Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

แม้จะมีการประกาศยกเลิกให้ พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร ตาม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 ลงวันที่ 12 กันยายน 2559 ซึ่งในทางสาธารณะอาจดูเป็นการผ่อนปรน หลังจากผู้เห็นต่างทางการเมือง ได้ถูก คสช.ใช้มาตรการ กดดันโดยใช้กระบวนการทางกฎหมายกำถูกเขียนขึ้นโดย คณะ คสช.มาเป็นเวลากว่า 2 ปี

แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาแม้ว่าจะมี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559ออกมาแล้วก็คือ 

ตามความในข้อ 2 ระบุว่า 

" ข้อ 2 ให้เจ้าพนักงานตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทําความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทําลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยังคงมีอํานาจหน้าที่ตามคําสั่งดังกล่าวต่อไป"

แต่ข้อเท็จจริงที่ได้พบเห็นและปรากฎในทางคดี คือ

1. ทหารเป็นผู้นำตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนของหน่วยงานที่  "เข้า"  จู่โจมบ้านเรือนประชาชน เพื่อตรวจค้น  จับกุม โดยไม่มีหมายของศาล  แล้วนำตัวไปคุมขังในสถานที่ซึ่งมักจะเป็นค่ายทหาร  เรียกว่า "เชิญตัว" (พฤติการณ์ คือ การจับกุม) เพื่อสอบสวนในสถานที่ปิดโดยทหาร เรียกว่า "ซักถาม" พบว่าบางรายจะถูกปิดตาและมีเครื่องพันธนาการไว้ขณะสอบสวน

2. การสอบสวน (หรือทหารเรียกว่า "ซักถาม")  จะทำการรีดข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆ ที่ไม่มีคนภายนอกรับรู้ นอกจากตัวเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ถูกสอบสวน  แล้วเอาข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อเท็จจริง เพื่อเรียบเรียงเรื่องราว ตามที่ต้องการ หรือตามที่พอจะมีมูล ในการตั้งข้อหา ผู้ถูกจับกุมบางรายมีข้อเท็จจริงพาดพิงเกี่ยวข้องเล็กน้อย แม้การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความผิดทางอาญา  แต่ก็ถูกตั้งข้อหาหนักอย่างไม่สมเหตุสมผล

3. เมื่อเสร็จขั้นตอนของทหาร (ซึ่งพยายามให้เสร็จภายใน 7 วัน)  ทหารจะนำตัวผู้ถูกสอบสวนพร้อมบันทึกการซักถามนั้น  มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน นำมาเป็นข้อเท็จจริงในการสอบปากคำทั้งหมด  จากนั้นทางตำรวจจึงจัดแถลงข่าว แจ้งข้อกล่าวหา   เพื่อสอบปากคำตามกระบวนการ ป.วิ.อาญา โดยให้ยืนยันบันทึกการซักถามนั้นด้วย หากสอบสวนได้รวดเร็ว จะส่งตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร (ความผิดตามประกาศ คสช.) หรือศาลยุติธรรม โดยคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราวด้วย พบว่า บางคดีหมดเวลาราชการก็ฝากขังได้  แต่หมดโอกาสประกันตัว

4. ขณะนำตัวมาส่งมอบพนักงานสอบสวน(ตำรวจ) จะมีทนายความซึ่งมาจากสภาทนายความ ที่มักจะไม่ได้รับความไว้วางใจหรือให้คำปรึกษากับผู้ถูกแจ้งข้อหาได้  โดยไม่ให้ทนายความด้านสิทธิฯ หรือทนายความส่วนตัวเข้าพบในทันที จะพบได้เมื่อนำตัวไปฝากขังที่ศาล นั่นคือ เมื่อเสร็จกระบวนการของตำรวจแล้ว

หากเป็นคดีที่น่าสนใจของประชาชน จะนำตัวไปชี้ที่เกิดเหตุ และทำแผนประกอบคำรับสารภาพ มีคอมมานโดหรือหน่วยสวาทพร้อมอาวุธครบมือ (ใครจะกล้าหือ หรือขัดขืน) นั่นคือ ศาลจะมองว่า "ถ้าไม่จริง ทำไม? จำเลยก็ไม่โวยวาย"

5.  ข้อเท็จจริงจากการซักถาม จะถูกนำมาทำแผนผังโยงใยตัวบุคคล  ทั้งในคดี และทั้งที่ยังไม่ตั้งประเด็นดำเนินคดี  แผนผังนั้นจะถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ  และสุดท้ายจะถูกนำไปฟ้องคดีต่อศาล และอ้างเป็นพยานหลักฐานว่า จำเลยรับสารภาพโดยสมัครใจ มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาแล้วทุกประการ

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นการสร้างภาระอันใหญ่ยิ่งให้กับผู้ถูกกล่าวหา เพราะจากการสูญเสียอิสระภาพตั้งแต่วันแรก ถูกสอบสวนมาราธอน ไม่มีทนายความที่ไว้วางใจให้คำปรึกษา ถูกตั้งข้อหาหนักเกินจริง นอกจากผู้ต้องหาแล้วครอบครัวของพวกเขา ย่อมได้รับผลกระทบ ชีวิตพวกเขาพังทะลาย ไม่มีใครหน้าไหนรับผิดชอบ 

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ได้ซ่อนอยู่ในแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานฯ ตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13 /2559  และยังดำรงอยู่ต่อไปแม้ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 55/2559 จะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม
 
ดังนั้นแล้ว หาก คสช.มีความจริงใจในการผ่อนแรงกดดัน ลดการคุกคามต่อผู้เห็นต่างทางการเมืองจริงๆแล้ว  คสช.ควรที่จะทบทวน และยกเลิก ประกาศ คสช. ที่ให้อำนาจทหารเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบภายในประเทศ มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558  และ ที่ 13/2559 และยกเลิกประกาศที่ให้ดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหารที่ผ่านมาด้วย เพราะบ้านเมืองนี้ควรจะกลับสู่ภาวะปกติ  อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ ประชาชน ซึ่งเชื่อว่าย่อมจะส่งต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และการปกครองของประเทศชาติได้
  
แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่ คสช.ควรจะทำก็คือ การนิรโทษกรรมประชาชนที่ถูกดำเนินคดี  ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขเพื่อจะดำเนินคดีและถูกกล่าวหาเสียทั้งหมดให้จบสิ้นไป  จึงจะเรียกว่า มีความสามัคคีปรองดอง  เป็นการสร้างสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริง

0000

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net