Skip to main content
sharethis

ตำแหน่งแห่งที่ของอยุธยาในทางจิตวิญญาณและการเมือง จักรวาลพุทธ-พราหมณ์สะท้อนผ่านบทบาทและสมัญญานามกษัตริย์ จักรวรรดินิยมเบียดสยามจากศูนย์กลางจักรวาล ปรับตนเองตามระเบียบโลกใหม่ สร้างชาติบนประวัติศาสตร์บาดแผลเรื่องเอกราช อนาคตประวัติศาสตร์ชาตินิยมกับการเป็นประชาคมอาเซียนยังต้องจับตามอง

18 ก.ย. รศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรการเสวนาหัวข้อ “จากจินตกรรมแห่งอาณาจักรอยุธยา สู่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมรัฐไทย” ในงานเสวนา "ความทรงจำเคล้าจินตนาการ: อยุธยาในฝันกับการสร้างประวัติศาสตร์ชาติไทย" (Imagined Memories: The Ayutthayan Fantasy and the Making of National History in Thailand) จัดโดยศูนย์ไทยศึกษาร่วมกับศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา คณะอักษรศาสตร์ ที่ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุเนตร ชุตินธรานนท์

คติความเชื่อ พุทธ-พราหมณ์ กับจินตภาพกษัตริย์-อาณาจักรอยุธยา

สุเนตรกล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าอยุธยามีความเฉพาะ ต่างจากบ้านเมืองอื่นที่พัฒนาไปก่อนหน้าในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ก่อนนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันเลยว่ามีพัฒนาการรัฐได้ขึ้นมาถึงระดับการเกิดศูนย์อำนาจรัฐแต่เพียงศูนย์เดียวชัดเจนอย่างที่เราเรียกว่าเมืองราชธานี หรือที่คำเขมรที่เรียกว่า 'กรุง' แต่บ้านเมืองในขอบขัณฑสีมาอยุธยาไม่ได้ถูกเรียกกรุงไปด้วย เช่น ลพบุรีหรือสุพรรณบุรี จะมีก็แต่เมืองที่ไม่ใช่ขอบขัณฑสีมาของอยุธยาเช่นเชียงใหม่ การเกิดขึ้นของอยุธยาจึงเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของประวัติศาสตร์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

การเกิดอยุธยาทำให้เห็นว่า ผู้จะแสดงตนว่ามีอำนาจสูงสุดเหนือกษัตริย์องค์อื่นๆ จะต้องครองอยุธยาอย่างเช่นสมัย พ.ศ. 1893 ที่สถาปนารัชสมัยพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 อย่างเป็นทางการ จะเห็นว่ากษัตริย์รอบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพยายามจะเข้ามาแย่งชิงอำนาจและความเป็นใหญ่ในกรุงศรีอยุธยา เพื่อได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่จริง

คำขนานนามว่า 'กรุง' ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นในสถานะสัมพันธ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณด้วย ภาพของกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในกฎหมายหรือพงศาวดารคือเมืองที่เป็นศูนย์กลางของชมพูทวีป จึงเป็นเรื่องปรกติที่อยุธยาในจินตภาพตามหลักฐานช่วงแรก คือภาพของผู้ปกครองหรือการรับรู้ความเข้าใจจะอธิบายอยุธยาว่าเป็นศูนย์รวมของอำนาจราชศักดิ์ใหญ่ๆ แห่งชมพูทวีป แล้วถ้ามีเมืองใดมาสร้างสถานะให้เทียบเท่าอยุธยา กษัตริย์ผู้ครองอยุธยาก็ต้องทำการลบสถานะนั้นออก เช่นการโจมตีนครธมเมื่อ พ.ศ. 1431 และกวาดตีทรัพย์สินมาไว้ที่อยุธยา

อีกสถานะของจินตภาพอยุธยาคือเมืองของวีรบุรุษในรามายณะ ชื่อของอยุธยาหรืออโยธยาคือเมืองของพระรามดังที่ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 2 ของอาณาจักรสุโขทัยที่ระบุชื่ออยุธยาไว้ว่า อโยธยาศรีรามเทพนคร ดังนั้นกษัตริย์ของอยุธยาจึงมักใช้สมัญญานามว่า รามาธิบดี คือรามผู้เป็นใหญ่ เป็นภาพที่ไม่ได้เห็นความย้อนแย้งกันระหว่างการอธิบายสถานะความยิ่งใหญ่ในสถานะของพุทธและพราหมณ์ และถ้าสถานะอยุธยาเป็นเช่นนั้น ผู้ปกครองในจินตภาพอยุธยาในความเชื่อแบบพุทธก็เป็นพระพุทธเจ้าในฐานะมหาบุรุษ ดังที่เห็นจากพระนามพระมหากษัตริย์เช่นพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระสรรเพชญ์ หรือการเรียกรัชทายาทว่าสมเด็จหน่อพุทธเจ้า เป็นนัยที่ส่อความเท่าเทียมกับพระพุทธเจ้า ในขณะที่ข้าราชบริพารก็เรียกตนเองว่า ข้าพระพุทธเจ้า พระมหากษัตริย์อยุธยาทรงวางตนเองเป็นพระราชาที่ทรงปกครองโดยธรรม มีทศพิธราชธรรม เป็นธรรมราชาที่มีพันธกิจในการดูแลสันติสุขของอาณาประชาราษฎร์ทางหนึ่ง และชี้้นำทางไปสู่การก้าวพ้นสังสารวัตรอีกทางหนึ่ง ในหน้าที่นี้พระองค์เป็นประโพธิสัตว์ ดังที่เห็นจากวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททอง มหาชาติคำหลวงที่แต่งโดยพระมหากษัตริย์

อยุธยายังมีสถานะสัมพันธ์กับอาณาจักรรอบด้านด้วย เพื่อจะอ้างความเป็นใหญ่เหนืออาณาจักรอื่น กษัตริย์อยุธยาจึงต้องมีจินตภาพของการเป็นเจ้าจักรพรรดิ ในความเป็นจริงจะเป็นได้หรือไม่ได้เป็นอีกอย่าง ด้วยคติความเชื่อและจินตภาพเช่นนั้น อยุธยาจึงไม่ได้เป็นอาณาจักรของคนไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะแต่เชื่อมต่อตนเองกับจักรวาลทางความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธและพราหมณ์ แม้ในโลกความเป็นจริงกษัตริย์อยุธยาจะไม่สามารถครอบครองชมพูทวีปทั้งหมด แต่ก็ยังสามารถจัดสรรและแสดงขอบเขตปริมณฑลของตนเองว่ามีอยู่แค่ไหน เราเรียกเครือข่ายทางอำนาจนี้ตามภาษาสันสกฤตว่า ขอบเขตพระราชอำนาจ (มันดาลา - Mandala) คือเหล่าเครือข่ายบ้านเมืองที่ยอมรับในความเป็นใหญ่ของผู้ครองอยุธยา แต่ถ้ากษัตริย์องค์ใหม่ที่ขึ้นมาไม่มีอำนาจเท่าพระองค์เดิม ตัวมันดาลานี้ก็พร้อมจะหดลงได้

ภาพอาณาจักรอยุธยา วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ที่มา:วิกิพีเดีย)

จักรวรรดินิยมเบียดอยุธยา-สยามจากศูนย์กลางจักรวาล จุดเปลี่ยนบทบาทของประวัติศาสตร์

ในการบอกเล่าประวัติศาสตร์อยุธยามีชุดความเข้าใจสามสาย หนึ่ง สายราชสำนักซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการเรื่องราวต่างๆ เฉพาะของผู้ที่ครองอย เท่านั้น เป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมีเหตุที่ไม่สามารถขึ้นครองอยุธยาได้ ประวัติศาสตร์ก็จะหายไป เช่น พระยารามในสมัยอยุธยาตอนต้น เราเรียกพงศาวดารนี้ว่าวงศ์อวตาร เป็นเครือวงศ์ที่สงวนไว้สำหรับผู้ที่ครองกรุงศรีอยุธยา เป็นสำคัญ เจ้าพนักงานหรืออาลักษณ์ก็จะจัดการให้มีฉบับต่างๆ เช่นฉบับพิสดารหรือฉบับสังเขป

สอง สายสงฆ์ เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ว่าด้วยกรุงศรีอยุธยา แน่นพอสมควร เราอาจจะเห็นร่องรอยเช่นพระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 1 หรือผู้เขียนวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติพระนเรศวรมหาราชในสมัยรัตนโกสินทร์ พระภิกษุองค์สำคัญก็จะมาเทศนาหน้าพระที่นั่งในวันสำคัญ เป็นการเล่าชีวประวัติของพระมหากษัตริย์ในพระบรมโกศหรือไม่ก็กล่าวเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

สาม ประวัติศาสตร์บอกเล่า (Oral History) เช่นในพงศาวดารกรุงศรีฉบับวันวลิตที่ไปสัมภาษณ์พระและใครต่อใครเรื่องอภินิหารพระนเรศวรมหาราช

ทั้งสามชุดความเข้าใจเป็นตัวส่งผ่านจินตภาพจากรุ่นสู่รุ่นที่บางครั้งก็มีการชำระบ้าง จนกระทั่งเราต้องเผชิญกับการขยายอำนาจของมหาอนาจตะวันตกในคริสตวรรษที่ 19 เป็นอย่างช้า ซึ่งเปลี่ยนโลกแห่งการดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศภายใต้การตัดสินใจกษัตริย์ ให้ไปโอนอ่อนและปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบโลกใหม่ เช่นสมัยก่อน เวลากษัตริย์ต้นสมัยรัตนโกสินทร์จะออกราชโองการก็ไม่ได้เกรงว่าญวนหรือฝรั่งจะคิดอย่างไร แต่การขยายอำนาจของโลกตะวันตกได้เปลี่ยนเงื่อนไขนี้ไปโดยสิ้นเชิง อำนาจดังกล่าวมาพร้อมกับเงื่อนไขของการตกเป็นฝ่ายถูกยึดครอง สิ่งที่สำคัญมากกว่าการเข้ายึดครองคือ หลังถูกผนวกไปแล้วคุณจะอยู่อย่างไร

ทางออกคือการนำระเบียบจารีตเดิมให้เข้ากับระเบียบโลกใหม่ ไม่จำเป็นต้องถูกยึดครองก่อนแต่เราต้องปรับตัวให้ดำรงอยู่ได้ภายใต้ระบบอำนาจใหม่ของโลกในขณะนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาล 3-5 เป็นสำคัญ แต่เดิมอยุธยาไม่เคยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นเอกภาพ มีเพียงความสัมพันธ์แบบการสวามิภักดิ์ การให้บรรณาการและดอกไม้เงินดอกไม้ทอง แต่ระบบโลกใหม่ทำให้เริ่มเกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับอยุธยาในแบบที่ไม่ใช่จักรวาลพุทธ กษัตริย์ไม่ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ไม่ใช่อวตารของพระรามแล้วแม้สมัญญานามยังคงอยู่ แต่ก็เกิดคำใหม่ที่มาอธิบายตัวตนเรา เช่น เมืองสยาม สยามรัฐ สยามประเทศ บางกอกแว่นแคว้นแดนสยาม และอธิบายกษัตริย์ที่ปกครองว่า สยามินทร์ เราจะเห็นว่าตัวตนใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราเป็นที่ยอมรับได้ในระเบียบโลกใหม่ เป็นตัวตนใหม่บนโครงสร้างทางอำนาจใหม่ที่เน้นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางจากเดิมที่เป็นการกระจายอำนาจ เรากำลังจะเคลื่อนเข้าสู่มุมมองชุดใหม่เกี่ยวกับตัวตนของเรา ผู้ปกครองของเรา ระบบการดูแล การปกครองการจัดการของเราและความชอบธรรมทางอำนาจชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดตามขึ้นมา

ในบรรยากาศที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเรามีรัฐในจินตนาการ สิ่งหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องมีในฐานะกลไกสำคัญในการสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือการสร้างชีวประวัติของบ้านเมืองหรือประวัติศาสตร์สยาม ตรงนี้เองที่เกิดกระบวนการการสร้างประวัติศาสตร์ชุดใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่าไม่ได้โละของเก่าไป แต่เป็นการให้ความหมายใหม่กับของที่มีอยู่เดิม นำมาปรับสถานะมันเสียใหม่ เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 4 คือเกิดการเปลี่ยนแปลงจากประวัติศาสตร์พงศาวดารที่ต่อมาถูกเรียกว่าประวัติศาสตร์ชาติ

ในการคลี่คลายประวัติศาสตร์ชาติก็มีกลไกมากมายในการชำระและจัดระบบข้อมูลที่มีอยู่มากหลายเพื่อให้ได้ประวัติศาสตร์ชาติที่ค่อนข้างลงตัว มีหลักฐานเป็นรูปธรรมเพื่อแสดงตัวตนของรัฐในจินตนาการนี้ เช่น ในสมัยก่อนเรามีประวัติศาสตรืออกมาเป็นสามสายดังที่ว่า สายราชสำนักจะไม่เอาสายชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนัก ผู้เขียนพงศาวดารไม่ใช่ไม่รู้ แต่เลือกที่จะไม่เขียน ไปทางใครทางมัน แต่พอรัชกาลที่ 4 มีพระมอญนำปากคำของเชลยศึกจากพม่ามาเรียบเรียงและทูลเกล้าถวายฯ ก็มีเนื้อหาต่างๆเพิ่มมา เช่นพระนเรศวรชนไก่ รัชกาลที่ 4 จึงเริ่มนำมุขปาฐะมาผสมกับประวัติศาสตร์ทางการแล้วชำระออกมาเป็นประวัติศาสตร์ชาติ หน้าที่ของประวัติศาสตร์ที่แต่เดิมเป็นของปิด ใช้อ่านในพระราชพิธีหรือเฉพาะในพระบรมวงศานุวงศ์ กลายเป็นงานที่คนทั่วไปที่สามารถอ่านหนังสือได้ก็เข้าถึงได้ พงศาวดารไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ของผู้เป็นองค์อวตารอีกต่อไป แต่กลายเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ของประชาชนที่รัฐมีเจตจำนงที่จะทำให้พวกเขามีความทรงจำเดียวกัน

เครื่องมือ แนวทางประกอบสร้าง ปวศ. ชาตินิยม กับโจทย์รอบด้านในสังคมโลกาภิวัฒน์

สารัตถะหลักที่จะทำให้เราจินตนาการความเป็นตัวตนของชะตากรรมที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งสิ้นคือประวัติศาสตร์อยุธยาที่มีอายุอาณาจักรถึง 417 ปี ประวัติศาสตร์ยังทำหน้าที่ให้ความชอบธรรมการให้อำนาจการปกครองของผู้ครองอำนาจรัฐ เช่นสมัยรัฐบาลทหารในพม่าก็ใช้การอ้างว่าตนเองทำให้พม่าอยู่รอดมาได้ พระนเรศวรกลายมาเป็นกษัตริย์แห่งกองทัพไทยจากตอนแรกเป็นกษัตริย์แห่งกองทัพบก ถ้าคุณสร้างความกระทบกระเทือนกับสิ่งนี้ มันกระทบกระเทือนสเถียรภาพของสถาบันหลักที่หยัดยืนกับประวัติศาสตร์ชาติ ถ้าเราตั้งคำถามว่าพระนเรศวรทำยุทธหัตถีจริงหรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจเอาออกไปจากหนังสือเรียนก่อนไหม ถ้าทำเช่นนั้นคิดดูว่าจะมีความวุ่นวายขนาดไหน

ทว่าสังคมมันไม่ได้หยุดนิ่ง เราได้ผ่านยุคอาณานิคม ยุคของการสร้างชาติ ตัวตนใหม่และความทรงจำร่วมไปนานแล้ว เมื่อสังคมเปลี่ยนผ่าน ปัญหาของสังคมก็เริ่มมีความหลากหลาย มีข้อมูลใหม่ๆ เกิดโจทย์ใหม่ๆ ขึ้นมา ทั้งหมดประเดประดังมาที่ประวัติศาสตร์ชาติซึ่งบางครั้งก็ตอบโจทย์ได้ บางครั้งก็ตอบไม่ได้ เพราะการประกอบสร้างไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้ตอบโจทย์ทุกโจทย์ หลังกรณี 14 ต.ค. 2516 เป็นต้นมา ผมคิดว่ามันเกิดกระแสการท้าทาย แนวทางทางออกของประวัติศาสตร์อื่นๆ ตามมา เช่นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เกิดขึ้นหลัง 14 ต.ค.

สิ่งที่ตามมาอีกอย่างคือการมีส่วนร่วมในการสร้างความทรงจำ สังคมที่ผ่านการเปลี่ยนผ่านอนุญาตให้คนรับสารตั้งคำถามกับคนส่งสารให้เรา เช่นเว็บไซต์พันทิป  หรือการที่มีคนตั้งคำถามกับภาพยนตร์สุริโยไทที่หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลสร้างมากมายจนภาพยนตร์เกี่ยวกับพระนเรศวรฯ ต้องใส่คำว่าตำนานนำหน้าเพื่อสื่อว่าเป็นตำนาน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงไปเสียทุกอย่าง มีสำนักประวัติศาสตร์อื่นๆ มากมาย เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉะนั้น ประวัติศาสตร์ชาติที่เคยมีสถานะ มีสิทธิ์และศักดิ์ในการดำรงอยู่ก็ตกอยู่ในสภาวะที่จะต้องประคับประคองไปภายใต้กระแสการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น แต่ประวัติศาสตร์ชาติที่เราสร้างขึ้นในเงื่อนไขที่จะทำให้คนในสังคมต้องมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือต้องทำให้คนในสังคมมีโศกนาฏกรรมหรือบาดแผลทางประวัติศาสตร์เดียวกัน ดังนั้นแก่นหลักของประวัติศาสตร์ไทยจึงสัมพันธ์กับเรื่องเอกราช อนุเสาวรีย์ที่ถูกสร้างส่วนมากก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเอกราช

นอกจากเรื่องเอกราชและโศกนาฏกรรมแล้ว เราก็ต้องมีศัตรูร่วม พม่า กัมพูชามักถูกนำมาใช้เป็นศัตรูร่วมทางจินตภาพ แต่ในยุคปัจจุบันที่อนาคตของอาเซียนขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในภูมิภาค การปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านและผู้คนในภูมิภาค ประวัติศาสตร์ชาติที่เป็นแกนหลักจึงกลับกลายเป็นตัวหยุดการตอบโจทย์ปัจจุบัน ภาวะตรงนี้จึงเป็นภาวะที่ทางหนึ่งทำให้เกิดประวัติศาสตร์สำนักอื่นมากมายที่ตั้งคำถาม เสนอข้อเท็จจริงที่บางครั้งสวนทางหรือท้าทายกับประวัติศาสตร์ชาติ แต่ประวัติศาสตร์ชาติก็มีกลไกสร้างความสามัคคีและความมั่นคงแห่งรัฐในแบบหนึ่ง ในขณะที่ความมั่นคงรัฐในปัจจุบันกลับผูกกับภาวะความมั่นคงในภูมิภาค เราจึงยังหาคำตอบให้กับประวัติศาสตร์ชาติไม่ได้ว่าต่อไปจะเอาอย่างไรกันแน่ ตัวตนของประวัติศาสตร์ชาติที่ตอนนี้ค่อนข้างจะติดเพดานก็พยายามต้องดิ้นรนพอสมควรภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปนี้ เมื่อเรามีจินตภาพของอยุุธยาเป็นแก่น มันจึงน่าติดตามว่า แล้วจินตภาพของอยุธยาอันเป็นแก่นหลักของประวัติศาสตร์ชาติ กับอยุธยาในการเปลี่นยแปลงของโลกในไทยและอาเซียนปัจจุบันจะมีทางออกไปในทิศทางไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net