คนใช้เฟซบุ๊กโดนด้วย! ตำรวจเริ่มมาตรการใหม่เรียกตัวคนกดไลก์-ติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

หลังปรากฏการณ์ BBC Thai และไผ่ ดาวดิน ตำรวจเริ่มเรียกประชาชนธรรมดาผู้ใช้เฟซบุ๊กไป “ปรับทัศนคติ” บางกรณีบุกถึงบ้าน คุยครอบครัว ระบุชัดเพราะกดไลก์ติดตามเฟซบุ๊ก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์-ผู้ลี้ภัย-นักวิเคราะห์การเมือง

ที่มาภาพจาก pixabay

เป็นข่าวครึกโครมสำหรับการดำเนินคดีกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 จากการแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 ตามมาด้วยการให้สัมภาษณ์ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ที่เน้นย้ำถึงการดำเนินการตามกฎหมายกับ BBC Thai

นอกเหนือจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ “ดึงเพดานเสรีภาพต่ำ” ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา นั่นคือ การดำเนินการเรียกปรับทัศนคติประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าอาจกระทำการเข้าข่ายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่าที่รวบรวมข้อมูลในปัจจุบัน พบว่ามี 6 รายที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียก โดยทั้งหมดมาจากกรณีกดติดตามหรือกดไลก์บางสเตตัสเฟซบุ๊กของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 4 ธ.ค. 2559

ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งชื่อ พิมพ์ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. เพื่อเรียกเข้าไปพูดคุยปรับทัศนคติ โดยเจ้าหน้าที่ระบุสาเหตุว่า เนื่องจากพิมพ์ไปกดไลก์ กดแชร์โพสต์ที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พิมพ์ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบค้นที่อยู่ของตนเองมาล่วงหน้าและได้สอบถามกับตนเองว่าอยู่ตามที่อยู่นั้นจริงหรือไม่ เมื่อพิมพ์ระบุว่าอยู่ต่างจังหวัด เจ้าหน้าที่ได้ถามกลับมาว่าจะกลับเมื่อไร และเดินทางกลับมาอย่างไร ท่าทีดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เธอรู้สึกเป็นกังวล และไม่สบายใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเองหรือไม่

“เราก็เป็นแค่คนหนึ่งที่สนใจการเมืองบ้าง แล้วพอดีมีข่าวกรณีบทความ BBC แล้วก็เห็นอาจารย์สมศักดิ์โพสต์เรื่องนี้ในเฟซบุ๊ก ปกติเราก็กดติดตามไว้ กดไลก์ไว้ แต่ไม่แชร์ ตั้งใจว่าหลังเลิกงานจะกลับมาอ่าน คืออยากรู้ไงว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง หลังจากนั้นประมาณ1-2 วัน ก็มีโทรศัพท์ โทรเข้ามาเลย เป็นผู้ชาย แนะนำตัวว่าโทรมาจาก ปอท. โทรมาบอกว่า ผมต้องการคุยกับคุณ เนื่องจากที่คุณมีการกดแชร์ กดไลก์ข้อความที่สุ่มเสี่ยง และหมิ่นเหม่”

“ทีนี้เราก็เริ่มรู้สึกว่า อะไรเนี่ย มันรู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัยทันที หลังจากนั้นเขาก็ถามซักใหญ่เลยว่า ตอนนี้อยู่ที่ไหนอยู่กรุงเทพหรือเปล่า พอเราบอกว่าอยู่ต่างจังหวัด เขาก็ถามว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ เขาต้องการเข้ามาคุยกับเราเพื่อให้เกิดความปรองดอง”

พิมพ์ เล่าด้วยว่าเจ้าหน้าที่พยายามหว่านล้อม และสร้างบรรยากาศในการการสนทนาให้ปลอดจากความกลัว โดยการพยายามบอกว่าตัวเองก็เป็น “คนเสื้อแดง” เหมือนกัน ทั้งที่พิมพ์เองไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็น “คนเสื้อแดง” และไม่เคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดๆ เลย จากความพยายามทำให้คู่สนทนารู้สึกปลอดภัยนั่นเองที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ปลอดภัย เธอย้ำอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่พูดอยู่หลายครั้งว่า “ไม่ต้องกลัวนะไม่มีอะไร” ซึ่งเธอรู้สึกเหมือนกับว่านั่นเป็นคำพูดของผู้ใหญ่ที่เอาไว้ใช้หลอกเด็ก

“เราก็แค่กดไลก์ ปกติเราอ่านอะไรเราก็กดไลก์เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และเราก็ติดตามอาจารย์สมศักดิ์ และ บก.ลายจุด ไม่รู้ว่าเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า หรือว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่ๆ ถึงมีคนโทรมาคุกคาม มาทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย คือเราเป็นคนทั่วไป ไม่ได้รู้จักใครมาก ไม่มีเครือข่ายอะไร พอเกิดเรื่องก็นึกถึงอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ก็เลยโทรไปบอกอาจารย์ก่อน ก็เลยได้มาคุยกับคนที่ทำงานด้านสิทธิหลังจากนั้น เรารู้สึกว่าเรายังโชคดีมากที่ยังพอมีคอนเน็คชั่น แล้วถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่มีอะไรเลยเขาจะแย่แค่ไหน เขาจะทำอย่างไร จะคิดมาก จนเครียดขนาดไหน” พิมพ์กล่าว

พิมพ์ให้ข้อมูลอีกว่า เจ้าหน้าที่พยายามถามย้ำหลายครั้งว่า เธอจบจากธรรมศาสตร์หรือไม่ ซึ่งสำหรับเธอคิดว่าการเรียนจบจากที่ไหนไม่น่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ควรสนใจมากขนาดนั้น แต่เธอถูกถามคำถามดังกล่าวถึง 3 ครั้งตลอดบทสนทนา แม้ว่าเธอจะรู้สึกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการคุกคามอย่างหนึ่ง แต่เธอก็ยินดีไปพบเจ้าหน้าที่ตามที่ติดต่อมา โดยเจ้าหน้าที่ได้นัดพบกับเธออีกครั้งในเร็ววันนี้

ก่อนหน้ากรณีพิมพ์ 1 วัน สมศักดิ์แจ้งข่าวว่า เขาได้ข้อความจากเฟซบุ๊กที่แจ้งว่าโพสต์ของเขาเรื่องบทความใน BBC Thai เกี่ยวกับประวัติกษัตริย์องค์ใหม่ "looks like spam" คือ เหมือนจะเป็นสแปม พร้อมกับให้ยืนยันว่าโพสต์ดังกล่าวเป็นสแปมหรือไม่ แม้สมศักดิ์จะกดตอบไปว่า "ไม่ใช่สแปม" แต่เฟซบุ๊กกลับบล็อคกระทู้นั้นไปพร้อมกับมีข้อความว่า "ขอบคุณที่ feedback" สร้างความประหลาดใจให้เจ้าของโพสต์อย่างมาก ขณะเดียวกันแฟนคลับของเขาหลายรายก็เข้ามายืนยันว่าพวกเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงโพสต์นั้นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบอีกครั้งในวันนี้ (8 ธ.ค. 59) พบว่าโพสต์ดังกล่าวของสมศักดิ์สามารถเข้าถึงได้ตามปกติแล้ว

ปรากฏการณ์เรียกปรับทัศนคติผู้ใช้เฟซบุ๊กในลักษณะเดียวกันยังมีเกิดขึ้นอีกในหลายพื้นที่ เช่น ในจังหวัดสุโขทัยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเป็นเพศชาย อายุ 23 ปีมาสอบสวน หลังจากพบว่ามีการใช้เฟซบุ๊กไปกดติดตาม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ไผ่ ดาวดิน โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าวทำการคำขอขมาต่อ “การกระทำอันไม่เหมาะสม” ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และพระราชินี พร้อมทั้งยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ได้มีเจตนาคิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการปรับทัศนคติ

ผู้สื่อข่าวได้รับการยืนยันข้อมูลอีกว่าด้วยว่า มีการเรียกพบในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นกับผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง เป็นเพศชาย อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเขาถูกเรียกตัวไปพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กองปราบปราม หลังจากกดไลก์โพสต์สเตตัสของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล หลังเข้าพบหารือกับตำรวจเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจก็กลับออกมาโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังมีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีก 2 รายในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสมุทรปราการ ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จากกองปราบปรามว่ามีพฤติกรรมหมิ่นเหม่จากการกดไลก์สเตตัสของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และต้องการนัดวันเวลาในการเข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้แหล่งข่าวไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในส่วนอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน หนึ่งในสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุม ไผ่ ดาวดิน เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กโดยมีใจความสำคัญคือ ข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยหลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าวได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอที่อยู่ในไทย โดยบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีผู้กดติดตามประมาณ 286,000 ราย (16.00 น. 8 ธ.ค.) หลังมีข่าวการเรียกบุคคลเผยแพร่สู่สาธารณะราว 1 ชม.กว่า ปรากฏว่าผู้ติดตามลดลงเหลือ 283,400 ราย (17.20 น. 8 ธ.ค.) 

หมายเหตุ มีการอัพเดทเนื้อหา (18.43 น.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท