Skip to main content
sharethis

กรณีที่ชาวเน็ตจีนรุมด่าทอและยุยงให้ใช้ความรุนแรงกับนักกีฬาออสเตรเลีย หลังนักกีฬาออสเตรเลียกล่าวหานักกีฬาจีนว่าใช้สารกระตุ้นในโอลิมปิค แสดงให้เห็น "2 มาตรฐาน" การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตโดยรัฐบาลจีน ที่เซ็นเซอร์เฉพาะคนที่วิจารณ์การเมือง แต่กลับอนุญาตให้คนใช้วาจารุนแรงต่อผู้อื่นได้ในนามชาตินิยม แต่ชาตินิยมในจีนเองก็อาศัยความย้อนแย้งทางอุดมการณ์ในการรักษาอำนาจของชนชั้นนำด้วย

22 ก.ย. 2559 เควิน คาร์ริโซ อาจารย์ด้านจีนศึกษาจากภาควิชารัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยแมคควอรี เขียนบทความถึงกรณีของความขัดแย้งที่สื่อให้เห็นถึงชาตินิยมจีนจากกีฬาโอลิมปิคที่ริโอหลังจากที่แมค ฮอร์ตัน กล่าวหาว่านักว่ายน้ำชาวจีน ซุนหยาง ว่าโกงโดยใช้ยาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนทำให้เกิดกระแสชาวเน็ตชาตินิยมจีนรุมด่าทอฮอร์ตันทางอินเทอร์เน็ตในอินสตาแกรมและเพจเฟซบุ๊คที่เต็มไปด้วยความคิดเห็นเหยียดหยาม

มีผู้คนด่าทอฮอร์ตันด้วยคำหยาบคายและถึงขั้นแช่งให้ถูกสุนัขกัดหรือแช่งให้เสียชีวิต ซึ่งดูเหมือนว่าการใช้คำด่าแสดงความเกลียดชังเช่นนี้ชวนให้รัฐบาลจีนเซ็นเซอร์ความคิดเห็นเหล่านี้แต่สื่อของรัฐบาลจีนกลับทำตรงกันข้ามคือการร่วมวงเหยียดออสเตรเลียจากกรณีฮอร์ตัน เช่นเว็บไซต์โกลบอลไทม์ ระบุถึงออสเตรเลียในทำนองว่าเป็นประเทศไม่มีอารยธรรม ในสื่อพีเพิลเดลียังมีบทความแสดงความคิดเห็นชื่นชมกลุ่มที่ชื่อว่า "เสี่ยวเฝิ่นหง" ที่แปลว่า "ชมพูน้อย" ซึ่งเป็นกลุ่มชุมชนสตรีในโลกออนไลน์ที่เป็นพวกชาตินิยมคอยปกป้องรัฐบาลจีนหลังจากที่พวกเขาโจมตีฮอร์ตัน

พีเพิ่ลเดลีชื่นชมกลุ่มอย่างเสี่ยวเฝิ่นหงว่าสอดคล้องกับการส่งเสริม "บรรยากาศทางอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ" ของจีนและการที่รัฐบาลจีนคอย "กำจัดข้อมูลในแง่ลบ" นั้นทำให้เกิด "สภาพที่เหมาะสมในอุดมคติสำหรับการเติบโตของกลุ่มแบบเสี่ยวเฝิ่นหง"

แต่คาร์รืโซก็ระบุว่าสภาพที่เหมาะสมในอุดมคติของอินเทอร์เน็ตแบบประเทศจีนกลับไม่ได้ทำให้ความคิดเห็นที่โหดร้ายต่อฮอร์ตันลดลงแต่ยิ่งสะท้อนให้เห็นลักษณะการเซ็นเซอร์จากรัฐบาลจีน

คาร์ริโซระบุว่าในขณะที่พวกเราจะพบเจอเรื่องการจับกุมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเพราะเขามีข้อเสนอทางการเมืองที่มีเหตุผล แต่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายอื่นๆ ไม่ว่าจะหยาบคายหรือเรียกร้องความรุนแรงแค่ไหนก็ตามตราบใดที่มีลักษณะแบบชาตินิยมรัฐบาลจีนก็จะทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เช่นในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งเรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงกับคนที่ถูกแปะป้ายว่าเป็น "ผู้ทรยศชาติ" แต่คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "ผู้ทรยศชาติ" เหล่านี้มักจะเป็นพวกที่ถูกรัฐบาลเซ็นเซอร์เสียเองแต่กลับไม่เซ็นเซอร์คนที่เรียกร้องให้ใช้ความรุนแรง

คาร์ริโซวิเคราะห์อีกว่าชาตินิยมในจีนนั้นไม่ได้หมายถึงแค่เพียงการยอมจำนนต่อผู้นำที่มีอำนาจเท่านั้นแต่ยังหมายถึงปรากฏการณ์ที่ส่งผลสะเทือนอย่างมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนนอก-คนใน เพื่อนหรือศัตรู มีความลื่นไหลในแบบที่ยากจะคาดเดาได้ ทำให้ "ความมั่นคง" ทางสังคมและการเมืองในจีนผ่านแนวคิดชาตินิยมที่ลื่นไหลไม่มีความแน่นอนทางอุดมการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่คาร์ริโซเรียกว่าภาวะหนีเสือปะจรเข้ที่บุคคลต้องประสบกับความย้อนแย้งกันเองในกฎเกณฑ์กติกา หรือที่เรียกว่า "Catch 22"

จากบทความของคาร์ริโซ ถึงแม้ว่าหน้าฉากพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะพยายามแสดงให้เห็นว่าชาตินิยมเป็นสิ่งที่ดีต่อเสถียรภาพของประเทศจากการฝากความเชื่อมั่นเอาไว้กับการนำของพรรค แต่รัฐบาลจีนก็อาศัยชาตินิยมสร้างเสถียรภาพให้ตัวเองด้วยอุดมการณ์ที่ลื่นไหลไม่แน่นอนและเพื่อให้ตวามชอบธรรมตัวเองและทำลายความชอบธรรมคนอื่นด้วยการอ้างว่าคนกลุ่มอื่นๆ "ชาตินิยมไม่มากพอ" เท่านั้น

คาร์ริโซระบุว่าภาวะแบบ Catch 22 ที่รัฐบาลจีนสร้างขึ้นทำให้อนาคคตทางการเมืองของจีนดูสับสนกว่าเดิม พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้แนวคิดอุดมการณ์ชาตินิยมมาหลายสิบปีแล้ว อุดมการณ์ของพวกเขาทำให้ประชาชนเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นเป็น "การสมคบคิดของชาติตะวันตก" เพื่อที่จะบั่นทอนจีนไม่ให้ผงาดสู่เวทีโลกภายใต้ "การนำอย่างปราดเปรื่อง" ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การใช้ความคิดของนักชาตินิยมที่หวาดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผลหลายรุ่นเป็นแกนกลางของความคิดเห็นประชาชนก็ทำให้รัฐบาลต้องคอยตอบสนองและทำตามอารมณ์ความรู้สึกตามกระแสของผู้คนแบบกรณีของฮอร์ตันซึ่งชวนให้รู้สึกกระอัคกระอ่วนใจ

คาร์ริโซกล่าวว่าเมื่อมองกระแสชาตินิยมย้อนแย้งแบบจีนในปัจจุบันนี้แล้วการจะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตคงต้องเริ่มมาจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมก่อน เพื่อที่จะทำให้เกิดบรรยากาศของการเปิดกว้างต่อมุมมองต่างๆ มากขึ้นนอกเหนือจากมุมมองชาตินิยมแบบรัฐบาลจีน แต่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในจีนก็เป็นไปได้ยากตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสตืจีนยังคงอิงกับอุดมการณ์ชาตินิยมเพื่ออ้างความชอบธรรมในการคงอำนาจตัวเองไว้

นอกจากกรณีของฮอร์ตันแล้วจีนยังมีความขัดแย้งที่เกิดจากชาตินิยมเรื่องอื่นๆ อีก คาร์ริโซมองว่าในฐานะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก การอาศัยชาตินิยมในการสร้างความชอบธรรมไม่เพียงแต่สร้างปัญหาความตีบตันในพัฒนาการทางสังคมและการเมืองเท่านั้น แต่ยังทำให้ประเทศเพื่อนบ้านของจีนและประเทศอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับจีนอยู่ภายใต้ภาวะย้อนแย้งทางชาตินิยมโดยไม่มีทางแก้ปัญหาแบบที่เห็นได้ชัดได้ด้วย

เรียบเรียงจาก

China’s nationalist catch-22, Kevin Carrico, East Asia Forum
http://www.eastasiaforum.org/2016/09/20/chinas-nationalist-catch-22/

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Catch-22_(logic)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net