Skip to main content
sharethis

ปิ๊แดง ทาสุก

“เราเป็นคนไทยที่รักเคารพในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินี” ปิ๊แดง ทาสุก วัย 60 ปี คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน ในเขตพม่า กล่าวด้วยภาษาไทยสำเนียงล้านนา

“ปู่ย่าตายายเกิดที่นี่และตายที่นี่  แต่เก๊า(บรรพบุรุษ)อพยพมาจากลำปาง  สมัยก่อนบ้านห้วยส้านมีแต่คนไทย  ตอนนี้เริ่มมีคนพม่าเข้ามาอาศัยทำกินในหมู่บ้านมากขึ้น”

ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินี  เป็นที่เคารพรักของคนไทยพลัดถิ่นห้วยส้าน

บรรยากาศหมู่บ้านห้วยส้าน ต้นมะพร้าวต้นหมากสูงใหญ่เพราะอยู่กันนาน

บ้านห้วยส้านเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ขึ้นกับอำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ 10 กิโลเมตร มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่หลายพันคน  ทั้งหมดพูดภาษาไทยล้านนา มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนไทยในล้านนา

พระสองเมือง สิงห์ตา 

“คนไทยพลัดถิ่นที่นี่มีนามสกุลกันทุกคน เพราะมาจากเมืองไทย  มีญาติพี่น้องอยู่ในไทยจำนวนมาก ทั้งแม่สอด แม่ระมาด แม่พริก ลำปาง เชียงใหม่ หรือบางคนมาจากน่าน” พระสองเมือง สิงห์ตา วัย 38 ปี บวชมา 7 พรรษา ที่วัดสว่างอารมณ์เล่า

“พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า นานมาแล้วบรรพบุรุษหนีการสู้รบมาอยู่ที่นี่  มาตั้งแต่สมัยอยุธยา  เพราะสมัยก่อนดินแดนแถบนี้เป็นของไทย  อาณาเขตประเทศไทยครอบครองไปทั้งรัฐกะเหรี่ยง เมืองมะละแหม่ง เมืองมะริด เมืองทวาย”

วัดสว่างอารมณ์ วัดไทย ศิลปล้านนา ที่ห้วยส้าน พม่า

แม้บ้านห้วยส้านจะตกไปเป็นแผ่นดินของพม่าในช่วงหลัง แต่คนไทยพลัดถิ่นห้วยส้านก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องที่ฝั่งไทยตลอดมา พระสองเมืองเองก็มีโอกาสไปเล่าเรียนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากแต่เด็ก  จนได้รับชื่อว่า “สองเมือง” เพราะอยู่ทั้งเมืองพม่าและเมืองไทย

การบวชลูกแก้ว(บวชเณร)ของชาวไต ที่วัดสว่างอารมณ์

นอกจากวัดสว่างอารมณ์ ที่พระสองเมืองจำพรรษา ยังมีวัดบัวสถาน วัดศรีบุญเรือง วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเลไลย์ และวัดศิริมงคล ซึ่งเป็นวัดไทยของคนไทยพลัดถิ่น  ทุกวัดยังรักษาวิถีวัฒนธรรมไทย  มีใบลานเก่าแก่จารเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาเป็นตัวอักษรตัวเมืองของชาวล้านนา คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเรียกตนเองว่า “ไต” ยังสืบทอดพระพุทธศาสนาแบบล้านนาด้วยการบวชเรียน  โดยเฉพาะการบวชเณรที่เรียกกันว่า “บวชลูกแก้ว”

สมบัติ  เอื้องหมี

สมบัติ  เอื้องหมี ชาวห้วยส้าน วัย 50 ปี เล่าว่า “วัดยังเป็นศูนย์กลางทางประเพณีของคนไทย  มีการจัดงานปอย(งานบุญประเพณี)ตามช่วงต่างๆ  เด็กชายและเด็กหญิงได้เรียนรำไต  มีการรดน้ำดำหัวครูบา งานสงกรานต์ และที่วัดศรีบุญเรืองมีการสอนภาษาไทย ซึ่งเด็กเรียนกันมากช่วงปิดเทอม  โดยมีพระเป็นผู้สอน”

แม้ปัจจุบันดูเหมือนว่าบ้านห้วยส้านเงียบสงบ  แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ที่คนภายนอกเดินทางเข้าออกไม่ง่ายนัก  เพราะเป็นพื้นที่ในการดูแลของกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)

“สมัยก่อนมีการยิงกันในหมู่บ้านบ่อยครั้ง” ปิ๊แดง เล่า

“บางครั้งผู้ชายก็โดนเกณฑ์ไปหาบลูกปืน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว  ทางพม่าทำบัตรประจำตัวประชาชนพม่าให้  เลือกตั้งที่ผ่านมาหลายคนก็เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง”

เมื่อบ้านห้วยส้านถูกการแบ่งปันอาณาเขตไปสู่เขตการปกครองของพม่า และมีการสู้รบกันของกลุ่มชาติพันธุ์  ทำให้เมื่อ 40-60 ปีก่อน คนไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่งอพยพกลับสู่ประเทศไทย  มาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่อำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก  ต่อมาเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้สำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย เป็น ”ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย” ให้  โดยได้สิทธิอาศัยชั่วคราว แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย

ในปีพ.ศ. 2555 คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้เรียกร้องในการคืนสัญชาติไทย  จนมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2555 กำหนดให้คืนสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้ ที่จัดทำทะเบียนไว้แล้ว มีจำนวนในฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยประมาณ 20,000 คน

เมื่อดำเนินการยื่นขอคืนสัญชาติ คนไทยพลัดถิ่นจากประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้รับการรับรองให้คืนสัญชาติไทย  แต่สำหรับกลุ่มจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกลับไม่รับรองให้คืนสัญชาติไทย โดยอ้างว่าไม่ใช่กลุ่มตามกฏหมาย

สมบัติ กล่าวถึงญาติพี่น้องไทยพลัดถิ่นที่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากว่า “คนอยู่ที่พม่านี่ได้บัตรพม่ากันหมดแล้ว เลือกตั้งในพม่าครั้งที่ผ่านมาก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  แต่กลุ่มที่อพยพไปอยู่ไทย บางคนก็ได้บัตรได้สัญชาติไทย  แต่ยังมีอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ยังไม่ได้สัญชาติไทย  คนพวกนี้น่าสงสาร จะกลับมาทางห้วยส้านอีกก็ไม่ได้ เพราะอพยพย้ายไปนานมากแล้ว ที่ดินที่ทำกินทางนี้ก็มีเจ้าของหมดแล้ว”

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

ขณะที่ ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ลงพื้นที่ศึกษาสภาพความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านห้วยส้าน ให้ความเห็นว่า “คนเหล่านี้ถูกแบ่งแยกโดยมิติพรมแดนและรัฐชาติซึ่งมาภายหลัง วิถีชีวิตและสำนึกทางวัฒนธรรมยังเชื่อมโยงกับสังคมไทย เช่น ภาษาที่สื่อสารกันได้ มีความกลมกลืนกันทางสังคม เมื่อคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้กลับเข้ามาประเทศไทย ซึ่งเข้ามาเนิ่นนานหลายสิบปี  ต้องให้สิทธิ  เพราะเขาปฏิบัติเหมือนคนไทยทุกอย่าง ทั้งเสียภาษีให้รัฐ  รัฐไทยต้องให้สัญชาติกับเขา โดยมีขั้นตอน เช่น อยู่อาศัยนาน 5 ปี ให้ได้ถิ่นที่อยู่ถาวร  และเมื่ออยู่ครบ 10 ปี ก็ให้ได้สัญชาติไทย เช่นเดียวกับการดำเนินการของหลายประเทศ”

“ไม่ว่าจะมองแง่ประวัติศาสตร์ไทย แง่คนเชื้อสายไทย  แง่วัฒนธรรมไทย และความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมไทย  คนเหล่านี้คือคนไทยเช่นเดียวกับพวกเรา” ดร.อรอนงค์ กล่าวในที่สุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net