Skip to main content
sharethis

กสม. ชี้ กอ.รมน. ภาค 4 สน. ละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน แนะปรับแนวปฏิบัติการตรวจเยี่ยมบ้านเครือญาติบุคคลเป้าหมายโดยคำนึงถึสิทธิเสรีภาพตาม รธน. หลังมี ปชช.ชายแดนใต้ร้องเรียน ถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม ถ่ายรูป และอื่นๆ รบกวนชีวิตประจำวัน จนทำให้เกิดความหวาดกลัว เนื่องจากมีสมาชิกครอบครัวเคยตกเป็นจำเลยคดีอาญา 

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชน

10 มี.ค. 65 ทีมสื่อ กสม. รายงานต่อสื่อวันนี้ (10 มี.ค.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ กสม. โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 9/2565 ต่อกรณี มีประชาชนใน จ.ปัตตานี มาร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุกคามความเป็นส่วนตัว ถ่ายรูป และอื่นๆ เนื่องจากมีสมาชิกครอบครัวเคยตกเป็นจำเลยคดีอาญา 

ปชช.ภาคใต้ถูก จนท.คุกคามเหตุคนในครอบครัวเคยเป็นจำเลยคดีอาญา 

กสม. ระบุว่า ตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อ ต.ค. 53 กรณีที่ผู้ร้องอาศัยในจังหวัดปัตตานี มีความกังวลจากการที่เจ้าหน้าที่กองร้อยทหารพรานที่ 4202 หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 เข้าตรวจเยี่ยมบ้านพักและสอบถามถึงสามีของผู้ร้อง เนื่องจากสามีเคยตกเป็นจำเลยในคดีวางระเบิดห้างสรรพสินค้าใน จ.ปัตตานี แม้ต่อมาศาลพิพากษายกฟ้อง และสามีของผู้ร้องได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ทหารได้มาที่บ้านพักหลายครั้ง จนทำให้สามีของผู้ร้องเกิดความหวาดกลัวจึงเดินทางไปทำงานที่มาเลเซีย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ทหารยังมาที่บ้านพักของผู้ร้องอีกหลายครั้ง เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ รายละเอียดส่วนบุคคล การใช้ชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งถ่ายรูปและถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนผู้ร้องเรียน ทำให้ผู้ร้องและครอบครัวเกิดความวิตกกังวลและหวาดกลัว จึงขอให้ กสม.ตรวจสอบ

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 42 ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การเข้าตรวจค้นและการเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเครือญาติบุคคลเป้าหมายเป็นไปเพื่อสอบถามข้อมูล ซึ่งในการเข้าพบแต่ละครั้ง เจ้าหน้าที่จะแสดงตน แจ้งสังกัด รวมทั้งวัตถุประสงค์ของการเยี่ยมเยียน และมีการลงบันทึกการตรวจเยี่ยมทุกครั้ง ส่วนกรณีการไปพบปะที่บ้านพักเพื่อเยี่ยมเยียนบุคคลที่เคยถูกจับกุมและพ้นโทษแล้ว เป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยใช้ชุดจรยุทธ์ในพื้นที่ซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองหมู่บ้านเป็นผู้ดำเนินการ

ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติ รธน. 

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 ได้รับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลไว้ การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ อันสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงความเป็นอยู่ส่วนตัวโดยพลการไว้เช่นเดียวกัน

กรณีตามคำร้องแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า การที่เจ้าหน้าที่เดินทางไปพบผู้ร้องที่บ้านพัก เป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายพิเศษเพื่อวัตถุประสงค์อันเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ความมั่นคงแห่งรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือการป้องกันอาชญากรรม แต่การดำเนินมาตรการนั้นจะต้องยึดหลักความได้สัดส่วนระหว่างการดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์กับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการแทรกแซงหรือการรุกล้ำสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องและครอบครัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และสามีผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลเป้าหมาย มิได้พักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าว แต่การที่เจ้าหน้าที่ไปพบผู้ร้องที่บ้านพักตั้งแต่ปี 2559-2564 หลายสิบครั้ง โดยที่ผู้ร้องไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และบางครั้งมีการสอบถามข้อมูลส่วนตัวในลักษณะติดตามตรวจสอบ และเมื่อพิจารณาถึงครอบครัวของผู้ร้องที่มีแต่ผู้หญิง ผู้สูงอายุ และเด็กแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด พร้อมอาวุธครบมือไปพบที่บ้านพัก ย่อมสร้างความวิตกกังวลและความหวาดกลัวให้กับครอบครัวของผู้ร้อง มีผลทำให้ผู้ร้องและครอบครัวใช้ชีวิตโดยไม่ปกติสุข

ยกเลิกและแก้ไขแนวปฏิบัติโดยคำนึงถึงเสรีภาพประชาชน

การกระทำของเจ้าหน้าที่กรณีนี้ จึงไม่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่สอดคล้องกับแนวนโยบายของ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ระบุให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหากระทบต่อสิทธิมนุษยชน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวในการอยู่หรือพักอาศัย (Territorial Privacy) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเห็นควรมีมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปได้ดังนี้

