ทหารพม่ากับการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พม่า (เมียนมา) คือ "รัฐเสนาธิปัตย์ (Praetorian State)” ที่ทหารเข้าครองอำนาจทางการเมืองยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนับแต่ครารัฐประหารโดยนายพล เนวิน เมื่อปี ค.ศ. 1962 จนถึง การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 2011 หลังจากนั้น ดูเหมือนว่า ทหารพม่าจะค่อยๆ ลดบทบาททางการเมืองลงบ้าง แม้ว่าในภาพรวม กองทัพยังสามารถกุมอำนาจหลักในโครงสร้างรัฐสืบไป

คำถามหลักทางรัฐศาสตร์ คือ ทำไมทหารพม่าถึงตัดสินใจเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และ ทหารพม่ามีบทบาทหรืออิทธิพลทางการเมืองแค่ไหน อย่างไร ในยุคที่พม่ากำลังแปลงสัณฐานเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยท่ามกลางมรดกตกทอดจากอำนาจนิยมเก่า

มีเหตุผลมากมายที่นักวิชาการพม่าศึกษา หยิบยกขึ้นมาอธิบายมูลเหตุที่อยู่เบื้องหลังการสถาปนาระบอบการเมืองใหม่ เช่น ความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งและพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อให้รัฐพม่ามีภาพลักษณ์และโอกาสเพิ่มขึ้นในการรับความช่วยเหลือสนับสนุนจากต่างประเทศ การใช้โครงการประชาธิปไตยเป็นเกราะกำบังหรือฉากบังหน้าเพื่อให้ชนชั้นนำทหารถอยลงจากอำนาจได้ปลอดภัย หรือแม้กระทั่ง ความพยามยามสร้างระบอบการเมืองลูกผสม (Hybrid Regime) ของผู้นำทหารพม่าเพื่อให้องค์ประกอบของระบอบอำนาจนิยมกับประชาธิปไตยสามารถประสานทำงานร่วมกันได้ ต่อประเด็นนี้ Michael Aung Thwin และ Maitrii Aung Thwin (2012) สองนักประวัติศาสตร์พม่า เห็นว่าระบอบการปกครองโดยทหารและพลเรือน ซึ่งเคยก่อตัวหมุนเวียนขึ้นในวงจรประวัติศาสตร์นับแต่ครั้งที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1948 ล้วนมีข้อดีข้อเสียในตัวมันเอง กอปรกับปัญหาสงครามกลางเมืองและกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติของพม่าที่ยังไม่มั่นคงพอ จึงทำให้ระบอบทหารมีความจำเป็นต่อเอกภาพรัฐ แต่ทว่า การครองอำนาจที่ยาวนานของทหาร ก็นำมาซึ่งปัญหาหลายประการเช่นกัน ทั้งในแง่การคว่ำบาตรเศรษฐกิจจากนานาชาติและเกียรติภูมิรัฐที่ลดน้อยลงท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยโลก ดังนั้น จึงพอเป็นไปได้อยู่บ้าง ที่ผู้นำทหารอาจเห็นว่าการผสานหลอมรวมเอาจุดเด่นของสองระบอบเข้าด้วยกัน คือ สูตรการเมืองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับรัฐพม่าซึ่งน่าจะมั่นคงวัฒนาขึ้นได้ด้วยระบอบ "ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัยที่กำลังจะเบ่งบาน (Flourishing Discipline Democracy)”

สำหรับรูปแบบเปลี่ยนผ่านการเมือง ทหารพม่า มิได้ถูกโค่นล้มหรือถูกบีบบังคับให้ลงจากอำนาจเพราะแรงลุกฮือของพลังประชาชนเหมือนกรณีคลื่นปฏิวัติประชาธิปไตยอาหรับ (Arab Spring) ในช่วงต้นทศวรรษ 2010 หรือ มิได้เกิดจากการโจมตีรุกรานของกำลังต่างชาติ เช่น กรณีของ Manuel Noriega ในปานามา (1989-1990) Saddam Hussein ในอิรัก (2003) และ Muammar Gaddafi ในลิเบีย (2011) หากแต่เกิดจากการวางแผนไว้ล่วงหน้าของผู้นำทหารเพื่อค่อยๆถอนตัวออกจากการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งถือเป็นรูปแบบเปลี่ยนผ่านที่ทหารสามารถควบคุมจังหวะเปลี่ยนแปลง และประกันความมั่นคงปลอดภัยให้กับคณะผู้ปกครองในระบอบเก่า พร้อบช่วยเนรมิตให้ระบอบการเมืองลูกผสมที่ประชาธิปไตยค่อยๆปรับตัวสมานพลังกับอำนาจนิยมสามารถก่อตัวขึ้นได้ในสังคมการเมืองพม่า (แม้จะเกิดแรงปะทะกระแทกกันบ้างระหว่างคุณลักษณะที่แตกต่างกันของประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม) โดยตามมุมมองของ Egreteau (2016) การแปลงสัณฐานทางการเมืองของทหารพม่านั้น ดูจะคล้ายคลึงกับพฤติกรรมผู้นำทหารในแอฟริกาและละตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1980 (เช่น ซาอีร์ เอธิโอเปีย ไนจีเรีย บราซิล และ ชิลี) ซึ่งทหารในรัฐเหล่านี้ต่างประสบความสำเร็จมิน้อยในการถอนตัวกลับเข้ากรมกองและพัฒนาประชาธิปไตยแบบทีละขั้นทีละตอน

ทั้งๆ ที่พม่าคือภาพสะท้อนวิถีการเปลี่ยนผ่านจากบนลงล่าง (Top-Down Transition) โดยอาศัยการตัดสินใจของชนชั้นนำทหารเป็นหลัก แต่ถือได้ว่า ทหารพม่าเริ่มลดบทบาททางการเมืองลงบ้างแล้ว นักรัฐศาสตร์การทหารอย่าง Nordlinger (1977) เคยแบ่งประเภททหารออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ ได้แก่

  1. ทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ย (Moderator) ซึ่งเข้ามากดดันแทรกแซงการบริหารของพลเรือนเป็นครั้งคราวเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคมหรือประกันผลประโยชน์กองทัพ

  2. ทหารผู้พิทักษ์คุ้มครอง (Guardian) ที่ตัดสินใจยึดอำนาจพลเรือนชั่วคราวเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติและสร้างเอกภาพรัฐในช่วงสถานการณ์พิเศษ แต่มักปกครองรัฐทางอ้อมผ่านตัวแทนในช่วงเวลาสั้นๆ และ

  3. ทหารผู้ปกครอง (Ruler) ซึ่งเข้าปกครองรัฐโดยตรงและกินระยะเวลายาวนาน

 

หากดูที่พลวัตการเมือง จะเห็นว่า ทหารพม่าได้ปรับบทบาททางการเมืองขึ้นลงไปตามวิวัฒนาการประวัติศาสตร์ โดยเร่ิมจากทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ยในช่วงที่พม่าใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาระหว่างปี 1948 ถึง 1958 จากนั้นทหารจึงแปลงสภาพเป็นทหารผู้พิทักษ์ผ่านรูปแบบรัฐบาลรักษาการณ์ในช่วงปี 1958 ถึง 1960 เพื่อแก้วิกฤตความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีของชนในชาติ แต่ต่อมา เมื่อทหารผู้พิทักษ์จัดให้มีการเลือกตั้งจนได้รัฐบาลพลเรือนเข้าปกครองรัฐไปอีกซักระยะ ทหารพม่าก็ทำรัฐประหารในปี 1962 แล้วปกครองพม่าเป็นเวลายาวนานถึง 26 ปี จนแม้เมื่อเกิดการลุกฮือประชาชนในปี 1988 ทหารพม่าก็ยังเข้าปกครองรัฐโดยตรงต่อไปอีกจนถึงปี 2011 อันเป็นห้วงเวลาที่นายพล ตานฉ่วย ตัดสินใจยุบสลายระบอบการปกครองทหารพร้อมถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ใต้การบริหารของประธานาธิบดี เต็งเส่ง

นับจากนั้น ทหารพม่าได้ค่อยๆลดบทบาททางการเมืองลงจากทหารผู้ปกครองเข้าสู่สภาวะผสมผสานระหว่างทหารผู้พิทักษ์กับทหารผู้ดูแลไกล่เกลี่ย โดยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ได้วางรากฐานให้ทหารเข้าไปเจรจาต่อรองไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กับพลเรือนผ่านการกันโควต้าของ ส.ส. ทหาร ทั้งในส่วนรัฐสภาแห่งสหภาพและสภาประจำภาคและรัฐต่างๆ แต่ขณะเดียวกัน หากมีการประกาศสภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการล่มสลายแห่งรัฐหรือภาวะอนาธิปไตยในพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะถือครองอำนาจบริหารจัดการรัฐจนทำให้กองทัพกลายร่างเป็นผู้พิทักษ์ที่เข้าปกครองรัฐหรือดินแดนต่างๆในเขตอธิปไตยพม่าเป็นการชั่วคราว หากแต่ต้องยุติความระส่ำระส่ายในบ้านเมืองโดยเร็ว เพื่อถอนตัวให้ประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครองสูงสุดในช่วงสถานการณ์ปกติต่อไป

จึงนับว่า มาตรวัดเสนาธิปัตย์ (Scale of Praetorianism) ได้ไต่ระดับลงมาจากทหารที่แข้าแทรกแซงการเมืองแบบเข้มข้นที่สุด (เช่นในสมัยนายพล เนวิน ทำรัฐประหารใหม่ๆ หรือในยุคนายพล ตานฉ่วย) เข้าสู่ทหารที่เร่ิมถอนอิทธิพลหรือลดบทบาททางการเมืองลง (หลังกระบวนการปฏิรูปเปลี่ยนผ่านการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2011)

หากมองในแง่ความสัมพันธ์ทหาร-พลเรือน (Civil-Military Relations) กล่าวได้ว่า ทหารพม่าได้คลายอำนาจทางการเมืองลงบางส่วนจริงๆ Croissant และ คณะ (2012) ได้วางกรอบวิเคราะห์พลังอำนาจทหารที่มีอยู่เหนือพลเรือนในห้าปริมณฑลหลัก ได้แก่

  1. การระดมชนชั้นนำเข้าสู่แผงอำนาจการเมือง ซึ่งหากทหารมีบทบาทสูงในการคัดเลือกกะเกณฑ์รัฐมนตรีประจำกระทรวงหรือเจ้าพนักงานปกครองตามกรมต่างๆ ก็เท่ากับว่า พลเรือนมีอำนาจต่ำกว่าทหารในการบริหารปกครองรัฐ

  2. นโยบายสาธารณะ ที่เน้นอิทธิพลทหารในการกำหนดดำเนินนโยบายสำคัญในด้านต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม

  3. ความมั่นคงภายใน ที่ทหารมีอำนาจเหนือตำรวจในการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ต่อต้านการก่อการร้ายและจัดระเบียบชายแดน

  4. การป้องกันประเทศ ซึ่งทหารยังคงมีหน้าที่หลักในการปกป้องอธิปไตยรัฐและไม่ปล่อยให้พลเรือนมีอำนาจนำในการตัดสินใจนโยบายป้องกันประเทศ และ

  5. การจัดองค์กรทหาร ที่กองทัพยังคงมีอิสระในการจัดโครงสร้างหน่วยงาน พัฒนาเหล่าทัพ กำลังพลและยุทโธปกรณ์ โดยปราศจากการแทรกแซงชี้นำจากพลเรือน

 

จากกรอบวิเคราะห์ดังกล่าว แม้ทหารพม่าจะเคยกุมกำลังเหนียวแน่นเหนือห้าปริมณฑลหลักในช่วงสมัยการปกครองนายพล ตานฉ่วย หรือ รัฐบาล SLORC/SPDC หากแต่หลังการปฏิรูปการเมืองเมื่อปี 2011 กองทัพได้ทยอยถอนกำลังทางการเมืองลง โดยยังครองอิทธิพลเหนียวแน่นในเรื่องการป้องกันประเทศและการจัดองค์กรทหาร หากแต่ในเรื่องการระดมชนชั้นนำและการกำหนดนโยบายสาธารณะ กองทัพได้เปิดพื้นที่ให้พลเรือนเข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น ส่วนในเรื่องการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพยอมคลายอำนาจให้ตำรวจหรือองค์กรบังคับใช้กฏหมายอื่นๆ หากแต่ก็มีการกลับเข้ามากระชับอำนาจสลับกันไปมา

ตัวอย่างเด่นชัด คือ ขณะที่พรรค NLD ของนางอองซาน ซู จี เข้าไปครองที่นั่งในสภาและจัดตั้งคณะรัฐมนตรี พร้อมมีกำลังในการจัดทำนโยบายสาธารณะในด้านต่างๆ มากขึ้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็มีอำนาจเสนอชื่อแต่งตั้งให้ทหารเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดน ซึ่งส่งผลให้ทหารพม่ามีอิทธิพลในการระดมชนชั้นนำและบริหารนโยบายสาธารณะด้านการเมืองความมั่นคง อนึ่ง การจัดทำแผนนโยบายป้องกันประเทศ การกำหนดหลักยุทธศาสตร์สงครามและการบริหารกองทัพ ยังคงตกอยู่ใต้วงอำนาจของกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพพม่าอย่างเหนียวแน่น ในอีกมุมหนึ่ง แม้ว่าตำรวจพม่าจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ทว่า สถานการณ์ในบางพื้นที่ เช่น ภาวะก่อการร้ายจลาจลในรัฐยะไข่ พบว่าทหารพม่ามีอิทธิพลสูงกว่าตำรวจ นอกจากนั้น ตำรวจ อาสาสมัครพลเรือน และ กองกำลังชายแดน ถือเป็นกำลังเสริมที่ตกอยู่ใต้การควบคุมบังคับบัญชาของกองทัพพม่าอีกทีหนึ่ง ฉะนั้น จึงพอประมาณได้ว่า ทหารพม่าได้รั้งบทบาทการเมืองในปริมณฑลสำคัญสืบไป หากแต่มีการปรับลดบทบาทในบางมิติลง ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่สะท้อนภาวะคลายตัวของพลังเสนาธิปัตย์บนเวทีการเมืองพม่า

ทหารพม่าคือกรณีศึกษาที่สื่อให้เห็นถึงการปรับตัวขององค์อธิปัตย์ที่เคยปกครองรัฐโดยตรงยาวนาน หากแต่ค่อยๆแปลงรูปเปลี่ยนร่างคลายสัณฐานเพื่อให้การเปิดกว้างทางการเมืองตั้งอยู่บนฐานความมั่นคงรัฐแบบมีสมดุล ซึ่งแม้จะมีลักษณะเป็นเผด็จการจำแลงในคราบประชาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม หากแต่ระบอบเช่นนี้ก็ช่วยกระตุ้นให้ทหารพม่าเร่ิมปรับตัวใต้ระเบียบการเมืองใหม่จนค่อยๆนำไปสู่การลดระดับหรือคลายความเข้มข้นของพลังเสนาธิปัตย์ลงในวงการเมือง กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของพม่าก็ยังเต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ ที่อาจดึงให้พม่าถอยหลังกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมเก่าหรืออยู่ในภาวะที่ประชาธิปไตยถูกฉุดรั้งมิให้ผลิดอกออกผลรวดเร็วจนเกินไปนัก ต่อความท้าทายนี้ ผู้เขียนขอยกสามประเด็นวิเคราะห์หลักที่เชื่อมร้อยสัมพันธ์กัน โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

 

1. ทั้งๆ ที่ทหารพม่าถือครองอำนาจทางการเมืองอยู่ แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่า ทหารพม่าได้คลายอิทธิพลลงบางส่วนแล้ว เพียงแต่ว่า กระบวนการดังกล่าว ยังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนรอมชอมกับขั้วอำนาจพลเรือนท่ามกลางวิวัฒนาการของระบอบการเมืองลูกผสมในระยะเปลี่ยนผ่าน ในมิตินี้ อาจจำแนกทหารพม่าออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่

1.1. อดีตชนชั้นนำทหารที่เปลี่ยนร่างจากทหารเข้าสู่นักการเมืองพลเรือน เช่น อดีตประธานาธิบดี เต็งเส่ง อดีตประธานรัฐสภาสหภาพ ธุระฉ่วยมาน รวมถึง บรรดารัฐมนตรีและผู้บริหารกระทรวงระดับต่างๆ ทั้งในสมัยรัฐบาล เต็งเส่ง และ รัฐบาล ติ่นจ่อ-ซูจี โดยในกลุ่มนี้ พบว่า อดีตผู้นำทหารได้ยอมรับหลักการประชาธิปไตยและความเหนือกว่าของพลเรือนในการกำหนดนโยบายสาธารณะมากขึ้น หากแต่ยังหลงเหลือกรอบคิดธรรมเนียมปฏิบัติแบบทหารในสมัยรัฐบาลชุดเก่าของนายพล ตานฉ่วย อยู่บ้าง และแม้ว่ารัฐบาลพรรค NLD จะสะท้อนถึงที่มาอันยิ่งใหญ่ของพลังประชาชน แต่การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์และการตัดสินใจนโยบายภายในกระทรวงกลาโหม มหาดไทยและกิจการชายแดนนั้น ยังตกอยู่ใต้วงอำนาจของชนชั้นนำทหาร

1.2. กลุ่ม ส.ส. ในรัฐสภาเมียนมาที่เป็นทหารที่ถูกแต่งตั้งจากนายพล มิน อ่อง หล่าย ผบ.สส. แห่งกองทัพพม่า ซึ่งแม้กลุ่มนี้จะทรงอำนาจในสมัยรัฐบาล USDP ของ เต็ง เส่ง แต่กลับกลายเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาอย่างเด่นชัดในสมัยรัฐบาล NLD ซึ่งครองที่นั่งส่วนใหญ่ในโครงสร้างสภา ทว่า ก็พบเห็นความพยายามปรับตัวแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองแบบสันติระหว่าง ส.ส. ทหาร ส.ส. พรรค NLD และ ส.ส. จากพหุพรรคการเมืองอื่นในบางประเด็น เช่น การพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจสังคม

1.3. กลุ่มทหารผู้กุมกำลังในหน่วยรบ เช่น กองอำนวยการยุทธการพิเศษ กองทัพภาคทหารบก กรมทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ฯลฯ กลุ่มนี้มีพลังทางการเมืองความมั่นคงตามพื้นที่รัฐชาติพันธุ์ที่เต็มไปด้วยการปะทะทางการทหาร อาทิ แม่ทัพภาคเหนือที่มิตจีน่าในรัฐคะฉิ่น แม่ทัพภาคสามเหลี่ยมที่เชียงตุงในรัฐฉาน หากแต่ด้วยการที่พม่าปัจจุบันใช้โครงสร้างปกครองแบบกึ่งสหพันธรัฐ (Federation) จึงทำให้เกิดตำแหน่งมุขมนตรี พร้อมด้วยสถาบันการเมืองใหม่อย่างสภาและรัฐบาลประจำภาคและรัฐต่างๆ ซึ่งทำให้ตำแหน่งแม่ทัพภาคที่เคยมีอำนาจเต็มที่ในอดีต ต้องแบ่งกำลังถ่วงดุลกับมุขมนตรี จนทำให้ในบางพื้นที่ มุขมนตรีอาจมีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าแม่ทัพภาค แต่ในรัฐชาติพันธุ์ที่มีปัญหาความมั่นคงบางแห่ง เช่น รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รวมถึง รัฐยะไข่ พลังแม่ทัพภาคอาจมีใกล้เคียงหรือสูงกว่ามุขมนตรี

ดังนั้น ทหารพม่าจึงอยู่ในช่วงเจรจาต่อรองปรับสมดุลกับกลุ่มการเมืองพลเรือน ทั้งในโครงข่ายนโยบายสาธารณะ โครงสร้างรัฐสภา และ ขอบเขตการบริหารราชการแผ่นดินในรัฐและภาคต่างๆ

 

2. เพื่อยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองที่ฝังรากลึกในสังคมพม่ายาวนาน รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบันได้วางเป้าหมายหลักไปที่การพัฒนาสันติภาพที่ยั่งยืนผ่านการสถาปนาระบอบสหพันธรัฐประชาธิปไตย (Democratic Federation) ที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลในภาคพม่าแท้กับรัฐชาติพันธุ์ต่างๆ มีอำนาจมากขึ้นในการระดมทรัพยากรพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการออกแบบสหพันธรัฐผ่านการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ รวมถึงตัวแสดงการเมืองอื่นๆ เช่น รัฐสภา พรรคการเมืองและภาคประชาสังคม กองทัพพม่า ยังถือเป็นตัวแปรหลักที่มีกำลังมหาศาลต่อวิถีสหพันธ์ภิวัฒน์ (Federalization) ในพม่าระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมา ทหารพม่ามักชูประเด็นเรื่องเอกภาพชาติและบทบาทกองทัพในฐานะองครักษ์ผู้ค้ำจุนรัฐในประวัติศาสตร์เข้าชะรอกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและสหพันธรัฐนิยมมิให้เคลื่อนตัวรวดเร็วฉับพลันเกินไปนัก

กอปรกับการสัประยุทธ์ทางทหารประปรายระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหรือระหว่างกองกำลังเผ่าต่างๆ ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน เช่น การสู้รบในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะฉิ่น จึงทำให้ทหารพม่ามีบทบาททั้งในแง่การจัดระเบียบชายแดนหรือในการกำหนดยุทธศาสตร์สงครามและระดมกำลังพลเข้าโรมรันกับกลุ่มกำลังปฏิปักษ์ โดยแม้มีการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองทัพพม่ากับกองทหารชนกลุ่มน้อยบางส่วน หากแต่มรดกตกค้างจากสงครามกลางเมืองและความไม่ไว้วางใจหรือการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในอดีต กลับส่งผลให้ทหารพม่าซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการรณรงค์สงครามมีอำนาจอิทธิพลสืบไปบนวิถีการสร้างรัฐพม่า

 

3. ภาวะจลาจลและความขัดแย้งศาสนาชาติพันธุ์ที่ร้าวลึกแหลมคมและเชื่อมโยงกับทั้งการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ เช่นกรณีขับไล่มุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ก็มีผลให้ทหารพม่าสามารถรักษาอิทธิพลทางการเมืองต่อไป อันที่จริง ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายที่มาพร้อมกับการปกป้องอธิปไตยรัฐและความทนทานของรัฐพม่าในการทัดทานแรงกดดันจากมหาอำนาจและชุมชนนานาชาติแบบที่เกิดขึ้นในยะไข่รอบล่าสุด กลับกระตุ้นให้ชาวพม่าส่วนใหญ่เล็งเห็นความสำคัญของกองทัพพม่าในแง่สมรรถนะการรบและความเข้มแข็งดุดันในการจัดการปัญหาความไม่สงบระส่ำระส่ายแห่งรัฐ โดยถึงแม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่า แท้จริงแล้ว กองทัพพม่าเข้าไปพัวพันกับเหตุรุนแรงเองเพื่อถือโอกาสกวาดล้างขับไล่ชาวโรฮิงญาหรือไม่ และ ทั้งๆที่ อาจมีประชาชนในพม่าส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกองทัพ แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้หนักหน่วงใดๆซึ่งพอบ่งชี้ได้ว่าการขับไล่โรฮิงญาของทหารพม่า ไม่มีความจำเป็นอะไรเลยต่อเสถียรภาพรัฐยะไข่หรือในรัฐพม่าโดยรวม กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าเบื้องหลังของภาวะจลาจลในยะไข่จะมีที่มาที่ไปอย่างไร ผลลัพธ์ที่แน่ชัด คือ การทรงบทบาททางการเมืองความมั่นคงของทหารพม่าสืบไปนั่นเอง

 

ท้ายที่สุด คงพอสรุปได้ว่าทหารพม่ากำลังอยู่ในช่วงแปลงโฉมคลายสัณฐานอย่างมีนัยสำคัญ โดยทั้งๆที่ทหารพม่าได้ลดบทบาททางการเมืองลงในบางปริมณฑลอำนาจ หากแต่ก็มีความพยายามกระชับอำนาจถ่วงดุลกับพลเรือนอยู่เป็นระยะ ซึ่งวิถีโคจรเช่นนี้ สะท้อนธรรมชาติการเปลี่ยนผ่านในรัฐที่เต็มไปด้วยปมขัดแย้งที่รุนแรงร้าวลึกและตกอยู่ใต้อาญาสิทธิ์ทหารมายาวนาน หากแต่ก็จำเป็นต้องมีระบอบการเมืองที่เปิดกว้างเสรีขึ้น เพียงแต่ว่า ระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนั้น ทหารพม่าได้ขันอาสาเข้าเป็นผู้พิทักษ์จัดสรรดุลอำนาจรัฐให้อยู่ในระดับพอเหมาะพอควร แต่กองทัพก็ปวารณาตนเอง (ไม่ว่าจะตั้งใจหรือมิตั้งใจก็ตาม) ให้เป็นทั้งผู้ควบคุมและผู้ได้รับแรงกระทบจากวิถีการเปลี่ยนผ่านซึ่งมีพลังกระตุ้นการปรับตัวของทหารพม่าในบางแง่มุมจนเกิดการคลายอิทธิพลทางการเมืองลงเป็นเปราะๆ กระนั้นก็ตาม ด้วยการตกตะกอนสะสมของสงครามกลางเมืองและกระบวนการสร้างรัฐสร้างชาติพม่าที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในทางประวัติศาสตร์ จึงทำให้ทหารพม่ายังคงมีจังหวะที่เหมาะสมเสมอในการกระตุกอำนาจกลับจากพลเรือนผ่านโครงการเอกภาพชาติและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับประเทศ รวมถึงจากทักษะความชำนาญของทหารพม่าเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างรัฐผ่านยุทธสงคราม

 

เอกสารอ้างอิง

Abbot, A. 1983. 'Sequences of Social Events: Concepts and Methods for the Analysis of Order in Social Processes', Historical Methods, 16(4): 129-147.

Anderson, L. 1999. Transitions to Democracy. New York, NY: Columbia University Press.

Ba Than. 1962. The Roots of the Revolution: A Brief History of the Defence Services of the Union

of Burma and the Ideals for which they stand. Rangoon: the Director of Information and

Defence Services Historical Research Institute.

Buchanan, J. 2016. Militias in Myanmar. Yangon: The Asia Foundation.

Callahan, M. P. Making Enemies: War and State Building in Burma. Ithaca, NY: Cornell University Press, 2005.

Carothers, T. 2002. 'The End of the Transition Paradigm', Journal of Democracy, 13(1): 5-21.

Casper, G. and Michelle M. T. 1996. Negotiating Democracy: Transitions from Authoritarian Rule. Pittsburgh, PA: University of Pittsburgh Press.

Collier, R. B. 1999. Paths toward Democracy: The working Class and Elites in Western Europe and South America. Cambridge: Cambridge University Press.

Croissant, A. et al. 2012. Breaking with the Past? Civil-Military Relations in the Emerging Democracies of East Asia. Honolulu, HI: East-West Center.

Egreteau, R. 2016. Caretaking Democratization: The Military and Political Change in Myanmar. London: C. Hurst & Co. (Publishers) Ltd.

Egreteau, R. and Jagan, L. 2013. Soldiers and Diplomacy in Burma: Understanding the Foreign Policies of the Burmese Praetorian State. Singapore: NUS Press.

Finer, S.E. 1975 (1962). The Man on Horseback: The Role of the Military in Politics (revised edition).

New York: Praeger.

Fredholm, M. 1993. Burma : Ethnicity and Insurgency. Westport, CT: Praeger Publishers.

Guelke, A. 2012. Politics in Deeply Divided Societies. Cambridge: Polity Press.

Huntington, S.P. 1957. The Soldier and the State. Cambridge, MA: Belknap.

Janowitz, M. 1960. The Professional Soldier: A Social and Political Portrait. Glencoe, IL: The Free Press.

Jenna, B. 2008. The Robust Federation: Principles of Design. Cambridge: Cambridge University Press.

Kahin, G.M.T. (ed.). 1959. Government and Politics of Southeast Asia. Ithaca, NY: Cornell University Press.

Klesner, J.L. 2014. Comparative Politics: An Introduction. New York, NY: McGraw-Hill Education.

Kyaw Yin Hlaing. (ed.). 2014. Prisms on the Golden Pagoda: Perspectives on National Reconciliation in Myanmar. Singapore: NUS Press.

Lasswell, H. 1941. 'The Garrison State', American Journal of Sociology, 46(4): 455-468.

Levitsky, S. and Way, L. 2010. Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the Cold War. New York,

NY: Cambridge University Press.

Linz, J. 1990. 'Transitions to Democracy', The Washinton Quarterly, Summer: 143-164.

----------2000. Totalitarian and Authoritarian Regimes. Boulder, CO: Lynne Rienner Publishers, Inc.

Maung Zarni and Cowley, A. 2014. 'The Slow-Burning Genocide of Myanmar's Rohingya', Pacific Rim Law & Policy Journal, 23(3): 683-754.

Michael Aung-Thwin and Maitrii Aung-Thwin. 2012. A History of Myanmar since Ancient Times: Traditions and Transformation. London: Reaktion Book Ltd.

Min Maung Maung. 1993. The Tatmadaw and its Leadership Role in National Politics. Yangon: Ministry of

Information, News & Periodicals Enterprise.

Ministry of Information. 2008. Constitution of the Republic of the Union of Myanmar. Yangon: Printing and Publishing Enterprise.

Minye Kaungbon. 1994. Our Three Main National Causes. Yangon: News and Periodical Enterprise.

Mya Han et al. 1993. Myanma Nainnganyei Sanitpyaung Karla (1962-1974) (Myanmar's Politics in the Period of Systematic Change), Vol.I. Yangon: University Press.

Nixon, H. et al. 2013. State and Region Government in Myanmar. Yangon: Asia Foundation.

Nordlinger, E. A. 1977. Soldiers in Politics: Military Coups and Governments. London: Prentice Hall.

O'Donnell, G. and Schmitter, P. 1986. Transitions from Authoritarian Rule: Tentative Conclusions about Uncertain Democracies. Baltimore, MD: Johns Hopkins University press.

Roger, B. 2010. Than Shwe: Unmasking Burma's Tyrant. Chiang Mai: Silkworm Book.

Seekins, D. M. 2002. The Disorder into Order: The Army State in Burma since 1962. Bangkok: White Lotus.

Slater, D. 2010. Ordering Power: Contentious Politics and Authoritarian Leviathan in Southeast Asia. Cambridge: Cambridge University Press.

Steinmo, S. 2010. The Evolution of Modern States: Sweden, Japan and the United States. New York, NY: Cambridge University Press.

Svolik, M.W. 2012. The Politics of Authoritarian Rule. New York, NY: Cambridge University Press.

Taylor, R. 1990. 'The Evolving Military Role in Burma', Current History, 89(545): 105-135.

-------------.2015. The Armed Forces in Myanmar's Politics: A Terminating Role? Singapore: ISEAS Trends no.2.

Tilly, C. 1985. 'War Making and State Making as Organized Crime', in Evans, P.B. et al. (eds.), Bringing the State Back In, pp. 161-191. Cambridge: Cambridge University Press.  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท