Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง กรณีจัดซื้อเรือดำน้ำจีนเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐที่มีปัญหาความชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายหรือไม่ ต่อมาทหารเข้าเยี่ยมบ้าน   

8 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 พ.ค.60) เมื่อเวลา 13.29 น. เฟซบุ๊ก 'Srisuwan Janya' ของศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ และ สำนักข่าวไทย รายงานว่า สมาคมฯ ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน สงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน  เพื่อขอให้ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (2) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง กรณีการดำเนินการลงนามในสัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน ของรัฐบาล หรือ กระทรวงกลาโหม หรือ กองทัพเรือ  ว่าเป็นการกระทำของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายหรือไม่   

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า  การจัดซื้อดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ พ.ศ. 2502  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2503 มาตรา 23 ที่ระบุว่าหน่วยงานของรัฐที่จะก่อหนี้ผู้พัน จะต้องเสนอเรื่องให้ ครม.อนุมัติให้ความเห็นชอบภายใน 60 วัน  นับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นใช้บังคับ ซึ่งในกรณีนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ถูกใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559  ครม.สามารถอนุมัติก่อหนี้ผูกพันได้ ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559  แต่กลับพบว่า  กองทัพเรือมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาในวันที่ 18 เมษายน 2560  ซึ่งถือว่าเกินระยะเวลา 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด      

“หรือ จะอ้างว่า ทร.เสนอตั้งแต่ช่วง 60 วัน  แต่ก็เหมือนกับว่า ครม.ยังไม่เห็นรายละเอียดของการจัดซื้อจัดจ้าง   เท่ากับว่า ครม.เซ็นเช็คเปล่าให้กับ ทร. หรือไม่” ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ ยังเห็นว่า การลงนามซื้อเรือดำน้ำ แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญา ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง การลงทุนของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178  ซึ่งกำหนดว่า ต้องเสนอให้รัฐสภา หรือ สนช.ให้ความเห็นชอบก่อน แต่เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐบาลไทย ได้ลงนามข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 กับประธานกรรมการบริษัทของจีน  

“ดังนั้น เพื่อให้กรณีดังกล่าวเกิดความชัดเจนว่า การกระทำเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.วิธีงบประมาณ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา และเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยว่า การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำจากจีนลำที่1 เป็นโฆฆะ” ศรีสุวรรณ กล่าว  

ศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึง การยื่นเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเรื่องเรือดำน้ำในก่อนหน้านี้ ว่า เป็นคนละเรื่องกับการยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่าพยายามนำมาปนกัน ขณะนี้ สตง.ก็ยังไม่มีการชี้ชัดออกมาว่า การกระทำของ กองทัพเรือเข้าข่ายผิดวิธีงบประมาณหรือไม่ ซึ่งจะเฝ้าติดตามต่อไปว่า ผลการพิจารณาจะออกมาสอดคล้องกับข้อเท็จจริง  และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชนหรือไม่  ซึ่งผลของการพิจารณา จะเป็นเครื่องตรวจสอบการทำงานขององค์กรเหล่านั้นเอง

ขณะที่ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า คำร้องนี้เป็นคำร้องแรกของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญใหม่  ยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และเรื่องนี้อยู่ในความสนใจของประชาชน และคำร้องก็ชัดเจน   สำนักงานฯ จะเร่งเสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาโดยเร็ว  

“ที่จะมีการจ่ายเงินงวดแรก 700 ล้านในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจสั่งระงับการกระทำดังกล่าว  เพราะไม่ใช่ศาลที่จะสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้  แต่หากท้ายที่สุด ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ ศาลก็สามารถสั่งเพิกถอนการกระทำที่ผ่านไปแล้วได้ ส่วนความเสียหายก็สามารถเรียกร้องทางแพ่งได้” รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากนั้น ศรีสุวรรณ โพสต์ภาพทหารพร้อมข้อความด้วยว่า "วันนี้เวลา 14.30 น.คิดถึงกัน...ก็มาเยี่ยมเยือนกัน"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net