นักวิชาการโต้แถลงการณ์ กกล.รส.เชียงใหม่ ไม่พูดถึงบทบาททหารสอดแนม-แทรกแซงประชุมไทยศึกษา

กรณีกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.เชียงใหม่ แถลงเรื่องฟ้องพลเมือง-นักวิชาการ 5 รายข้อหาฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ล่าสุดนักวิชาการที่ร่วมประชุมวิชาการไทยศึกษาชี้แจงว่าป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย

ภาพที่ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอในช่วงสรุปการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 3 เมื่อ 18 ก.ค. 2560 เป็นภาพทหารในเครื่องแบบเข้ามาในบริเวณที่มีการจัดการประชุมไทยศึกษา ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ (CMECC) จ.เชียงใหม่

ป้าย 'เวทีวิชาการ' 'ไม่ใช่' 'ค่ายทหาร' ในวันที่ 18 ก.ค. 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 หลังจากตลอดการจัดงานมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามารบกวนในการประชุมวิชาการ (ที่มา: คนส.)

22 ส.ค. 2560 - กรณีที่ในเว็บไซต์มติชนออนไลน์ เมื่อเวลา 21.35 น. วันที่ 21 ส.ค. เผยแพร่แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ (กกล.รส.จว.ช.ม.) ชี้แจงกรณีแจ้งความพลเมืองและนักวิชาการรวม 5 รายโดยชี้แจงว่าแจ้งความดำเนินคดีต่อบุคคลที่กระทำความผิด ไม่ได้เอาผิดต่อผู้จัดการประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดระหว่าง 15-18 กรกฎาคมที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ นั้น

ต่อมาเมื่อเวลา 22.57 น. วันที่ 21 ส.ค. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเข้าร่วมและนำเสนอผลงานวิชาการในการประชุมไทยศึกษา ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุ๊กชี้แจงกรณีแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ โดยชี้แจงว่ามี 3 ข้อที่แถลงการณ์ของกองทัพไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้า และยังระบุด้วยว่าป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ถูกนำมาติดเป็นผลมาจากทหารแทรกแซง-สอดแนมตลอดการจัดงานประชุมไทยศึกษา ผู้ร่วมประชุมต่างเอือมระอา การถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าวจึงเป็นไปเพื่อสื่อสารให้ จนท.ทหารยุติการกระทำเหล่านี้เสีย โดยข้อความชี้แจงของปิ่นแก้วมีดังนี้

“มณฑลทหารบกที่ 33 ออกแถลงการณ์และส่งให้สื่อมวลชนตอน 3 ทุ่ม
ใช้ยุทธวิธีแยกมหาลัยออกจากตัวผู้ถูกกล่าวหา 5 คน เพื่อลดแรงกดดันจากประชาคมวิชาการไทย และนานาชาติ
บิดเบือนข้อเท็จจริงเรื่องป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร"
ผลักความผิดไปให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน
โดดเดี่ยวพวกเขาจากการปกป้องของมหาลัย และประชาคมวิชาการ
และปัดความรับผิดชอบที่ตัวเองที่ส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
ยุทธวิธีประเภทนี้ มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวลง
สิ่งที่แถลงการณ์ไม่ได้พูดถึง และโกหกอย่างซึ่งหน้าคือ

1.ป้าย "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" ถูกนำมาติดในวันสุดท้าย ไม่เคยมีป้ายนี้มาก่อนตลอดงานประชุม และเป็นผลมาจากการที่ทหารเข้ามาป่วนในงาน แย่งเก้าอี้ หูฟังแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ถ่ายรูปสอดแนมผู้เสนอบทความ ราวกับเป็นสมรภูมิการเมือง ตลอดสามวันของการประชุมไทยศึกษา

2.เหล่าทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบที่เข้ามาป่วนงาน ไม่มีการลงทะเบียน ไม่มีการแจ้งผู้จัดงาน เข้ามาก่อกวนตามอำเภอใจ ราวกับเป็นพื้นที่ทหาร ทั้งที่งานประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่งานเปิดสาธารณะ เป็นงานประชุมนานาชาติที่ผู้เข้าร่วมทั้งไทยและเทศต้องจ่ายเงินลงทะเบียนมาเข้าฟัง หากไม่ได้รับเชิญจากผู้จัดงาน

3.ตลอดสามวันของการประชุมวิชาการ ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเอือมระอาต่อการกระทำของทหารเหล่านี้ การมาถ่ายรูปกับป้ายดังกล่าว และเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ในวันสุดท้าย ก็เพื่อจะสื่อสารไปยังทหาร ให้ยุติการกระทำนั้นเสีย ไม่มีการยุยงปลุกปั่นใดๆทั้งสิ้น

แล้วก็ อ้อ ไม่มีทหารคนไหนสื่อสารกับใครในงานดังที่แถลงการณ์กล่าวแต่อย่างใด
น่าแปลกที่มูลเหตุของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นจากการกระทำของทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 โดยแท้ แต่ฝ่ายทหารกลับไม่ยอมรับ กลับปั้นแต่งเรื่องราวขึ้น เพื่อจ้องจะเล่นงานนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักศึกษา อย่างไม่ลดราวาศอก
และจงใจที่จะให้เรื่องนี้เป็นชนวนทางการเมืองให้ได้?”

 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้มีดังนี้

“ตามที่ได้มีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาได้มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมประชุมวิชาการนานาชาติฯ ดังกล่าว

ทั้งนี้กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1. กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้ความสำคัญการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 รวมถึงการจัดกิจกรรมทางวิชาการอื่นๆ ของนักวิชาการ เพราะเป็นการดำเนินการที่เกิดประโยชน์ นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ ในหลายๆ ด้านอันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติต่อไป รวมทั้งยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ และไม่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง กรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด

2. ในระหว่างการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษานั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม 2560 เวลา 15.00 นาฬิกา ได้ปรากฏกลุ่มบุคคลเข้ามาภายในงานการจัดงานประชุมและได้มีการแสดงชูป้ายที่บริเวณหน้าห้องประชุม 2 ข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" ซึ่งกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ ได้มีการจัดเตรียมแผ่นป้าย อุปกรณ์ เครื่องมือในการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ หลังจากนั้นได้มีการนำมาติดบริเวณหน้าห้องประชุม หมุนเวียนกันเข้าไปถ่ายภาพกับป้ายข้อความ "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร" และนำไปลงเผยแพร่สื่อต่างๆ โดยการดำเนินการของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ ทางการเมือง ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร้องขอกับกลุ่มบุคคลดังกล่าวให้ยุติการดำเนินการ ณ จุดนั้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ

กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลที่เข้าไปเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ทั้ง 5 คน ซึ่งมิใช่เป็นการแจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 ตลอดจนการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าว จะเป็นการดำรงรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของสถาบันการศึกษากับการดำเนินงานทางด้านวิชาการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อมิให้บุคคล/กลุ่มบุคคลมาแอบแฝงแสวงหาโอกาส ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย”

แถลงการณ์ของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดเชียงใหม่ระบุ

 

อนึ่งก่อนหน้านี้ในช่วงบ่าย พลเมืองและนักวิชาการ 5 คนที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 พร้อมด้วย ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่

โดยคดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุม และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทั้งนี้ทั้ง 5 คน ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า "ข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า 'แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม' ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป" (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท