การรับน้องในมหาวิทยาลัยไทย สร้างความสามัคคี หรือสร้างความแตกแยก?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

         
แทบทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะมีการจัดกิจกรรมการรับน้องใหม่ ในช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ เป็นประจำทุกปี ซึ่งบางสถาบันก็มีการจัดกิจกรรมสนุกสนานเฮฮา ซึ่งเต็มไปด้วยรอยยิ้ม เสียงหัวเราะระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอันใดที่น่าเป็นห่วง แต่อีกหลายๆสถาบันที่ช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ บรรยากาศภายในสถาบันนั้นๆ จะเต็มไปด้วยความอึดอัด ความหดหู่ ความรุนแรง ความตึงเครียด ตอนเช้าจะมีภาพของการซ้อมกีฬาที่เคร่งครัดถูกควบคุมโดยรุ่นพี่ที่เคร่งขรึมราวกลับกำลังจะไปแข่งโอลิมปิค ช่วงกลางวัน บางสถาบัน จะมีกิจกรรมทดสอบความอดทนทางร่างกายและจิตใจ ราวกลับว่า นศ น้องใหม่นั้นกำลังจะเข้าสู่สมรภูมิสงครามในเร็วๆนี้ ส่วนช่วงเย็น ตามตึกเรียนต่างๆ ก็เต็มไปด้วยเสียงร้องเพลงเชียร์ประจำคณะฯ ประจำสถาบันนั้นๆ คลอเคล้าไปกับเสียงรุ่นพี่ที่ค่อยว้าก คอยด่าว่า ยังทำได้ไม่ดีพอ จนบางครั้งเริ่มสับสันว่า ตึกเรียนนั้นๆถูกสร้างมาเพื่อจุดประสงค์การเรียนการสอนทางวิชาการ หรือถูกสร้างมาเพื่อการฝึกร้องเพลงกันแน่
         
ในหลายๆสถาบัน หลายๆคณะฯ นศ มีความภูมิอก ภูมิใจในระบบการรับน้องของตนมาก ไม่ว่าจะ SOTUS ระบบว้าก ระบบวีน ระบบไซโค ระบบพี่ปกครอง ระบบพี่วินัย โดยสังเกตุได้จาก การทำเสื้อ ผ้าคาดหน้าผาก ที่เขียนคำว่า SOTUS ในขณะที่การโพสรูปตัวเอง ในขณะที่เป็นพี่ว้าก ทำหน้าดุๆ ลงเฟซบุ๊ก กลายเป็นเรื่องเท่ห์ และน่าชื่นชม

ระบบการรับน้องที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์หลักคือ การสร้างความสามัคคี สร้างความเป็น “รุ่น” ให้กับนักศึกษาใหม่ และสร้างระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ซึ่งการไปให้ถึงเป้าหมายด้านความรัก ความสามัคคีที่ฟังแล้วดูดีนี้ สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่ นศ ผู้นำกิจกรรม ได้อย่างไม่น่าเชื่อ จน นศ ผู้นำกิจกรรมสามารถสรรหาระบบ วิธีการอะไรก็ได้มาใช้ แม้ว่าวิธีการเหล่านั้น จะเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางวาจาก็ตาม

การตะโกน ตะคอกด่า รุ่นน้องปี 1 ในห้องเชียร์เพียงเพราะ รุ่นน้องมาเข้าห้องเชียร์ไม่ครบ กลายเป็นความชอบธรรมได้อย่างน่าตาเฉย เมื่ออ้างว่าที่ทำไปทั้งหมด ก็เพื่อให้น้องรวมกันเป็นรุ่น สังคมมหาวิทยาลัยไทย ได้เดินมาถึงจุดที่ ความสามัคคีใน “รุ่น” สำคัญกว่าสิทธิ เสรีภาพ ทางร่างกาย จิตใจ ของแต่ละคนได้อย่างไร?

คำถามคือ ระบบการรับน้องที่ว่ามาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น SOTUS ระบบว้าก ระบบวีน ระบบไซโค ฯลฯ มันทำให้คน “สามัคคี” กัน หรือสร้างความ “แตกแยก” กันแน่?

ความสามัคคีที่เกิดจาก “ห้องเชียร์” ที่เกิดจากระบบ SOTUS ระบบว้าก มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร? นศ ปี1 ที่มาเข้าห้องเชียร์ มาร้องเพลงกันอย่างสามัคคีเป็นระเบียบ เค้ามาด้วยเหตุผลอะไร? มาด้วยความสามัคคี หรือมาด้วยความกลัว?

จริงอยู่แม้ ว่าจะมี นศ ปี1 กลุ่มนึง มาห้องเชียร์ทุกวัน ผ่านกิจกรรม ผ่านความกดดันร่วมกันกับเพื่อน จะทำให้เด็กกลุ่มนี้รักกัน สามัคคีกันมากขึ้น แต่ ระบบนี้ได้สร้างผลลัพธ์อื่นขึ้นมาด้วยหรือไม่?

สิ่งที่น่ากลัวของระบบ SOTUS ระบบว้าก ระบบไซโค คือ วิธีการที่ใช้ในการทำให้เด็ก ปี1 มาเข้ากิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นห้องเชียร์ หรือชมรมกีฬา ชมรมต่างๆ โดยรุ่นพี่จะวัดความสำเร็จของกิจกรรม หรือวัดความสามัคคี ความเป็น “รุ่น” จากจำนวนเด็กปี1 ที่มาเข้ากิจกรรม ซึ่งแน่นอนว่าในบรรดาเด็กปี1 ก็จะมีทั้งคนที่พร้อมเต็มใจเข้าร่วมกิจกรรม และคนที่ไม่ชอบ และไม่ต้องการเข้าร่วม ซึ่งเมื่อจำนวนเด็กปี1 ที่มาเข้าร่วมไม่ครบ รุ่นพี่ก็จะใช้ข้ออ้างนี้ในการ “ลงโทษ” “ว้าก” ด่า ตะคอก ซึ่งทั้งหมดเป็นการทำแบบ “หมู่” หรือ “โดนทั้งรุ่น” นั่นเอง ซึ่งประโยคยอดฮิตก็คือ

“ทำไมพวกคุณมาไม่ครบ” “เพื่อนหายไปไหน ทำไมไม่รู้” “มากันน้อยแบบนี้ จะรวมกันเป็นรุ่นได้ยังไง” “จะเอารุ่นมั้ย”

ซึ่งประโยคที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเหล่านี้ เมื่อบวกกับคาแรคเตอร์ น้ำเสียง ของ “พี่ว้าก” “พี่ปกครอง” สามารถสร้างแรงกดดันต่อเด็กปี1 อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งแน่นอน หลังจากโดนลงโทษ โดนว้าก สิ่งที่เด็กปี1 คิดคือ ที่ตัวเองต้องมาเหนื่อย มาโดนด่า ก็เพราะพวกเพื่อนที่ไม่ยอมเข้าห้องเชียร์ ไม่ยอมเข้ากิจกรรม ซึ่งในทางนึงระบบนี้ ทำให้คนที่เข้ากิจกรรม มาโดนรุ่นพี่ทำโทษ มาโดนว้ากด้วยกัน มีความรัก สามัคคีกัน แต่ในทางกลับกัน ก็สร้างความเกลียดชัง ที่มีต่อคนที่ไม่เข้าห้องเชียร์ ไม่เข้ากิจกรรมนั้นมากขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุด ระบบรับน้องนั้น ก็คือกระบวนการนึงที่จะผลัก คนที่ไม่เห็นด้วย หรือคนที่คิดต่าง ออกไปเป็น “คนชายขอดร.ณพล หงสกุลวสุ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บ” ไม่มีที่ยืนในสังคมมหาลัยในที่สุด

การรับน้องท้ายที่สุด ก็คือระบบที่แบ่ง นักศึกษาออกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งก็คือ “คนใน” และ “คนนอก” นศ ที่เข้าร่วมกิจกรรม ทำตามระบบ ผ่าน “พิธีกรรม” ก็จะถูก “รับเป็นน้อง” เข้าสู่ความเป็น “คนใน” ในขณะที่ นศ ที่คิดต่าง ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าร่วม “พิธีกรรม” ก็จะถูกตีตรา ผลักเป็น “คนนอก” จากนั้นหลังจบกิจกรรมการรับน้อง ก็จะเห็นภาพรุ่นพี่รุ่นน้องที่ รัก สามัคคีกัน ช่วยเหลือกัน แต่ก็เฉพาะกลุ่ม “คนใน” ด้วยกันเท่านั้น ในขณะที่กลุ่ม “คนนอก” ก็ถูกตีตราว่าเป็นพวก “แกะดำ”

คำถามคือ เยาวชน นักศึกษาเหล่านี้ ที่มีค่านิยม ระบบวิธีคิดแบบนี้ โตขึ้นเขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกัน ค่านิยมที่ยึดเอาระบบวิธีคิดของตัวเองเป็นใหญ่ และพยายามตีตราคนที่เห็นต่าง ผลักให้เป็นคนชายขอบ แบบนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับ วิธีคิดของผู้ใหญ่บางคนที่สร้างความแตกแยกให้กับสังคมไทยในปัจจุบัน ดังที่เราเห็นได้จากวาทะกรรมต่างๆ เช่น “ใครที่ไม่รักคนๆเดียวกัน ก็ออกจากบ้านหลังนี้ไป” “ไล่คนที่เห็นต่างไปอยู่ประเทศอื่น” หรือแม้แต่การเกิดวัฒนธรรม “การล่าแม่มด” กำจัดคนที่เห็นต่างออกไปจากสังคม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ปัญหาการรับน้องในมหาวิทยาลัย มันสะท้อนปัญหาทางโครงสร้างที่ฝังรากในสังคมไทย ปัญหาของคนที่ไม่มีวุฒิภาวะทางความคิด ปัญหาของสังคมที่ไม่ยอมรับความเห็นต่าง ปัญหาที่มาจากความพยายามกำจัดคนที่คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องกลับมาทบทวน ถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยไทยที่มีต่อกิจกรรมเหล่านี้ ว่าแท้จริงแล้ว กิจกรรมเหล่านี้กำลังนำพาอนาคตของชาติไปทางไหนกัน?

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.ณพล หงสกุลวสุ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท