Skip to main content
sharethis

สหภาพยุโรปเพิ่งมีการตกลงกันเรื่องกฎหมายตลาดดิจิทัล (DMA) ที่จะกำกับดูแลไม่ให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ผูกขาดตลาด และต้องการทำให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับบริษัทเล็กๆ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าถ้ามีการนำมาใช้จะช่วยลดอำนาจการเป็น "ผู้เฝ้าประตู" ของบริษัทใหญ่และทำให้บริษัทเล็กเจาะตลาดได้ง่ายขึ้น ขณะที่บริษัทใหญ่บางส่วนมีข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมายนี้เช่นเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

ธงสหภาพยุโรปที่สำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป ในบรัสเซลล์ เบลเยียม (ที่มา: Wikipedia)

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปหรือ อียู ตกลงร่วมกันว่าจะใช้กฎหมายที่ชื่อ "กฎหมายตลาดดิจิทัล" (Digital Markets Act หรือ DMA) ซึ่งเป็นกฎหมายป้องกันการผูกขาดของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่าง แอปเปิล, เมตา (ชื่อบริษัทเจ้าของเฟสบุคในปัจจุบัน), กูเกิล และบริษัทใหญ่อื่นๆ ข้อตกลงที่เกิดขึ้นนี้ยังถือเป็นการตกลงร่วมกันต่อ "บทเฉพาะกาล" ของกฎหมาย ที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเจรจาหารือกันหลายชั่วโมง

กฎหมายดังกล่าวนี้จะมีการกำกับดูแลเพื่อไม่ให้รายใหญ่ผูกขาดสร้างความไม่เป็นธรรมในธุรกิจไอที และเป็นไปได้ที่กฎหมายนี้จะมีผลขยายออกไปนอกยุโรป เช่น หนึ่งในบทเฉพาะกาลระบุว่า ผู้ให้บริการการส่งข้อความจะต้องทำให้บริการของพวกเขาใช้งานเชื่อมโยงกันกับบริการที่อื่นๆ ได้ เช่น โปรแกรมส่งข้อความของบริษัทใหญ่อย่างเฟสบุคแมสเซนเจอร์ จะต้องทำให้สามารถใช้งานข้ามไปสู่โปรแกรมส่งข้อความอื่นๆ จากบริษัทที่เล็กกว่าได้ถ้าหากมีการร้องขอ

นอกจากนี้ในร่างข้อเสนอกฎหมายช่วงแรกยังมีการเสนอบทเฉพาะกาลที่ระบุให้แอปเปิลและกูเกิลเปลี่ยนแปลงการดำเนินการแอพสโตร์ของตัวเอง แอปเปิลจะต้องอนุญาตให้ผู้ใข้งานติดตั้งแอพจากร้านค้าอื่นๆ ได้ และทั้งแอปเปิลและกูเกิลจะต้องอนุญาตให้ผู้พัฒนาแอพเรียกเก็บเงินด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องผ่านร้านค้าแอพสโตร์เป็นตัวกลาง แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามีการระบุถึงร่างข้อเสนอนี้ในข้อตกลงล่าสุดด้วยหรือไม่

นั่นหมายความว่า เฟสบุคจะต้องอนุญาตให้ผู้ใช้งานวอทส์แอพสามารถส่งข้อความสื่อสารกับเพื่อนที่ใช้โปรแกรมแอพอื่นๆ ได้ และแอปเปิลจะต้องอนุญาตให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนยี่ห้อของพวกเขาซื้อแอพอื่นๆ นอกจากแอพสโตร์ของแอปเปิลเองได้  

ทางอียูยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะทำให้มีการใช้งานเชื่อมโยงข้ามกันได้อย่างไร พวกเขาระบุว่าจะมีการประเมินเรื่องนี้ในอนาคต

นอกจากนี้กฎหมาย DMA ยังห้ามไม่ให้บริษัท "รวมข้อมูลส่วนตัวของบุคคลเพื่อวางเป้าหมายในการโฆษณา" โดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งานก่อน ซึ่งข้อห้ามนี้เป็นสิ่งที่บริษัทเมตาเจ้าของเฟสบุคและบริษัทอื่นๆ บางแห่งทำไปเพื่อหวังว่าจะสามารถนำเสนอโฆษณาให้กับผู้ใช้งานได้ตรงตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามกฎหมายใหม่นี้ทำให้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิลแสดงความกังวลในบางแง่มุมของกฎหมาย แอปเปิลระบุว่าบทเฉพาะกาลบางส่วนอาจจะ "สร้างความเสี่ยงอย่างไม่จำเป็นในด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของผู้ใช้งาน" และบทเฉพาะกาลอีกบางส่วนจะห้ามไม่ให้พวกเขาฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งพวกเขาอ้างว่าได้ "ลงทุนไปอย่างใหญ่หลวง" ในแง่นี้

แอปเปิลโต้แย้งอีกว่าพวกเขา "เชื่ออย่างยิ่งในเรื่องการแข่งขัน และการสร้างตลาดที่มีการแข่งขันอย่างเฟื่องฟูทั่วโลก" และระบุว่าพวกเขาจะร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของพวกเขาทั่วยุโรปเพื่อหวังว่าจะขจัดส่วนที่เป็น "ความเสี่ยง" เหล่านี้ออกไป

วิลล์ แคธคาร์ต ประธานบริษัทวอทส์แอพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมตาระบุในทวิตเตอร์ว่าเขาหวังว่ากฎหมายนี้จะ "มีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงที่สุด" แคธคาร์ตมองว่าการใช้งานเชื่อมโยงกันกับบริการที่อื่นๆ ได้นั้นน่าจะมีประโยชน์แต่ถ้ากระทำอย่างไม่ระมัดระวังอาจจะ "ทำให้ระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในยุโรปเปราะบางลง"

มีการประเมินจากสื่อโปลิติโกว่านอกจากบริษัทไอทีใหญ่จากชาติตะวันตกแล้ว บริษัทใหญ่จากที่อื่นๆ ที่มีธุรกิจขยายไปในระดับโลก เช่น อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอาลีบาบาก็จะอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายตลาดดิจิทัลของยุโรปเช่นกัน

บทบรรณาธิการของไฟแนนเชียลไทม์ระบุว่า กฎหมายใหม่ของยุโรปจะเป็นการลดโมเดลธุรกิจแบบผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอำนาจครอบงำตลาดโลกได้ โดยที่ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจะมีบทลงโทษส่วนหนึ่งคือการสั่งปรับร้อยละ 20 จากผลประกอบการทั่วโลกของบริษัทนั้นๆ หรือกระทั่งยุบธุรกิจหากมีการกระทำผิดซ้ำ

ในตอนนี้กฎหมายยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาขั้นตอนสุดท้ายจากสภายุโรปและคณะมนตรียุโรป แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าจะมีการพิจารณาแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ และจะเริ่มมีการบังคับใช้ 20 วันหลังจากนั้น อีกทั้งจะมีการนำมาปรับใช้ได้จริง 6 เดือนถัดจากวันที่บังคับใช้ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่จะถูกกดดันอย่างมากให้ต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เป็นไปตามกฎใหม่นี้

ถึงแม้จะมีเสียงทักท้วงอยู่บ้างจากฝ่ายบริษัทไอที แต่ทางรองประธานกรรมการบริหารอียู มาร์เกรธ เวสเตเกอร์ ก็กล่าวว่ากฎหมายใหม่นี้จะทำให้บริษัทไอทีใหญ่ๆ ที่ทำตัวเป็น "ผู้เฝ้าประตู" ที่มีอำนาจคัดสรรว่าจะอนุญาตเนื้อหาไหนได้นั้นต้องหันมาทำตามข้อกำหนดต่างๆ ของกฎหมายใหม่ เวสเตเกอร์บอกว่า "ข้อกำกับนี้และการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มแข็งจะทำให้เกิดสภาพที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับต่อผู้บริโภค และต่อธุรกิจบริการทางดิจิทัลจำนวนมากทั่วยุโรป"

เซดริก โอ เลขาธิการรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของฝรั่งเศสกล่าวว่ากฎหมายเหล่านี้เป็น "กุญแจสำคัญในการกระตุ้นและปลดล็อกตลาดดิจิทัล เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมูลค่าที่ดีขึ้นในตลาดดิจิทัลและส่งเสริมนวัตกรรม"

โปลิติโกวิเคราะห์ว่ากฎหมายใหม่นี้จะช่วยกำกับให้บริษัทไอทีขนาดใหญ่ไม่กระทำการในทำนองทำลายการแข่งขันทางธุรกิจเช่นที่พวกเขาเคยถูกกล่าวหาในอดีต เช่น กรณีที่หน่วยงานด้านการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของเยอรมนีเคยกล่าวหาเฟสบุคในปี 2562 ว่ามีการรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานจากหลายแหล่งที่มา

มาร์โก คาร์ลิซซี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบรรษัทและการค้าระหว่างประเทศจากบริษัทกฎหมายอาร์เอสเอ็มลีกัลกรุ๊ปกล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นการเปลี่ยนจากระบบเชิงลงโทษซึ่งก็คือการให้บรรษัทเหล่านั้นขึ้นศาลและโดนค่าปรับแค่อย่างเดียว มาเป็นการตัดต้นตอของปัญหาไปด้วย คาร์ลิซซีเชื่อว่าวิธีการใหม่นี้จะช่วยเกื้อหนุนบริษัทไอทีเล็กๆ ได้ จากเดิมที่บริษัทเล็กๆ เหล่านี้ประสบปัญหาไม่สามารถเจาะตลาดได้

เรียบเรียงจาก

EU ushers in brave new world of Big Tech regulation, Politico, 25-03-2022

European Union reaches provisional agreement on antitrust law targeting tech giants, Engadget, 25-03-2022

The EU tries to loosen Big Tech’s grip, Finantial Times, 27-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net