Timeline: ปั้นนโยบายช่วยชาวนา เป็น ‘อาชญากรรมจำนำข้าว’

ชวนสำรวจเส้นทางการปลุกปั้นนโยบายช่วยชาวนา เป็น ‘อาชญากรรมจำนำข้าว’ ไล่เรียงไทม์ไลน์ก่อนถึงวันพิพากษาคดีประวัติศาสตร์อีกหนึ่งคดี ซึ่งคำพิพากษาอาจส่งผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในอนาคต ใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ใกล้เข้ามาอีกเพียงไม่กี่อึดใจสำหรับคำพิพากษาคดีจำนำข้าว ซึ่งจะมีการชี้ขาดโดยคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 โดยคดีดังกล่าวอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ในข้อหากระทำความผิดต่อตำแหน่งราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประกอบกับฐานความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวซึ่งทำให้รัฐได้รับความเสียหายมูลค่า 5 แสนล้านบาท

ไม่ว่าผลของคำพิพากษาจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม แต่นัยสำคัญอย่างหนึ่งคือคดีนี้จะเป็นคดีที่ถูกจดจำในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการตัดสินใจดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไปในอนาคต ดังที่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เคยให้สัมภาษณ์กับประชาไทไว้ว่า

“ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ไม่ว่าคดียิ่งลักษณ์จะออกมาอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องมองข้ามไปให้ไกลกว่านั้นก็คือว่า คดียิ่งลักษณ์เป็นตัวชี้อนาคตสังคมไทย คือท้ายสุดแล้ว รัฐพันลึกจะคุมสังคมไทย เขาอาจจะอยู่อีก 10 ปี 20 ปี หรืออย่างที่อาจารย์เสกสรรค์ (ประเสริฐกุล) บอกว่าคงอยู่อีกนาน สังคมไทยจะเผชิญหน้ากับกลุ่มคณาธิปไตยภายใต้ฉากประชาธิปไตย และคณาธิปไตยกลุ่มนี้คือคณาธิปไตยที่ครองอำนาจในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และประสงค์ที่จะครองต่อไปให้ยาวนานที่สุด สังคมไทยควรต้องคิดเรื่องนี้กันให้มาก” (อ่านต่อที่นี่)

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นประชาไทชวนย้อนมองที่มาที่ไปที่เกิดขึ้นจากจุดเริ่มต้นโครงการจำนำข้าว สู่การนำเรื่องเข้าพิจารณากระบวนการยุติธรรม ก่อนจะถึงวันพิพากษา

คลิกดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่

จากนโยบายที่ใช้หาเสียงสู่คดีความทางอาญา

หลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ภารกิจหนึ่งที่รัฐบาลรับปากว่าจะทำให้สำเร็จเพราะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปคือ การผลักดันโครงการรับจำนำข้าว ท่ามกลางกระแสการตั้งคำถามต่อความเสี่ยง และความเสียหายของรัฐ จากการดำเนินนโยบายดังกล่าว

ผ่านไปแค่ปีเดียวมีผู้ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ตรวจสอบคดีจำนำข้าว

ผ่านไปได้ราวปีเศษนับจากวันที่ 7 ตุลาคม 2554 วันแรกที่มีการเริ่มดำเนินนโยบาย ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2555 สมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ได้ยื่นเรื่องต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) ขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

โดยสมศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ติดตามนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล และมีข้อมูลว่าการดำเนินการก่อให้เกิดปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการทุจริตเชิงนโยบาย ทั้งยังได้ให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลไปแล้ว พรรคการเมืองใหม่เห็นว่า การใช้คำว่ารับจำนำเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องตามความหมายที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 84 ว่าด้วยรัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีโครงการรับจำนำข้าวอีกคือ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) , นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเวลาห่างกันประมาณ 1 ปี

ป.ป.ช. เริ่มกระบวนการไต่สวนความผิด

จากการยื่นเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555  กล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงภายหลังการประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ว่า ที่ประชุมมีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ตามที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นคำร้องมา เนื่องจากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอ โดยมีกรรมการ ป.ป.ช. 3 คน ประกอบด้วยตน วิชา มหาคุณ และ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ร่วมกันรับผิดชอบ

20 ธ.ค. 2557 วิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ได้แถลงความคืบหน้าในกระบวนการไต่สวนว่า นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ และรักษาการผู้อำนวยการวิจัยนโยบายเศรษฐกิจรายสาขาด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้นำข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำวิจัยเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว แล้วพบความผิดปกติ โดยเฉพาะใบส่งมอบข้าว มามอบให้กับอนุกรรมการไต่สวน ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับทุจริตโครงการรับจำนำข้าว อยู่ในมือ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน และยังทำให้สามารถขยายผลได้ โดยหลังจากนี้ จะมีการไต่สวนผู้รับซื้อข้าวให้ครบ และคาดว่า ประมาณกลางเดือนมกราคม คณะทำงานคงสรุปได้ว่า จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้หรือไม่

ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา บุญทรง พร้อมลงมติให้ไต่สวน ยิ่งลักษณ์ เพิ่มเติม

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2557 ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ บุญทรง เตริยาภิรมย์ พร้อมพวกรวม 15 ราย ในข้อหาทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หลังจากไต่สวนพบว่า ไม่มีการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ กับทางประเทศจีนจริงตามที่สัญญากล่าวอ้าง ซึ่งไม่ปรากฏว่ารัฐวิสากิจของประเทศจีนที่เข้ามาทำสัญญาซื้อขายได้รับมอบหมายจากทางการประเทศจีน และไม่มีการส่งข้าวออกนอกราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมีมติเห็นชอบตามอนุคณะกรรมการเสนอ ให้ไต่สวนเพิ่มเติมยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) โดยเห็นว่าได้ละเลย ไม่ระงับยับยั้ง การดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ทราบข้อท้วงติงและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

กปปส. ออกโรงกดดัน ปั่นกระแส ‘ยิ่งลักษณ์ โกงข้าว’ พร้อมกดดันออมสินไม่ปล่อยกู้เงินให้รัฐบาลจ่ายชาวนา

ในฝั่งความเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2557 ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.เวทีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้นำมวลชนเดินทางมาถึงสำนักงานใหญ่ ธนาคารออมสิน ตามที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ประกาศบนเวทีเมื่อคืนวันที่ 19 มกราคม 2557

โดยเมื่อเดินทางไปถึง ลิขิต กลิ่นถนอม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน และรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ออกแถลงการณ์กับผู้สื่อข่าวในนามของสหภาพฯ โดยระบุว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่าธนาคารออมสินปล่อยกู้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น ทางสหภาพฯ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่า หากมีการปล่อยกู้ดังกล่าวจริง ทางสหภาพแรงงานฯ และชาวออมสินพร้อมจะรวมพลังคัดค้านและต่อต้านอย่างถึงที่สุด เพราะพวกเรามีหน้าที่ปกป้ององค์กร และเงินฝากของประชาชน ด้วยชีวิต เกียรติและศักดิ์ศรี และหากมีใครมาคิดบ่อนทำลายธนาคารคนผู้นั้นจะต้องบรรลัยย่อยยับ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ได้เตรียมน้ำ-กาแฟ-ขนม พร้อมโต๊ะหน้าอาคารไว้ให้ กปปส.พักผ่อนด้วย

ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหา ยิ่งลักษณ์

ต่อมา 28 มกราคม 2557 ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการไต่สวน ยิ่งลักษณ์ ในกรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่เห็นได้อย่างชัดเจน รวมทั้ง ป.ป.ช. เคยมีหนังสือเตือนไปแล้วถึง 2 ครั้ง โดยให้รวมสองกรณีไว้ในคราวเดียวกันคือ การไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิดตามมาตรา 157 และการพิจารณาคำร้องกรณีที่ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 146 คน ร้องขอให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่ง จากการดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวที่ผิดพลาด ส่งผลขาดทุนกระทบต่อการส่งออกข้าว และถัดมา 21 วัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ป.ป.ช. มีมติเรียก ยิ่งลักษณ์ มาเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 โดยระบุความผิดของผู้ถูกกล่าวหาว่า(โดยยิ่งลักษณ์ได้ส่งทนายความเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแทน จากนั้น ป.ป.ช. มีมติขยายเวลาให้ยิ่งลักษณ์เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาในวันที่ 31 มีนาคม 2557)

“ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเป็นการจงใจใช้อํานาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 178 อันเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 270”

ผู้จัดการออนไลน์รายงานข่าว ชาวนาฆ่าตัวตาย เพราะไม่ได้รับเงินจำนำข้าว

18 กุมภาพันธ์ 2557 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าว พิเชษฐ์ เพชรรัตน์ ชาวนาอำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา เกิดความเครียดกินยาฆ่าแมลงจนเกือบหมดถัง กว่าครอบครัวจะเห็นและนำส่งโรงพยาบาล พิเชษฐ์ ก็เสียชีวิตแล้ว

พี่ชายผู้ตาย เผยว่าพิเชษฐ์ ได้ไปกู้ยืมเงินจาก ธกส.เพื่อต่อทุนเกือบ 200,000 บาท หวังจะได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จำนวน 170,000 บาท มาใช้หนี้ แต่เกือบ 5 เดือน ยังไม่ได้เงิน ทำให้เงินที่กู้ยืมมาเริ่มหมด สุดท้ายหาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ จึงคิดสั้นฆ่าตัวตาย

ซึ่งศพได้นำไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจระเข้ตาย และได้ฌาปนกิจศพไปเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นับเป็นรายที่ 8 แล้ว ที่ฆ่าตัวตายเพราะความเครียดจากโครงการรับจำนำข้าว

พญาราชสีห์แห่งเวทีแจ้งวัฒนะ พามวลชนกดดันอัยการสูงสุดให้ดำเนินคดีกับ ยิ่งลักษณ์

27 กุมภาพันธ์ 2557 พุทธะอิสระ แกนนำ กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ พร้อมด้วย ระวี รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย และณัฐวัฒน์ ชั้นอินทร์งาม ผู้ประสานงานชาวนา นำชาวนาจำนวนหนึ่งเดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการทวงเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาล รวมทั้งเอาผิดต่อ ยิ่งลักษณ์ กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังจากที่มายื่นเรื่องเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557

ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่เลขานุการอัยการสูงสุด และวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจการอัยการ มาให้คำตอบเรื่องดังกล่าว ว่าการดำเนินการขาดเอกสารจากชาวนา อาทิ ใบประทวนข้าว จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการคืบหน้าได้

เมื่อมวลชนได้รับคำตอบเช่นนี้ก็ไม่พอใจ ต่างส่งเสียงตะโกนด่า และเป่านกหวีดขับไล่ ทำให้พุทธะอิสระต้องขอให้เงียบเสียง พร้อมประกาศว่าการกระทำของ อัยการสูงสุดเหมือนไม่ให้ความสำคัญปัญหาชาวนาถูกโกง เพราะยื่นเรื่องไว้กว่า 2 สัปดาห์แล้ว

ยิ่งลักษณ์ ชี้แจงข้อกล่าวหา พร้อมระบุกระบวนการไต่สวนไม่เป็นธรรม

31 มีนาคม 2557 ยิ่งลักษณ์ เข้าชี้แจงข้อกล่าวหา โดยชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมีความยาว 151 หน้า สาระสำคัญที่ได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช. คือ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมชี้ว่า กระบวนการรับคำร้องและการเริ่มต้นคดีของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยไม่เป็นธรรม รวบรัด รีบร้อน เร่งรีบ อย่างเป็นพิเศษ ฯลฯ (อ่านสาระสำคัญฉบับเต็มที่นี่) ขณะเดียวกันยิ่งลักษณ์ ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.สอบพยานเพิ่มเติมอีก โดยอ้างว่าแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ ที่มาของโครงการ รวมไปถึงผลดีระหว่างดำเนินโครงการว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งขอขยายเวลาส่งเอกสารเพิ่มเติม

หลังจากการยื่นขอให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม 11 ปาก ก็มีการยื่นขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สืบพยานเพิ่มอีกถึงสองครั้ง รวมพยานที่ยิ่งลักษณ์มอบหมายให้ทนายความคือ บัญชา ปรมีศณาภรณ์ และนรวิชญ์ หล้าแหล่ง เข้ายื่นขอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 17 ปาก

ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาความเหมาะสม และมิติด้านข้อมูลที่พยานแต่ละคนจะมาให้ปากคำแล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านข้อมูลจึงมีมติอนุมัติให้มีการสืบพยานเพิ่มเพียง 4 ปาก คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และมีมติไม่ลงตรวจสอบสต๊อกข้าวเพิ่มเติมตามคำร้องของยิ่งลักษณ์

ป.ป.ช. มีมติถอดถอนซ้ำ ยิ่งลักษณ์ หลังถูกศาล รธน. ถอดถอนเหตุย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เพียง 1 วัน

ท้ายที่สุดวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 หลังจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ตัดสินความผิดให้ถอดถอนยิ่งลักษณ์กรณีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เพียงหนึ่งวัน ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ในการชี้มูลความผิดฐานละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลให้ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และถัดมาถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครอง

ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2557 ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับยิ่งลักษณ์

ก่อนจะถึงวันพิพากษา

สนช. ลงมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ กรณีจำนำข้าว ตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

23 มกราคม 2558 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งได้มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ลงมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการกรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ด้วยคะแนนเสียง 190-8 เสียง และงดออกเสียง 8 เสียง บัตรเสีย 3 เสียง ส่งผลให้ยิ่งลักษณ์ โดนโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

อัยการสูงสุดยื่นเรื่องฟ้องคดียิ่งลักษณ์

สำหรับการดำเนินคดีความทางอาญากับยิ่งลักษณ์นั้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 โดยอัยการสูงสุด ได้ยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 มาตรา 123/1 ซึ่งละเลยไม่ยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ต่อมาอีกหนึ่งเดือนองค์คณะผู้พิพากษา มีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 โดยองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาประกอบด้วย

1.ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา

2.วิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา

3.ธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา

4.ธนสิทธ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา

5.ศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา

6.ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา

7.วีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา

8.อุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

9.ธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา

ศาลออกนั่งบัลลังก์ครั้งแรก ยิ่งลักษณ์ประกันตัว 30 ล้านบาท ศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ

ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ศาลออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคดีความครั้งแรก โดยยิ่งลักษณ์ ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และพร้อมสู้คดี วีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้กับ ยิ่งลักษณ์ ฟัง มีใจความโดยสรุปว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2554 – เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คดีนี้จำเลยได้ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือก รวม 5 โครงการ ได้แก่ ข้าวนาปี 2554/2555 ข้าวนาปรัง 2555 ข้าวนาปี 2555/2556 ข้าวนาปรัง 2556 และข้าวนาปี 2556/2557

ระหว่างดำเนินการตามนโยบายนี้ มีข้อทักท้วงทั้งก่อนและระหว่างดำเนินการจากหลายหน่วยงาน ทั้ง ป.ป.ช., สตง., กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้าน ว่านโยบายนี้มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพข้าว บิดเบือนกลไกตลาด และเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งจำเลยและคณะรัฐมนตรี จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ทั้งในการกำหนดราคารับจำนำอย่างสมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายจากการทุจริตและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยยื่นหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก 30 ล้านบาท ศาลอนุญาตให้ประกัน แต่มีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลยกคำร้องรอการพิจารณา หลังยิ่งลักษณ์ยื่นพิจารณาขอบเขตอำนาจศาล

31 สิงหาคม 2558 ศาลออกนั่งบัลลังก์ เริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานและพยานบุคคล พยานเอกสารของฝ่ายโจทก์และจำเลย ทั้งนี้ศาลได้อ่านคำร้องของจำเลยขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและได้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 แล้ว โดยโจทก์ได้รับสำเนาและคัดค้านว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) บัญญัติให้ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามกฎหมายอื่น แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 24/2557 ก็ยังให้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มีผลใช้บังคับต่อไป

เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้อง กล่าวหาจำเลยเกี่ยวกับความรับผิดในการปฏิบัติหน้าที่และขอให้ลงโทษทางอาญา ซึ่งตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 11 (1)-(9) ไม่มีกรณีใดเลยที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ดังนั้น กรณีที่จำเลยยื่นคำร้อง จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว ให้ยกคำร้อง

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลไม่รับบัญชีพยานโจทก์ ซึ่งเห็นว่าเพิ่มเติมเข้ามาโดยไม่สุจริต

ส่วนที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 คัดค้านพยานบุคคล 23 ปาก และพยานเอกสารของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์เพิ่มเติมพยานโดยไม่สุจริต มุ่งเอาเปรียบจำเลยโดยไม่เป็นธรรม เพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่มีการไต่สวนมาก่อน จึงขอให้ศาลไม่รับบัญชีพยานดังกล่าวเข้าสู่สำนวน

องค์คณะฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ มาตรา 5 ให้ศาลยึดรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นหลักในการพิจารณาคดี แต่ก็ให้อำนาจศาลไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร โดยศาลมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ และจำเลยก็มีสิทธิ์นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้อยู่แล้ว กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ตามที่จำเลยคัดค้าน ให้ยกคำร้องดังกล่าว

ต่อมาวันที่  29 ตุลาคม 2558 ศาลได้กำหนดให้อัยการโจทก์นำพยานไต่สวนทั้งหมด 14 ปาก ส่วนพยานจำเลยมีทั้งหมด 42 ปาก ขณะที่การไต่สวนพยานเริ่มต้นนัดแรกในวันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลออกไปเผชิญสืบโกดังข้าว 16 แห่งในจังหวัดอ่างทอง

อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 มิถุนายน 2560 ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าว และคลังข้าวจังหวัดอ่างทอง 16 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าไปตรวจแล้วไม่พบความเสียหาย เพื่อตรวจสอบให้พบความจริงว่า ข้าวเสียหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่าข้าวเป็นธัญพืชชนิดหนึ่งที่เสื่อมได้ตามกาลเวลา ขณะนี้ผ่านมาเป็นเวลา 2 ปีเศษแล้ว เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การเดินเผชิญสืบไม่จำเป็นแก่คดี จึงให้ยกคำขอของจำเลย

ศาลยกคำร้อง หลังยิ่งลักษณ์ขอศาลพิจาณาการเพิ่มเติมพยานเอกสาร 7 หมื่นของโจทก์ ซึ่งไม่อยู่ในสำนวน ของ ป.ป.ช.

7 กรกฎาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 235 วรรค 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ หลังโจทก์อาศัยช่องทางตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาฯ เพิ่มเติมพยานหลักฐานใหม่โดยเฉพาะพยานเอกสารเกือบ 7 หมื่นแผ่นเข้ามาในคดี ทั้งที่ไม่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. ขณะที่รัฐธรรมนูญที่เพิ่งประกาศใช้บัญญัติว่า "การพิจารณาของศาลฎีกาฯ ให้นำสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณา" และกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้"

21 กรกฎาคม 2560 ศาลยกคำร้องขอส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่า การพิจารณาคดีนี้ศาลได้ให้โอกาสทั้งสองฝ่ายเต็มที่แล้ว ในการพยานหลักฐานเข้าไต่สวน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี ระบุหมดใจถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม

1 สิงหาคม 2560 ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดี โดยระบุตอนหนึ่งว่า ดิฉันขอใช้โอกาสนี้ กล่าวกับทุกท่านอย่างหมดใจในวันนี้ ในเรื่องที่ดิฉันถูกดำเนินคดีโดยไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรมและตลอดเวลาที่ดิฉันได้นั่งรับฟังการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 รวมการไต่สวนของศาลในคดีนี้ทั้งหมด 26 นัด เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือนที่ดิฉันไม่เคยขาดนัดพิจารณาคดีของศาลแม้แต่สักครั้งเดียว ทั้งนี้เพราะดิฉันมั่นใจในความบริสุทธิ์ว่าไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาที่มีต่อดิฉัน

ด้วยความเคารพต่อทุกท่านที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ หากมีถ้อยคำใดที่ดิฉันเปิดใจกล่าวอย่างตรงไปตรงมานั้น ดิฉันไม่ได้มีเจตนาอื่นใดและไม่ได้ประสงค์จะใส่ร้ายหรือใส่ความผู้ใด ดิฉันเพียงต้องการให้การพิพากษาคดีที่ดิฉันถูกกล่าวหาในครั้งนี้เป็นไปโดยถูกต้อง เที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย ภายใต้หลักนิติธรรมที่ดิฉันไม่เคยได้รับจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโจทก์ในคดีนี้มาก่อน

(อ่านคำแถลงปิดคดีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นี่)

25 สิงหาคม 2560 ศาลนัดฟังคำพิพากษา

........................................................................................................................................................................

 

หมายเหตุ: เจ้าของสำนวนคดีจำนำข้าว เดิมเป็นวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา แต่แจ้งขอถอนตัวจากองค์คณะหลังได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นประธานศาลฎีกา จึงเปลี่ยนเจ้าของสำนวนใหม่เป็นชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท