Skip to main content
sharethis

1 มิ.ย. 2559 จาตุรนต์ ฉายแสง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเฟนเพจ 'Chaturon Chaisang' ซึ่งเป็นคำให้การต่อศาลทหารกรุงเทพของเขาในฐานะจำเลย คดีดำที่ 31 ก./2557 ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ซึ่งอัยการทหารสั่งฟ้องใน 3 ฐานความผิด คือ ฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 

ซึ่งเป็นคำให้การปฏิเสธโดยตลอดข้อกล่าวหา พร้อมระบุด้วยว่าแม้ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร แต่พร้อมที่จะให้การต่อสู้คดีต่อศาล 

โดย จาตุรนต์ ระบุด้วยว่า ปรกติคำให้การในคดีอาญา เขานิยมให้การกันสั้นๆ เพียงว่าปฏิเสธหรือรับสารภาพ แต่ก็ไม่ได้ห้ามให้การโดยอธิบายเหตุผลประกอบ 

"ผมจึงเลือกใช้วิธีให้เหตุผลประกอบในส่วนที่สำคัญๆ แทนที่จะให้การสั้นมากๆ แบบที่นิยมทำกันครับ ที่นำมาเผยแพร่นี้ก็สอบถามแล้วว่าทำได้และปรกติเขาก็เผยแพร่กัน เพียงแต่ว่าใจความอาจจะมากกว่าที่คนคุ้นเคย หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจว่าผมกำลังสู้คดีเรื่องอะไรและสู้อย่างไรครับ" จาตุรนต์ ระบุ

รายละเอียดคำให้การ :

ข้อ 1. จำเลยทราบคำฟ้องของโจทก์โดยตลอดแล้ว ขอให้การปฏิเสธโดยตลอดข้อกล่าวหา และขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า แม้จำเลยจะไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร โดยจำเลยเห็นว่า การดำเนินคดีจำเลยซึ่งเป็นพลเรือนในศาลทหาร ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อหลักกระบวนการยุติธรรมและรัฐธรรมนูญ ก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้ต้องขึ้นศาลทหารโดยผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าว จำเลยก็พร้อมที่จะให้การต่อสู้คดีต่อศาล โดยขอประทานกราบเรียนยืนยันความบริสุทธิ์ของจำเลยว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น ไม่ได้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ด้วยเหตุผลดังจำเลยจะประทานกราบเรียนเป็นลำดับไปในคำให้การนี้ ดังนี้

1. การกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14

1.1 จำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิด การกระทำของจำเลยเป็นกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตตามหลักการประชาธิปไตย

จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า การชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวมีเจตนาปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ต้องการให้ประชาธิปไตยของไทยกลับคืนมาโดยเร็ว ต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรม และมุ่งให้เกิดความสงบสุขในสังคม โดยเรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ละเว้นจากการใช้ความรุนแรงต่อกันทุกกรณี ทั้งในส่วนของการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารและการเรียกร้องประชาธิปไตย และในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยไม่ใช้กำลังปราบปรามประชาชน อันเป็นที่ประจักษ์ในเวลาต่อมาว่า ทุกถ้อยคำทุกข้อเสนอของจำเลยล้วนเป็นการติชมโดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ บ้านเมือง และประชาชนทั้งสิ้น จำเลยขอประทานกราบเรียนว่า จำเลยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ขณะการกระทำที่ถูกกล่าวหาตามฟ้อง ไม่มีกฎหมายห้ามการแสดงความคิดเห็น หรือห้ามการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ก็ตาม แต่สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามหลักการประชาธิปไตยนั้น ยังคงมีอยู่ หาได้ถูกยกเลิกไปกับรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ ตามหลักที่ว่าประเทศไทยนั้นปกครองในระบอบประชาธิปไตยและในระบบนิติรัฐนิติธรรม สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ย่อมถือเป็นประเพณีการปกครองของไทยที่ได้รับการรับรองคุ้มครองในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมทั้งได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ตลอดจนสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณี เช่น อนุสัญญาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 19 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ 19 ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration) ข้อ 23 เป็นต้น ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของจำเลยจึงย่อมได้รับการคุ้มครองทั้งก่อนและในขณะที่จำเลยชี้แจงต่อสื่อมวลชน ไม่มีกฎหมายห้ามการแสดงความคิดเห็น หรือแสดงความไม่ด้วยกับการรัฐประหาร การชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวจึงเป็นการกระทำที่เป็นไปในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญแล้

นอกจากนี้ การแสดงออกซึ่งความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนั้น ย่อมถือเป็นสิทธิตามธรรมชาติของบุคคล และถือเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในฐานะใด ย่อมมีสิทธิเสรีภาพโดยเสมอภาคกันทั้งสิ้น นอกจากจะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การแสดงความความเห็นหรือการแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเป็นความผิดแล้วคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังรับรองต่อประชาชนว่า การแสดงความไม่เห็นด้วยกับคณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้น เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ การแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร จึงสามารถกระทำได้ ไม่ใช่เรื่องที่ขัดต่อกฎหมาย และไม่ใช่การชักชวนให้ประชาชนมั่วสุมกันหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือเป็นการยุยงให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องและความไม่สงบในบ้านเมือง ทั้งนี้ จำเลยไม่เคยยุยงให้ประชาชนฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง และไม่ได้ยุยงให้ประชาชนก่อความไม่สงบแต่อย่างใดทั้งสิ้น การกล่าวหาว่าจำเลยยุยงส่งเสริมให้ประชาชนก่อความไม่สงบหรือออกมาชุมนุมทางการเมือง เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จโดยสิ้นเชิง

1.2 เนื้อหาของถ้อยแถลง ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดจะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ด้วยเหตุผลหลายประการ เป็นต้นว่า

(ก) การที่จำเลยแถลงต่อผู้สื่อข่าวเป็นเพียงการเตือนสติประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารว่า การแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหาร จะต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่ต้องเป็นไปโดยสันติวิธีเท่านั้น ซึ่งเป็นวิถีทางที่ถูกต้องและได้รับการยอมรับตามหลักกฎหมายและหลักประชาธิปไตย ดังเห็นได้จากตอนหนึ่งของถ้อยแถลงของจำเลยที่ว่า “ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ประชาชนจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และการดำเนินการใดๆ ที่สืบเนื่องจากการรัฐประหาร ขอเสนอให้การเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยเป็นไปโดยสันติวิธี พร้อมที่จะรับกับสภาพที่สังคมไทยอาจจะตกอยู่ในวิกฤตที่ยืดเยื้ออีกนานหลายปี ปัญหาของบ้านเมืองได้สะสมกันมามาก ในหลายปีมานี้ประชาธิปไตยที่ประชาชนเราพยายามรักษากันตลอดมาได้ค่อย ร่อยหรอลง จนในที่สุดเราก็ต้องสูญเสียประชาธิปไตยไปจากการรัฐประหาร จากนี้ไปกฎกติกาของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไรก็ยังมีความเห็นที่ต่างกันอย่างมากในสังคมไทย จำเป็นที่ผู้รักประชาธิปไตยจะต้องช่วยกันคิดว่า กติกาที่เป็นประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร และจะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับและสนับสนุนให้เกิดขึ้นได้อย่างไร”

การย้ำถึงสันติวิธี แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ได้สนับสนุนการใช้ความรุนแรง การก่อความไม่สงบ การฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

(ข) นอกจากจำเลยจะแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารและการสนับสนุนให้ใช้สันติวิธีในการแสดงการไม่เห็นด้วยแล้ว จำเลยยังเสนอแนะไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติในหลายๆ เรื่อง ซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะทั้งสิ้น เช่น เสนอให้คืนประชาธิปไตยและอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนโดยให้มีการเลือกตั้งตามกติกาที่เป็นประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด เสนอให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เสนอให้ไม่ปราบปรามประชาชนและไม่เลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมายเพื่อป้องกันความรุนแรงในสังคม เสนอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธีได้ เสนอให้ไม่ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร เป็นต้น ข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ซึ่งจำเลยเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนราษฎรหลายสมัย ย่อมมีหน้าที่ต่อประชาชนที่จะเป็นตัวแทนในการนำเสนอความคิดเห็นต่างๆ และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่สังคม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การรัฐประหารครั้งนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และผู้ที่รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงถือเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ต้องออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องไปยังคณะผู้ก่อการรัฐประหารให้เคารพสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ที่คณะรักษาความสงบเข้าควบคุมการปกครองประเทศ มีเหตุการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายครั้ง เช่น การเรียกบุคคลไปรายงานตัวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร การควบคุมตัวบุคคลโดยไม่มีหมายจับหรือหมายขัง การปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารด้วยการจับกุม การปิดกั้นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ของประชาชน เป็นต้น การแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการนำเสนอข้อคิดเห็นบางประการต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน อันเป็นการป้องกันส่วนได้เสียของสังคมและประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ในฐานะที่จำเลยเป็นนักการเมืองและเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งยังถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิความมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่ได้รับการรับรองคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันประเทศไทย การแสดงความคิดเห็นของจำเลยจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและอยู่ภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ไม่

(ค) การชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวไม่ได้มีเจตนาให้เกิดการต่อต้าน การกระด้างกระเดื่อง ความปั่นป่วนวุ่นวายในหมู่ประชาชน หรือละเมิดกฎหมายบ้านเมือง แต่อย่างใด ดังเห็นได้จากการที่จำเลยเรียกร้องให้ประชาชน “รับกับสภาพที่สังคมไทยอาจจะตกอยู่ในวิกฤตที่ยืดเยื้ออีกนานหลายปี” การที่จำเลยแถลงว่า “บัดนี้เมื่อมีพระบรมราชโองการตั้งหัวหน้า คสช. ขึ้นแล้ว แม้ผมจะยังคงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่ก็ทราบว่า คสช. ย่อมมีอำนาจตามระบบกฎหมายของไทยในหลาย ๆ ประการ...” และการที่จำเลยแถลงว่า “[ผม]ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการหลบหนี ไม่ต้องการเคลื่อนไหวต่อต้านหรือลงใต้ดินต่อสู้แต่อย่างใด และพร้อมที่จะให้คุมตัวในเวลาที่เหมาะสม..” ฯลฯ ถ้อยคำดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนากระด้างกระเดื่องหรือต้องการปลุกระดมประชาชนให้ก่อความไม่สงบหรือต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวจึงมิได้มีเจตนาต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือยุุยงส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง หากแต่เป็นไปในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ จำเลยมีเจตนาและความหวังดีต่อประเทศชาติและประชาชน ต้องการให้เกิดความสงบสุข การเคารพกฎหมาย การไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน การเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลและหลักการประชาธิปไตย การชี้แจงต่อผู้สื่อข่าวจึงหาใช่เป็นการสนับสนุนหรือยุยงให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ความกระด้างกระเดื่อง ความไม่สงบเรียบร้อย หรือการล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 แต่อย่างใดไม่

2. กฎหมายวิธีพิจารณาความที่บังคับใช้แก่คดีนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คดีนี้ ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทหารในเวลาไม่ปกติ จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 61 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึกหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกตามมาตรา 40 และมาตรา 43 ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา” จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีที่ตัดสินว่าบุคคลมีความผิดและต้องได้รับโทษทางอาญา เป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองโดยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 5 แม้ประเทศภาคีอาจตรากฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการอุทธรณ์ ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจกำหนดให้การอุทธรณ์คดีมิอาจทำได้โดยเด็ดขาด พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 61 วรรคสอง จึงขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 5 การดำเนินคดีจำเลยในศาลทหารย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 5 กำหนดพันธกรณีให้ประเทศภาคีต้องรับรองสิทธิของบุคคลในการอุทธรณ์คำพิพากษาที่ตัดสินว่าบุคคลนั้นมีความผิดและต้องได้รับโทษต่อองค์องค์คณะที่มีลำดับสูงกว่า และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 4 กำหนดให้พันธกรณีดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 61 วรรคสอง ขัดหรือแย้งต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14 วรรค 5 ดังเหตุที่ได้กล่าวมาข้างต้น จึงถือได้ว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 61 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ บรรดาคำสั่งที่มีผลให้ข้อกล่าวหาในคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้

ในการนี้ จำเลยขอศาลที่เคารพได้โปรดเสนอปัญหาว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 61 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึกหรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกตามมาตรา 40 และมาตรา 43 ซึ่งเป็นบทกฎหมายวิธีสบัญญัติที่บังคับแก่คดีนี้ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ฉบับชั่วคราว มาตรา 4 หรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557 ฉบับชั่วคราว มาตรา 45 อย่างไรก็ดี หากศาลพิจารณาแล้ว เห็นควรไม่ส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ขอศาลนี้ได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ด้วยเหตุผลดังได้ประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ จำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ไม่ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จำเลยจึงขอศาลได้โปรดมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อหาด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net