(1) ควรยกเลิกแนวทางและวิธีปฏิบัติที่ให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือติดตามตรวจสอบพฤติกรรมของเครือญาติ ซึ่งเป็นผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง

(2) ควรปรับปรุงแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการเข้าตรวจเยี่ยมเครือญาติบุคคลเป้าหมาย ที่คำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้มีความเหมาะสม ได้สัดส่วน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับเครือญาติกลุ่มเป้าหมายในสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว โดยร่วมมือกับผู้นำศาสนาหรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ หรือหน่วยงานอื่นในพื้นที่ ในการเข้าตรวจเยี่ยมร่วมกัน และดำเนินการให้เหมาะสม เช่น หากครอบครัวใดมีเฉพาะผู้หญิงและเด็กพักอาศัยอยู่ในบ้าน ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้หญิงเข้าตรวจเยี่ยมด้วย เป็นต้น

(3) ควรเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือแนวทางปฏิบัติ ที่มีลักษณะเป็นหลักประกันสิทธิให้กับประชาชน ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ในรูปแบบและภาษาที่ประชาชนในพื้นที่สามารถเข้าใจได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ อันเป็นการลดปัญหาผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่

หารือกรมการปกครอง เร่งแก้ปัญหาสิทธิสถานะให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์กรณีปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดระนอง เมื่อเดือนมกราคม 2565 และได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาของผู้หนีภัยการสู้รบชาวพม่าในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ จังหวัดตาก และพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 นั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดำเนินไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 กสม. โดยนางปรีดา คงแป้น และนางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าหารือร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย นำโดยนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง และนายสมยศ พุ่มน้อย รองอธิบดีกรมการปกครอง ถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการทำงานร่วมกันระหว่าง กสม. และกรมการปกครอง ณ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยในการประชุมหารือดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

ปรีดา คงแป้น กรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

(1) การเร่งรัดกระบวนการพิสูจน์สิทธิและรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น (คนเชื้อสายไทย) ซึ่งกรมการปกครองได้ขึ้นทะเบียนไว้ราว 18,000 คน และได้รับการรับรองไปแล้ว ราว 10,000  คน นั้น ในโอกาสครบ 10 ปีของการออกกฎหมายสัญชาติฉบับที่ 5 และเพื่อเป็นการเร่งรัดกระบวนการนี้ให้เร็วขึ้น กรมการปกครองอาจเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ทะเบียนแต่ละอำเภอ หรือ จัดทีมจากส่วนกลางไปร่วมรับคำขอพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่น รวมทั้งข้อมูลที่เครือข่ายแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทยได้เสนอว่ามีคนไทยพลัดถิ่นตกสำรวจอีกราว 1,300 คน โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ยินดีรับไปดำเนินการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาและประสานความร่วมมือกับ กสม. ต่อไป 

(2) กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาสิทธิสถานะกลุ่มอื่นๆ นั้น ระยะที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียน 24 เรื่อง โดยรวมเป็นกรณีการพิจารณาคำขอลงรายการสัญชาติล่าช้า กรณีเจ้าหน้าที่ไม่รับจดทะเบียน หรือไม่ออกเอกสารรับคำขอให้แก่ผู้ยื่นคำขอ เป็นต้น ที่ประชุมหารือแก้ไขปัญหาโดยให้ กสม. ส่งเอกสารร้องเรียน ไปยังสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง อีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้เกิดการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ลดขั้นตอนในกระบวนการตรวจสอบและทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

(3) สำหรับค่ายพักพิงชั่วคราว กรมการปกครองให้ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2565 ว่า มีผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ใน 4 จังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และ ราชบุรี จำนวน 77,384 คน ส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดง (กะยา) ซึ่งประเทศไทยโดยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ให้การดูแลผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในพื้นที่พักพิงชั่วคราวมาเป็นเวลา 37 ปี ในส่วนของกรมการปกครองได้ดำเนินการดูแลรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่พักพิงชั่วคราว การจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา บริหารจัดการภายในพื้นที่พักพิงชั่วคราว เช่น การออกหนังสือรับรองการเกิด มรณบัตร ทะเบียนประวัติครอบครัว ตาม พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 และการจัดทำแผนและมาตรการเพื่อป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นภายในพื้นที่พักพิง เป็นต้น ซึ่งกรมการปกครองพร้อมขับเคลื่อนนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัยฯ ร่วมกับ กสม. ต่อไป

“เป็นที่ทราบกันว่าทั้งปัญหาสถานะบุคคล และปัญหาผู้หนีภัยจากการสู้รบในค่ายพักพิงชั่วคราว เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่อาจแก้ไขให้แล้วเสร็จได้โดยหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น ต้องใช้ความร่วมมือหลายฝ่าย อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่าความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมที่ทำให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น คนไร้รัฐไร้สัญชาติทุกกลุ่ม รวมทั้งผู้หนีภัยจากการสู้รบในเมียนมาที่อยู่มายาวนาน เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสมควรได้รับ กสม. จึงขอขอบคุณกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ยินดีรับปัญหาเหล่านี้ไปเร่งดำเนินการแก้ไข โดย กสม. พร้อมให้การสนับสนุนในทุกขั้นตอน” นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net