Skip to main content
sharethis
ประยุทธ์พอใจ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ช่วยแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยระดับฐานราก สรรเสริญ ยันไม่เอื้อประโยชน์นายทุนบางกลุ่ม กรมบัญชีกลาง แจงไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 

10 ต.ค. 2560 จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า สมาคมขอเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดเอื้อประโยชน์ธุรกิจให้เจ้าสัวผ่านบัตรคนจนตามที่รัฐบาลมีโครงการ ประชารัฐสวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ลงทะเบียนนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปรูดซื้อสินค้าตามร้านที่กำหนด รัฐบาลต้องควักเงินทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาทต่อปี ไม่ต่างอะไรกับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลในอดีตที่ไม่ได้ช่วยเพิ่มตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ แต่เป็นเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจเจ้าสัว นายทุนใหญ่เจ้าของสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ที่ส่งผ่านสินค้าไปยังตัวแทนผู้จำหน่ายในรูปร้านธงฟ้าประชารัฐ ขณะที่สินค้าจากชาวบ้าน สินค้าจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จากกลุ่มผู้ผลิตในท้องถิ่นที่ไม่มีไลน์ธุรกิจจะไม่สามารถขายสินค้าของตนเองได้ นั้น

ประยุทธ์พอใจช่วยแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยระดับฐานราก

ล่าสุดวันนี้ (10 ต.ค.60) เมื่อเวลา 13.40 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มอบให้กับผู้มีรายได้น้อยว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลทำได้ตรงตามเป้าหมาย และดีที่สุดในช่วงเวลานี้ ถึงแม้จะมีวงเงินจำนวนไม่มาก แต่ก็สร้างความสุข สามารถแบ่งเบาภาระให้กับผู้มีรายได้น้อยระดับฐานราก พร้อมกล่าวขอบคุณความร่วมมือจากภาคเอกชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอำนวยความสะดวกเรื่องการใช้บัตรให้กับผู้มีรายได้น้อย

สรรเสริญ ยันไม่เอื้อประโยชน์นายทุนบางกลุ่ม

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกระแสข่าวโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐในสื่อออนไลน์ใน 3 ประเด็น คือ 1.การนำบัตรไปแลกเป็นเงินซึ่งมีการหักค่าหัวคิว 2.สิ่งที่รัฐบาลทำโครงการนี้เงินจะไหลเข้าสู่กลุ่มนายทุน หรือเจ้าสัวผู้เป็นเจ้าของกิจกาiที่นำของจำหน่ายในร้านธงฟ้า และ 3.ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่าเป็นผู้ที่กู้เงินจากธนาคารไม่ได้ โดยระบุว่าทั้งหมดทุกประเด็นเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และกลุ่มผู้ไม่หวังดี ซึ่งเป็นข้อห่วงใยจาก พ.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการทำความเข้าใจโดยผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจในความพยายามแก้ไขปัญหาในอดีต ในการช่วยผู้มีรายได้น้อย

พล.ท.สรรเสริญ ชี้แจงแต่ละประเด็นเริ่มประเด็นแรกอธิบายว่า ในการบริหารงานมีทั้งรัฐมนตรี ผู้ที่ดูแลด้านนโยบายและข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างผู้ปฏิบัติ และเแม้รัฐบาลเปลี่ยนไปแต่ระดับปฏิบัติยังเป็นคนเดิม ยอมรับว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่อาจมีบางคนกระทำการทุจริต และหากใครพบเห็นหรือมีเบาะแสข้อมูลให้แจ้งมายังรัฐบาล ซึ่งจะเดินหน้าตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอาผิด ทั้งร้านธงฟ้าที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ที่ทุจริต เพื่อให้โครงการเป็นไปอย่างโปร่งใสและตรงตามความต้องการของประชาชน

ประเด็นที่ 2 ชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการอุ้มเจ้าสัว เพราะว่าร้านธงฟ้าในปัจจุบันมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการกว่า 20 รายและมีรายการสินค้ากว่า 40 รายการมีและประเภทสินค้ากว่า 300 รายการ กำลังมีผู้ประกอบการจากหลายส่วนกำลังเข้าร่วมโครงการอีกมาก ทั้งวิสาหกิจชุมชน สถาบันเกษตรกรของประชาชน กลุ่มเอสเอ็มอี ประเด็นที่ 3 ข้อกล่าวหาว่า หากใครมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะกู้เงินไม่ได้ เมื่อพิจารณาจากผู้ที่ได้รับบัตรซึ่งมีฐานรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี หรือโดยเฉลี่ยต่อเดือนมีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ซึ่งทำให้การกู้เงินปกติค่อนข้างลำบาก

กรมบัญชีกลาง แจงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ขัดรธน. 

ส่วนข้อวิจารณ์ของ ศรีสุวรรณ ข้อหนึ่งของโครงการนี้ ว่า มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ว่าเป็นการสูญเสียงบประมาณในการจัดทำบัตรสวัสดิการ ซึ่งมีงบประมาณที่ใบละ 35 บาท รวมทั้งอาจขัดมาตรา 62 ของ รธน. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 นั้น

สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ว่า การดำเนินการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนตรงตัว ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ถือเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน และต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ การให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 แต่โดยที่บัตรประชาชนที่ประชาชนถืออยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นแบบเอนกประสงค์ (Smart Card) แต่จัดเก็บเฉพาะข้อมูลบุคคล ข้อมูลสิทธิการรักษาพยาบาลของ สปสช. ข้อมูลหน่วยบัญชาการกำลังสำรอง และข้อมูลทะเบียนเกษตรกร โดยยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพและรายได้ รวมทั้งยังไม่สามารถนำไปใช้ชำระค่าสินค้าและบริการที่เครื่องรูดบัตรได้ (Electronic Data Capture : EDC) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อใช้เป็นสื่อในการรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งเป็นราคามาตรฐานทั่วไป
          
ทั้งนี้ การดำเนินการเรื่องดังกล่าว กรมบัญชีกลางได้พิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ด้วยความรอบคอบ และใช้เงินงบประมาณที่ได้รับให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี และไม่ขัดกับมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 แต่อย่างใด

 

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล, ไทยพีบีเอส และ Voice TV

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net