Skip to main content
sharethis

ผอ.มูลนิธิชีววิถี ออกแถลงการณ์ค้านปมใช้ ม.44 เร่งรัดอนุมัติสิทธิบัตร ระบุการอ้างว่าไทยอนุมัติล่าช้าไม่เป็นความจริง แต่เป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้บรรษัทยาและบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมประเคนผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ

3 มี.ค. 2560 วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ได้ออกแถลงการณ์ ต่อกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศเร่งรัดให้อนุมัติสิทธิบัตรที่มีคำขอค้างอยู่อยู่เป็นจำนวนมากโดยใช้มาตรา 44 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยชี้ว่า การกล่าวอ้างว่าประเทศไทยอนุมัติสิทธิบัตรล่าช้าไม่เป็นความจริง และข้อมูลเรื่องจำนวนสิทธิบัตรที่ล่าช้าจำนวน 12,000 คำขอนั้นอาจสูงเกินไป การอนุมัติสิทธิบัตรนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศแล้วให้ได้รับการอนุมัติในประเทศไทยได้ทันทีจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยมิชอบ พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจผูกขาดให้บรรษัทยาและบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ และประเคนผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพให้กับบรรษัทเหล่านั้น

โดยมีรายละเอียดของแถลงการณ์ดังนี้

 

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศเร่งรัดให้อนุมัติสิทธิบัตรโดยโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีอ้างว่ามีคำขอค้างอยู่อยู่เป็นจำนวนมากโดยใช้มาตรา 44 ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนั้น เป็นการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มโดยเฉพาะบรรษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ  ดังต่อไปนี้
 
1. การกล่าวอ้างว่าประเทศไทยอนุมัติสิทธิบัตรล่าช้าไม่เป็นความจริง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (The World Intellectual Property Organization (WIPO) การอนุมัติคำสิทธิบัตร (patent)ของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากคำขอสิทธิบัตร(patent application) อยู่ในสัดส่วน 0.16 กล่าวคือมีการยื่นคำขอสิทธิบัตรเมื่อปี 2557 จำนวน 7,930 สิทธิบัตร และมีการอนุมัติในปีเดียวกัน 1,286 สิทธิบัตร  ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีนโยบายสิทธิบัตรที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน เช่น อินเดีย และบราซิล ซึ่งมีสัดส่วนการอนุมัติสิทธิบัตรต่อคำขออยู่ที่สัดส่วน 0.13 และ 0.11 ตามลำดับนั้น การพิจารณาอนุมัติสิทธิบัตรในกรณีประเทศไทยจึงถือว่าดำเนินการได้มากกว่าทั้งอินเดีย และบราซิล ไม่ได้ล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็นดังคำกล่าวอ้างแต่ประการใด
 
การผลักดันให้มีการอนุมัติสิทธิบัตรอย่างรวดเร็วจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ ดังในกรณีประเทศไทยสัดส่วนของผู้ขอยื่นสิทธิบัตรเป็นต่างชาติมากถึง 87% และผู้ได้รับอนุมัติสิทธิบัตรเป็นต่างชาติถึง 94%  (ยิ่งในกลุ่มคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพด้วยแล้วสัดส่วนของผู้ยื่นคำขอในด้านนี้ยิ่งมีสัดส่วนของนักประดิษฐ์ไทยต่ำกว่ามาก)  
 
 
2. จำนวนคำขอสิทธิบัตรล่าช้ามีจำนวนสูงถึง 12,000-36,000 คำขอจริงหรือ ?
ข้อมูลจากพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งอ้างว่างคำมีสิทธิบัตรที่ค้างคาอยู่มากถึง 12,000 คำขอ  และ การให้สัมภาษณ์ของนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ที่ระบุว่าจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการออกสิทธิบัตร เนื่องจากปัจจุบันมีคำขอสิทธิบัตรค้างมากถึง 36,000 คำขอ (สำนักข่าวไทย) นั้น เป็นข้อมูลที่ควรตรวจสอบ
 
จากสถิติทรัพย์สินทางปัญญาขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกล่าสุด จำนวนคำขอสิทธิบัตร (patent) ระหว่างปี 2001-2014 ในประเทศไทยมีจำนวนรวมกัน 15,708 สิทธิบัตร ดังนั้นข้อมูลเรื่องจำนวนสิทธิบัตรที่ล่าช้าจำนวน 12,000 คำขอจึงอาจสูงเกินไป ในขณะที่ตัวเลขของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยิ่งเป็นตัวเลขที่อาจเอาข้อมูลของการขอรับทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น เช่น เครื่องหมายการค้า หรือ การออกแบบทางอุตสาหกรรม (industrial design) มารวม เป็นต้น (โปรดดูข้อมูลของ WIPO ประกอบ)
  
โดยทั่วไปจำนวนคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านเกณฑ์และได้รับการคุ้มครองนั้นมีสัดส่วนเพียง 10-30% ของคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น การอ้างตัวเลขจำนวนคำขอที่ค้างอยู่จึงไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด หากไม่สามารถจำแนกได้ว่าการไม่ได้รับคำขอนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด น่าสงสัยว่า การได้มาหรือใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนดังกล่าวเป็นไปเพื่อต้องการแก้ปัญหาความล่าช้าหรือไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการดังคำกล่าวอ้าง หรือผลประโยชน์ของบรรษัท ?
 
3. การอนุมัติสิทธิบัตรนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศแล้วให้ได้รับการอนุมัติในประเทศไทยได้ทันทีจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยมิชอบ
 
มติคณะรัฐมนตรีซึ่งเห็นชอบให้ใช้มาตรา 44  “เพื่อดูแลผู้ที่ขอสิทธิบัตรที่คั่งค้าง ให้ได้รับการจดสิทธิบัตรอย่างถูกต้อง  เพราะเกรงว่าหากไทยยังล่าช้า จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการแข่งขันในต่างประเทศ  โดยกำหนดให้คนที่ขอสิทธิบัตรมาแล้ว 5 ปี  มาขอรับสิทธิบัตรได้ทันที” จะส่งผลกระทบต่อการเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพโดยมิชอบ กล่าวคือกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยและประเทศที่เป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพ จะปฏิเสธการให้สิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิต เช่น หน่วยพันธุกรรม เนื้อเยื่อ สารสกัดจากพืช และรวมถึงมีเงื่อนไขให้ผู้ขอรับสิทธิบัตรต้องแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้นการอนุมัติสิทธิบัตรให้บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพโดยยึดถือเกณฑ์ของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือจากยุโรป เป็นการละเมิดพ.ร.บ.สิทธิบัตร และพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชของประเทศไทย และไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน  
 
ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น สิทธิบัตรในสารสกัดหรืออนุพันธ์ของใบกระท่อม ของบริษัทญี่ปุ่นซึ่งได้รับอนุมัติสิทธิบัตรในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แต่สิทธิบัตรดังกล่าวหากมายื่นขอสิทธิบัตรในประเทศไทย หากพบว่ามีองค์ประกอบจากสารสกัดจากใบกระท่อมย่อมไม่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร หรือหากมีหลักฐานว่าได้ใช้ใบกระท่อมจากประเทศไทยเป็นวัตถุดิบในการวิจัยแต่มิได้ขอขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์จากประเทศไทยย่อมผิดกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เป็นต้น
 
ส่วนกรณีที่มีการอ้างว่าแม้เมื่อมีการอนุมัติสิทธิบัตรไปแล้วก็สามารถคัดค้านได้ในภายหลัง เป็นคำพูดที่สะท้อนให้เห็นความไม่รับผิดชอบต่อประชาชน เนื่องจากเมื่ออนุมัติสิทธิบัตรแล้ว ขั้นตอนการคัดค้านไปจนถึงยกเลิกสิทธิบัตรอาจต้องใช้เวลาหลายปี  ตัวอย่างเช่น กรณีบริษัท Podner ในสหรัฐ แอบอ้างจดสิทธิบัตรถั่วเขียวผิวสีทอง “Enola” ซึ่งเป็นถั่วพื้นเมืองของประเทศเม็กซิโกนั้น  เม็กซิโกต้องใช้เวลากว่า 7 ปีถึงจะฟ้องให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรดังกล่าวสำเร็จ ในระหว่างเวลาดังกล่าวชาวไร่เม็กซิกันไม่สามารถส่งถั่ว Enola ไปยังตลาดในสหรัฐได้
 
4. การเร่งออกสิทธิบัตรโดยใช้มาตรา 44 และผลักดันให้ประเทศไทยยอมรับอนุสัญญา UPOV1991 มีเบื้องหลังเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรีให้เร่งรัดการออกสิทธิบัตรโดยใช้มาตรา 44 เพื่อ “คุ้มครองนักลงทุน” เกิดขึ้น พร้อมๆกับที่กระทรวงเกษตรและสกรณ์จัดการประชุมให้ข้อมูลด้านเดียวเพื่อให้ประเทศไทยยอมรับอนุสัญญา UPOV1991 และการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 มีเบื้องหลังเดียวกัน นั่นคือผลประโยชน์ของบรรษัทขนาดใหญ่ การยอมรับอนุสัญญาUPOV1991 ซึ่งถูกขนานนามว่า “อนุสัญญาโจรสลัดชีวภาพ” นอกเหนือจากจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์สามารถผูกขาดพันธุ์พืชแล้ว ยังเป็นการลดทอนกลไกการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติด้านยาและเทคโนโลยีชีวภาพสามารถจดสิทธิบัตรได้ง่ายขึ้นไปพร้อมๆกันด้วย น่าสนใจมากที่การผลักดันในประเด็นทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน  การเอื้ออำนวยให้บรรษัทยาและบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือมีการวางแผนเอาไว้แล้วอย่างแยบยล ? นี่เป็นการใช้อำนาจอย่างมิชอบ “มาตรา 44” เพื่อเพิ่มอำนาจผูกขาดให้บรรษัท และประเคนผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพให้กับบรรษัท

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net