Skip to main content
sharethis

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานหลัก ด้านพลังงาน ต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนแผน PDP 2015 และโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศ

17 พ.ย. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า สมาคมฯและเครือข่ายชาวบ้าน ได้ยื่นฟ้อง 5 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย รมว.พลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้เพิกถอนแผน PDP 2015 และโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศต่อศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ หลังจากรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีนโยบายที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาไฟฟ้า หรือ PDP 2015 นั้น แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวอาจส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนเสียหายต่อประชาชนในพื้นที่ ทั้งในด้านส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่จะต้องถูกปนเปื้อน และจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบพื้นที่เป็นจำนวนมาก
       
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการกระทำที่ไม่จำเป็นต่อภาวะของประเทศในขณะนี้ และเป็นการใช้งบประมาณของประเทศโดยไม่จำเป็นอันเป็นการสร้างภาระทางงบประมาณอันจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายสร้างภาระให้ประชาชนและประเทศชาติเกินควรโดยไม่จำเป็น โดยที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพบว่าการก่อสร้างหรือปรับปรุงโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายพื้นที่นั้น มีต้นเหตุเกิดจากการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2559-2579
       
เมื่อศึกษารายละเอียดในแผน PDP 2015 พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าที่พยากรณ์ไว้กับกำลังการผลิตไฟฟ้าที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2015 ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วง พ.ศ. 2555 -2573 หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งแผน PDP 2015 มีการกำหนดให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ ลดน้อยลงจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่กำหนดไว้ตามแผน PDP 2010 Rev.3 ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก แต่จำนวนปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศยังมีเท่าเดิม จะทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 21 ถึง35 ของความต้องการใช้ไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเกินกว่าความจำเป็นไปมาก

ดังนั้น การทำแผน PDP2015 ที่ถูกต้อง คือ ควรต้องพยายามปรับลดปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้า กล่าวคือ ยกเลิกโรงไฟฟ้าในอนาคตที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ หรืออย่างน้อยจะต้องพยายามเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงของประเทศแต่ปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกลับได้ร่วมกันจัดทำแผน PDP 2015 ไปในทิศทางตรงกันข้าม กล่าวคือ มีการเลื่อนกำหนดการจ่ายไฟของโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีความจำเป็นให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น จากที่กำหนดไว้ในแผน PDP 2010 Rev.3 จนเป็นผลให้ในช่วงปี 2559-2569 ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างต่ำ แต่กลับมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึงร้อยละ 30 ถึง 39 ของความต้องการใช้ไฟฟ้า เป็นเหตุให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้ไฟฟ้าทุกครัวเรือนต้องมีภาระในการร่วมจ่ายเงินให้กับค่าสำรองไฟฟ้าดังกล่าวอย่างไม่เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net