กอ.รมน.ถอนฟ้อง 3 นักสิทธิ-ทำ MOU รายงานซ้อมทรมานต้องผ่านความเห็นชอบก่อน

กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ถอนฟ้องคดีหมิ่นประมาท-พ.ร.บ.คอมฯ สามนักสิทธิจากกรณีเผยแพร่รายงานการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทำข้อตกลงสามข้อ ตั้งกก.สอบข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิ-ตั้งกลไกกำหนดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิ-รายงานต้องผ่านความเห็นชอบก่อน 

ที่มา: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
 

7 มี.ค. 2560 ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ มีการแถลงข่าวร่วมกันภายหลังจากมีการพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางการจัดการปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาคที่ 4 ส่วนหน้าและมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับนักสิทธิมนุษยชน 3 ราย ประกอบด้วย สมชาย หอมลออ, พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ที่ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ตามความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 จากเหตุการณ์เผยแพร่รายงานข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ  นอกจากคู่ร่วมแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีผู้แทนจากรัฐบาลไทย สหประชาชาติ และ โคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนมีการแถลง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าและนักสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 รายมีการหารือกันเป็นการส่วนตัวภายในห้องประชุมเป็นเวลานานกว่า 1 ชั่วโมง จนกระทั่งเที่ยงวันจึงเปิดห้องให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าว

NGO-รัฐบรรลุข้อตกลงร่วม 3 ข้อ – ถอนฟ้องนักสิทธิ ฯ ยันรัฐไม่ลิดรอนสิทธิ NGO

พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ทาง กอ.รมน. และกลุ่มองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนได้บรรลุซึ่งข้อตกลงร่วมกัน 3 ประการ ดังนี้

1) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

2) จัดตั้งกลไกที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดมาตรการในการป้องกันการละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรการแก้ไขในกรณีที่มีการละเมิดไปแล้ว เช่น การกำหนดสถานที่ควบคุมตัวของผู้ต้องสงสัย ระเบียบเกี่ยวกับการซักถามต่างๆ

3) การจัดทำรายงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องผ่านความเห็นชอบของกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้การรายงานถูกต้อง ไม่กระทบต่อใคร

ปราโมทย์ กล่าวว่า ทางรัฐบาลและ กอ.รมน. ไม่มีความต้องการจะเอาชนะทางคดีกับนักสิทธิฯ ทั้ง 3 รายแต่อย่างใด หากแต่ต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ ร่วมกันเท่านั้นเพื่อที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกันต่อไปเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าว กอ.รมน. ภาคที่ 4 ส่วนหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกระบุอยู่ในรายงาน จึงไม่ติดใจเอาความ และขอถอนแจ้งความดำเนินคดีกับ 3 นักสิทธิฯ ณ สภ.เมืองปัตตานีตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมย้ำว่า ทาง กอ.รมน.ยินดีที่จะร่วมงานกับหน่วยงานเอกชนและภาคประชาสังคมทุกองค์กร พร้อมที่จะให้เข้าไปร่วมดำเนินการและตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่

พลโทชิณวัฒน์ แม้นเดช รอง ผอ กอ.รมน ภาค 4 ส่วนหน้า เสริมว่า การจัดตั้งกลไกตรวจสอบนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของรายงานข้อร้องเรียนต่างๆ รวมถึงการกำหนดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิฯ มาตรการลงโทษเจ้าพนักงานผู้กระทำผิดและการเยียวยาผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่การลิดรอนสิทธิในการจัดทำรายงานเพื่อสะท้อนหรือตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
 

นักสิทธิฯ เผยเพิ่งระหองระแหง 2-3 ปีก่อน ชี้ความเข้าใจผิดเป็นบทเรียนให้เดินหน้าไปด้วยกัน

ด้านสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวขอบคุณที่ทางเจ้าหน้าที่ถอนฟ้อง และกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการและกลุ่มประชาสังคมต่างๆในการที่จะประสานงานร่วมกันเพื่อส่งเสริม ปกป้องสิทธิฯ และความยุติธรรมที่เป็นเงื่อนไขสำคัญของสันติสุขที่ทุกฝ่ายต้องการเห็น

ในประเด็นของรายงานที่เผยแพร่ออกไปแล้ว ที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า รายงานนั้นระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ข้อมูลที่ได้มา เป็นข้อมูลจากผู้ร้องเรียน ที่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบต่อไป ในตัวรายงานชุดเก่าที่ออกไปแล้วนั้น ทางผู้จัดทำไม่ประสงค์ที่จะให้กลุ่มใดหรือบุคคลใด นำข้อมูลเหล่านี้ไปอ้างอิงเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง และยังให้ข้อมูลว่า จะนำส่งรายงาน บันทึกต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน ให้หน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทั้งหมด โดยมีการทำงานประสานงานกันก่อนที่จะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะ

ต่อคำถามเกี่ยวกับอนาคตของการเผยแพร่รายงานการร้องเรียนสู่สาธารณชนผ่านกลไกที่จะมีการจัดตั้งในอนาคตนั้น สมชาย กล่าวว่าจะต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะบางกรณีนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่มาก ไม่สามารถจำแนกขาวหรือดำได้ชัดเจน อย่างไรก็ดี ทางผู้จัดทำจะพยายามให้รายงานมีข้อเท็จจริงและความเห็นรอบด้าน เพื่อเอื้อให้ผู้อ่านได้รับรู้ข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณต่อไป

