เริ่มพิจารณาคดีนักกิจกรรมฟ้องละเมิดเรียกค่าเสียหาย คสช. เหตุสลายชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร

เริ่มแล้ว ศาลแพ่งกรุงเทพใต้สืบพยานคดีนักกิจกรรม ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 16 ล้าน เหตุถูกสลายชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร หน้าหอศิลปฯ กทม. พยานยันเพียงชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดสิทธิของพวกตน

ภาพเหตุชุมนุมรำลึก 1 ปี รัฐประหาร หน้าหอศิลปฯ กทมเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558

19 ก.ค 2560 วานนี้ (18 ก.ค.60) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีนัดสืบพยานคดีที่กลุ่มนักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ 13 คน ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก และสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหาย และค่าสินไหมทดแทนเรียก 16,468,583 บาท ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากเหตุเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังควบคุมตัวโจทก์ด้วยความรุนแรง ในระหว่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ทำกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการสืบพยานในวันแรก ว่า โจทก์ผู้ฟ้องคดีขึ้นเบิกความได้ 7 คน แต่การสืบพยานฝ่ายโจทก์บางปากเป็นการทำคำเบิกความยื่นต่อศาลก่อนและส่งให้ฝ่ายจำเลยได้นำไปพิจารณาถามค้านฝ่ายโจทก์การเบิกความ การสืบพยานในศาลวันนี้จึงไม่ได้เป็นการเบิกความต่อศาลในรายละเอียดทั้งหมด

โจทก์ทั้ง 7 คนเบิกความสอดคล้องกันว่าพวกตนเพียงมายืนเฉยๆ ดูนาฬิกาเป็นเวลา 15 นาที และพูดเกี่ยวกับสิ่งที่ คสช. ทำในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงกิจกรรมรำลึกจึงมาเข้าร่วมกันจากการเห็นโพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊ก แต่เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้ไม่กี่นาทีก็มีเหตุการณ์จับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่มีการแจ้งเตือนก่อนและไม่แจ้งว่าพวกตนกระทำความผิดตามข้อหาใด อีกทั้งยังมีการใช้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในการจับกุมผู้ชุมนุม

พวกเขายังเบิกความถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ว่าการจับกุมเป็นการฉุดกระชากไปและถูกนำตัวไปควบคุมเอาไว้ที่สน.ปทุมวันเป็นเวลาประมาณ10ชั่วโมง โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

นอกจากนั้นโจทก์บางคนยังได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เช่นน.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปโดยการฉุดกระชากทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ขาเป็นแผลเป็น โดยหลังถูกจับกุมเธอไม่ได้รับการปฐมพยาบาลจากเจ้าหน้าที่แม้ว่าจะมีการขอชุดปฐมพยาบาลแล้ว จนกระทั่งถูกนำตัวไปจนถึงสน.ปทุมวัน จึงมีเจ้าหน้าที่นำน้ำเกลือมาให้ทำความสะอาดแผล

ชลธิชา แจ้งเร็ว ที่เบิกความถึงเหตุการณ์ขณะที่ตนถูกจับกุมว่า ตนทราบว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วที่บริเวณเสาไฟบนลานหน้าหอศิลปฯ ด้านที่ใกล้กับถนนพญาไท ไม่ใช่แค่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้นที่ทราบแต่นักข่าวและเจ้าหน้าที่เองก็ทราบเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่เจ้าหน้าที่ได้มีการผลักดันคนที่มาทำกิจกรรมไปทางบริเวณดังกล่าว พวกตนจึงย้ายห่างจากจุดที่มีไฟฟ้ารั่วออกไปราว 10 เมตร แล้วนั่งลงบนลาน แต่ในตอนที่เจ้าหน้าที่ฝ่าวงนักข่าวเข้ามาจับกุม ตนและคนที่นั่งคล้องแขนกันอยู่รู้สึกได้ว่าถูกไฟฟ้าช๊อต ถูกทำร้ายที่สะโพกซ้าย ทำให้ได้รับบาดเจ็บร่างกายซีกซ้ายที่รู้สึกชาและที่แขน

ชลธิชา เบิกความว่าตนยังถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ชายก่อนที่จะมีนักข่าวเข้ามาถ่ายภาพขณะที่ตนกำลังถูกจับกุมจึงมีการเรียกเจ้าหน้าที่ผู้หญิงเข้ามาจับกุมตัวเธอแทน ทนายจำเลยจึงได้ถามในประเด็นนี้ว่าในกิจกรรมดังกล่าวยังมีผู้ที่เข้าร่วมเป็นตุ๊ด หรือกะเทยด้วยจึงอาจจะทำให้เจ้าหน้าที่สับสนใช่หรือไม่ เธอยืนยันว่าต่อให้มีอยู่ เจ้าหน้าที่ก็ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงในการจับกุม และเจ้าหน้าที่รัฐควรจะมีความเซนซิทีฟในเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

นอกจากนั้นโจทก์ทั้ง 7 คนทราบว่าในช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงที่มีการรัฐประหารอยู่ มีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 อยู่ แต่การชุมนุมของพวกตนเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวด้วย

ณพัทธ์ นรังศิยา ได้เบิกความประเด็นนี้เอาไว้ว่าตนทราบว่าในช่วงที่เกิดเหตุประเทศไทยมมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 และมีการประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.ซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปอยู่ แต่ตนเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าสามารถมาชุมนุมแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองได้ เพราะจากที่ตนเล่าเรียนมารัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าหากกฎหมายระดับรองลงมามีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญย่อมใช้ไม่ได้ ซึ่งประกาศคำสั่งของ คสช. ถือว่ามีศักดิ์น้อยกว่ารัฐธรรมนูญ

สาเหตุที่พวกเขาทั้ง 7 มาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายคนละประมาณ 1,200,000 บาท เพราะเห็นว่าการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดสิทธิไม่เพียงเฉพาะกับร่างกายแต่ในทางจิตใจด้วย ซึ่งเสรีภาพไม่สมารถตีมมูลค่าเป็นจำนวนเงินได้ อีกทั้งต้องการแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ละเมิดสิทธิประชาชนแบบนี้อีก

ทั้งนี้ทนายความฝ่ายจำเลยได้มีการถามโจทก์ทั้ง 7คน ในประเด็นที่ว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่ใกล้กับเขตพระราชฐานหรือไม่ พวกเขาทั้ง 7 คนยืนยันว่าบริเวณที่ตนเองอยู่ขณะเกิดเหตุอยู่ห่างจากวังสระปทุมและไม่ได้อยู่ในเขตพระราชฐาน

การสืบพยานในคดีนี้เป็นการสืบต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อวานนี้ถึงวันศุกร์ที่ 21 นี้ และสืบอีกครั้งในสัปดาห์หน้าตั้งแต่วันที่ 25-28 ก.ค. และในวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 โดยจะเป็นการสืบพยานโจทก์ก่อนจนถึงวันที่ 25 ก.ค. พยานที่จะขึ้นเบิกความ เช่น โจทก์ทั้ง 13 คน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักวิชาการ นักข่าว ผู้สังเกตการณ์จากองค์กร NGO กสม. ส่วนพยานฝ่ายจำเลยจะเริ่มสืบตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นไป พยานฝ่ายจำเลยเช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์  พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท