Skip to main content
sharethis

ความคืบหน้าเหตุ ระเบิด รพ.พระมงกุฎฯ พล.ต.อ.ศรีวราห์  เผยมี จม.เตือนก่อน 3 วัน - ระเบิดวางไว้ 2-4 ชม. ไม่ให้น้ำหนักสุนัยที่ออกมาบอกว่าเป็นการขับไล่รัฐบาล ส่วน EOD โยงระเบิดช่วงการชุมนุมทางการเมืองปี 50 เหตุวัตถุพยานที่เก็บได้ตรงกัน ยกระดับการรักษาความปลอดภัยทั่วกรุง เช็คกล้องวงจรปิด

23 พ.ค. 2560 ความคืบหน้าเหตุระเบิดในช่วงสายวานนี้(22 พ.ค.60) บริเวณที่เกิดเหตุเป็นห้องรับรองนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการ หน้าห้องวงษ์สุวรรณ ภายใน รพ.พระมงกุฎเกล้า ถนนราชวิถี กทม. จนมีผู้บาดเจ็บหลายราย นั้น

เผยมี จม.เตือนก่อน 3 วัน - ระเบิดวางไว้ 2-4 ชม.

วันนี้ (23 พ.ค.60) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยหลังประชุมคดีระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าโดยรับว่า ก่อนเกิดเหตุ 3 วัน มีจดหมายแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดที่มาของจดหมายดังกล่าว

สำหรับข้อความจดหมายดังกล่าว จ่าหน้าซองถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถนนพะราม 6 เนื้อหาขอให้ระวังการก่อร้ายภายในโรงพยาบาลรัฐในละแวกนี้ ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนั้นได้มีการแจ้งความไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนระเบิดที่ผู้ก่อเหตุนำไปวางไว้ก่อนเกิดระเบิด 2- 4 ชั่วโมง และจากลักษณะการประกอบระเบิด พบเชื่อมโยงกับระเบิดที่หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถนนราชดำเนิน และ หน้าโรงละครแห่งชาติ รวมถึงเหตุระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อ ปี 2550

สำหรับภาพที่ส่งต่อกันผ่านโซเชียล เป็นภาพชายต้องสงสัย ใส่หมวกแก๊ป ที่อยู่ภายในห้องจ่ายยา ใกล้กับแจกันที่น่าจะเป็นชนวนเหตุระเบิด ยืนยันว่าเป็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเชื่อมโยงก่อเหตุหรือไม่

ไม่ให้น้ำหนักสุนัย

ส่วนกรณีที่ สุนัย จุลพงศธร อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า การก่อเหตุดังกล่าว เพื่อเป็นการขับไล่รัฐบาลคสช.นั้น ตนเองไม่ได้ให้น้ำหนัก เพราะ สุนัยไม่ใช่พยานแวดล้อมในที่เกิดเหตุ

พร้อมกันนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่มีการเข้มงวดกวดขันดูแลความปลอดภัยทุกจุด ส่วนสถานีรถไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าก็เข้มงวดตามมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรน่าห่วง

โยงระเบิดช่วงการชุมนุมทางการเมืองปี 50

พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (EOD) ระบุว่า ความเชื่อมโยงลักษณะระเบิดที่ใช้ก่อเหตุในช่วงการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2550 ที่มีการก่อเหตุบริเวณเมเจอร์ รัชโยธิน , ซอยราชวิถี 26 และ กองบัญชาการทหารบก กับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เนื่องจากมีวัตถุพยานที่เก็บได้ตรงกันประกอบด้วย ชิ้นส่วนท่อพีวีซี ,ไอซีไทม์เมอร์ หรือ ตัวตั้งเวลา ,วงจรประจุ ,แบตเตอรี่ และสายไฟที่มีการเชื่อมต่อวงจร ทั้งหมดมีลักษณะวงจรประกอบเหมือนกัน แต่ต่างกันที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีการใช้ตะปูเป็นสะเก็ดระเบิด และไม่ยืนยันว่าคนประกอบเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ต้องรอผลการตรวจดีเอ็นเอที่แจกัน จากกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

ยกระดับการรักษาความปลอดภัยทั่วกรุง เช็คกล้องวงจรปิด

ขณะที่ ภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ออกหนังสือด่วนที่สุด ยกระดับการรักษาความปลอดภัยทั่วกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสั่งตรวจสอบกล้องวงจรปิดกว่า 50,000 กล้อง ให้พร้อมใช้งานทุกจุดตลอด 24 ชั่วโมง และปรับย้ายตำแหน่งตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน

ส่วนที่โรงพยาบาลตำรวจเจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคัดกรองรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกบริเวณ พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยว่า สั่งเพิ่มความเข้มการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และแม้มีกล้องวงจรปิดกว่า 300 กล้อง ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์รักษาความปลอดภัยโรงพยาบาล แต่ยอมรับว่า โรงพยาบาลมีพื้นที่กว้าง และเป็นพื้นให้บริการประชาชน ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์  ไทยพีบีเอส และ สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net