นักกิจกรรมเวียดนามถูกจับข้อหาโค่นล้มรัฐบาล หันมองไทย เสรีภาพชนความมั่นคง ใครจะชนะ

คุยกับลูกชายของบาทหลวงผู้ถูกจับกุม เผย พ่อวิจารณ์นโยบายรัฐ เคลื่อนไหวด้านสิทธิ เคยโดนอุ้มทำร้ายจนเข่าแตกเดินไม่สะดวก กังวลถูกจับตอนสุขภาพไม่ดี ย้ำพลเมืองให้รักษาสิทธิก่อนจะเป็นเหมือนพ่อตน หันกลับมามองไทย ความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ผิดจริงหรือแค่ปิดปาก ตัวแบบสหรัฐอเมริกา: ประกันเสรีภาพการพูดถ้าไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ “ชัดแจ้ง”

เมื่อ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทม์ รายงานว่า รัฐบาลเวียดนามได้จับกุมบาทหลวง นักเขียนและนักกิจกรรมรวม 4 คนด้วยข้อหาพยายามโค่นล้มรัฐบาลคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนท่าทีของอำนาจรัฐที่ไม่มีน้ำอดน้ำทนกับผู้แสดงความไม่พอใจในสังคม สวนทางกับการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจให้กับการลงทุนและค้าขายกับต่างชาติ

ในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. ก็มีการจับกุมนักกิจกรรมชื่อทรานธิงา(Tran Thi Nga) ด้วยข้อหาเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล ศาลตัดสินจำคุก 9 ปี และเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามได้ทำการจับกุมเหงียนง็อกหงูเควน (Nguyen Ngoc Nhu Quynh) บล็อกเกอร์ชื่อดังที่รู้จักกันในนาม Mother Mushroom ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกัน ศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 10 ปี โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและประเทศตะวันตกบางประเทศ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติหลายกลุ่มได้วิพากษ์วิจารณ์การจับกุมและเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามปล่อยตัวนักกิจกรรมและบล็อกเกอร์คนดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามระบุว่า ไม่มีนักโทษการเมืองในเวียดนาม ผู้ถูกขังคุกมีแค่คนที่ทำผิดกฎหมาย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ nguyen trung ton

เหงียนตรุงตอน กับข้อความรณรงค์ยกเลิกมาตรา 4 ที่เอฟฟี่แปลให้ฟังว่ามีใจความเกี่ยวกับการให้อำนาจำพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเพียงพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว (ที่มาภาพ: baocalitoday)

หนึ่งในผู้ถูกจับกุมเป็นบาทหลวงในศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ชื่อว่า เหงียนตรุงตอน (Nguyen Trung Ton) บาทหลวงคนดังกล่าวมีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่า เหงียนตรุงตรอมเหงีย (Nguyen Trung trom Nghia) หรือเรียกด้วยชื่อเล่นว่า เอฟฟี่ (Effy) ที่คงจะเปรียบเทียบได้ว่าเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น โดยเป็นนักกิจกรรมต้องออกมาจากประเทศฐานเป็นพวกปฏิกิริยา (Reactionary) ปัจจุบันเป็นยูทูบเบอร์และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนที่ติดบัญชีดำของรัฐบาลเวียดนามและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ภายหลังออกมาศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 5 ปี โดยเจ้าตัวอาศัยที่กรุงมะนิลามาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว

ประชาไท คุยกับเอฟฟี่ ถึงเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมาของพ่อบังเกิดเกล้า กระบวนการทางกฎหมายที่กำลังจะประเดประดังลงมาใส่ตัวบาทหลวงนักกิจกรรม และชวนย้อนกลับมามองสิ่งที่เกิดแล้วและที่กำลังดำเนินไปในสยามเมืองยิ้มกับกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับกฎหมายที่ใช้จับกุมนักกิจกรรมในเวียดนาม ชวนถกเถียงหาเพดานบนคำถามที่ว่า รัฐปิดปากเสรีชนได้มากน้อยแค่ไหน และเปิดคำพิพากษาคดีจากสหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งตัวอย่างการประกันเสรีภาพการพูดอย่างเสมอกันกับสมาชิกกลุ่มคูคลักซ์แคลน

ประชาไท: ช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ ของพ่อให้ฟังด้วย

เหงียนตรุงตรอมเหงีย หรือเอฟฟี่ ลูกชายของบาทหลวง เหงียนตรุงตอน

เอฟฟี่: พ่อผมเป็นบาทหลวง เกษตรกรและนักกิจกรรม พ่อเป็นประธานกลุ่มภราดรภาพประชาธิปไตย (Brotherhood for Democracy) นอกจากนั้นเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน ความล้มเหลวของนโยบายในการสร้างระเบียบและความปลอดภัยให้กับสังคมและประเทศชาติให้กับสำนักข่าวฝ่ายซ้าย ซึ่งอย่างหลังทำให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และถูกคุมขังในบ้าน 2 ปี

ครั้งนี้พ่อถูกจับเพราะว่าร่วมกับกลุ่มภราดรภาพฯ เดินทางไปให้ความรู้กับในเรื่องหลักนิติธรรมและประชาธิปไตยให้กับผู้คนต่างจังหวัด การกระทำเช่นว่าส่งผลให้พ่อและเพื่อนถูกทุบตีอย่างโหดร้ายหลายๆ ครั้ง

พ่อยังให้ความช่วยเหลือด้านการขนส่งให้กับเหยื่อของการยึดแย่งที่ดินอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล ในปี 2559 โรงงานของบริษัท Formosa สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงในเวียดนามตอนกลาง พ่อก็เดินทางไปช่วยเหลือในการขนย้ายคนออกมา รวมถึงให้การสนับสนุนในการเรียกร้องความยุติธรรม กลุ่มภราดรภาพฯ ภายใต้การนำของพ่อทำให้เหยื่อที่อยู่ในพื้นที่ผลกระทบสามารถเดินทางไปเรียกร้องความยุติธรรมกับบริษัท Formosa ที่ไทเป ประเทศไต้หวันอันเป็นต้นทางของบริษัท

เอฟฟี่เล่าว่า ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การจับกุมก็พอรู้อยู่แล้ว แต่ไม่คิดว่าจะมาจับพ่อตอนที่สุขภาพไม่ดี เพราะเดินเหินลำบาก รวมทั้งปอดและสายตามีปัญหา เอฟฟี่เล่าปากคำของพ่อเกี่ยวกับสาเหตุที่พ่อเดินเหินไม่สะดวกว่า เป็นเพราะพ่อและเพื่อนอีกสองคนเคยถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ซึ่งสาเหตุที่พ่อคิดว่าเป็นตำรวจเพราะว่าการเข้าจับกุมและควบคุมตัวนั้นกระทำอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการพูดคุยผ่านวิทยุสื่อสารอยู่ตลอด เมื่อจับพ่อและเพื่อนพ่อขึ้นรถแล้ว กลุ่มคนดังกล่าวมัดเหยื่อด้วยเชือก ถอดเสื้อของเหยื่อออกจนเหลือแต่กางเกงชั้นใน จากนั้นจึงลงมือทุบตีเหยื่อทั้งสามเป็นเวลาถึง 6 ชั่วโมง ส่งผลให้พ่อของเอฟฟี่เข่าแตก เมื่อทุบตีเสร็จแล้วก็โยนเหยื่อทั้งสามออกไปที่ป่าข้างทาง โดยเหยื่อทั้งสามได้ช่วยเหลือกันจนไปถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ ได้

กฎหมายข้อไหนของเวียดนามที่นำไปสู่การจับกุม ตามกระบวนการทางกฎหมาย จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

กฎหมายอาญามาตรา 79 “โค่นล้มรัฐบาลประชาชน” โดยใจความของกฎหมายมีอยู่ว่า

มาตราที่ 79 - ผู้ใดกระทำการโค่นล้ม จัดตั้งกลุ่ม หรือเข้าร่วมกลุ่มที่มีเจตนาโค่นล้มรัฐบาลประชาชน มีโทษดังต่อไปนี้

  1. ผู้จัดงาน ผู้ยุยงและผู้เข้าร่วมงาน หรือผู้ที่ทำให้เกิดผลกระทบอันร้ายแรง จะต้องพูกลงโทษจำคุก 12-20 ปี จำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต

  2. ผู้สมรู้ร่วมคิดมีโทษจำคุก 5-15 ปี

(ที่มา:vietlaw.biz)

ตามกฎหมายเวียดนาม ตำรวจสามารถทำการกักขังผู้ต้องสงสัยที่ยังไม่ได้เข้ากระบวนการไต่สวนในสถานกักกันได้นานสุด 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ในคดีการเมืองแบบนี้มักจะถูกกักขังเป็นเวลา 1-2 ปี ซึ่งหลายคดีไม่อนุญาตให้ญาติเข้าเยี่ยม ก่อนจะนำขึ้นศาลเพื่อไต่สวน และคำตัดสินก็ได้เตรียมเอาไว้ก่อนแล้ว

แล้วใครคือคนที่โดนจับไปพร้อมกัน ร่วมกันเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

สามคนที่เหลือมาจากองค์กรเดียวกัน ทำกิจกรรมในประเด็นเดียวกัน และโดนความผิดมาตราที่ 79 เหมือนกัน ได้แก่

  1. ฟามวานโตรย อดีตประธานกลุ่มภราดรภาพฯ

  2. เหงียนบัคเตรียน อดีตสมาชิกกลุ่มภราดรภาพฯ

  3. ตรวงมินฮ์ดุ๊ก ตัวแทนกลุ่มภราดรภาพฯ จากภาคใต้

อยากบอกอะไรกับสาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการแรก กฎหมายเวียดนามยังคงเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จับอาชญากรได้ยาก แต่จับคนที่แสดงความไม่พอใจในทางการเมืองได้อย่างแข็งขัน ต้องยกเลิกมาตรากฎหมายที่หาสาระไม่ได้อย่างมาตรา 79 (กล่าวถึงแล้ว) มาตรา 88 ที่พูดถึงการใช้โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐ และมาตรา 258 ที่พูดถึงการใช้เสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยมาขัดขวางผลประโยชน์แห่งรัฐ เพื่อเป็นการปกป้องกลุ่มที่คิดต่างในเวียดนาม สอง พ่อผมเป็นคนดี ซื่อสัตย์และจงรักภักดีมาก สิ่งที่พ่อทำไปก็ทำไปเพราะรักประชาชน และเขาไม่สมควรที่จะถูกจับและถูกเหยียดหยามแบบนี้ และสุดท้าย ขอให้ทุกคนรักษาสิทธิที่พลเมืองพึงมีเอาไว้ด้วยชีวิต ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งคุณอาจจะมีจุดจบเหมือนกับพ่อผม

หันมามองไทย หาบรรทัดฐานดำเนินคดีฐานยุยงปลุกปั่นกับ ผิดจริงหรือแค่ปิดปาก

ในไทยเองก็มีมีกฎหมายที่เอาผิดต่อผู้พยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ระบุเอาไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 116 ในประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ใจความว่า

“มาตรา ๑๑๖ ผู้ใดกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

         (๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย

         (๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

         (๓) เพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”

(ที่มา:iLaw)

ไอลอว์ ยังระบุว่า หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 มีการจับกุม และดำเนินคดีผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองกับคณะรัฐประหารจำนวนมาก นับจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มีการนำข้อหามาตรา 116 มาใช้อย่างน้อย 10 คดี มีประชาชน นักกิจกรรม ผู้สื่อข่าวรวมถึงนักการเมืองตกเป็นผู้ต้องหาอย่างน้อย 25 คน และคดีส่วนใหญ่ถ้าไม่ถูกยกฟ้องก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีใครถูกตัดสินว่ามีความผิดแม้แต่คนเดียว ดังนั้น ลักษณะของการใช้กฎหมายมาตรา 116 ที่เห็นจึงเป็นเพียงการใช้กฎหมายขู่ให้กลัวและเพิ่มต้นทุนในการแสดงความคิดเห็น

ล่าสุด ในวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ประวิตร โรจนพฤกษ์ นักข่าวอาวุโสจากข่าวสดอิงลิช ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่ากระทำผิดตามมาตรา 116 ผ่านการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กประมาณ 5 ชิ้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) นอกจากนี้ นักข่าวชื่อดังยังเคยถูกเชิญเข้ารับการปรับทัศนคติในค่ายทหารมาแล้ว 2 ครั้งตั้งแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557

ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 ระบุว่า

“มาตรา ๓๔ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน...”

คำถามจึงมีอยู่ว่า บรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับการแสดงออกอย่างเสรีของประชาชนที่ได้รับการรับรองในกฎหมายสูงสุดของประเทศคืออะไร

ตัวแบบสหรัฐอเมริกา: ประกันเสรีภาพการพูดถ้าไม่นำไปสู่พฤติกรรมที่ “ชัดแจ้ง”

ในสหรัฐฯ ก็มีกฎหมายที่ใช้เอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดฐานโค่นล้มรัฐบาล ใจความว่า

“ถ้าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปในมลรัฐหรือดินแดนใดๆ ภายใต้กระบวนการยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ สมคบคิดกันโค่นล้ม ปราบปราม ใช้กำลังทำลาย ประกาศสงคราม หรือใช้กำลังต่อต้านอำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือใช้กำลังในการยับยั้ง ทำให้การดำเนินการตามกฎหมายชักช้าลง หรือใช้กำลังยึดครองทรัพย์สินของสหรัฐฯ จะต้องได้รับโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 20 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ” 

แต่ภายใต้กระบวนการกฎหมาย ศาลไม่สามารถเอาผิดกับจำเลยด้วยข้อหาดังกล่าวหากผลของการก่อการไม่ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดแจ้ง โดยคดีที่เป็นหมุดหมายสำคัญของการตีความดังกล่าว (Landmark case) ได้แก่คดีระหว่าง แคลเรนซ์ แบรนเดนเบิร์กและศาลมลรัฐโอไฮโอเมื่อปี 2512 แบรนเดนเบิร์กเป็นแกนนำกลุ่มเชื้อชาตินิยมผิวขาวหัวรุนแรง คู คลักซ์ แคลน (Ku Klux Klan-KKK) ซึ่งมีที่ตั้งในป่าของเมืองซินซินเนติ ในหน้าร้อนปี 2507 แบรนเดนเบิร์กได้ชวนให้นักข่าวท้องถิ่นไปรายงานข่าวในงานรณรงค์ของกลุ่ม นักข่าวได้บันทึกวิดีโองาน ซึ่งภายในงานนั้นมีการใช้คำพูดที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) เหยียดหยามและปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกับเชื้อชาติต่างๆ กล่าวหาประธานาธิบดี สภาคองเกรสว่ากดขี่คนขาว รวมถึงการประกาศแผนการเดินขบวนเข้ากรุงวอชิงตัน ดีซี ในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งเป็นวันชาติสหรัฐฯ เมื่อบันทึกดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปทางโทรทัศน์ก็ได้รับผลกระทบกลับมาด้วยคำต่อว่าจากประชาชน

แบรนเดนเบิร์กถูกจับกุมหลังจากนั้น ในข้อหาการจัดงานรณรงค์และขอให้สำนักข่าวเข้ามาบันทึกงาน ถือเป็นการละเมิดกฎหมายของมลรัฐที่ห้ามการเผยแพร่สื่อที่มีความเกลียดชังและประกอบด้วยความรุนแรง โดยศาลชั้นต้นตัดสินให้แบรนเดนเบิร์กมีความผิด ต้องโทษปรับ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจำคุก 1-10 ปี โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แม้ว่าจำเลยจะบอกว่าการตัดสินดังกล่าวขัดกับบัญญัติสิทธิข้อที่หนึ่งและข้อที่ 14 ว่าด้วยเสรีภาพของการพูดและการได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียมกันของพลเมือง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับฟัง

อย่างไรเสีย ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ กลับคำตัดสินคดีของแบรนเดนเบิร์ก โดยให้ความเห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเอาผิดการสนับสนุนการให้เกิดการใช้กำลังและการละเมิดกฎหมายที่ไม่เห็นเป็นรูปธรรมได้ โดยศาลใช้เกณฑ์การชี้วัดความชัดแจ้งของผลแห่งพฤติการณ์การยุยง ปลุกปั่นให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือละเมิดกฎหมายหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า แบบทดสอบแบรนเดนเบิร์ก (Brandenburg Test) โดยใช้เกณฑ์ 2 ข้อในการชี้วัดว่ารัฐสามารถใช้กฎหมายหยุดยั้งการพูดอย่างเสรี ข้อแรก การพูดนั้นกระตุ้นหรือทำให้เกิดพฤติการณ์อันไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ข้อสอง การพูดนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นหรือทำให้เกิดการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ การถกเถียงในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ในประเด็นขอบเขตของอำนาจรัฐที่จะจัดการการยุยงปลุกปั่นได้มากน้อยเพียงใดเพื่อรักษาความปลอดภัยของสังคมไว้

เมื่อหันกลับมามองสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ระบุว่ารัฐไทยปกครองด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้ประกันเสรีภาพในการแสดงออกไว้ด้วย จะทำให้การพิพากษาในคดี 116 ที่ยังคั่งค้างอยู่ไปในทิศทางใด

อ้างอิงเพิ่มเติม

The New York Times, Vietnam Arrests 4 Activists Accused of Attempted Subversion, 30 Jul. 2017

iLaw, “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ข้อหาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในยุครัฐบาล คสช., 13 Jul. 2015

Legal Information Institute, Brandenburg Test (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Legal Information Institute, 18 U.S. Code § 2384 - Seditious conspiracy (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Wikipedia, Brandenburg v. Ohio (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

Kids.law, Brandenburg v. Ohio (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 (ค้นหาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท