Skip to main content
sharethis

ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุราไม่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ช่วยปลดล็อกการผูกขาดของรายใหญ่ ทั้งรายเล็กที่จะเกิดขึ้นยังคิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดสุราที่ครองโดย 2 เจ้าใหญ่ แต่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องแก้เพื่อไม่ให้รายใหญ่ใช้ช่องโหว่ทำโฆษณาและต้องวางเกณฑ์ให้รายเล็กโฆษณาความพิเศษของคราฟต์เบียร์หรือสุราพื้นบ้านได้

ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าหรือที่จริงคือ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ซึ่งมีข้อใหญ่ใจความที่การเปิดให้รายเล็กสามารถผลิตเหล้าเบียร์ได้ แทนที่จะถูกล็อกไว้ด้วยกฎหมายเดิมที่ว่า

‘ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจํากัด มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตจะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี’

ที่ไม่ว่าจะดูอย่างไรก็ปิดช่องทางรายเล็กและส่งเสริมการผูกขาดของรายใหญ่ ซึ่ง ณ เวลานี้ร่างแก้ไขดังกล่าวถูกเกมการเมืองยื้อไปอีก 60 วัน

น่าสังเกตว่าเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านการควบคุมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ต่อกฎหมายนี้ ทำไม?

คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา

คำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา บอกกับ ‘ประชาไท’ ว่าเขาไม่คัดค้านร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า และต่อไปนี้คือเหตุผล

ไม่คัดค้านกฎหมายสุราก้าวหน้า

“จุดยืนผมที่แสดงตั้งแต่เริ่มต้นก็คือตราบใดที่ประเทศไทยให้การผลิตสุราเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย จากที่รัฐเคยห้ามมาสู่การเปิดเสรีซึ่งก็ไม่เสรีจริง โดยโครงสร้างเราเห็นไหมว่าไม่เป็นธรรม เราก็เห็นว่า ณ ปัจจุบันโครงสร้างการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถูกผูกขาด การปลดล็อกการผูกขาดก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่ผมจะต้องคัดค้าน ถ้าสินค้าตัวนี้จำหน่ายได้และถูกกฎหมายมันก็ควรเปิดโอกาสให้อย่างเท่าเทียม หลักการที่คุณเท่าพิภพ (ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล) เสนอ เราก็ไม่คัดค้าน”

มองในแง่ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ คำรณยอมรับว่าสภาพของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปัจจุบันไม่มีความเป็นธรรม เพราะเปิดช่องให้มีการผูกขาดเพียง 2 เจ้าใหญ่ซึ่งครอบครองมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.7 แสนล้านบาท นี่คือมูลค่าตลาดก่อนสถานการณ์ COVID-19 มันส่งผลให้กลุ่มทุนมีอิทธิพลทางการเมืองสูง มีอำนาจเหนือตลาด และมีศักยภาพส่งเสริมอุปนิสัยการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย

“เป็นการแสดงออกให้เห็นว่าเราไม่ได้อยู่ในกลุ่มสุดขั้ว  สอง เราก็ยึดข้อกฎหมายเพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้เอาทัศนคติหรือความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษมาเป็นตัวยึด แต่เมื่อรัฐบอกว่าสินค้าตัวนี้ขายได้ เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะบอกให้ขายอยู่แค่ 2 เจ้า”

ที่น่ากลัวคือรายใหญ่ ไม่ใช่รายเล็ก

อันที่จริงความร่ำรวยของเจ้าสัวน้ำเมามาจากเงินของคนจน คำรณอธิบายว่ากลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกค้ารายใหญ่คือชนชั้นล่างและชนชั้นกลาง อีกทั้งยอดขายจำนวนมากก็มาจากเหล้าขาวที่มีเจ้าใหญ่เพียงรายเดียว ไม่ใช่เบียร์ซึ่งมีค่าการตลาดสูงกว่า

ถ้าอย่างนั้นการเปิดให้มีการผลิตได้อย่างเสรีจะยิ่งเพิ่มการบริโภคหรือไม่

คำรณกล่าวว่าแม้ทางเครือข่ายจะยังไม่ได้ทำการศึกษาจึงยังไม่สามารถประเมินได้แน่ชัด แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่า การเกิดขึ้นของรายเล็กรายน้อยในอนาคตถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีนัยสำคัญ

นั่นเพราะภาพรวมของตลาดคราฟต์เบียร์หรือสุราพื้นบ้านมีส่วนแบ่งการตลาดไม่มาก คราฟต์เบียร์มีมูลค่าการตลาดประมาณ 500 กว่าล้านบาท ส่วนสุราพื้นบ้านไม่เกิน 3 พันล้านบาท เทียบกับมูลค่าการตลาดหลังสถานการณ์ COVID-19 ที่ลดเหลือประมาณ 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

“ทุนใหญ่มีเครื่องมือในการสื่อสารและมีกลยุทธ์การตลาดซึ่งสัมพันธ์กับการกระตุ้นยอดขาย จากที่เราติดตามสมัยก่อนที่ยังเป็นของรัฐก่อนมีการเปิดเสรี กระบวนการส่งเสริมการขายไม่ได้มากมายขนาดนี้ อย่างในอดีตการกินเหล้าก็กินกันเป็นวิถี ไม่ได้มาก แต่กระบวนการที่ทุนใหญ่ได้สัมปทานผูกขาดและใช้กระบวนการส่งเสริมการขายตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาเส้นกราฟของยอดการบริโภคเหล้าเพิ่มสูงตั้งชัน ซึ่งก็สัมพันธ์กับยอดการขาย

“สมมติว่าผู้ผลิตรายย่อยจะเกิดขึ้นใหม่สักหมื่นร้าน ศักยภาพก็สู้รายใหญ่ไม่ได้ เราจึงมองว่าการปลดล็อกตรงนี้อย่างน้อยก็ลดอิทธิพล แต่ผมคิดว่าทุนใหญ่ก็ประเมินว่าอาจจะไม่ได้สะเทือนเขามาก ถ้าเป็นอย่างนั้นกฎหมายก็อาจจะผ่าน แต่ผมว่ากลไกธุรกิจเขาก็คงต้องปรับตัว ในอนาคตเขาก็สามารถร่วมทุนหรือเทคโอเวอร์ได้

“เราไม่ได้กังวลมากคือผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้ไม่ได้มีอิทธิพลทางการตลาดมาก อย่างที่สองคือเรามีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้วระดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับในอดีตที่ไม่มีกลไกพวกนี้”

ข้อห่วงใย

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีจุดที่ทางเครือข่ายเป็นห่วง ในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมก็ดังที่คำรณกล่าวไปแล้วว่าไม่น่าจะมีผลกระทบ ทว่า การผลิตเพื่อบริโภคส่วนบุคคลโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่เหมือนกัน อย่างน้อย 2 ประเด็น

ประเด็นแรกเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่หากใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

ประเด็นที่ 2 คือความสะอาดและความปลอดภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตเอง

“เรายังประเมินไม่ได้แต่เราแค่ห่วงใยในกรณีที่ผลิตกินเอง ในความเห็นส่วนตัวการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมผมไม่ห่วง แต่ถ้าผลิตเพื่อดื่มเองผมคิดว่าควรจะมีใบอนุญาตสำหรับผลิตเพื่อบริโภคเพื่อคุมคุณภาพ เช่น ประสานกับหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่เพื่อรับรองคุณภาพ”

ปรับปรุงกฎหมาย สร้างความเป็นธรรมให้รายเล็ก

ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา คำรณไม่คัดค้านร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า แต่เขาเห็นว่าเมื่อกฎหมายอนุญาตให้รายย่อยผลิตสุราได้ กฎหมายอีกด้านหรือ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ก็ควรมีการพัฒนาควบคู่กันไป

10 ปีหลังใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ตัวเลขการบริโภคลดลงจากร้อยละ 32 เหลือร้อยละ 28 เปอร์เซ็นต์ แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มวัยรุ่น

“ถามว่าเมื่อเปิดให้มีผู้ผลิตมากขึ้นจะมีผลต่อการเข้าถึงได้ง่ายไหม อันนี้ก็แน่นอนว่าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนเรายังไม่มีตัวเลข

“กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ทำได้ระดับหนึ่ง แต่มีข้อจำกัดที่เรากำลังต่อสู้ซึ่งเราก็เสนอกฎหมายเข้าสภา กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์เราคุมเรื่องทางกายภาพหมายถึงการเข้าถึงในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ราชการ ซึ่งส่วนนี้คุมได้เบ็ดเสร็จ ส่วนที่ 2 คือการควบคุมเรื่องการส่งเสริมการตลาดกฎหมายที่มีอยู่ก็ถือว่าโอเค แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ตัวหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญก็คือการโฆษณา ถึงแม้กฎหมายจะห้ามแต่มันมีช่องโหว่ ทุนใหญ่ไปจดตราที่คล้ายกันซึ่งเป็นข้อจำกัดที่แม้แต่รายเล็กรายน้อยที่จะขึ้นมาก็สู้ไม่ได้ การที่ช้างไปจดเครื่องหมายการค้าในน้ำหรือโซดา การที่สิงห์หรือลีโอใช้ตราเหมือนกันในผลิตภัณฑ์อื่นแล้วเอามาทำการตลาดแทน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เราขอเสนอแก้กฎหมายเพราะเมื่อห้ามโฆษณาก็ต้องห้ามเหมือนกันแบบแฟร์และก็ห้ามใช้ตราอื่น

“แต่ในร่างใหม่ที่เราเสนอคงไม่ได้ห้ามโฆษณา เราไม่ได้สุดขั้วแบบนั้น เราเปิดให้โฆษณาได้แบบมีใบอนุญาตจะได้ถกเถียงกันว่าสื่อที่บริษัทคุณออก ยิงโฆษณาไปแล้วถูกกฎหมายหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทุกบริษัททำได้เพียงแต่ต้องผ่านการขออนุญาตก่อน”

คำรณเสนอด้วยว่า หากกฎหมายสุราก้าวหน้าผ่านจำเป็นต้องมีการถกเถียงว่าด้วยการปลดล็อกเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันตามชนิด เช่น คราฟต์เบียร์หรือสุราพื้นบ้านซึ่งอาจมีวัตถุดิบ กระบวนการผลิต หรือคุณสมบัติพิเศษ หากไม่สามารถโฆษณาความแตกต่างได้ย่อมเปล่าประโยชน์และไม่สามารถแข่งขันได้ เขาจึงเห็นว่ากฎหมายต้องปรับให้เข้ากับข้อเท็จจริง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net