางการและในสถาบันการศึกษาระดับสูง’ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผมเชื่อว่า มันเป็นธรรมชาติมาก ที่ภาษา -- ซึ่งชัดมากว่าถูกคุกคามจากคนนอก/เจ้าอาณานิคม -- ควรถูกถือว่าเป็นหนึ่งในสิ่งแสดงอัตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของชาวมลายู และนี่ก็สามารถประยุกต์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวมลายูปาตานี” 
 
เพื่อให้ภาษามลายูได้พัฒนาอย่างเต็มที่ ฮาราเสนอว่า รัฐบาลไทยควรทำให้ภาษามลายูมีสถานะทางกฎหมาย เพื่อให้แน่ใจว่า ภาษามลายูจะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากรัฐ และพัฒนาอย่างเต็มที่ในทุกๆ ด้าน เช่นเดียวกับภาษามลายูในมาเลเซียและอินโดนีเซีย “สถานะทางกฎหมายของภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาภาษานั้นๆ อย่างไรก็ตาม สถานะทางกฎหมายไม่สามารถการันตีการใช้ภาษาอย่างเต็มที่เสมอไป” ฮารายกตัวอย่างสถานะของภาษามลายูในมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ต่างกัน ในขณะที่ในมาเลเซีย ภาษามลายูมีสถานะทางกฎหมายที่เข้มแข็ง ในฐานะภาษาแห่งชาติ และเป็นภาษาทางการภาษาเดียวของประเทศ แต่ในความเป็นจริง ภาษาที่มีความสำคัญในการก้าวหน้าทางการงานและสังคมคือ ภาษาอังกฤษ ซึ่งถูกให้ความสำคัญมากกว่ามลายูมาก “ในแง่นี้ จิตวิญญาณของมาเลเซียยังไม่ได้รับเอกราช ความนึกคิดของผู้คนยังคงอยู่ใต้อาณานิคม” 
 

เมื่อรัฐไทยกดทับภาษามลายู: แก่นความขัดแย้ง 

 
ภาษามลายูถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าความขัดแย้งที่นำไปสู่การลุกขึ้นสู้โดยการจับอาวุธของคนมลายูในปาตานี ซึ่งเป็นปมที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 80 ปีก่อน เมื่อจอมพลป. พิบูลย์สงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ออกนโยบายรัฐนิยม บังคับทางวัฒนธรรมให้พลเมืองไทยทั้งประเทศเรียนและพูดภาษาไทย เลิกการเรียกคนตามชาติพันธุ์ หากให้เรียกว่าเป็น “คนไทย” ทั้งหมด และแต่งกายแบบเดียวกันตามที่รัฐกำหนด เพื่อปลุกความรู้สึกชาตินิยมและทำให้ดูทัดเทียมอารยะประเทศ ในช่วงที่ประเทศเผชิญภัยสงครามโลกครั้งที่สอง
 
โปสเตอร์นโยบายไทยนิยม ห้ามการใส่โสร่ง และหมวกแบบมลายู
 
นโยบายดังกล่าวมีผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อชาวมลายู เพราะภาษาที่ผู้คนใช้ในชีวิตประจำวันและเรียนในโรงเรียนคือภาษามลายู โดยเฉพาะในวิชาศาสนา นโยบายรัฐนิยมจึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวมลายูเป็นอย่างมาก 
 
นอกจากนโยบายรัฐนิยมแล้ว เมื่อประมาณ 60 ปีก่อนยังมีการกวาดล้างหนังสือต้องห้ามภาษามลายูเล่มสำคัญชื่อ Sejarah kerajaan Melayu Patani (ประวัติศาสตร์ ราชอาณาจักรมลายูปาตานี) โดย อิบราฮิม ซุกรี ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2503 เป็นหนังสือที่ถูกขนานนามว่า “เป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์แนวชาตินิยมเล่มแรกที่ได้สร้างแม่แบบการเล่าเรื่อง (master narrative) ให้กับประวัติศาสตร์ปาตานีในเวลาต่อมา” หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นประวัติศาสตร์ฉบับ “เจ็บปวด” ของคนมลายูปาตานีที่ถูกรัฐไทยกระทำ 
 
แม้หนังสือเล่มดังกล่าวถูกแบนโดยทางการไทย และทางการมาเลเซีย ด้วยข้อหาเป็นหนังสือปลุกระดม แต่ก็ยิ่งทำให้ชาวปาตานีอยากอ่าน อยากรู้ และอยากเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ พล.ต.ต. จำรูญ เด่นอุดม ตำรวจเกษียรราชการและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ปาตานีกล่าว และว่า เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวครอบงำหนังสืออักษรยาวี 
 
“สมัยก่อน แค่การมีหนังสืออักษรยาวีไว้ในครอบครองก็อาจถูกสงสัยแล้ว ถูกสงสัยว่าเป็นหนังสือปลุกระดม เพราะตำรวจไทยไม่เข้าใจ เขาอ่านยาวีไม่ออก แค่พบว่าเป็นตัวยาวีก็จะพยายามยัดข้อหาให้” จำรูญ เด่นอุดม
 
“สมัยก่อน แค่การมีหนังสืออักษรยาวีไว้ในครอบครองก็อาจถูกสงสัยแล้ว ถูกสงสัยว่าเป็นหนังสือปลุกระดม เพราะตำรวจไทยไม่เข้าใจ เขาอ่านยาวีไม่ออก แค่พบว่าเป็นตัวยาวีก็จะพยายามยัดข้อหาให้ เช่น ขัดนโยบายจอมพลป. หรือ ปลุกระดม คนที่มีหนังสือตัวยาวีอยู่ก็ต้องเอาไปแอบซ่อน ฝังตุ่ม ฝังดิน ซ่อนในโรงนา หรือแม้กระทั่งเอาไปเผา ครูที่สอนหนังสือตามโรงเรียนแบบดั้งเดิม ซึ่งสอนเป็นมลายูก็ถูกคุกคาม หลายคนหนีไปอยู่กลันตัน” จำรูญกล่าว และว่า การพยายามกดดันในเรื่องภาษามลายู และการกดทับโรงเรียนปอเนาะ มีความเชื่อมโยงกัน “ทำให้คนมลายูมองว่า รัฐไทยพยายามแทรกแซงกิจกรรมทางศาสนา ส่วนรัฐบาลก็มองว่า คนมลายูจะใช้ภาษามลายูและปอเนาะเป็นที่ปลุกระดมมวลชน”
 
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ปาตานี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ตัวยาวีเป็นแก่นกลางของความภูมิใจของคนมลายูปาตานี เพราะเกี่ยวข้อง กับความรุ่งเรืองด้านศาสนา และความรุ่งเรืองของปาตานีในฐานะเมืองท่า ศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญในอดีต ในแง่ศาสนานั้นตำราศาสนาซึ่งเขียนโดยอุลามะ (นักปราชญ์ศาสนา) ชาวปาตานีกลายเป็นตำราที่ใช้ทั่วภูมิภาค ส่วนในทางการค้านั้น ภาษามลายูเป็นภาษากลางระหว่างพ่อค้าในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ “ภาษามลายูนั้นเป็นภาษากลางที่ใช้ในการค้าขายของราชสำนักในสมัยอยุธยา อย่างที่อยุธยาก็ต้องมีคนพูดมลายูได้ ภาษามลายูมีฐานะของมันตั้งแต่สมัยอยุธยา ในขณะภาษาไทยไม่ได้ใช้ในการค้าขายอะไรเลย ภาษามลายูคือภาษาเดียวกับที่ใช้กับคาบสมุทรมลายูทั้งนั้น เป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อค้าขายเป็นหลัก อาจเรียกได้ว่าเป็นภาษาของภูมิภาคก็ได้” 
 
ส่วน ดันแคน แม็กคาร์โก  ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยลีดส์กล่าวไว้ในหนังสือ “ฉีกแผ่นดิน อิสลามและปัญหาความชอบธรรมในภาคใต้ ประเทศไทย” ว่า โรงเรียนปอเนาะนั้น เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นโยบายผสมกลมกลืนคนมลายูให้เป็นไทยไม่ยังผล เพราะปอเนาะนั้นเป็นฐานะที่มั่นของอัตลักษณ์ด้านภาษามลายูและศาสนาอิสลาม เขาเสริมว่า รัฐไทยได้พยายามจัดระเบียบโรงเรียนปอเนาะด้วยการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และหลังจากที่เหตุการณ์ความรุนแรงประทุขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน โรงเรียนปอเนาะถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดแบ่งแยกดินแดนและแนวคิดญิฮาด นำมาสู่การพยายามทำปอเนาะให้ “เป็นไทย” โดยใช้นโยบายจูงใจให้เจ้าของโรงเรียนปอเนาะเปลี่ยนปอเนาะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งจะมีการสอนวิชาศาสนา ควบคู่ไปกับหลักสูตรสามัญซึ่งสอนเป็นภาษาไทย

 

ข้อเสนอที่สาบสูญของฮัจญีสุหลง

 
ในปี 2490 ฮัจญีสุหลง อับดุลกอเดร์ ต่วนมีนาลย์ (โต๊ะมีนา) โต๊ะอิหม่ามผู้เป็นผู้นำทางความคิดของชาวปาตานี ได้ยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อต่อรัฐบาลไทย โดยข้อสามและข้อสี่ เป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับภาษามลายู 
 
“3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของสี่จังหวัด [ชายแดนภาคใต้]
4  ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา”
 
ฮัจญีสุหลง อับดุลกอเดร์ ต่วนมีนาลย์ (โต๊ะมีนา) ไอคอนของการต่อสู้ทางการเมืองของชาวปาตานี
 
ข้อเรียกร้องเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมในการมีส่วนร่วมการในปกครองของคนมลายูทั้งเจ็ดข้อทำให้ฮัจญีสุหลงถูกเพ่งเล็งจากรัฐไทย ถูกตั้งข้อหากบฎ และถูกจับติดคุก ต่อมาในปี 2497 เขาถูกฆ่าตาย ศพของเขาถูกซ่อนทำลาย ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบ ชะตากรรมของฮัจญีสุหลงทำให้คนมลายูกลุ่มหนึ่งตัดสินใจจับอาวุธต่อสู้   
 
“ท่านฮัจญีสุหลงไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ท่านเพียงต้องการสิทธิในภาษา กิจกรรมทางศาสนาอิสลาม และความต้องการต่างๆ ตามบริบทของท้องถิ่น บทเรียนจากกรณีการถูกบังคับสูญหายของฮัจญีสุหลงหลังยื่นข้อเรียกร้องเจ็ดข้อต่อทางการไทยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขบวนการสรุปว่า เมื่อกระบวนการสันติวิธีไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย ซ้ำยังถูกกดปราบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงถูกนำมาใช้” อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม แกนนำคนหนึ่งของ มารา ปาตานี องค์กรร่มของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช ให้สัมภาษณ์กับประชาไท   
 
ตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในปี 2547 รัฐไทยก็เริ่มตระหนักถึงกความจำเป็นในการเปิดพื้นที่ทางภาษาและวัฒนธรรม ดังที่ปรากฎในรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสรุปว่า มีเงื่อนไขสองอย่างที่ทำให้ความรุนแรงยังมีอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยหนึ่งในสองนั้นเกี่ยวกับภาษามลายู “เงื่อนไขทางวัฒนธรรม คือ ลักษณะเฉพาะทางศาสนาและชาติพันธ์ในพื้นที่คือศาสนาอิสลาม ภาษามลายู และประวัติศาสตร์ปัตตานี สิ่งเหล่านี้เป็นเงื่อนไขในสังคมซึ่งทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงหรือทำให้ผู้คนไม่น้อยยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อาศัยเงื่อนไขทางชาติพันธ์ผสานกับศาสนามาเป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเป้าหมายของตนในนามของอัตลักษณ์ความเป็นมลายูมุสลิม” และมีข้อเสนออย่างชัดเจนให้ “ประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน (working language) อีกภาษาหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
 

แก้ปมหรือผูกปม?

 

ป้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในภาษาไทย อังกฤษ มลายู (อักษรยาวี) และจีน ภาพจาก กรมประชาสัมพันธ์
 
ในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ระหว่างปี 2554-2557 ได้มีการเปิดพื้นที่ทางภาษาและวัฒนธรรมมลายูอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น จัดตั้งช่องทีวีภาษามลายู 24 ชั่วโมง, วิทยุภาษามลายู 24 ชม. โดย สถานีวิทยุการจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา ทางคลื่น 95.0, การจัดตั้งสถาบันภาษามลายูแห่งประเทศไทย (Dewan Bahasa dan Pustaka Melayu Thailand) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้ภาษามลายูในประเทศไทย และริเริ่มการใส่ภาษามลายู ตัวยาวี ในป้ายสถานที่ราชการ อย่างไรก็ตาม ช่องทีวีภาษามลายู 24 ชม. ก็ถูกล้มเลิกไปหลังรัฐประหาร และเมื่อคณะรัฐประหารย้ายทวีไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีความคืบหน้าอันใดอีก 
 
นอกจากนี้ยังมีการริเริ่มโครงการทวิภาษา (ไทย - มลายูถิ่น) ในปี 2555 ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเป้าไปที่เด็กอนุบาล 1 ถึง ประถม 6 ที่พูดภาษามลายูเป็นภาษาแม่ หัวใจหลักคือการเรียนโดยใช้ภาษามลายูถิ่นเชื่อมโยงไปยังภาษาไทย ผ่านเครื่องมือที่สำคัญที่สุดคือ ระบบการเขียนภาษามลายูโดยอักษรไทย ในชั้นอนุบาลเด็กจะเรียนรู้การเขียนและสะกดภาษามลายูโดยใช้สระและพยัญชนะไทย ซึ่งมีการเพิ่มเสียงเข้าไปอีกแปดเสียง เช่น กฺ ยฺ รฺ เมื่อเด็กเข้าใจการเขียนและสะกดอักษรไทยแล้ว จึงเริ่มเรียนภาษาไทย และเรียนวิชาอื่นๆ เป็นภาษาไทยตามลำดับ โครงการดังกล่าวอ้างว่า วิธีการเรียนแบบนี้ ทำให้เด็กมลายูมีความสุขในการเรียน และมีผลการเรียนดีขึ้น 
 
คู่มือระบบเขียนภาษามลายูด้วยอักษรไทย ภาพจาก สกว. (ดูภาพขนาดใหญ่)
 
สุวิไล เปรมศรีรัตน์ นักวิจัยโครงการดังกล่าวกล่าว กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลให้จัดการศึกษาที่เหมาะสมกับฐานทางภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น โครงการดังกล่าวจะ “ช่วยรักษาอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยเชื้อสายมลายูไว้ได้ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมปัจจุบัน ตามความปรารถนาของเจ้าของภาษาแล้ว ยังช่วยให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข”
 
ทวิภาษาอาจทำให้เด็กเรียนภาษาไทยได้ดีขึ้น แต่ก็มีผู้มองว่า คือความพยายามให้คนมลายูละทิ้งอักษรยาวี
 
ซาลาหุดดีนกล่าวว่า เขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการทวิภาษา เพราะ คือความตั้งใจทำลายอักษรยาวี และการกลืนให้เป็นไทย ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ส่วนสถาบันภาษามลายูประจำประเทศไทยก็ไม่ได้มีผลงานอะไรเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมภาษา “เป็นการเอาผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูไปอยู่ในสังกัดศอ.บต. เอาไว้โชว์เพื่อนบ้านและแขกต่างชาติ เป็นแค่เปลือก แต่ไม่เคยมีการแตะที่แก่นของปัญหาเกี่ยวกับภาษาเลย” 
 
ฮารา กล่าวว่า โครงการทวิภาษาสร้างความไม่พอใจให้ประชาชนในพื้นที่อย่างยิ่ง เพราะประชาชนมองว่าเป็นการดูถูกภาษาท้องถื่นซึ่งมีการใช้ในพื้นที่มากว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว “ผมคิดว่า โครงการนี้เป็นผลเสียต่อการสร้างสันติภาพ” ฮารากล่าว และว่า “นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของเมืองขึ้นทางวัฒนธรรม ไม่เคยมีการแก้ปัญหา แต่เป็นการสร้างปัญหาใหม่” เขาเสริมว่า แม้ช่วงที่ ทวี สอดส่อง เป็นเลขาฯ ศอ.บต. มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับภาษามลายูหลายอย่าง แต่ก็วค่อนข้างฉาบฉวย ไม่จริงใจ เช่น การก่อตั้งสถาบันภาษามลายูแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้เปรียบว่ามีสถานะเทียบได้กับสถาบันภาษาและวรรณกรรมแห่งชาติมาเลเซีย แต่สถาบันดังกล่าวก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายรองรับเหมือนที่มาเลเซีย ส่วนป้ายราชการต่างๆ ก็มีเพียงแค่ด้านนอกอาคารเป็นส่วนใหญ่ แทบไม่มีด้านในอาคารเลย 
 
ฮาราเสนอว่า รัฐไทยควรทำให้ภาษามลายูมีสถานะทางกฎหมายรองรับ เช่น การันตีในรัฐธรรมนูญในฐานะภาษาของชนกลุ่มน้อย หรือการให้สถาบันเพื่อการพัฒนาภาษามลายูมีสถานะทางกฎหมายรองรับ และการมีแผนการเรียนและพัฒนาภาษามลายูที่รัฐสนับสนุน เขากล่าวว่า นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ภาษามลายูในมาเลเซียและอินโดนีเซียกลับมามีสถานะที่เข้มแข็งหลังได้รับเอกราช 
 

มารา ปาตานี เสนอหยุดกลืนชาติทางภาษา

 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม แกนนำมารา ปาตานี บอกกับประชาไทว่า ประเด็นภาษามลายูนั้นเป็นประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่มาราปาตานีจะหยิบยกขึ้นมาพูดคุยระหว่างการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย เมื่อการพูดคุยยกระดับสู่การพูดคุยอย่างเป็นทางการ 
 
“ถ้าปาตานีได้สิทธิปกครองตนเอง ก็ไทยและมลายู ถ้าได้เอกราชก็มลายูและอาหรับ แต่ทั้งสองกรณี ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสากล” อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม 
 
เขาเห็นว่า สาเหตุหลักของความเสื่อมถอยของภาษามลายูในปาตานีคือนโยบายกลืนชาติของรัฐไทย ซึ่งขัดขวางการเรียนการสอน และการใช้ภาษามลายูในระดับทางการ สื่อสารมวลชนก็มีส่วนรองลงมา “หลังจากที่สยามได้ใช้นโยบายกลืนชาติ “รัฐไทยนิยม” ภาษามลายูได้ถูกทำให้เสื่อมถอยลงและลดความสำคัญลงอย่างเป็นระบบ” อาบูฮาฟิซกล่าว และว่า ปัญหานี้สามารถแก้ได้ไม่ยาก เพียงเปลี่ยนนโยบายรัฐเป็นไปในทางตรงกันข้าม เขายังได้พูดถึงฮัจญีสุหลงว่า ได้มองการณ์ไกลเห็นถึงปัญหานี้ “เมื่อฮัจญีสุหลงเสนอข้อเรียกร้องเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งรวมถึงข้อเสนอด้านภาษามลายู ท่านคงได้คาดการณ์ไว้แล้วว่า ถ้าปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ชะตากรรมของภาษามลายูจะหมดหวัง เราได้เห็นแล้วว่า มันเป็นจริงในปัจจุบัน”  
 
เมื่อถามถึงความพยายามของรัฐไทยในการส่งเสริมภาษามลายูในช่วงสิบปีที่ผ่านมา อาบูฮาฟิซเห็นว่า เป็นที่น่าชื่นชมกับความพยายาม แต่ความพยายามดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพราะรัฐไทยเห็นถึงความต้องการของคนปาตานีแต่เพื่อตอบสนองต่อเหตุผลด้านเศรษฐกิจและการเมืองต่อภูมิภาคอาเซียน 
 
เมื่อถามว่า ในฐานะขบวนการเพื่อเอกราช เขามองอนาคตของภาษาในปาตานีอย่างไร หากปาตานีได้เอกราช หรือได้สิทธิในการปกครองตัวเอง เขากล่าวว่า มองเห็นคนปาตานีพูดได้ถึงสี่ภาษา คือ 1. มลายู ในฐานะภาษาของคนส่วนใหญ่ในปาตานี 2. ภาษาอาหรับ เพราะเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมที่ต้องรู้ภาษาอาหรับ 3. ภาษาไทย ในฐานะภาษาของชนกลุ่มน้อยในปาตานี 4. ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากล แต่ถ้าสำหรับคนไทยพุทธ คงไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอาหรับ 
 
อาบูฮาฟิซ อัลฮากีม แกนนำมารา ปาตานี 
 
อาบูฮาฟิซกล่าวว่า เขามองว่า เด็กมลายูจะเรียนรู้ทั้งอักษรรูมีและยาวี เพราะทั้งสองอย่างมีประโยชน์และมีความสำคัญ และจากประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ความรู้ด้านอักษรยาวีทำให้รียนภาษาอาหรับได้เร็ว และความรู้ด้านอักษรรูมีทำให้เรียนภาษาอังกฤษได้เร็วเช่นกัน 
 
เมื่อถามว่า ในฐานะสมาชิกขบวนการคนหนึ่ง หากปาตานีได้รับเอกราชหรือได้สิทธิปกครองตนเอง เขามีจินตนาการถึงภาษาทางการและภาษาทำงานที่ใช้ในปาตานีเป็นเช่นไร อาบูฮาฟิซตอบว่า “ถ้าปาตานีได้สิทธิปกครองตนเอง ก็ไทยและมลายู ถ้าได้เอกราชก็มลายูและอาหรับ แต่ทั้งสองกรณี ภาษาอังกฤษจะเป็นภาษาสากล” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท