เมื่อ ‘ผู้หญิง’ ยังถูกเลือกปฏิบัติ เวทีซีดอว์ถามไทยมี ‘การเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม’ หรือ?

เวทีเสวนารายงานอนุสัญญาซีดอว์ พบผู้หญิงยังถูกเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงในประเด็นต่างๆ พนักงานบริการทางเพศถูกนายจ้างและเจ้าหน้าที่เอาเปรียบ ขณะที่รัฐ-เอกชนใช้กฎหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิ ทั้งยังไม่มีกลไกคุ้มครอง จรัญ ภักดีธนากุลแจง มีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

วันที่ 5 กรกฎาคม 2560 มีการพิจารณารายงานอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ ซีดอว์ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ทางกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จึงได้จัดงานเสวนาและถ่ายทอดสดการพิจารณาครั้งนี้ ณ ห้องประชุมมาลัย หุวะนันท์ ชั้น 12 อาคารเกษม อุทยานินท์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในงานมีตัวแทนผู้หญิงจากหลากหลายประเด็นมาร่วมแลกเปลี่ยนสภาพปัญหาที่ตนกำลังเผชิญ

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากรายงานของเวิร์ล อีโคโนมิก ฟอรั่ม เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างเพศในระดับโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 71 จาก 144 ประเทศ ตัวรายงานฉบับนี้ประเมินจากปัจจัยด้านต่างๆ และสัดส่วนของหญิง-ชายว่ามีส่วนร่วมในชีวิตทางการเมืองและสังคมอย่างไรบ้าง ปัจจัยสำคัญที่นำมาประเมินในรายงานฉบับนี้คือ การมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจและโอกาสทางเศรษฐกิจ อัตราการสำเร็จการศึกษา สุขภาพและการรอดชีวิต และการเสริมสร้างอำนาจทางการเมือง

ในประเด็นสุขภาพและการรอดชีวิต ประเทศไทยมีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 ช่องว่างด้านนี้ระหว่างหญิงและชายมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการเสริมสร้างอำนาจทางการเมือง ซึ่งปรากฏว่าสัดส่วนหญิง-ชายที่มีส่วนในรัฐสภาหรือมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองของไทยอยู่ต่ำมากคือในลำดับ 131 จาก 144 ประเทศ

แอลบีไอทีและเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ ความเป็นหญิงที่หายไป

ด้าน ทฤษฎี สว่างยิ่ง จากเครือข่ายสุขภาพและโอกาส กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อแอลบีทีไอ (เลสเบี้ยน, ไบเซ็กช่วล, ทรานส์เจนเดอร์ และอินเตอร์เซ็ก) และพนักงานบริการทางเพศ โดยผลจากแนวคิดเรื่องเพศว่ามีเพียงหญิงและชายทำให้มองไม่เห็นปัญหาในหลายบริบท

“ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนอย่างมากด้านสุขภาพ การรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทำให้แอลบีที ซึ่งหมายถึงบุคลิกภาพของผู้หญิงหายไปในบริบทนี้ แทนที่ด้วยการตีตราคนที่หลากหลายทางเพศไปบวกรวมกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การแพร่ระบาดของเอดส์ และถูกลดระดับลงแค่เรื่องการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น ซึ่งบริบทของชีวิตทางเพศเรามีมากกว่านั้น”

สิ่งที่ขาดหายไปทำให้คนในสังคมไทยมองความหลากหลายทางเพศมีแค่เกย์กับกระเทยเท่านั้น แต่ในบริบทความรุนแรงต่อผู้หญิงยังมีเลสเบี้ยน ทรานส์เจนเดอร์ที่เป็นชายและหญิงข้ามเพศ รวมถึงอินเตอร์เซ็กที่ยังไม่ถูกพูดถึง สิ่งเหล่านี้หายไปจากรายงานและบริบทความคิดเรื่องความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศในสังคมไทย การถูกมองไม่เห็นทำให้ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรง ถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียนในโรงเรียน ในครอบครัวถูกเบียดขับ ถูกบังคับให้แต่งงานกับเพศตรงข้าม กล่าวคือถูกข่มขืนโดยครอบครัวของตัวเอง

“ในส่วนพนักงานบริการทางเพศ กลุ่มที่ถูกตีตรามากที่สุดคือกลุ่มทรานส์เจนเดอร์หรือกลุ่มกระเทย ในบริบทของความเป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ เราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ทั้ง 24 ชั่วโมง มันเป็นอาชีพและการบริการอย่างหนึ่ง ใน 24 ชั่วโมงอาจมีเรื่องทางเพศแค่เพียงครึ่งชั่วโมง แต่เราถูกเหมารวมว่านั่นคือบริการที่ขัดต่อศีลธรรม ถูกผลักอยู่ในพื้นที่สีเทา จาก พ.ร.บ.ปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งมีคนบอกว่ามีการยกเลิกข้อหานี้ไปนานแล้ว แต่ไม่มีการยืนยันว่ายกเลิกจริงหรือไม่ ความคลุมเครือด้านการบังคับใช้กฎหมายทำให้พนักงานบริการทางเพศเผชิญการถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจากนายจ้างหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย และยังถูกกระทำซ้ำในสื่อท้องถิ่นและแปะป้ายการเป็นเซ็กส์ เวิร์คเกอร์ สิ่งที่เราอยากเห็นที่สุด ถ้าเป็นไปได้คือการยกเลิก พ.ร.บ.การปราบปรามการค้าประเวณี”

อยู่กับป่า แต่ใช้ป่าไม่ได้ เมื่อชุมชนไม่มีสิทธิจัดการทรัพยากร

ขณะที่ คะติมะ หลี่จ๊ะ จากเครือข่ายสตรีชนเผ่าแห่งประเทศไทย ในประเด็นการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบัน กฎหมาย กฎระเบียบ และคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาทำให้คนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชนเผ่ามาก

“คำสั่งที่ 66/2557 ทำให้เราถูดยึดที่ทำกินคืน มันไม่ได้กระทบแค่ผู้หญิง แต่กระทบทั้งครอบครัว ยึดทั้งที่ดิน ยึดไม้ที่เราสร้างบ้าน เราอยู่กับป่า แต่เราใช้ป่าไม่ได้ แล้วจะส่งลูกเรียนยังไง พ่อแม่จะอยู่ยังไง แล้วยังมีคดีตามมาอีก กฎหมายไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราเลย”

คะติมะ กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนไม่มีสิทธิในการการจัดการทรัพยากรเลย จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนการออกโฉนดชุมชน เนื่องจากเอื้อให้ชุมชนสามารถจัดการได้ตามวิถีชีวิตของตนจริง อีกทั้งในการออกกฎหมายควรมีตัวแทนเจ้าของปัญหาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาร่วมกัน

กม.มุ่งคุ้มครองสถาบันครอบครัวมากกว่าปกป้องเหยื่อ

บุษยาภา ศรีสมพงษ์ มูลนิธิสุวรรณนิมิต กับประเด็นความรุนแรงในครอบครัว สิทธิของผู้หญิงแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย กล่าวว่า พื้นที่การทำงานอยู่บริเวณแม่สอด ชายแดนไทย-พม่า กรณีความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้หญิงกว่าร้อยละ 90 ไม่ว่าจะเป็นคนไทย แรงงานข้ามชาติ หรือผู้ลี้ภัย โดยแต่ละกลุ่มจะมีความละเอียดอ่อนต่างกัน เธอกล่าวว่า

“การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะผ่านไปสู่กระบวนการยุติธรรมหรือออกมาพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องเศรษฐกิจ ความอับอาย สังคมไม่สนับสนุน และยังถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องยากลำบาก”

บุษยาภายังกล่าวถึง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีมาแล้ว 10 ปี เธอตั้งข้อสังเกตว่าการที่กฎหมายฉบับนี้พูดถึงการคุ้มครองสถาบันครอบครัวและการปกป้องเหยื่อในฉบับเดียวกันเป็นการสับสนของการใช้กฎหมายหรือไม่ และแม้ว่ามีการอบรมผู้ใช้กฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไกล่เกลี่ยโดยมุ่งรักษาคุ้มครองสถาบันครอบครัว แล้วร่างกฎหมายคุ้มครองสวัสดิการครอบครัวที่กำลังมีการผลักดันก็ยิ่งมุ่งเน้นการไกล่เกลี่ย ถึงกับมีมาตราหนึ่งระบุว่า ถ้ามีการฟ้องหย่า ให้เจ้าหน้าที่นัดให้มีการไกล่เกลี่ยกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากสำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ตัดสินใจจะก้าวออกจากกรอบมายาคติของสังคม แต่พอก้าวสู่กระบวนการยุติธรรมกลับถูกให้ไกล่เกลี่ย

นอกจากนี้ บุษยาภายังมองว่า ผู้กระทำผิดคือเหยื่อรายแรก เนื่องจากไม่มีใครเกิดมาเป็นผู้กระทำผิด แต่ต้องเจออะไรบางอย่างมาก่อนจนทำให้ผู้กระทำผิดใช้ความรุนแรง มาตรการเยียวยาและบำบัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ค่อยมีการใช้มาตรการบำบัดกับผู้ถูกกระทำผิด โดยไม่มองย้อนกลับไปในอดีตของผู้กระทำผิดแต่อย่างใด

“ในส่วนแรงงานผู้ลี้ภัยก็อยากเน้นแรงงานในบ้าน กฎหมายคุ้มครองการกระทำความรุนแรงในครอบครัวควรคุ้มครองแรงงานในบ้านด้วยหรือเปล่า แรงงานข้ามชาติในบ้านเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะถูกทำร้าย ในคำนิยามบุคคลในครอบครัว ยังไม่มีการเน้นชัดว่าจะเน้นการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในบ้านด้วย อีกทั้งแรงงานที่ทำงานในบ้านก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน”

ผู้ต้องขังหญิงเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ฟันแตก 6 เดือนไม่เจอหมอ

ทิพย์รชยา สุภนิชศิริสกุล จากกลุ่มแฟรี่เทล กล่าวถึงสิทธิของผู้ต้องขังว่าค่อนข้างเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การวัดระดับสิทธิของผุ้ถูกคุมขังก็ค่อนข้างลำบาก ทั้งการนำเสนอสู่ภายนอกเองก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าสามารถเผยแพร่สิ่งที่ประสบได้มากน้อยแค่ไหน เพราะช่วงที่อยู่ในที่คุมขังก็มีกฎระเบียบของราชการที่ห้ามเผยแพร่เรื่องภายใน เธอจึงขอพูดจากประสบการณ์ที่ทางกลุ่มของเธอเคยนำเสนอ

“การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะผ่านไปสู่กระบวนการยุติธรรมหรือออกมาพูดเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องยากมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องเศรษฐกิจ ความอับอาย สังคมไม่สนับสนุน และยังถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องยากลำบาก”

“เรื่องการคัดกรองสุขภาพและร่างกายของผู้ต้องขัง ไม่ได้ถูกดำเนินการอย่างชัดเจน แรกที่เข้าไปจะมีการตรวจร่างกายภายนอกมากกว่า ก่อนรับตัวเข้าสู่เรือนจำเพื่อบันทึกเป็นประวัติ โดยยังไม่ขอกล่าวถึงการตรวจภายใน เพราะเหมือนการตรวจค้นหาสิ่งที่อาจซุกซ่อนสิ่งของต้องห้ามเข้าไป ไม่ใช่การตรวจสุขภาพ”

ผู้ต้องขังยังต้องเผชิญกับสภาพแออัดภายในเรือนจำ ทิพย์รชยา กล่าวว่า ในอาคารสำหรับผู้ต้องขังหนึ่งชั้นมี 6 ห้อง มีผู้ต้องขังห้องละประมาณ 60-70 คน ทำให้ต้องนอนแบบสลับฟันปลา ไม่สามารถนอนหงายได้ ต้องนอนตะแคงไปในทางเดียวกัน

การแยกผู้ต้องขังป่วยก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะมีอาการเหมือนคนปกติทั่วไป จะถูกแยกออกไปก็ต่อเมื่อมีอาการชัดเจนเท่านั้น ส่วนการได้พบแพทย์ ง่ายที่สุดคือกรณีฉุกเฉินหรือปางตายจึงจะมีโอกาสพบแพทย์มากที่สุด ถ้าเป็นช่วงเวลาราชการต้องเป็นช่วงที่มีแพทย์อยู่ตามตารางเวลา ถ้าไม่ได้พบก็จะมียาให้ตามอาการ แต่ส่วนใหญ่เป็นแค่พาราเซตตามอล แก้ปวด แก้อักเสบ กรณีถ้าเป็นตอนกลางคืนก็ต้องไปอาคารพยาบาลก่อนเพื่อคัดกรองส่งโรงพยาบาล

“ในเคสของตัวเอง ฟันแตกหกเดือนไม่ได้พบแพทย์ ได้แต่ยาแก้ปวด แต่ก็กิน เพราะจ่ายมาแล้วต้องกิน ออกมาแล้วต้องรักษาต่อ แล้วก็มีอาการนิ้วล็อก เป็นอยู่สามสัปดาห์กว่าจะได้พบแพทย์ พอได้พบก็ฉีดยาเลยเพราะไม่ไหวแล้ว”

ทิพย์รชยาเรียกร้องไปยังรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลชีวิตและสวัสดิการของผู้ต้องขัง 5 ประเด็น คือการเข้าถึงบริการสุขภาพ, อนามัยเจริญพันธุ์ของแม่และเด็กในการเข้าถึงโภชนาการที่ได้มาตรฐาน, การเข้าถึงทรัพยากรและการใช้แรงงานของนักโทษ ควรเพิ่มค่าจ้างโดยขึ้นกับประเภทของงาน, ยกเลิกการเลือกปฏิบัติที่ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขัง และแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ต้องขังทำงานหลังจากพ้นโทษ

ร้องเจ้าหน้าที่ไม่ควรใช้ผู้หญิงเป็นโล่มนุษย์ในการเข้าตรวจค้น

นูรอัยนี อุมา มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวปัญหาที่ผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเผชิญจากกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวได้ 7 วันโดยไม่ต้องมีหมายศาล ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย แต่ก็มีที่เป็นผู้หญิงอยู่บ้าง โดยที่การควบคุมตัวไม่ได้มีการแยกสถานที่หญิง-ชายแต่อย่างใด หลายครั้งการคุมตัวผู้หญิงก็ไม่ให้ญาติเข้าเยี่ยม เธอบอกว่าตอนนี้มีผู้หญิงถูกคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธมาแล้ว 4 วัน โดยอนุญาตให้ญาติยื่นของให้เท่านั้น แต่ไม่ให้พูดคุยกัน

อีกทั้งการปิดล้ออมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ หลายครั้งมีการใช้ผู้หญิงเป็นโล่มนุษย์ โดยให้ผู้หญิงเดินนำ มีเจ้าหน้าที่เดินตาม และยังมีการใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือต่อรองให้ฝ่ายชายเข้ามอบตัว

“การปฏิบัตงานของเจ้าหน้าที่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้หญิงและเด็ก ทั้งควรทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษว่ามีประสิทธิภาพในการแก้ไขหรือไม่”

รัฐ-เอกชนใช้กฎหมายคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ด้าน ศิริกาญจน์ เจริญศิริ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ว่า ปัจจุบัน ผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการคุกคามจากรัฐหรือเอกชน โดยรูปแบบการคุกคามวิธีหนึ่งคือการใช้กฎหมายฟ้องดำเนินคดี เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายคอมพิวเตอร์ หรือมาตรา 116 ในกฎหมายอาญา ซึ่งถูกใช้มากขึ้นหลังรัฐประหาร

อีกส่วนหนึ่งคือการใช้คำสั่งพิเศษที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประกาศใช้ ก็ถูกนำมาคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น คำสั่งห้ามชุมนุมที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายและตีความกว้างมาก จนชุมชนไม่สามารถออกมารวมตัวได้ การจัดเสวนาทางวิชาการถูกจำกัดโดยคำสั่งที่ 3/2558 ทั้งยังมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะที่ถูกใช้จำกัดการเคลื่อนไหว

“มีการฆาตกรรมผู้หญิงซึ่งเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า นี่สะท้อนว่ารัฐไทยล้มเหลว และแสดงให้เห็นว่ามีความจริงใจแค่ไหนในการสอบสวนและนำคนผิดมาลงโทษ ภาพรวมในการทำงานของนักสิทธิมนุษยชน รัฐไทยยังขาดกลไกในการปกป้องคุ้มครองและอำนวยความสะดวก หรือการเข้าถึงความยุติธรรมกรณีทนายสมชาย กรณีบิลลี่ จะเห็นว่าคนในครอบครัวหรือผู้หญิงมีบทบาทมากในการเรียกร้องสิทธิ และเราก็พบว่ากรณีการบังคับสูญหายยากมากที่เหยื่อจะได้รับความเป็นธรรม อยากให้พิจารณาด้วยว่า ผู้หญิงที่ต้องดูแลครอบครัวและก้าวออกมาทำหน้าที่ตรงนี้เป็นสิบปีแล้วก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม มันเป็นความรุนแรงระดับโครงสร้างและกฎหมาย”

‘จรัล’ ยันมีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ในการถ่ายทอดสดการพิจารณารายงานซีดอว์ช่วงหนึ่งมีการตั้งคำถามต่อมาตรา 27 วรรค 3 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจะกระทำมิได้ว่า การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมคืออะไรในเมื่อการเลือกปฏิบัติย่อมไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มาตรา 27 การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อาจฟังดูแปลก เพราะไม่มีการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรม แต่เหตุผลที่มีการคุยในศาลรัฐธรรมนูญมาจากข้อคิดว่าการเลือกปฏิบัติ มีข้อยกเว้น เรียกว่าการเลือกปฏิบัติแบบวัตถุวิสัย เป็นสิ่งที่ทำด้วยเหตุผลเพื่อสร้างความเป็นธรรม จึงถือเป็นข้อยกเว้นในกฎปฏิบัติ ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 ก็มีการใช้คำนี้ และศาลรัฐธรรมนูญก็ตีความว่า การปฏิบัติที่แตกต่างกันต่อเรื่องเดียวกันอาจจะมีวัตถุประสงค์ที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท