รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ-เก็บภาษีบรรษัทรวยๆ

วอลสตรีทเจอนัลรายงานว่ารัฐบาลชุดใหม่ของเกาหลีใต้ ที่นำโดยประธานาธิบดี มุน แจอิน กำลังวางแผนขึ้นภาษีกับคนรวยและบริษัทใหญ่ๆ เพื่อนำมาใช้กับการสร้างงาน โดยวางแผนจ้างงานภาครัฐ 8 แสนตำแหน่ง ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 16% รวมถึงตั้งงบประมาณเสริม ทั้งหมดนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รองรับสังคมสูงอายุ

มุน แจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อ 10 พฤษภาคม 2560 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/Korea.net)

 

3 ส.ค. 2560 มุน แจอิน ผู้นำคนใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับกระแสในโลกตะวันตก ด้วยการเน้นเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนอื่นๆ ในขณะที่สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่างก็ปรับลดภาษีบรรษัท

การกำหนดแผนการเศรษฐกิจในครั้งนี้มาจากคำมั่นสัญญาที่พวกเขาให้ไว้นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ต้องการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มรายได้ครัวเรือน ต่างจากพรรคอนุรักษ์นิยมก่อนหน้านี้ที่เน้นพึ่งพาการส่งออกขนาดใหญ่

นอกจากนี้มุน แจอิน ยังพยายามเพิ่มงานในภาคส่วนของรัฐมากขึ้น 810,000 ตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นนักดับเพลิง ตำรวจ และนักสังคมสงเคราะห์ แผนการนโยบายเศรษฐกิจของมุนแจอินจะใช้งบประมาณ 160,000 ล้านดอลลาร์ โดยในตอนนี้มีการตั้งงบประมาณเสริมแล้ว 10 ล้านดอลลาร์ โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 16 ทั้งนี้เป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

กระทรวงยุทธศาสตร์และการคลังของเกาหลีใต้เปิดเผยกฎหมายภาษีใหม่โดยเน้นเก็บภาษีจากคนรายได้สูง โดยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ในสองช่วงชั้นบนสุดของผู้เสียภาษี ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 270,000 ดอลลาร์ต่อปีจะไม่มีการปรับเพิ่ม ในแง่ของอัตราภาษีบริษัทใหญ่ๆ รัฐบาลมุนแจอินมีแผนการปรับเพิ่มภาษีบริษัทที่ทำกำไรสุทธิราว 180 ล้านดอลลาร์ต่อปีอีกร้อยละ 3 เป็นสูงสุดร้อยละ 25 ส่วนบริษัทที่ทำกำไรน้อยกว่าเกณฑ์นี้จะไม่ถูกปรับเพิ่ม

แผนการนี้จะทำให้บริษัทซัมซุงอิเล็กโทรนิคที่จ่ายภาษีบรรษัท 2,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วจะต้องจ่ายภาษีบรรษัทเพิ่มอีกราว 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทางบริษัทปฏิเสธจะให้ความเห็นในเรื่องแผนการปรับภาษีใหม่นี้

ถึงแม้ปัก จูกันกันประธานหน่วยงานการบริหารจัดการบรรษัท "ซีอีโอสกอร์" จะมองว่าภาษีบรรษัทจะส่งผลกระทบในมุมมองของธุรกิจ แต่รัฐบาลมุนแจอินก็มองว่าการปรับภาษีบรรษัทใหญ่เพิ่มเป็นสิ่งจำเป็นต่อนโยบายปีงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ชะลอตัวมาเป็นเวลานานจากที่เคยเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วงรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมเคยมีการปรับลดภาษีบรรษัทใหญ่และไม่มีการปรับเพิ่มอีกเลยนับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน

ฝ่ายผู้วิจารณ์นโยบาย มุน แจอิน ยังมองว่าการปรับเพิ่งภาษีบรรษัทใหญ่อาจจะส่งผลเสียต่อด้านการลงทุน ด้านการจ้างงาน การปรับราคาสินค้าเพิ่ม หรือทำให้เกิดเงินเฟ้อ

แต่ทางรัฐบาลเกาหลีใต้ก็บอกว่าภาคเอกชนไม่สามารถทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นได้เป็นเวลานานแล้ว รวมถึงประเทศเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับปัญหาประชากรที่เริ่มกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงวัยจำนวนมากและอัตราการเกิดต่ำ ทั้งนี้ สถาบันการคลังสาธารณะเกาหลี (Korea Institute of Public Finance) ประเมินว่าการปรับเพิ่มภาษีบรรษัทร้อยละ 1 จะลดการจ้างงานลงร้อยละ 0.5 และลดรายได้ของบรรษัทลงร้อยละ 0.6

อย่างไรก็ตามแผนการของมุนแจอินยังต้องผ่านการพิจารณาจากในสภา โดยที่พรรคของมุนแจอินมีที่นั่งในสภา 120 ที่นั่งจาก 300 ที่นั่ง และแผนการนี้ต้องผ่านการลงมติจากเสียงข้างมากในสภา ทำให้มุนแจอินต้องพยายามหาความเห็นชอบจากพรรคอื่นๆ ซึ่งวอลสตรีทเจอนัลรายงานว่ามุนแจอินหาการสนับสนุนสำเร็จในที่สุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

เรียบเรียงจาก

Tax Reform in Korea: Higher Rates to Fund a Higher Minimum Wage, Wall Street Journal, 02-08-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท