Skip to main content
sharethis

นายกสภากายภาพบำบัด ชวนคลินิกกายภาพบำบัดทั่วประเทศ ร่วมเป็น “หน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุข” กับ สปสช. เพื่อดูแลฟื้นฟูกายภาพบำบัดผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค โดยเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการ “30 บาท รักษาทุกที่”

มีการเปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดเข้าร่วมแล้ว 215 แห่ง พร้อมให้บริการหลัง สปสช.ปลดล็อกหลักเกณฑ์ ผู้ป่วยลงทะเบียนขอรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดได้เลย

ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวว่า ปัจจุบันการเข้าร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “บัตรทอง 30 บาท” ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ของคลินิกภายภาพบำบัดเอกชนนั้น ได้ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูจำนวน 4 กลุ่มโรค ได้แก่

1. ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

2. ผู้ป่วยอุบัติเหตุที่ได้รับบาดเจ็บทางสมอง

3. ผู้ป่วยไขสันหลังบาดเจ็บ (อัมพฤกษ์-อัมพาต ครึ่งท่อน) และ

4. ผู้ป่วยสูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก สามารถเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดได้สะดวกมากขึ้น

นอกจากทำให้ผู้ป่วยได้รับบริการใกล้บ้านและลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลแล้ว ล่าสุดทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสภากายภาพบำบัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันปรับปรุงเงื่อนไขในการรับบริการที่คลินิกกายภาพ โดยให้ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว และแพทย์อนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ สามารถลงทะเบียนขอใช้สิทธิเพื่อรับบริการกายภาพบำบัดกับคลินิกภาพบำบัดใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้เลย รวมถึงการให้บริการที่บ้านผู้ป่วย ไม่เสียค่าใช้จ่าย จากแต่เดิมที่ผู้ป่วยต้องลงทะเบียนที่โรงพยาบาลเพื่อให้ส่งตัวไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัด

ภาพจาก สปสช.

ภาพจาก สปสช.

"สภากายภาพบำบัดมองว่านโยบายนี้จะช่วยประชาชนที่ขาดโอกาสเข้าถึงบริการ สามารถเข้าถึงบริการกายภาพบำบัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริการกายภาพบำบัดที่ไปดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายครอบครัวผู้ป่วยได้อย่างดี และหากเราดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคนี้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ จะสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบบริการมากขึ้น โดยเฉพาะต่อบทบาทคลินิกกายภาพบำบัดภาคเอกชน ที่จะมีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท และทำให้คลินิกกายภาพบำบัดเป็นที่รู้จัก และใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากขึ้น" นายกสภากายภาพบำบัด ระบุ

ทั้งนี้ ความสำคัญของบริการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วย 4 กลุ่มนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยภาวะจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูหลังการรักษาจากแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดภายในระยะเวลา 6 เดือน เรียกว่าเป็นช่วงเวลาที่ทองของการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยหลังผ่านช่วงวิกฤติ (Golden Period) ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการบำบัดฟื้นฟูต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ จะทำให้การทำกายภาพบำบัดมีประสิทธิภาพกับผู้ป่วยมากที่สุด ฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยได้รวดเร็วมากขึ้น

 

ศ.ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด

ภาพจาก สปสช.

ศ.ดร.ภก.ประวิตร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีคลินิกกายภาพบำบัดจากภาคเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทั่วประเทศจำนวน 850 แห่ง ในจำนวน 215 แห่ง ร่วมลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. แล้ว เพื่อร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุข ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ซึ่งทางสภากายภาพบำบัดอยากให้มีคลินิกการยภาพบำบัดเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นอีก

"อัตราการชดเชยค่าบริการในระบบบัตรทองฯ ที่ให้คลินิกกายภาพบำบัด แม้ว่าจะยังไม่มาก ไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญที่คลินิกกายภาพบำบัดได้รับ คือ การได้ขยายบทบาทและหน้าที่ของวิชาชีพกายภาพบำบัดไปสู่ผู้ป่วยในชุมชน ทำให้ผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคนี้ได้เข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นอยากให้คลินิกเปิดใจเข้าร่วม และสภากายภาพบำบัด รวมถึง สปสช. พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่" ศ.ดร.ภก.ประวิตร กล่าว

นายกสภากายภาพบำบัด กล่าวด้วยว่า หากคลินิกกายภาพบำบัดที่สนใจเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมสาธารณสุข ในระบบบัตรทองฯ สามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. หรือติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อสอบถามและช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนได้ รวมไปถึงยังสามารถติดต่อมายังสภากายภาพบำบัดเพื่อขอให้ช่วยเหลือได้เช่นกัน ซึ่งสภาฯ ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net