iLaw ตอน1 : ภาพรวม-ภาพลึกหลังรัฐประหาร การเรียกรายงานตัว คุมตัว บางกรณีมีซ้อม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชื่อเดิม: สรุปสถานการณ์ปี 2557 1/5: การเรียกบุคคลไปรายงานตัว การจับกุมและการควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก

 

หลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 บรรยากาศทางการเมืองที่มีความขัดแย้งสูงและมีการชุมนุมขนาดใหญ่ต่อเนื่องยาวนานเงียงสงบลงไป ท่ามกลางสถานการณ์ที่ มีผู้ถูกเรียกไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มีผู้ที่ถูกจับกุมอย่างน้อย 362 คน จำนวนผู้ที่ถูกเรียกและถูกจับรวมกันอย่างน้อย 976 คน มีผู้ถูกจับกุมจากการออกมาชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธอย่างน้อย 134 คน สถิติการเรียกรายงานตัวและการจับกุมมากน้อยขึ้นอยู่กับบรรยากาศทางการเมือง และปริมาณกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารในช่วงเวลานั้นๆ 

ระหว่างการควบคุมตัวด้วยอำนาจกฎอัยการศึก ผู้ถูกควบคุมตัวไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติ หรือทนายความ ไม่มีการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว นอกจากนี้ก็จะถูกสอบสวนเพื่อหาข้อมูล หาหลักฐานในการดำเนินคดี มีการพูดคุยเพื่อ "ปรับทัศนคติ" ถูกบังคับใช้เซ็นเอกสารยินยอมยุติการแสดงความคิดเห็นและการเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายคนถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีหลังการควบคุมตัว มีรายงานการซ้อมทรมานระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 28 กรณี 

มีเครื่องมืออย่างน้อยสองชิ้น ที่คสช.ใช้เพื่อสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่เงียบสงบ 

เครื่องมือชิ้นแรก คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ซึ่งประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ให้ทหารมีอำนาจจับกุมบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล สามารถเข้าจับกุมได้แม้ในที่รโหฐาน ในเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น สามารถควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยไม่ต้องมีเหตุผล ไม่ต้องเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ไม่มีสิทธิติดต่อญาติ ไม่มีสิทธิพบทนายความ

เครื่องมือชิ้นที่สอง คือ การออกคำสั่งของ คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัว โดยมีทั้งการประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ การโทรศัพท์เรียก การส่งจดหมายเชิญ หรือการไปตามหาตัวที่บ้านพัก คนที่มีลักษณะเป็นแกนนำการเคลื่อนไหว หรือถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะถูกเรียกไปพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติ หรือ ขอความร่วมมือให้ยุติความเคลื่อนไหวเพื่อความสงบ บางคนถูกกักตัวตามกฎอัยการศึก 

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ เริ่มบันทึกสถิติการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวและการจับกุมบุคคล ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเก็บข้อมูลจากคำสั่งคสช. เรื่องให้บุคคลมารายงานตัว รายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ การส่งข่าวจากเครือข่ายในพื้นที่ต่างจังหวัด การสัมภาษณ์ผู้ถูกจับกุมและถูกเรียกรายงานตัว การเข้าเยี่ยมผู้ถูกจับกุมตามสถานที่คุมขังและเรือนจำ ฯลฯ โดยบันทึกเฉพาะข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถยืนยันจากต้นทางของข้อมูลได้เท่านั้น ข้อมูลที่บันทึกได้จึงเป็นตัวเลขขั้นต่ำ “เท่าที่ทราบ” เท่านั้น ไม่ใช่สถิติที่ครอบคลุมข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น

ทวนความจำ เกิดอะไรขึ้นบ้างหลัง 22 พฤษภาฯ

พฤษภาคม : ยึดอำนาจพร้อมประกาศเรียกรายงานตัว ห้ามชุมนุม ห้ามต่อต้าน

หลังการรัฐประหาร คสช. ประกาศเรียกให้แกนนำกลุ่มทางการเมือง นักการเมือง และนักกิจกรรมเข้ารายงานตัว นอกจากนั้นยังจับกุมแกนนำของกลุ่มการเมืองต่างๆ รวมไปถึงจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร คนจำนวนมากถูกควบคุมตัวไว้ 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือมากน้อยกว่านั้น นอกจากนี้ ผู้ถูกเรียกรายงานตัวบางคนก็เปิดเผยภายหลังว่า พวกเขาถูกสอบสวนอย่างหนักระหว่างถูกควบคุมตัว

พฤติการณ์การจับกุมเท่าที่พบเห็น คือพฤติการณ์การจับกุมผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีทั้งการใช้กำลังจับกุมต่อหน้าประชาชน หรือการใช้ภาพถ่ายเป็นหลักฐานและตามไปจับกุมตัวภายหลัง นอกจากการจับกุมแล้ว คสช. ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นแกนนำจัดการชุมนุมไปรายงานตัวเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ให้ปลุกระดมคนออกมาเคลื่อนไหวได้อีก

ตั้งแต่วันที่ 22 – 31 พฤษภาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 139 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 84 คน / กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือ กปปส. และ คปท. 9 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 7 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 33 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 6 คน 

คสช. เรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 234 คน โดยไม่ระบุเหตุของการเรียก ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัว ทั้งหมดถือเป็นอำนาจการตัดสินใจของ คสช. แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแบ่งเป็นประกาศเรียกผ่านทางโทรทัศน์อย่างเป็นทางการ อย่างน้อย 189 คน และมีหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในท้องถิ่น อย่างน้อย 45 คน

มิถุนายน : ชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช ผิดกฎหมาย

เดือนมิถุนายน 2557 การแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหารยังคงร้อนแรง มีการรวมตัวแสดงออกในหลายพื้นที่ เช่น ห้างสยามพารากอน ห้างเทอร์มินัล 21 และมีการใช้สัญลักษณ์ “ชูสามนิ้ว” แสดงการต่อต้านการรัฐประหาร มีการนำหนังสือ 1984 และการกินแซนด์วิช มาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดกิจกรรมด้วย แม้กลุ่มต่อต้านรัฐประหารจะเลือกวิธีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์มากกว่าการชุมนุมใหญ่อย่างที่ผ่านมา แต่ก็ยังถูกจับและเป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหาฐานชุมนุมทางการเมืองได้

ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 มิถุนายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 67 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 35 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 131 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 96 คน และมีหมายเรียกรายงานตัวในท้องถิ่น 35 คน มีอย่างน้อย 3 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน

กรกฎาคม : ยุทธศาสตร์ คสช. บรรลุผล ผู้ชุมนุมลดลง แต่การเชิญตัวยังไม่ลด

หลังผู้ออกมาแสดงการต่อต้านรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน ก็มีผู้ถูกเรียกตัวและถูกจับกุมจำนวนมาก โดยไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนว่าใครบ้างที่จะถูกจับกุม จะถูกกักตัวไว้กี่วัน และเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่จะถูกดำเนินคดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ การที่ผู้ถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ก็ต้องขึ้นศาลทหาร

เงื่อนไขดังกล่าวจึงอาจเป็นปัจจัยให้การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารลดลง สังเกตได้จากจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมในในเดือนนี้ซึ่งมี 2 คน

แต่ทว่า การเรียกพบบุคคลตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตย ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การเรียกตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น “กลุ่มดาวดิน” เพื่อพูดคุยขอให้ยุติการเคลื่อนไหวในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 31 กรกฎาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 17 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 8 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 4 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 2 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 28 คน โดยประกาศเป็นทางการผ่านทางโทรทัศน์ 7 คน และมีหมายเรียกตามท้องถิ่น อย่างน้อย 21 คน

สิงหาคม : ประเด็นไม่เกี่ยวกับการเมือง คสช. ก็ห้ามแสดงออก

ในเดือนสิงหาคม ประชาชนหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในประเด็นที่ตนสนใจ ซึ่งไม่ใช่การต่อต้านคสช. อย่างเช่น การรวมตัวของกลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน หรือการรณรงค์ยุติความรุนแรงอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นนัล ประเทศไทย แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ยังถูกจับกุมและถูกสั่งห้ามเคลื่อนไหวบนท้องถนน โดยทหารระบุว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่กลุ่มอื่นๆ

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 31 สิงหาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 25 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 3 คน / กลุ่มที่เป็นนักวิชาการ นักเขียน ดีเจ นักกิจกรรม 2 คน / กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 19 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 1 คน

คสช. เรียกให้บุคคลมารายงานตัวอย่างน้อย 5 คน ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มคนเสื้อแดงที่จังหวัดเชียงใหม่ และนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในเดือนนี้ อาจกล่าวได้ว่าคณะรัฐประหารเลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลอย่างเปิดเผย เพื่อลดแรงเสียดทาน แต่ยังใช้วิธีการเรียกบุคคลมารายงานตัวต่อหน่วยทหารในแต่ละพื้นที่

กันยายน : นักวิชาการถูกจับ นักศึกษาถูกเรียก เพราะจัดเสวนาและติดป้ายผ้าสะพานลอย

ในเดือนนี้กิจกรรมการต่อต้านรัฐประหารเบาบางลงมาก เท่าที่มีรายงานการจับกุมมีเพียงกรณีกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ที่เดินเท้าประท้วง ที่เหลือเป็นควบคุมตัวนักวิชาการและนักศึกษาผู้จัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน – 30 กันยายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 22 คน เป็น กลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ อย่างน้อย 11 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 3 คน คือ นิสิตนักศึกษาที่ไปแขวนป้ายผ้าในวันที่ 19 กันยายน ตำรวจจึงเชิญมาให้จ่ายค่าปรับคนละ 1,000 บาท

ตุลาคม : รวบเสื้อแดงในงานศพ เรียกตัวแกนนำแรงงานและชาวเขาเผ่ามูเซอ

เจ้าหน้าที่ทหารจับกุม หนึ่ง ที่วัดบางไผ่ หลังจากที่เข้าร่วมงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เนื่องจากเป็นบุคคลที่ถูกบันทึกภาพได้ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร  ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หนึ่งถูกดำเนินคดีฐานชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

เดือนนี้นับว่ามีการเรียกตัวในระดับท้องถิ่นสูงที่สุด มีการเรียกตัวกลุ่มเพื่อนคนงานย่านรังสิตและนวนคร 5 คน ไปชี้แจงต่อทหารกรณีที่ทางกลุ่มฯ วางแผนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาคนงานที่กระทรวงแรงงาน

มีการเชิญ สุกิจ พูนศรีเกษม พร้อมแกนนำชาวเขาเผ่ามูเซอกว่า 30 คน ไปปรับความเข้าใจ หลังพยายามเดินทางเพื่อเข้าร้องเรียนต่อ คสช. ที่กรุงเทพฯ กรณีถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าตรวจยึดอาคารและสิ่งปลูกสร้างในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ตุลาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเกี่ยวของกับพรรคเพื่อไทย หรือ นปช. 2 คน / ยังไม่สามารถระบุได้ 3 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 39 คน

พฤศจิกายน : กระแสต้านรัฐประหารกลับมาอีกครั้ง นำโดยนักศึกษา

ในเดือนนี้การชุมนุมแสดงออกต่อต้านการรัฐประหารกลับมา และตัวเลขผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบก็เพิ่มสูงขึ้นเท่ากับช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆ โดยเริ่มจากกรณีนักศึกษา “กลุ่มดาวดิน” ที่ชูสามนิ้วต่อหน้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จังหวัดขอนแก่น ตามมาด้วยกิจกรรมของนักศึกษาที่อื่นๆ เช่น กลุ่ม ศนปท. กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ทหารยังเข้าจับกุม ผู้จัดงาน “เดิน ก้าว แลก” ปฏิรูปที่ดิน และกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดินขบวนคัดค้านการทำ EHIA เขื่อนแม่วงก์ด้วย ผู้ถูกควบคุมตัวจากกรณีที่กล่าวมาได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกันกับที่จับกุม

นอกจากข่าวการจับกุมนักกิจกรรมเดือนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวอื่นๆอีกมาก ได้แก่การจับกุม พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และเครือข่าย ที่ถูกตั้งข้อหา มาตรา 112 จากการแอบอ้างสถาบันฯ

ขณะเดียวกัน การเรียกบุคคลรายงานตัวก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการเรียกบุคคลที่ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนอีสาน “ไม่ปฏิรูปใต้ท็อปบูท คสช.” นอกจากนี้ก็มีการเชิญตัวกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนปากมูลไปพูดคุยให้เลิกเคลื่อนไหว รวมทั้งยังมีจดหมายเชิญอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคามที่เป็นนักกิจกรรมไปพบด้วย

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 47 คน เป็นกลุ่มผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมโดยสงบ 34 คน

คสช. เรียกบุคคลให้มารายงานตัวอย่างน้อย 25 คน

ธันวาคม : จับกุมพร้อมตั้งข้อหาใหม่ และเรียกตัวปรามการเคลื่อนไหว

ในเดือนนี้มีการจับกุม ผู้แสดงความเห็นทางเมือง โดยการโพสต์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ เช่น กรณีธนพร ถูกจับเพราะแสดงความเห็นเกี่ยวกับนายทหารที่เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เขาถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทคนตาย อีกกรณีหนึ่งเป็นคู่สามีภรรยาถูกจับพร้อมกัน โดยสามีถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันฯ และต้องขึ้นศาลทหาร แต่ภรรยาได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง ในภาพรวม การจับกุมบุคคลในเดือนนี้ถือว่าลดลงหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อน

สำหรับการเรียกบุคคลรายงานตัว ผู้ถูกเรียกรายงานตัวในเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและนักเคลื่อนไหว เช่น อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม 4 คน อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 6 คน นักศึกษาที่โปรยใบปลิวที่มหาวิทยาลัยบูรพา 5 คน คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งที่ใส่เสื้อดําในเดือนธันวาคมและโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ค รวมทั้งมีการเรียกตัวแกนนําแนวร่วมเกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านส้องและพันธมิตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีก 5 คน

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม – 30 ธันวาคม มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 5 คน

คสช. มีคําสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว อย่างน้อย 23 คน

ประชาชน (ผู้ต่อต้าน) เจออะไรบ้าง?

การประกาศเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัว

นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม จนถึงต้นเดือนมิถุนายน คสช. ออกประกาศคำสั่งเรื่องให้บุคคลมารายงานตัว
ผ่านทางโทรทัศน์ ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น 34 ฉบับ เรียกให้บุคคลไปรายงานตัว 476 คน โดยให้ไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบกเทเวศน์ บุคคลที่ถูกเรียกเข้ารายงานตัวไม่มีโอกาสทราบเหตุในการเรียก ไม่ได้รับสิทธิติดต่อญาติ หรือทนายความ คนส่วนใหญ่ถูกริบเครื่องมือสื่อสาร หลังจากเข้ารายงานตัว บุคคลที่ถูกควบคุมตัวต่อจะถูกนำตัวขึ้นรถตู้ที่ปิดทึบไปยังสถานที่ควบคุมตัวต่างๆ กัน เช่น ค่ายทหารในจังหวัดราชบุรีหรืออยุธยา เป็นต้น

หลังการยึดอำนาจได้หนึ่งเดือน คสช. เลิกใช้วิธีการออกประกาศเรียกตัวบุคคลทางโทรทัศน์ แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้หน่วยทหารในระดับพื้นที่เรียกตัวบุคคลในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบไปรายงานตัว ซึ่งมีอย่างน้อย 163 คน วิธีการเรียกตัวมีทั้งการส่งจดหมายเชิญ การโทรศัพท์เรียก หรือการไปตามหาตัวยังที่พักอาศัย บางกรณีคนที่ไปรายงานตัวถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วันตามกฎอัยการศึก หรือบางกรณีหลังพูดคุยแล้วก็ปล่อยตัวกลับ

จากการเรียกบุคคลไปรายงานตัวอย่างน้อย 666 คน มี อย่างน้อย 142 คน ที่ยังไม่มีข้อมูลว่าได้เข้ารายงานตัวตามที่ถูกเรียกหรือถูกจับกุมแล้วหรือไม่ และมีอย่างน้อย 50 คน ที่มีรายงานว่าตัดสินใจไม่เข้ารายงานตัวและยังอยู่ระหว่างการหลบหนี

การสอบสวน การปรับทัศนคติ การบังคับให้เซ็นเอกสาร

ระหว่างถูกควบคุมตัว บางกรณีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงจะมาพูดคุยเพื่อ “ปรับทัศนคติ” บางกรณีจะถูกคณะกรรมการจำนวน 5-9 คน สอบสวนเพื่อตั้งข้อหาดำเนินคดี บางกรณีจะถูกสอบถามข้อมูลให้ซัดทอดถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องในขบวนการเคลื่อนไหว บางกรณีถูกกักตัวไว้โดยไม่มีการสอบสวนหรือพูดคุย ระหว่างการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่จะยึดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เพื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการกระทำที่อาจผิดกฎหมายหรือไม่ เช่น การหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หรือตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลเชื่อมโยงไปยังบุคคลอื่น

ผู้ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวจะถูกซักถามทัศนคติทางการเมือง และเจ้าหน้าที่ทหารจะพยายามเกลี้ยกล่อมให้เข้าใจเหตุผลของการทำรัฐประหาร ผู้ถูกควบคุมตัวรายหนึ่งเล่าว่า ขณะควบคุมตัวถูกถามว่า “คิดว่าการปฏิวัติครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่” โดยมีคำตอบให้เลือกสามข้อ ระหว่าง ก.ไม่กระทบ ข.กระทบ และ ค.เฉยๆ พอเงยหน้าขึ้นมา ก็มีทหารสองนายพร้อมอาวุธยืนถือปืนขนาบอยู่ ทั้งซ้ายและขวา ทำให้ต้องตัดสินใจเลือก กากบาทที่ข้อ ก.ไก่ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระยะเวลาในการควบคุมตัวของแต่ละคนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการให้ความร่วมมือ ความจำเป็นในการสอบสวน และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร

ภายหลังจากการพูดคุยหรือครบกำหนดเวลาที่จะควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก ผู้ที่จะถูกปล่อยตัวต้องเซ็นชื่อกับเอกสารการปล่อยตัว โดยมีเงื่อนไขด้วยว่า จะละเว้นการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต และหากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีทันทีและยินยอมถูกระงับธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งเซ็นชื่อยอมรับด้วยว่าระหว่างถูกกักตัวนั้น “ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มิได้ถูกทำร้ายหรือมิได้ถูกใช้กำลังบังคับ
ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ให้คำสัญญาหรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ”

พฤติกรรมการจับกุมตัวบุคคลตามกฎอัยการศึก

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจพอจะแบ่งได้ ดังนี้

การจับจากการเข้าร่วมชุมนุมหรือแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง

ภิญโญภาพ เข้าร่วมการชุมนุมบริเวณหน้าเเมคโดนัลด์ราชประสงค์ โดยภิญโญภาพตะโกนว่า อับอายต่อการทำรัฐประหาร จึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารฝ่าฝูงชนเเละอุ้มตัวไปท่ามกลางกลุ่มประชาชน จากนั้นจึงจับตัวขึ้นรถพยาบาลกลางแยกราชประสงค์ โดยขณะจับกุมทหารกดหัวเขาลงเพื่อจะให้เขาหยุดตะโกนและลากตัวไปกับพื้น จนทำให้เขาได้รับบาดเจ็บ

วรภพ เข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารที่เเมคโดนัลด์ หรือที่เรียกว่ากิจกรรม "กินเเมคต้านรัฐประหาร" หลังจากกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 5 วัน ขณะที่เขากำลังเดินซื้อของที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องเเบบจับกุมเเล้วนำตัวเขาไปส่งตัวให้ทหารบริเวณหลังห้าง สุดท้ายเขาถูกพาตัวไปสอบสวนที่สโมสรทหารบก

สุนันทา หลังเข้าร่วม “ชูสามนิ้ว” ต่อต้านการรัฐประหารที่ห้างเทอร์มินัล 21 เสร็จเรียบร้อยและกำลังจะเดินทางกลับ มีกลุ่มชายฉกรรจ์ เเต่งกายด้วยชุดธรรมดามาพูดคุยและบอกให้ขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูทะเบียน 422 กทม. แต่เธอไม่ยอม จึงมีการใช้กำลังฉุดกระชากตัวเธอขึ้นรถ โดยมีคนเห็นเหตุการณ์พยายามเข้าช่วยเหลือจำนวนมาก ภายหลังมีการเผยแพร่คลิปวีดีโอเหตุการณ์ดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นกรณีคู่สามีภรรยาทะเลาะกัน เเต่ต่อมาไม่นานก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการจับกุมตัวบุคคลโดยเจ้าหน้าที่

การบุกจับตัวในสถานที่อยู่อาศัย

ณัฐ ถูกประกาศเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เวลาประมาณ 1.30 น. ของช่วงที่มีการประกาศเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจกว่า 10 นาย ไปเคาะประตูห้องคอนโดมิเนียมของณัฐ เมื่อณัฐเปิดประตูก็มีไม้สอดเข้ามาทางประตู เจ้าหน้าที่ใช้กำลังผลักประตูเข้ามาและกดตัวณัฐลงกับพื้นพร้อมใช้สายยางรัดข้อมือไว้ด้านหลัง ก่อนจะพาตัวไปยังค่ายทหาร

ครอบครัวของสิรภพ สิรภพเป็นนักเคลื่อนไหวผ่านอินเทอร์เน็ต สิรภพถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนด เจ้าหน้าที่จึงเดินทางไปที่บ้านของสิรภพ ซึ่งมีเพียงลูกสาวเเละหลานที่เป็นทารกอาศัยอยู่เท่านั้น โดยเจ้าหน้าที่มีอาวุธครบมือ เเต่งกายด้วยเครื่องเเบบทหาร เเละนำรถมาปิดล้อมบริเวณหน้าบ้าน เมื่อทหารเข้าในบ้านก็พยายามข่มขู่ให้ลูกสาวของสิรภพบอกว่าบิดาของตนพักอาศัยอยู่ที่ใด เเต่เนื่องจากลูกสาวไม่รู้ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่จึงนำตัวทุกคนไปที่ค่ายทหาร ซึ่งรวมถึงทารกน้อยด้วย

การจับกุมขณะเดินทาง

ธานัท (ทอม ดันดี) ถูกเรียกให้ไปรายงานตัวแต่ไม่ได้ไปตามกำหนดเนื่องจากติดธุระ จึงประสานงานกับเจ้าหน้าที่ทหารว่าจะเข้าไปรายงานตัวในช่วงเย็นของวันดังกล่าว ขณะที่กำลังเดินทางออกจากไร่เพื่อไปส่งหน่อไม้ขาย เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจก็เข้าจับกุมขณะที่เขากำลังขับรถอยู่ โดยเจ้าหน้าที่ขับรถไล่หลัง เเละเมื่อเลี้ยวรถเจ้าหน้าที่ก็ขับรถเข้าประชิดทันที โดยอ้างว่าเขากำลังหลบหนี

ศิริพร เจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ถ่ายรูปพร้อมกระดาษเขียนว่า “ไม่เอา คสช.” ขณะไปเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวกับเพื่อนและโพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊ก ขณะเดินทางกลับถูกทหารและตำรวจตั้งด่านตรวจค้นรถ หาเสื้อผ้าชุดที่ใส่ขณะถ่ายรูปและขอดูบัตรประชาชน เมื่อทราบว่าเป็นคนที่กำลังตามหาจึงควบคุมตัวไปที่ สน.เชียงดาว

สามีภรรยาคู่หนึ่ง ขณะที่รถติดสัญญาณไฟจราจรอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง มีทหารราว 50 คนพร้อมอาวุธครบมือ ขับรถปิคอัพ รถตู้ และรถเก๋งอีก 2 คัน เข้าปิดแยกและเข้าจับกุมตัวเธอและสามี โดยลากสามีลงจากรถมานอนกับพื้นและมัดมือไขว้หลัง เอาผ้าปิดตาแล้วนำขึ้นรถตู้ของทหาร ส่วนภรรยายังนั่งอยู่ในรถไม่ยอมลงมาพร้อมทั้งเกาะประตูรถไว้แน่นและตะโกนต่อว่าทหาร นอกจากนั้นยังขอความช่วยเหลือจากประชาชนที่มองดูอยู่ ทำให้ทหารที่ถือปืนยาวสองนาย ขึ้นรถของเธอแล้วจึงพาเธอไปสถานที่ควบคุมตัว

การเชิญไปพูดคุยแล้วค่อยจับ

ธนาพล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกัน หลังจากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านทางเฟซบุ๊ก ก็มีนายทหารโทรมาชวนเขาไปพูดคุยที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าจะปรับความเข้าใจเท่านั้น เเละยืนยันว่าไม่ได้จะจับกุม เมื่อไปถึงร้านกาเเฟตามนัด ทหารก็ชี้เเจงว่าการโพสต์ในลักษณะดังกล่าวของเขาเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามที่ทหารตั้งไว้ เพราะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น กลัวจะทำให้คนมาต้านคณะรัฐประหาร จึงต้องปรามด้วยการนำไปคุมขังอีกครั้งหนึ่ง เเละพาตัวเขาออกไปจากร้านกาเเฟทันที

การควบคุมตัวเกิน 7 วัน เกินอำนาจตามกฎอัยการศึก

กริชสุดา ถูกตำรวจจับกุมที่จังหวัดชลบุรีตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน รวมเวลาที่ถูกควบคุมตัว 28 วัน กริชสุดาให้สัมภาษณ์ว่า เธอถูกปิดตาและมัดมือเป็นเวลา 7 วัน ถูกทำร้ายร่างกายโดยโดนตบหน้า ชกที่ใบหน้าและลำตัว ตลอดจนใช้ถุงคลุมหัวทำให้ขาดอากาศหายใจ ทหารต้องการข้อมูลจากเธอว่า ใครเป็นผู้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ต้องโทษในเรือนจำและสนับสนุนอาวุธสงคราม ซึ่งกริชสุดาระบุว่า ผู้สอบสวนต้องการให้เธอยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนดูแลนักโทษและผู้ยุยงส่งเสริมในกระทำผิด

ยงยุทธ ถูกตำรวจและทหารประมาณ 40 – 50 นาย จับกุมที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ตำรวจภูธรภาค 1 แถลงข่าวการจับกุมยงยุทธ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 แต่ต่อมาไม่มีข้อมูลว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 สิงหาคม เขาถูกควบคุมตัวที่ใด ในวันที่ 8 สิงหาคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสอบถามไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ, เรือนจำจังหวัดนนทบุรี, ตำรวจภูธรภาค 1 และกองปราบปราม แต่ไม่ปรากฏข้อมูลว่ายงยุทธถูกควบคุมตัวอยู่สถานที่ใด จึงมีการออกแถลงการณ์ในกรณีนี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557 ในวันที่ 10 สิงหาคม ยงยุทธถูกควบคุมตัวมาที่กองปราบฯ พร้อมตั้งข้อกล่าวหาพกพาอาวุธและวัตถุระเบิด 

เจริญ ถูกควบคุมตัวไปตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2557 หลังครบ 7 วัน ทหารนำตัวเจริญ ไปแจ้งความในข้อหา ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองที่ สน.มักกะสัน และในวันเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาประกันตัวและพาตัวออกไป ไม่ปรากฏข้อมูลว่าควบคุมตัวไว้ ณ ที่ใด แต่ทางญาติก็ยังสามารถติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ได้ จนเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม เจริญถูกนำตัวไปขังที่กองปราบปราม และถูกตั้งข้อหาวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง

กรณีถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัว

ชัชวาล ถูกจับกุมพร้อมภรรยากลางสี่แยกในจังหวัดเชียงใหม่โดยเจ้าหน้าที่ทหารราว 50 คน พร้อมอาวุธครบมือ ระหว่างควบคุมตัวเขาถูกมัดมือไขว้หลังและถูกทำร้ายร่างกายโดยชายที่สวมหน้ากากรูปสัตว์ 2 คน จากนั้นถูกนำตัวไปบนรถตู้และถูกทำร้ายร่างกายอยู่ตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ระหว่างการควบคุมตัว เขาถูกนำสายไฟพันสำลียัดเข้าไปในช่องทวารหนัก และอีกส่วนหนึ่งนำมามัดที่อวัยวะเพศ เอาน้ำราดแล้วปล่อยกระแสไฟช็อต เมื่อร้องก็ถูกถุงพลาสติกดำคลุมศีรษะทำให้ร้องไม่ได้และหายใจติดขัด นอกจากนี้ยังมีการนำปืนพกสั้นยัดใส่ปากพร้อมบังคับให้สารภาพว่านำอาวุธไปซ่อนไว้ที่ใด เขาถูกควบคุมตัวนานหลายวันก่อนที่จะถูกนำตัวมาแถลงข่าวและแจ้งข้อกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุยิงระเบิด M79 หลายเหตุการณ์

กิตติศักดิ์ ผู้ต้องหาคดีชายชุดดำ ถูกชาย 3 คนบุกจับกุมยังที่ทำงานโดยไม่มีหมายจับ ระหว่างการควบคุมตัว ถูกสอบสวนโดยใช้ถุงคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้เห็นหน้าผู้สอบสวน ถูกตบหัวและตบปาก ถูกจับนอนเหยียดตัวและมีคนนั่งทับเท้าทั้งสองข้างและนั่งทับบนตัวทำให้หายใจไม่ออก เพื่อให้รับสารภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 พร้อมทั้งให้ขยายผลไปถึงคนอื่น โดยเขาจะได้รับการเปิดตาในเวลานอนเท่านั้น แต่ก็ยังถูกใส่กุญแจมือตลอดเวลา

บัญชา ถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจในเครื่องแบบบุกเข้าจับกุมกลางดึกขณะเสพกัญชาอยู่กับเพื่อนในที่พักระหว่างเดินทางถูกปิดตาและไม่รู้จุดหมายปลายทางว่าไปที่ใด เมื่อถึงที่หมายเขาถูกเตะ ตบ และถูกข่มขู่เพื่อเอาข้อมูลว่าใครอยู่ในขบวนการค้ายาบ้าง และเมื่อบอกว่าไม่รู้ก็จะถูกรุมเตะ หลังจากโดนทำร้ายอยู่ราว 1 ชั่วโมง จากนั้นเขาถูกถีบลงหลุมและถูกเทดินถมจนเหลือแค่ศีรษะราวครึ่งชั่วโมงจึงถูกนำตัวขึ้นมา เขาถูกทำร้ายตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นถูกนำตัวไปส่งยังสถานีตำรวจเพื่อเสียค่าปรับ ของกลางที่พบในบ้านคือ กัญชา 2 ห่อ และใบกระท่อมอีก 100 กว่าใบ

มีรายงานกรณีการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 28 กรณี ส่วนใหญ่ผู้ถูกซ้อมทรมานถูกสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงทางการเมือง กรณีส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเกิน 7 วัน ขณะถูกจับไม่ทราบข้อกล่าวหา ไม่ทราบสถานที่ควบคุมตัว ไม่สามารถติดต่อคนภายนอกได้ หลายคนยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหาเพราะไม่สามารถทนสภาวะที่เผชิญอยู่ได้ และปัจจุบันยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นศาล

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท