5 นักวิชาการเชียงใหม่เข้ารับทราบข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร'

นักวิชาการ-นักศึกษา 5 คน เข้ารับทราบและปฏิเสธข้อกล่าวหา คดีชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ฝืนคำสั่ง หัวหน้า คสช. ปมกิจกรรมชูป้ายข้อความว่า 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ในงานไทยศึกษา ขณะที่ 9 องค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติแถลงการณ์หนุน

 

ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri

ที่มาของภาพ: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

21 ส.ค. 2560 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (21 ส.ค.60) นักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 13.00 น. พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อ นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน โดยมี อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

คดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งห้าด้วยว่า หากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหาให้การปฏิเสธข้อหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ทั้งนี้ชยันต์ ยังกล่าวกับเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ถูกฟ้องคดีด้วยว่า "ข้อความ 'เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร' ไม่ได้มีนัยความหมายเป็นบวกหรือเป็นลบแต่อย่างใด ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อไปคำว่า 'แอปเปิ้ล ไม่ใช่ส้ม' ก็เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้อีกต่อไป" 

ประชาธรรมรายงานด้วยว่า ในระหว่างรอการให้ปากคำมีประชาชนจากหลายพื้นที่ นักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชน ทยอยมาให้กำลัง และสังเกตุการณ์เรื่อยๆ เช่น กลุ่มแม่ญิ๋งชนเผ่า( 50 คน) เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือตอนบน(กป.อพช.ภาคเหนือบน) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผู้สังเกตการณ์ เช่น ผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ กงสุลกงสุลอเมริกา เชียงใหม่ ฯลฯ

ขณะที่วันเดียวกัน เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.' เผยแพร่แถลงการณ์ 9 องค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติแถลงการณ์นานาชาติเพื่อสนับสนุน ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์นานาชาติเพื่อสนับสนุน ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ และคณะ

ในฐานะตัวแทนหรือผู้นำขององค์กรและโครงการศึกษาระดับนานาชาติ คณะผู้ออกแถลงการณ์รับทราบข่าวด้วยความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจตั้งข้อหาต่อ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบุคคลอีก 4 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ชัยพงษ์ สำเนียง นศ.ปริญญาเอกและอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (และบรรณาธิการ สำนักข่าวประธาธรรม) คุณนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียนอิสระและนักแปล ด้วยข้อหาชุมนุมทางการเมือง

การประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13 (ICTS) และ การประชุมนานาชาติของนักวิชาการด้านเอเชียศึกษา ครั้งที่ 10 (ICAS) ที่ผ่านมาไม่นานมานี้ เป็นการประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ละงานมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1300 คน จาก 37 ประเทศ (ICTS) และ 50 ประเทศ (ICAS) ตามลำดับ ถือเป็นการนำนักวิชาการจากทั่วโลกมาสู่ประเทศไทย การประชุมทั้งสองรายการได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าทรงเกียรติ ได้สร้างผลงานที่มีคุณภาพน่าชื่นชมที่มีผลกระทบสำคัญยาวนาน ดร.ชยันต์ ได้รับความไว้วางใจจากมหาวิทยาลัยต้นสังกัดให้ประสานงานเพื่อจัดการประชุมอันสำคัญนี้ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้การสนับสนุนงานทั้งสองอย่างเป็นทางการ ทักษะในการประสานงานและความเป็นผู้นำทางวิชาการของ ดร.ชยันต์ เป็นที่ชื่นชมทั่วโลก ดังที่ปรากฎให้เห็นเป็นหลักฐานในการประชุมดังกล่าว

การปรากฎตัวของเจ้าหน้าที่ทหารในการประชุมไทยศึกษาทำให้บุคคลจำนวนหนึ่งต้องยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้คือการประชุมวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร ซึ่งเป็นคำกล่าวเพื่อปกป้องสถานะทางวิชาการของการประชุม คณะผู้ร่วมแถลงการณ์มั่นใจว่าผู้อ่านก็เห็นพ้องว่า ศูนย์การประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ก็ไม่ใช่ค่ายทหารจริง เราเชื่อว่าการกล่าวข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการแสดงออกอันชอบธรรมตามสิทธิและเสรีภาพ ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2560 และเป็นการกระทำที่มิได้คุกคามความสงบเรียบร้อยของประเทศไทยแต่อย่างใด เราจึงเรียกร้องให้ถอนข้อกล่าวหาต่อ ดร.ชยันต์ และคณะตามรายนามข้างต้น ซึ่งไม่มีเจตนาที่จะละเมิดกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมทางการเมืองฉบับใด

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยอื่นๆในประเทศไทย เคยจัดประชุมวิชาการนานาชาติหลายครั้ง การจัดแต่ละครั้งนับว่ามีความสำคัญ เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ร่วมแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยที่เป็นปัจจุบัน หากแต่ยังเป็นการนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาสู่จังหวัดจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นสถานที่จัดงาน การจัดประชุมวิชาการนานาชาติยังเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการที่จะช่วยให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายในการเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ตามที่ได้ระบุไว้ตามแผนดำเนินการที่จะทำให้มหาวิทยาลัยไทยอย่างน้อย 5 แห่ง ติดอันดับสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 100 อันดับแรกของโลก ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เราหวังว่า ประเทศไทยจะยังคงให้การต้อนรับนักวิชาการที่ทำงานวิชาการอย่างจริงจังจากทุกสาขาวิชา และรับประโยชน์จากการที่นักวิชาการคนสำคัญจากประเทศไทยเองไปมีส่วนสร้างความรู้ในระดับโลก ซึ่ง ดร.ชยันต์ เป็นตัวแทนหนึ่งของนักวิชาการเหล่านี้ได้อย่างดีเยี่ยมโดยปราศจากข้อกังขา

แถลงในนามขององค์กรตามรายชื่อต่อไปนี้

International Institute for Asian Studies (IIAS), Leiden, The Netherlands
Dr. Nira Wickramasinghe, Chair of the Board Dr. Philippe Peycam, Director

International Convention of Asia Scholars (ICAS) Dr Philippe Peycam, International Council Chair Dr. Paul van der Velde, Secretary

Association for Asian Studies (AAS)
Dr. Katherine A. Bowie, President
(AAS เป็นสมาคมวิชาการนานาชาติที่มีสมาชิกทั่วโลกมากว่า 7000 คน)

Committee of the Thai Studies Program, Asia Center, Harvard University
Dr. Michael Herzfeld, Director

New York Southeast Asia Network (NYSEAN)
Dr. Duncan McCargo, Co-Founder

Humanities Across Borders, Asia and Africa in the World (HaB) program 
Dr. Aarti Kawlra, Academic Director (HaB มีสมาชิกประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยและสถาบัน จำนวน 22 แห่ง ในเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และ อเมริกาเหนือ)

Southeast Asian Neighborhood Network (SEANNET)
Dr. Rita Padawangi, Co-Director Dr. Paul Rabé, Co-Director

The Board of the European Association for Southeast Asian Studies (EuroSEAS)
Dr. Silvia Vignato, President

The Board of the Association of Southeast Asian Studies (ASEAS) (United Kingdom)
Dr. Deirdre McKay, Chair

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท