Skip to main content
sharethis

ผลสืบสวนรัฐบาลอังกฤษทำสงครามอิรักปี 2546 ใช้ข่าวกรองที่มีช่องโหว่ในการตัดสินใจรุกรานอิรัก ทั้งที่ไม่มีภัยคุกคามเร่งด่วนจากซัดดัม ด้าน โทนี แบลร์ ขอโทษต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้น แต่ยืนยันว่าถ้าได้เลือกอีกก็จะบุกอิรักเหมือนเดิม อ้างโลกนี้ดีขึ้นเมื่อปราศจากซัดดัม

การชุมนุมต่อต้านสงครามอิรักในอังกฤษ (ที่มา: Wikipedia)

7 ก.ค. 2559 จอห์น ชิลคอต ประธานการสืบสวนกรณีที่อังกฤษเข้าร่วมสงครามอิรักและข้าราชการเกษียณอายุเปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการสืบสวนการนำประเทศเขาสู่สงครามอิรักเมื่อปี 2546 โดยระบุว่าการตัดสินใจเข้าสู่สงครามดังกล่าวพิจารณาจาก "ข้อมูลข่าวกรองที่มีช่องโหว่" และควรมีการคัดค้านการใช้ข้อมูลมีช่องโหว่เช่นนี้แต่ก็ไม่มีการคัดค้านใดๆ เกิดขึ้น

ชิลคอตกล่าวว่า "ปฏิบัติการทางทหารในอิรักอาจจะมีความจำเป็นในบางจุด แต่ในแง่ของปฏิบัติการเมื่อเดือน มี.ค. 2546 นั้น ไม่ได้มีภัยคุกคามเร่งด่วนใดๆ ที่มาจากซัดดัม ฮุสเซน (ประธานาธิบดีอิรักในสมัยนั้น)"

ในปี 2546 อังกฤษและสหรัฐฯ ปฏิบัติการร่วมกันในอิรักโดยอ้างว่าเพื่อปลดอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงและหยุดยั้งการสนับสนุนการก่อการร้ายของซัดดัม รวมถึงปลดปล่อยประชาชนชาวอิรัก อย่างไรก้ตามชิลคอตกล่าวในการเปิดตัวรายงานอิรักว่าอังกฤษเลือกวิธีการเข้าร่วมการบุกรุกอิรักก่อนโดยยังไม่ได้ใช้สันติวิธีในการปลดอาวุธ

รายงานเกี่ยวกับการสืบสวนกรณีสงครามอิรักหรือที่เรียกว่า "อิรักอินไควรี" (Iraq Inquiry) นั้นใช้เวลาในการจัดเตรียมยาวนาน 7 ปี ชิลคอตต์กล่าวอีกว่าถึงแม้จะมีคำเตือนอย่างชัดเจนแต่ก็ยังมีการประเมินผลกระทบจากการบุกอิรักต่ำเกินไป

อดีตนายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ผู้ร่วมกับจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นำสหรัฐฯ บุกอิรักในยุคนั้นกล่าวว่าเขาขอแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้อย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อแม้และไม่มีข้อแก้ตัว แบลร์บอกอีกว่เขารู้สึกเสียใจ เศร้าใจ และอยากขอโทษ ต่อความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในอิรัก อย่างไรก็ตามแบลร์ยืนยันว่าถ้าหากเขาต้องได้เลือกอีกครั้งเขาก็จะเลือกทางเดิม โดยยืนยันว่า "โลกนี้ดีขึ้นเมื่อปราศจากซัดดัม ฮุสเซน" และประกาศอีกว่าสงครามอิรักไม่ใช่สิ่งที่รีบร้อนตัดสินใจ ไม่มีเรื่องโกหก และไม่มีพันธะแอบแฝงใดๆ ในการทำสงครามนี้

มีคนในอิรักเสียชีวิตหลายแสนคนและมีทหารอังกฤษเสียชีวิตอย่างน้อย 179 นาย ตลอดช่วงสงครามระยะเวลา 8 ปี ผู้สืบสวนในเรื่องนี้พบว่าการวางแผนและเตรียมการสำหรับอิรักหลังจากที่ฮุสเซนถูกโค่นล้มแล้วเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมโดนสิ้นเชิง "ประชาชนชาวอิรักต้องทนทุกข์อย่างหนัก" ชิลคอตกล่าว

อาห์เหม็ด รัชดี นักวิเคราะห์การเมืองอิรักกล่าวว่ารายงานนี้เปิดโปงให้เห็นว่าโทนี แบลร์ เป็นคนโกหก เขาโกหกชาวอังกฤษ โกหกประชาคมโลก ในที่สุดแล้วเขาพยายามทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2546 เป็นความผิดของชาวอิรัก ทั้งๆ ที่ "ผู้บุกรุก" ควรรับผดชอบต่อผลกระทบจากสงคราม ทางด้านนักข่าวอัลจาซีรา นีฟ บาคเกอร์ รายงานจากลอนดอนว่าคำกล่าวของชิลคอต เป็นการประณามที่หนักที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยที่ไม่ต้องพูดตรงๆ ว่าการบุกอิรักไร้ความชอบธรรม

รายงานอิรักอินไครร์ระบุอีกว่าการให้ความชอบธรรมต่อการบุกอิรักว่ามีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงนั้นพบว่าไม่สามารถให้ความชอบธรรมได้อย่างแน่นอน อีกทั้งรัฐบาลแบลร์ยังล้มเหลวในการทำตามวัตถุประสงค์ที่อ้างไว้ เรื่องคดีความต่างๆ เกี่ยวกับสงครามนี้ศาลโลกเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินได้

นอกจากแบลร์แล้วอีกคนหนึ่งที่ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้คือเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษคนปัจจุบัน เขาขอโทษแทนพรรคแรงงานและแบลร์และบอกว่าเรื่องนี้ถือเป็นความด่างพร้อยของพรรคแรงงาน โดยคอร์บินกล่าวในเรื่องนี้หลังจากพบปะกับครอบครัวผู้สูญเสียในสงครามอิรักปี 2546

 

เรียบเรียงจาก

Chilcot report: Tony Blair takes 'full responsibility' for Iraq war as Jeremy Corbyn 'apologises sincerely on behalf' of Labour party, The Telegraph, 06-07-2016 http://www.telegraph.co.uk/news/2016/07/06/chilcot-report-2003-iraq-war-was-unnecessary-and-invasion-was-no/

Chilcot report: Iraq War based on 'flawed intelligence', 07-07-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/07/chilcot-report-uk-exhaust-peaceful-options-160706091456264.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2003_invasion_of_Iraq

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net