ครป. หนุนสุราก้าวหน้า ยุติการผูกขาดเหล้าเบียร์ ส่งเสริมสินค้าแปรรูป เพิ่มรายได้เกษตรกร

ครป. ออกตัวหนุน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แนะทุกพรรคร่วมผลักดัน ยุติการผูกขาดเหล้าเบียร์ ส่งเสริมเกษตรกรปลดแอกพันธนาการ จี้ สสส.ตรวจสอบการผลิตเหล้าจากกากน้ำตาลเสีย ฆ่าคนไทยทั้งเป็น

เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป.

3 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (3 ก.พ.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนกฎหมายร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ของพรรคก้าวไกล และหวังว่าทุกพรรคการเมืองจะสนับสนุนให้ยุติการผูกขาดเหล้าเบียร์ในประเทศไทย เปิดเสรีให้เหมือนนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เวียดนาม ที่มีผลิตภัณฑ์ชั้นดีที่มีชื่อเสียงและเอกลักษณ์เฉพาะมากมายและแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง ให้เกษตรแต่ละพื้นที่ได้แปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของตนเองได้ทุกรูปแบบ เพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของประชาชน ยุติการผูกขาดทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผูกขาดเหล้าเบียร์ในประเทศไทย อย่ามัวแต่เกรงใจเจ้าสัวที่ออกตัวสนับสนุนเงินทุนให้พรรคเลยครับ เพราะถึงเวลาคืนกำไรส่วนเกินให้สังคมแล้ว อย่าปล่อยให้คนไทยได้ดื่มเบียร์ที่มีทางเลือกเฉพาะแค่ 2 เจ้าอีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เท่าพิภพ ก้าวไกล' ปลื้มร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ได้ฤกษ์เข้าสภา ปลดล็อกสุราเสรี แต่เลื่อนลงมติเพราะสภาล่ม

เศรษฐกิจฐานล่างจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ จะต้องมีการเปิดเสรีสุรา เปิดเสรีเบียร์ถ้วนหน้า โดยเฉพาะปัจจุบันการผลิตคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเบียร์คุณภาพที่มีมูลค่าการตลาดสูง แต่กฎหมายเขียนห้ามรายย่อยผลิต ต้องมีทุนมากมายมหาศาลถึงจะผลิตได้และกำหนดอัตราขั้นต่ำในการผลิตต่อวันไว้ เนื่องจากต้องการผูกขาดตลาด เอื้อให้เจ้าสัว 2 ผลิตภัณฑ์ผูกขาดตลาดต่อไป บางส่วนได้สัมปทานจากรัฐ มีการออกกฎหมายแบบนี้ไว้แต่แรก ทำให้นักธุรกิจรายย่อยไม่สามารถเติบโตได้ ชาวบ้านต้องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรก็ไม่สามารถทำได้ ต้องการผลิตเป็นของฝากชุมชนก็ไม่สามารถทำได้ คนรุ่นใหม่หลายคนจึงต้องไปตั้งโรงงานผลิตขนาดเล็กที่ต่่างประเทศและเพื่อนบ้าน แล้วค่อยนำเข้าผลิตภัณฑ์ของคนไทยมาขายคนไทยอีกที คราฟต์เบียร์ไทยหลายยี่ห้อที่มีชื่อเสียงต้องไปผลิตในกัมพูชา เวียดนาม ไต้หวัน ออสเตรเลีย

ปัญหาของกฎหมายที่ผูกขาดเหล้าเบียร์และเอื้อผลประโยชน์แบบเลือกปฏิบัติให้นายทุน ถูกออกแบบมาตั้งแต่ พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 มาจนถึง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามความในมาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต กำหนดว่าผู้ขออนุญาตผลิตสุราแช่ชนิดเบียร์ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าสิบล้านบาท และไปเขียนกำหนดว่ากำลังผลิตขั้นต่ำของบริวผับเป็นหนึ่งแสนลิตรต่อปี และสิบล้านลิตรต่อปีสำหรับโรงงานเบียร์ นอกจากนี้ ยังกำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำของโรงงานผลิตสุรากลั่นชนิดสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และจิน เป็น 30,000 ลิตรต่อวัน ต้องมีถังหมัก หอกลั่น ให้เพียงพอรองรับการผลิต 90,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งไม่มีชาวบ้านที่ไหนจะทำได้ ยังกำหนดให้โรงเหล้าชุมชน ต้องมีกำลังรวมของเครื่องจักรต่ำกว่าห้าแรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ทั้งหมดนั้นคือการเขียนกฎหมายเพื่อผูกขาดการผลิตเหล้าเบียร์ไว้ให้รายเดิมและเจ้าสัวที่มีอำนาจทุนเท่านั้น จะต้องมีการยกเลิกกฎหมายเก่าเหล่านี้ให้หมด 

"ผมเชื่อว่าเหล้าเบียร์ของนักธุรกิจรุ่นใหม่และรายย่อยที่เป็นผู้ผลิตเสรีจะมีคุณภาพดีกว่าเหล้าเบียร์ที่มีการผูกขาด เพราะมีการแข่งขันกันด้านคุณภาพ และแต่ละท้องถื่นจะมีเหล้าเบียร์ที่มีชื่อเสียงไม่ต่างจากญี่ปุ่น ที่มีเหล้าเบียร์หลายยี่ห้อและหลากหลายราคา ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนบาท ปัจจุบันคนไทยที่ยากจนต้องกินเหล้าขาวโรงราคาแพง และไร้คุณภาพ ทำลายสมอง จน เครียด กินเหล้า กันอย่างต่อเนื่องจนสุขภาพทรุดโทรม ผมอยากให้หน่วยงานของรัฐ รวมถึง สสส. ช่วยเข้าไปตรวจสอบการผลิตเหล้าของบรรดาเจ้าสัวหน่อย ว่าส่วนผสมที่ผิดกรรมวิธีทางธรรมชาติ ทำให้สุขภาพคนไทยแย่ลงแค่ไหนอย่างไร โดยเฉพาะการผลิตเหล้าราคาถูกจากกากน้ำตาลที่เหลือทิ้งเป็นสีดำแล้วจากการผลิตเอทานอลของโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ ถูกนำมาผลิตเหล้าขาวและเหล้าสีหลายยี่ห้อ ซึ่งต่างประเทศจะไม่ทำกัน เพราะเป็นการฆ่าคนทั้งเป็น ขอให้มีการตรวจสอบคุณภาพเหล้าเหล่านี้อย่างจริงจังด้วย" นายเมธา กล่าว

เหล้าดีๆ ต้องผลิตจากข้าวคุณภาพดี ซึ่งไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เมื่อก่อนญี่ปุ่นยังต้องนำเข้าข้าวจากไทยไปผลิตสาเก รสชาติสาโทดั้งเดิมของไทยก็แข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างแน่นอน และเกษตรกรจะมีอนาคตที่ดีขึ้น ชาวนาไทยจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้สูงเหมือนในญี่ปุ่น เหมือนในสหรัฐอเมริกา นี่คือปัญหาว่าทำไมที่ผ่านมา ชาวนาไทยที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ กลายเป็นชนชั้นที่ยากจนมากที่สุดชนชั้นหนึ่งในประเทศไทย เพราะพ่อค้าคนกลาง นายทุนผูกขาด ร่วมกับนักธุรกิจการเมือง ออกกฎหมายผูกขาดครอบครองการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรไว้ในกลุ่มตระกูลตนเองมาโดยตลอดนั่นเอง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท