ไม่เสร็จตามคาด ‘ลิฟต์บีทีเอสเพื่อผู้พิการ’ ขอยืดเวลาถึง ก.ย.นี้

หลังเลยกำหนดศาลสั่งบีทีเอส ล่าสุด ลิฟต์ 12 ตัวแรกไม่เสร็จสิ้นเมษายน ผู้รับเหมาอ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน สจส.-ภาคีคนพิการ จ่อปรับเงินรายวัน หากไม่เสร็จในอีก 4 เดือน ตามรองผู้ว่าฯ กทม. รับปาก

2 มิถุนายน 2559 ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้หรือทีฟอร์เอ (Transportation for All: T4A) เข้าร่วมประชุมติดตามงานก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ณ อาคารบีทีเอส พหลโยธิน โดยมีตัวแทนจากสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.), การไฟฟ้านครหลวง, การประปานครหลวง, บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือบีทีเอส และบริษัท เสรีการโยธา ซึ่งเป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง หลังการดำเนินงานล้าช้าเลยกำหนดมากว่า 6 เดือน นับตั้งแต่ศาลปกครองสูงสุดสั่งบีทีเอสสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558

สืบเนื่องจากการประชุมวันที่ 20 เมษายน 2559 (อ่านที่นี่ http://www.prachatai.org/journal/2016/04/65350 )  ซึ่งระบุว่า ลิฟต์ 12 ตัวได้แก่ สถานีพร้อมพงษ์ อ่อนนุช พญาไท ราชดำริ ราชเทวี ทองหล่อ สนามเป้า สนามกีฬา เพลินจิต เอกมัย สุรศักดิ์ และอารีย์ จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนเมษายนนั้นไม่เสร็จตามกำหนดเวลา หนำซ้ำสถานีพร้อมพงษ์ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเป็นแห่งแรก จนปัจจุบันก็ยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิคและระบบตัวลิฟต์ เช่น ปุ่มกดไม่ได้ ระบบเซ็นเซอร์ไม่ทำงาน ฯลฯ ในขณะที่สถานีอื่นๆ ยังไม่มีความคืบหน้าที่เห็นได้ชัด

เสรีการโยธา ผู้รับเหมา กล่าวถึงปัญหาด้านการเงินที่ขาดสภาพคล่อง เนื่องจากไม่สามารถเบิกเงินเพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ โดยระบุว่า ในสัญญาว่าจ้างระบุการส่งมอบงานเมื่อเสร็จแล้วทั้งหมด ซึ่งทำให้ในปัจจุบันงานที่สามารถส่งมอบได้แล้วบางส่วนไม่สามารถส่งมอบได้ จึงกำลังดำเนินการยื่นทำข้อตกลงเพิ่มเติมในการจัดการดังกล่าว

ทั้งนี้เมื่อดูกราฟความคืบหน้าการดำเนินงานที่ผ่านมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 64 (พฤษภาคม 2558) หรือเดือนที่ 4 หลังคำสั่งศาลปกครองสูงสุดจนถึงปัจจุบันในสัปดาห์ที่ 106 พบว่า ภาพรวมการก่อสร้างทั้งหมดดำเนินไปเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น มีเพียง 5 จาก 19 สถานีที่ดำเนินการติดตั้งตัวลิฟต์แล้วเสร็จ และมีเกือบ 10 สถานีที่ยังอยู่ในขั้นตอนการย้ายระบบสาธารณูปโภคใต้ดินและงานฐานราก

อย่างไรก็ดี ประภาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง และเครือข่ายคนพิการได้กล่าวย้ำจุดยืนที่จะผลักดันให้การก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน 3 เดือนข้างหน้า เพื่อเปิดใช้ทุกสถานีภายในเดือนกันยานยน 2559 ที่จะถึง ตามที่อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้รับปากขอยืดเวลาไว้ในการประชุมหลายครั้งที่ผ่านมา (อ่านที่นี่ http://www.prachatai.org/journal/2016/01/63610) หลังเหตุการณ์แจกใบปลิวขอโทษผู้โดยสารที่ดำเนินการก่อสร้างล่าช้าไปเมื่อต้นปี

ประภาส ได้เน้นย้ำว่า หากครบกำหนดการยืดระยะเวลาในเดือนกันยายน 2559 แล้ว แต่ลิฟต์ทั้งหมดยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็จะดำเนินการเด็ดขาดเพื่อปรับเงินผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องได้แก่บริษัทเสรีการโยธาเป็นรายวัน

ด้านมานิตย์ อินทรพิมพ์ ประธานคณะติดตามระบบราง เครือข่ายทีฟอร์เอ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทหลังการประชุมว่า จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีปัญหาทุกจุด ทั้งกรุงเทพมหานคร ผู้รับเหมา ผู้รับจ้างของผู้รับเหมา ฯลฯ ตั้งแต่ทางภาคีเข้าร่วมประชุมในเดือนมกราคม 2559 ก็มองเห็นปัญหาของหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานด้านระบบสาธารณูปโภคที่แม้มีผังเมืองอยู่ในมือ แต่ผังก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ เช่นการระบุว่าพื้นที่ส่วนนี้มีท่อ แต่เมื่อขุดลงไปกลับหาไม่พบ

“ในตอนนี้ทุกปัญหาค่อนข้างจะคลี่คลาย ทั้งในเรื่องการร้องเรียนจากชาวบ้าน ฯลฯ แต่ติดปัญหาเรื่องสภาพการเงินของผู้รับเหมา นี่คือปัญหาสุดท้ายที่ทางภาคีไม่รู้จะทำอย่างไร การบอกว่าไม่มีเงิน คำนี้เป็นข้อแก้ตัวที่รับฟังไม่ได้” เขากล่าว

เขาเสริมว่า ทางฝั่งคนพิการก็เดินเกมหลายเรื่อง ส่วนหนึ่งคือเข้ามาร่วมทำงานผลักดันแก้ไข อีกส่วนคือ ‘ตั้งป้อม’ ในมาตรการด้านกฎหมาย ซึ่งตั้งใจว่าจะดำเนินในทั้งสองทางควบคู่กันไป

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยานยนนี้ มานิตย์ตอบทันทีว่า ‘ไม่เสร็จ’ และคาดว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือนหลังจากนั้นหากประเมินจากการก่อสร้างที่เห็น ณ ขณะนี้ โดยทางทีฟอร์เอตั้งใจที่จะเข้ามาติดตามและผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้งานมีความคืบหน้าอย่างเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างลิฟต์นั้นเป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงอย่างเดียวตามคำสั่งศาล โดยมานิตย์ระบุว่า จริงๆ แล้ว สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการไม่ได้มีเพียงลิฟต์เพื่อคนพิการที่นั่งวีลแชร์เท่านั้น การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการประเภทอื่นๆ ยังไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแผนงานครั้งนี้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองและผลักดันต่อว่าบีทีเอสและ กทม. จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้งานที่ค้างคานั้นแล้วเสร็จและดำเนินการจัดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท