Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือถึง ปธ.กมธ.ความมั่นคงฯ ตรวจสอบโครงการสร้างเขื่อนพูงอย สปป.ลาว หวั่นสร้างเขื่อนริมโขง ซ้ำเดิมปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วม กระทบเส้นเขตแดน ทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิต

 

1 ส.ค. 2567 ผู้สื่อข่าว รายงานวันนี้ (1 ส.ค.) เวลาประมาณ 09.00. น. ที่ชั้น 1 อาคารรัฐสภา สดใส สร่างโศรก  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง ยื่นหนังสือเรื่อง ‘ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย (Phou Ngoy) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว’ ถึงกรรมาธิการคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อน ‘พูงอย’ โดยวันนี้ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ เป็นผู้รับหนังสือ

รายละเอียดหนังสือโดยคร่าวๆ

เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย (Phou Ngoy) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เนื่องจากอาจจะกระทบ ความมั่นคงของรัฐไทย ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนพูงอย ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ กำหนดสร้างบนลำน้ำโขงสายหลักในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก 18 กิโลเมตร และห่างจากจุดบรรจบแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 60 กิโลเมตร สันเขื่อนสูง 40 เมตร ยาว 3,088 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิตรวม 728 เมกะวัตต์ โดยถูกบรรจุเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุง

โดยทางเครือข่ายฯ มีข้อห่วงใยว่า การศึกษาผลกระทบ ของโครงการที่ไม่มีความชัดเจนและไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่รับผลกระทบทั้งหมด โดยเฉพาะผลกระทบต่อพื้นที่ประเทศไทยและคนไทย และแม้อาจมีการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคตแต่มาตรการลดผลกระทบต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นคงไม่สามารถชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้จริง ดังต่อไปนี้

1. ทำให้การเกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่สำคัญ เช่น อุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ และเขตพระราชฐานเรือนสุขนที รวมทั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการไหล การสะสมของตะกอน รวมถึงกระทบโดยตรงต่อการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าและการระบายน้ำของเขื่อนปากมูล ตลอดจนจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการอุทกภัย โดยทำให้ จ.อุบลราชธานี กลายเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมรุนแรงและภาวะน้ำท่วมที่กินเวลายาวนานกว่าที่ผ่านมา ซึ่งจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและมิอาจประเมินได้ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

2. กระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและประชาชนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำลายปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและแหล่งรายได้สำคัญของคนลุ่มน้ำโขง เนื่องจากตัวเขื่อนจะขวางเส้นทางการอพยพของพันธุ์ปลาแม่น้ำโขงส่วนใหญ่อย่างถาวร และการมีทางปลาผ่านซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขผลกระทบในด้านนี้ของโครงการสร้างเขื่อนที่ผ่านมายังเป็นที่น่าสงสัยถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง

3. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลำน้ำและร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นเส้นพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งยังไม่มีความตกลงหรือการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐไทย อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตยเหนือพื้นที่บางแห่งได้ ขณะที่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด

4. พลังงานไฟฟ้าที่จะได้จากเขื่อนพูงอย ซึ่งกำลังถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพลังงานสะอาดที่แท้จริง เนื่องจากเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชน โดยการอพยพย้ายถิ่นฐานประชาชนในพื้นที่จำนวนหลายร้อยครัวเรือน และอีกจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้สูญเสียที่ดินทำกิน  ขณะเดียวกันพลังงานไฟฟ้าที่ได้และกำลังถูกนับรวมในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยดังกล่าวนี้ อาจเป็นส่วนของการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอกชนในแง่ของการสร้างหลักประกันด้านรายได้และกำไร หรือไม่ เครือข่ายประชาชนฯ จึงขอให้ คณะกมธ. ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าวนี้อย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐไทยและความเดือดร้อนของประชาชนไทย

 

หลังยื่นหนังสือ สดใส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง กล่าวว่า เธอมีความกังวลว่าเขื่อนพูงอย ที่กำลังสร้างที่ประเทศ สปป.ลาว แขวงจำปาศักดิ์ ห่างจากจังหวัดอุบลฯ ประมาณ 60 กิโลเมตร อาจจะเป็นการปิดกั้นเส้นทางแม่น้ำโขง และทางปลา ซึ่งถ้าเส้นทางน้ำไม่มีทางออก อาจจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาของชาวอุบลฯ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด

สดใส กล่าวว่า เธอกังวลด้วยว่า การสร้างเขื่อนพูงอย อาจส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพประมง ซึ่งจากเดิมได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลอยู่แล้ว และวันนี้เรามีตัวแทนจากชุมชนเมือง และผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล

ตัวแทนจากชุมชนเมืองอุบลราชธานี (ไม่ทราบชื่อ) กล่าวถึงภาพที่นำมาด้วย โดยระบุว่าเป็นสภาพน้ำท่วมที่ ซ้ำซากทุกปี ทั้งชุมชนชนบท และชุมชนเมืองอุบลราชธานี โดยปกติ ใช้เวลาประมาณไม่เกิน 3 เดือน น้ำจะไหลผ่านไปได้ เพราะว่าตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง แต่ถ้ามีการสร้างเขื่อนพูงอย น้ำจะตันอยู่ เพราะว่ามีการปิดกั้นเส้นทางน้ำ อาจทำให้น้ำท่วมหนักมากขึ้น ดังนั้น เขามองว่าเขื่อนพูงอยจะเป็นตัวชี้ขาดน้ำท่วมจังหวัดอุบลฯ ว่ามันจะเป็นถาวรหรือท่วมสูงขนาดไหน ซึ่งเรากังวลมาก เราเลยมีความหวังว่าคณะกรรมาธิการฯ ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะว่าทราบมาว่าเขื่อนพูงอย มันมีกลุ่มทุนเป็นผู้สร้าง แต่ว่าน้ำอาจจะกลับมาท่วมประเทศของตัวเองด้วย

สมปอง เวียงจันทร์ กำลังชูภาพช่วงที่อุบลราชธานีน้ำท่วม

สมปอง เวียงจันทร์ ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว กล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาเรื่อยๆ จากการสร้างเขื่อนน้ำโขงคือผลกระทบต่ออาชีพประมงหาปลาแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนปลาลดลงเรื่อยๆ และมีความกังวลว่าการสร้างเขื่อนพูงอยในแม่น้ำโขงเพิ่ม อาจสร้างผลกระทบต่อคนหาปลามากขึ้นไปอีก อย่างเขื่อนไซยะบุรี หรือจะมีเขื่อนมหาสารคาม อันนั้นเป็นตัวกั้นน้ำไม่ให้หล่อเลี้ยงน้ำโขง และเขื่อนพูงอยมาอีก แล้วเราจะอยู่อย่างไร แล้วเราจะคุยกับลาวให้มีการปล่อนน้ำจากเขื่อนอย่างไร เลยอยากฝาก กมธ.ว่าเราจะหาทางในการเชื่อมไทย-ลาว อย่างไร หยุดได้หรือไม่ เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อคนหาปลา

"ขอฝากทางกรรมาธิการว่า เราจะหาทางหยุดได้ไหม เพราะว่ามันส่งผลกระทบต่อคนหาปลา เรื่องน้ำท่วมอุบลฯ นั่นคือปัญหาที่ตามมา ฉะนั้น ฝากว่าถ้าเรามีอำนาจ หรือท่านมีอำนาจผลักดันไม่ให้เกิดตรงนี้ อันนี้ได้ไหม อยากฝากคณะกรรมาธิการฯ ด้วย เพราะว่าปลาเป็นทรัพยากร และเป็นเศรษฐกิจของพวกเราในการทำมาหากิน และอาหารคนอีสานทั้งหมด" สมปอง กล่าว

ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า พวกเขาได้รับผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องชายแดนพรมแดน วัฒนธรรมและวิธีชีวิต ทั้งหมดเลย แต่การลงทุนข้ามพรมแดนปัญหาคือกฎหมายไทยยังไม่สามารถเอื้อมไปถึงตรงนั้น และพี่น้องไม่ได้รับการดูแลให้วิถีชีวิตกลับคืนมาได้เหมือนเดิม เลยอยากฝาก กมธ.ดูแลเรื่องนี้ด้วย

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า แม้ว่าจะเป็นเขื่อนที่สร้างในเขตประเทศลาว แต่ผลกระทบอาจส่งผลต่อประเทศไทย โดยเฉพาะภัยพิบัติน้ำท่วมที่อุบลฯ เราสัมผัสด้วยตาตัวเองแล้วว่า มันแย่ขนาดไหน ดังนั้น ทาง กมธ.ไม่นิ่งนอนใจ และจะรีบพิจารณาว่าจะสามารถบรรจุเข้าเป็นวาระการพิจารณาของ กมธ.ได้เร็วที่สุดเมื่อไร

"เมื่อประชาชนทุกข์ร้อน พวกเราเองในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชนไม่สามารถนิ่งนอนใจ หรือนิ่งเฉยกับเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อนได้ เราจะติดตามและทำหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ที่สุด" โรม กล่าว

โรม กล่าวว่า กรณีเขื่อนที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้นมาเอง และมีสื่อมวลชนรายงานข่าวตรงกันว่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงกระทบต่อชีวิตของประชาชนตามริมแม่น้ำโขง เราคิดในเรื่องของการสร้างเขื่อน และการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นหรือไม่ แต่สิ่งที่เราไม่ได้คิดคือผลกระทบที่ยาวนาน ผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม เราแทบไม่เห็นมาตรการรัฐอะไรเลยที่จะรองรับ ดังนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ จะทำงานอย่างเต็มที่ในการเชื่อมปัญหาของพี่น้อง ไปถึงรัฐบาล เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากการยื่นหนังสือที่รัฐสภาแล้ว เมื่อเวลา 11.00 น. เครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบลฯ-เขื่อนแม่น้ำโขง และเครือข่ายอื่นๆ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างเขื่อนพูงอย ถึง บริษัท เจริญเอนเนอร์ยี่แอนด์ วอเทอร์ เอเชีย จำกัด ประเทศไทย  (Charoen Energy and Water Asia Company Limited : CEWA) เป็นผู้พัฒนาโครงการเขื่อนพูงอย ที่ถนนสุรวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ โดยตัวแทนของบริษัทฯ รับปากว่าจะนำหนังสือไปสื่อสารให้ผู้บริหารต่อไป

นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนจับตาน้ำท่วมอุบล-เขื่อนแม่น้ำโขง ประชาชนจากชุมชนเมืองอุบลราชธานี และประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงที่ปากมูล ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ณ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และยื่นหนังสือถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อเวลา 14.00 น. เพื่อให้มีการตรวจสอบโครงการสร้างเขื่อนพูงอย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net