โคทม กล่าวว่า ในอนาคตอาจจะมีตัวรายงานที่มีความเห็นที่แตกต่างระหว่างหน่วยงานรัฐและเอ็นจีโอ ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งสองฝ่ายใช่ว่าจะเห็นตรงกันในทุกเรื่อง แต่ก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาร่วมกันในรายละเอียดในท้ายที่สุด ทั้งนี้ โคทม ให้ความเห็นว่า การพบปะกันวันนี้จะก่อให้เกิดการร่วมมือและความไว้เนื้อเชื่อใจ วันนี้ฝ่ายเอ็นจีโอรับทราบความห่วงใยของทางรัฐที่กังวลว่ารายงานจะถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างประกอบกับการใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเดินหน้าปกป้องคุ้มครองสิทธิฯ ในพื้นที่ต่อไป และจะเสริมสร้างการร่วมงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการป้องกันไม่ให้การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องปรึกษาและร่วมมือกันต่อไป ในขณะที่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและประธานคณะกรรมการบริหารองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า เป็นบทเรียนที่สำคัญในการทำงานของมูลนิธิฯ แนวทางทำงานร่วมกันในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและเป็นบทเรียนให้ทางมูลนิธิฯมีความรอบคอบมากขึ้น ตระหนักถึงความร่วมมือมากขึ้นเพื่อลดความเข้าใจผิด ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย

ในกรณีของการถอนฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ถือว่าเป็นอาญาแผ่นดินนั้น พรเพ็ญ ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า สามารถทำได้ เนื่องจากคดีความยังอยู่ในกระบวนการสั่งฟ้อง อัยการมีอำนาจในการถอนฟ้อง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) นั้นไม่ได้ระบุให้ฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังให้ความเห็นหลังจากการมีข้อตกลงร่วมกันกับทาง กอ.รมน. ว่า จากนี้ไปการปกป้องสิทธิฯ ในพลเรือนและผู้ตกเป็นเหยื่อการถูกละเมิดคงทำได้ง่ายขึ้น

“จริงๆ เรา [มูลนิธิฯ และ กอ.รมน.] ทำงานด้วยกันมาเป็นสิบปีแล้ว เพิ่งมามีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง” พรเพ็ญกล่าว

ต่อคำถามเกี่ยวกับนัยของการถอนฟ้องคดีที่ได้ดำเนินมานานหลายเดือน ทาง กอ.รมน. กล่าวว่า ไม่มีนัยแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น การตัดสินใจนั้นเป็นไปเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและกลุ่มประชาสังคม ส่วนสมชายตอบสั้นๆ เพียงว่า “เรื่องบางเรื่องต้องใช้เวลา”
 

สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิยูเอ็นยินดีถอนฟ้องนักสิทธิ แนะถอนคดีอื่นด้วย

วันเดียวกัน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีกับการตัดสินใจถอนฟ้องดังกล่าว โดย โลคอง เมย์ยอง (Laurent Meillan) ผู้แทนประจำภูมิภาคของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า จากการติดตามคดีของนักสิทธิฯ ทั้งสามมานานหลายเดือน และได้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่รัฐ รวมไปถึง กอ รมน. ภาคที่ 4 ถอนฟ้องคดี เหตุการณ์วันนี้ถือเป็นการเดินหน้าที่ดี และเราขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทยขยายผลไปสู่การสร้างมาตรการปกป้องนักสิทธิฯ ที่ทำรายงานและจับตาประเด็นสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ทางการไทยถอนฟ้องนักสิทธิฯ รายอื่นๆ รวมถึงกรณีของ ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ทนายสิทธิมนุษยชนด้วย

เมย์ยอง ระบุว่า สำนักงานฯ สนับสนุนแผนการที่จะสร้างกลไกร่วมกันระหว่างกองทัพ นักกิจกรรมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายในการทบทวนและตรวจสอบการร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้

อนึ่ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) จะทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคมนี้ ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์
 

ผู้แทนไทยตอบยูเอ็น ไม่พบการทรมาน

จากบันทึกการสื่อสารในรายงานการสื่อสารจากกลไกพิเศษที่ตีพิมพ์ในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 34 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ -24 มีนาคม 2560 ซึ่งกลไลนี้คือเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระที่ได้รับการมอบหมายให้รายงาน หรือให้คำปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนจากมุมมองจำเพาะรายกรณีหรือรายรัฐ มีประเด็นที่กล่าวถึงประเทศไทยหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือเรื่องที่กอ.รมน.ฟ้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้ง 3 คนนี้ อย่างไรก็ตามในรายงานดังกล่าวมีการอ้างอิงถึงหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานไทยในเรื่องนี้ด้วย  

โดยเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2559 ธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตไทย และผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ทำหนังสือตอบรายงานการสื่อสารจากกลไกพิเศษสหประชาชาติว่า ตามรายงานเกี่ยวกับการทรมานและการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2557-2558 อันเกิดจากการรวมบทสัมภาษณ์ของ 54 บุคคลผู้เรียกตนเองว่าเป็นอดีตผู้ต้องขังในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาส โดยกลุ่มเอ็นจีโอผู้จัดทำรายงานดังกล่าวได้ส่งรายงานให้กับ กอ.รมน. หน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอ.รมน. ให้ข้อมูลหลังจากการพิสูจน์คดีทั้งหมด พบว่า ไม่มีคดีดังที่ปรากฏในรายงานทั้งหมด 36 คดี และมีคดีที่ปรากฏดังที่ระบุในรายงานทั้งสิ้น 18 คดี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 18 คดีไม่ปรากฏหลักฐานของการถูกทรมานและ/หรือการได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท